23 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
โรงเรียนล้างสมองผู้นำ
1
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ในปี ค.ศ. 1955 ซีอีโอของไอบีเอ็ม ทอม วัตสัน จูเนียร์ มอบหมายให้ หลุยส์ อาร์. โมบลีย์ ไปทำหลักสูตรอะไรสักอย่าง สอนบรรดาผู้บริหารของบริษัท
3
สิ่งแรกที่โมบลีย์ทำคือว่าจ้างองค์กร Educational Testing Service (ETS) ทำการประเมินความสามารถและวิธีการคิดของเหล่าผู้บริหารของไอบีเอ็ม
4
ETS เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งทำงานทดสอบและออกแบบมาตรฐานการประเมินผลการศึกษา ก่อตั้งในปี 1947 สำนักงานตั้งอยู่ที่นิวเจอร์ซีย์และที่พรินซตัน ETS ออกแบบการประเมินผลทางการศึกษามากมาย เช่น TOEFL, TOEIC, SAT, GRE ฯลฯ
ETS ก็ทำการทดสอบบรรดาผู้บริหารของไอบีเอ็ม หลังจากทดสอบเสร็จ ETS บอกโมบลีย์ว่าจะคืนเงินให้ เพราะผลที่ได้ไม่พบข้อสรุปอะไรที่ใช้การได้
"ผู้บริหารเหล่านั้นไม่มีอะไรที่ตรงกันจนพอจะหาข้อสรุปที่คุณจะนำไปใช้ประยุกต์ได้"
3
โมบลีย์ต้องกลับไปคิดใหม่ หลังจากกุมขมับอยู่พักหนึ่ง ก็ตกผลึก บรรลุซาโตริ
1
เขาได้ข้อสรุปว่าผู้นำชั้นยอดไม่ได้มีความรู้หรือทักษะพิเศษ หากแต่มีคุณค่ากับทัศนคติที่แตกต่างจากคนอื่น
4
สิ่งสำคัญไม่ใช่การมีความรู้แตกต่าง แต่การมีวิธีคิดที่แตกต่าง
7
หลุยส์ อาร์. โมบลีย์
ผู้นำชั้นยอดไม่คิดแบบขาวกับดำ ไม่กลัวพื้นที่สีเทา คนพวกนี้เป็นนักคิดที่คิดลึกกว่าเปลือก มิวิสัยทัศน์ คิดข้ามช็อต มีความอยากรู้อยากเห็นสูง ไม่มีความคิดปรุงแต่งล่วงหน้า (preconceived ideas) เปิดใจรับไอเดียใหม่ๆ ไม่ยึดมั่นกับของเดิมเสมอไป ชอบงานท้าทาย ชอบทำงานกับคนเก่งที่กล้าคิดต่าง รับฟังความคิดคนอื่นและข้อมูลต่างๆ ชอบมีทางเลือกเยอะๆ ชอบความคิดหลากหลายความเป็นไปได้
17
ขณะที่พนักงานส่วนมากชอบทำงานตาม 'job requirement' และเดินตามนั้นเป๊ะ เพราะปลอดภัยกว่า ผู้นำชั้นยอดกลับรู้จักพลิกแพลง สามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ คนแบบนี้สามารถเริ่มงานจากความว่างเปล่า สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาจากศูนย์ ทำงานด้วยความกระตือรือร้น ไฟแรงเพราะสนุกกับงาน
5
ผู้นำชั้นยอดชัดเจนในทิศทาง ถามตัวเองเสมอว่า "เราเป็นใคร?" และ "ธุรกิจของเราคืออะไรกันแน่?" ไม่ใช่เมื่อเห็นบริษัทอื่นทำอะไรแล้ว ก็เฮกันไปทำ
5
สรุปก็คือ หัวใจของบุคลากรในองค์กรไม่ใช่ความรู้ ทักษะ แต่คือคุณค่าและทัศนคติ
11
ไม่ใช่คิดอะไร แต่คิดยังไง
9
ดังนั้นถ้าจะพัฒนาผู้บริหารหรือจะสอนให้ผู้บริหารระดับล่างขึ้นเป็นผู้บริหารระดับบน ก็ต้องเปลี่ยนมากกว่าแค่เพิ่มความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนดักแด้เป็นผีเสื้อ เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า Revolution in Consciousness
5
ปฏิวัติจิตสำนึกของเรา
แต่การศึกษาแบบขนบไม่สามารถปฏิวัตินี้ได้ เพราะบางทีสิ่งที่เราเรียนรู้มาตลอดอาจจะผิด
โมบลีย์บอกว่า การปาฐกถาบนแท่นพูดบนเวทีมีมาตั้งแต่ในสมัยกลาง คนพูดคือคนที่สามารถอ่านออกเขียนได้ ใครคนนี้จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลให้ชาวนาที่ไม่รู้หนังสือฟัง ผ่านไปห้าร้อยปีเราก็ยังคงทำแบบเดียวกัน ยืนที่แท่นเลกเชอร์คนมาสัมมนาซึ่งล้วนมีการศึกษาทั้งนั้น และสอนเรื่องเดิมๆ ตอกย้ำความเชื่อและกรอบคิดเดิมๆ
4
ปัญหาของการสัมมนาทั้งหลายในโลกคือ สอนเรื่องที่เราคิดจะทำอยู่แล้ว หรือสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว การสัมมนาแค่ตอกย้ำมัน ไม่ได้เพิ่มเซลล์สมองแต่อย่างไร
8
มันคือการสร้างกล่องครอบหัว ทับกล่องเดิมที่มีอยู่แล้ว
5
โมบลีย์บอกว่า "มันแย่กว่าสิ่งไร้ค่า มันยิ่งถ่วงความก้าวหน้า"
2
องค์ประกอบแห่งความสำเร็จอยู่ที่พฤติกรรมของคนมากกว่าความรู้ คนส่วนมากทำตามความเคยชิน ตามสิ่งที่เรียนมา คิดเป็นเส้นตรง (linear) เพราะเชื่อว่ามันเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เชื่อว่าทางไปสู่คำตอบที่ถูกต้องมีทางเดียว และมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว
4
นี่คือกรอบคิด (mindset)
1
โมบลีย์เห็นว่าการอบรมพนักงานแบบเลกเชอร์ ท่องจำ ไร้ค่าที่สุด ไม่มีประโยชน์ ระบบการศึกษาปกติจะสอนให้คิดทางเดียว ทางที่ถูกต้อง คิดเป็นขั้นตอน แต่เขาเห็นว่าควรเปลี่ยนวิธีคิด รู้จักคิดแบบ non-linear และคิดแบบสร้างสรรค์
8
เขาเห็นว่าการจะมีความคิดสร้างสรรค์หรือคิดแบบสร้างสรรค์ ต้องลืมวิธีคิดที่เรียนมาให้หมดก่อน พูดง่ายๆ คือเขาจะตั้งโรงเรียนที่สอนให้ลบความคิดเดิมๆ ที่เรียนมา หรือ 'ล้างสมอง' (unlearning) ทิ้งขยะเดิมๆ ออกจากหัว
6
นี่ก็คือกลยุทธ์ทางเซน สอนให้เทน้ำชาในถ้วยเก่าออกก่อนรับน้ำชาสดใหม่
4
คล้ายๆ นิยายกำลังภายในของกิมย้งซึ่งตัวละครจอมยุทธ์เรียนกระบวนท่าแล้ว ลบทุกอย่างที่เรียนมา จึงเป็นอิสระ
3
ออกจาก comfort zone ลบอัตตาออก สลายตัวตนเดิม
4
โมบลีย์เห็นว่าต้องสอนให้พวกผู้บริหารในบริษัทรู้จักคิดแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่เอาแต่อ่านตัวเลขในรายงานและการเงิน
เขาบอกว่า "คุณไม่สามารถเรียนเพื่อมีความคิดสร้างสรรค์ คุณต้องกลายเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์"
2
เขาพบว่าการคลุกคลีกับพวกมีความคิดสร้างสรรค์ช่วยเปลี่ยนมุมมองได้ ความคิดสร้างสรรค์เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง!
4
ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดกับคนที่ชอบเรียนรู้ด้วยตนเอง คนที่อนุญาตให้ตัวเองทำผิดพลาดได้ ความผิดพลาดเป็นอิฐก้อนหนึ่งของอาคารสร้างสรรค์
3
การเรียนรู้ด้วยตนเองจึงสำคัญอย่างยิ่ง
เมื่อรู้ว่าอะไรคือเคล็ดลับสร้างผู้บริหารชั้นยอด งานขั้นต่อไปคือปลูกฝังคุณค่าและเปลี่ยนทัศนคติของคน
แต่จะทำอย่างไร?
โมบลีย์ขบคิดและพบว่า เขาไม่ได้ต้องการโรงเรียนสร้างความรู้หรือหลักสูตรใดๆ เพื่อแสวงหา "คำตอบที่ถูกต้อง" แต่โรงเรียนที่ปฏิวัติระบบความคิด
1
ในทางเซน เมื่อหยุดแสวงหาพบซาโตริหรือการบรรลุธรรม ก็จะพบคำตอบ
2
เขาเชื่อว่าจะทำอย่างนี้ต้องเปลี่ยนปัจจัยสองอย่าง คุณค่ากับทัศนคติ
2
ความคิดสร้างสรรค์มักมากับคุณสมบัติชอบเรียนรู้เอง ใฝ่รู้ ชอบหาความรู้ใหม่ๆ
2
ความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถเรียนได้ เราต้องเป็นดักแด้ที่เปลี่ยนเป็นผีเสื้อแห่งความคิดสร้างสรรค์ด้วยตนเอง
1
จะเป็นทหารจะอ่านจากตำราไม่ได้ ต้องลงไปฝึกในสนามจริง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนกลายเป็นทหารจริงๆ
เป็นที่มาของการก่อตั้ง IBMExecutive School
โรงเรียนนี้ไม่มีการเลกเชอร์ ไม่มีตำรา มีแต่การลงมือเปลี่ยนคนให้สร้างสรรค์ สอนแบบอาจารย์เซนสอนศิษย์ ไม่มีตำรา มีแต่การชี้ทางให้ไปเอง หยุดหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด มีการเล่นเกม การทดลอง เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ร่วมให้เปลี่ยนความคิดเอง
3
ในโรงเรียนนี้ อนุญาตให้นักเรียนทำผิดพลาดได้ และเรียนรู้ ไม่กลัวที่จะทำผิด เพราะความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จหรือความคิดสร้างสรรค์
4
โมบลีย์ดูแลโรงเรียนล้างสมองแห่งนี้นานสิบปี ผลงานคือสร้างคนที่คิดเป็น ทัศนคติดี และสร้างไอบีเอ็มจนรุ่งเรืองในยุค 1960s และ 70s
1
ครั้นถึงยุค 1980s ไอบีเอ็มก็พบคู่แข่งรายใหม่ที่ปรากฏตัวเงียบๆ ด้วยความคิดไร้กรอบ
สตีฟ จ๊อบส์ กับ Apple
บ่อยครั้งในวงการธุรกิจ เมื่อเราเคยชินกับระบบที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ก็มักยึดมั่นถือมั่นในระบบนั้น จนลืมไปว่าโลกยังหมุนรอบตัวเอง มันอาจมีระบบอื่น มุมมองอื่นที่ได้ผลเช่นกัน หรือมากกว่าเสมอ
4
โลกของธุรกิจก็คือโลกของความคิดสร้างสรรค์ และในโลกของความคิดสร้างสรรค์ ก็เหมือนพายเรือทวนกระแสน้ำ เพียงแค่หยุดพาย เรือก็ถอยหลัง
6

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา