9 ก.ค. 2022 เวลา 09:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Assassination การลอบสังหารผู้นำ
มีผลต่อประเทศในเชิงรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อย่างไร (ทางสถิติศาสตร์)
ภาพปก: Assassin’s Creed เครดิต: Pixabay by YAGO_MEDIA
Assasaination หรือ การลอบสังหาร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (ตามหน้าข่าวช็อคโลกที่เพิ่งปรากฏ) โดยเฉพาะกับผู้นำประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักและสำคัญ เพื่อหวังผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ผมขอย้อนรอยแบบสรุปสั้นๆเลยว่าเคยเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำใดบ้างเกิดขึ้นบนโลก ยกมาแค่ตัวอย่างเช่น
  • Julius Caesar (ช่วง 44 ปี ก่อน ค.ศ.) มีการแต่งตั้ง จูเลียส ซีซาร์ เป็นผู้นำแบบเด็ดขาดตลอดชีพ ทำให้วุฒิสภาบางคนไม่ไว้วางใจเกรงว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและ จูเลียส ซีซาร์ จะตั้งตนเป็นกษัตริย์ จึงการวางแผนลอบสังหารขึ้น และทำได้สำเร็จ
1
ภาพวาดมีชื่อเสียง การลอบสังหาร Julius Caesar เครดิต: Pixabay
  • Abraham Lincoln (เมษายน พ.ศ. 2408) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของอเมริกา และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ถูกลอบสังหารสำเร็จ สาเหตุคือมาจากการเลิกทาสสำเร็จหลังจากการยุติลงของสงครามกลางเมือง โดยมือปืนที่เป็นนักแสดงในโรงละครที่ลินคอล์นได้ชมอยู่ตอนนั้น
ภาพการ์ตูนเหตุการณ์ลอบสังหาร Abraham Lincoln เครดิต history.com
  • Adolf Hitler (พ.ศ. 2482) ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ที่ Munich และหนีออกจากโรงเบียร์ได้ทัน ก่อนจะเกิดระเบิดขึ้นเพียง 13 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้เขารอดตายไปได้ ลอบสังหารไม่สำเร็จ
ภาพเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเพื่อสังหาร Adolf Hitler เครดิต history.com
  • John F.Kennedy (พ.ศ. 2506) เหตุการณ์ลอบยิง JFK ที่ช็อคโลกมาก และยังสร้างความค้างคาใจอยู่จนถึงตอนนี้ ว่ามือปืนถูกยิงปิดปากหรือไม่ และคนที่ยิงมือปืนอีกทีโดนจับเข้าคุกแล้วฆ่าตัวตายเป็นการปิดปากหรือไม่ เพราะการสืบสวนพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับองค์การมาเฟียชื่อดัง
ภาพเหตุการณ์ลอบสังหาร JFK
  • Ronald Reagan (พ.ศ. 2524) ถูกคนร้ายลอบยิงขณะกำลังขึ้นรถลีมูซีน เหตุการณ์นี้เรแกนได้รับบาดเจ็บและเข้ารับผ่าตัดฉุกเฉิน รักษาจนหายออกมาได้ปลอดภัย แต่ผู้คุ้มกันโดยกันหลายคน ถือว่าลอบสังหารไม่สำเร็จ
ภาพเหตุการณ์ลอบยิง Ronald Reagan เครดิต: NBC News
  • Yitzhak Rabin (พ.ศ. 2538) นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของอิสราเอล อยู่ในตำแหน่ง 2 สมัย มูลเหตุการลอบยิงเขาเกิดจากการที่อิสราเอลได้ทำข้อตกลงออสโลกับปาเลสไตน์ (ผู้นำตอนนั้นคือ ยัสเซอร์ อาราฟัต) มือปืนมีความคิดตรงข้ามอย่างมากมองว่าเขาเป็นคนทรยศ กำลังมอบอิสราเอลให้ชาวอาหรับ
ภาพเหตุการณ์การทำข้อตกลงออสโลของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ มูลเหตุของการลอบยิง Yitzhak Rabin นายกฯอิสราเอล เครดิต: Vince Musi/The White House
ผู้เขียนขอนำบทความวิชาการ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับผลกระทบเชิงรัฐศาสตร์จากการลอบสังหารผู้นำ และอีกฉบับเกี่ยวกับผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์จากการลอบสังหารผู้นำ โดยวิธีทางสถิติ มาสรุปและเขียนดังต่อไปนี้ครับ
  • ผลกระทบเชิงรัฐศาสตร์
อ้างอิงบทความวิชาการชื่อ “Hit or Miss? The Effect of Assassinations on Institutions and War” ของ Jones และ Olken ฉบับ July 2009 สามารถอ่านบทความวิชาการฉบับเต็มได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
...
Benjamin Disraeli (1965) เคยกล่าวหลังการเสียชีวิตของ Abraham Lincoln ไว้ว่า “การลอบสังหารไม่มีวันจะทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปได้” เป็นจริงหรือไม่ บทความนี้ได้พยายามทำการพิสูจน์โดยใช้ตัวเลขทางสถิติ
...
สถิติบอกเราว่า “ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา จะมีการลอบสังหารผู้นำประเทศประมาณ 2 คน ในทุก 3 ปี”
ตาราง 1: รวบรวมสถิติความพยายามในการลอบสังหาร ที่มา: บทความ Hit or Miss? The Effect of Assassinations on Institutions and War
จากตารางด้านบน Jones และ Olken ใช้ข้อมูลที่เก็บสะสมในปี ค.ศ. 1875-2004 มีความพยายามลอบสังหารผู้นำ 298 ครั้ง และทำได้สำเร็จ 59 ครั้ง โดยแบบจำลองของเขาใช้การลอบสังหารสำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นตัวแปรควบคุม และนิยามของคำว่า leader ของเขาคือผู้นำสูงสุดของประเทศเท่านั้น ไม่นับระดับรัฐมนตรี
  • พบว่าอาวุธหลักที่ใช้ในการลอบสังหารผู้นำคือ ปืน (55%) รองลงมาคือระเบิด (31%) โดยปืนจะมีโอกาสลอบสังหารสำเร็จ 30% ขณะที่ระเบิดมีโอกาสเพียง 7% เท่านั้น และส่วนใหญ่การลอบสังหารจะเกิดขึ้นในประเทศตัวเองมากกว่าจะเกิดในต่างประเทศ
ตาราง 2: แสดงค่าความสัมพันธ์การลอบสังหารผู้นำที่มีผลต่อเชิงรัฐศาสตร์ (เปลี่ยนแปลงการปกครอง) ที่มา: บทความ Hit or Miss? The Effect of Assassinations on Institutions and War
** ตรงนี้ถ้าอ่านไม่เข้าใจ เพราะเป็นศัพท์ที่ใช้ในการทำแบบจำลองของบทความนี้ ข้ามไปช่วงถัดไปได้เลยครับ (ล่างเส้นปะถัดไป)
ในการวัดรูปแบบสถาบันใช้ตัวแปร 2 ชุด คือ
• ตัวแปรหุ่น (Dummy Variable) โดยวัดจากระบอบการปกครอง ซึ่ง 1 คือประชาธิปไตย และ 0 คือระบอบเผด็จการ (Autocracy) ใช้ข้อมูล POLITY2
• ตัวแปรสัดส่วนของผู้นำประเทศที่มาตามวิถีทางปกติ (ตามกฎหมาย) (Regular Change) กับวิถีทางที่ไม่ปกติ (เช่น การรัฐประหาร) (Irregular Change) โดยใช้ข้อมูล Archigos
ในการวัดการเกิดสงครามใช้ตัวแปร 2 ชุด คือ
• ตัวแปรหุ่นจากฐานข้อมูล Correlates of War ที่จะนับความเป็นสงครามเมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิน 1,000 คน
• ตัวแปรหุ่นจากฐานข้อมูล PRIO ที่จะนับว่าเป็นความขัดแย้ง (Conflict) ว่าเป็นสงครามระดับกลาง (Moderate War) เมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิน 25 คน และนับเป็นสงครามระดับรุนแรง (Intense War) เมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิน 1,000 คน
การอ่านผลการประมาณค่าการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันแสดงได้ตามตาราง 2 (ด้านบน)
...
  • Panel A พิจารณารวมกันทั้งประเทศที่เป็นเผด็จการและประชาธิปไตย คอลัมน์ที่ 1 แสดงให้เห็นว่า หากการลอบสังหารผู้นำสำเร็จ มีโอกาสที่ระบอบการปกครองจะเปลี่ยนแปลงไป คอลัมน์ที่ 2 พิจารณาเพิ่มเติมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลง พบว่าการลอบสังหารผู้นำสำเร็จมีแนวโน้มจะทำให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สอดคล้องกับผลที่ได้ในคอลัมน์ 3 ที่พบว่า การลอบสังหารผู้นำสำเร็จจะทำให้ประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่ระบบการเปลี่ยนผู้นำให้เป็นไปตามวิถีทางปกติ(ตามกฎหมาย)มากขึ้น ในอีก 20 ปี
  • Panel B แยกพิจารณาผลของประเทศที่เป็นเผด็จการและประชาธิปไตยออกจากกัน ทั้งคอลัมน์ 2 และ 3 ตีความได้ว่า การลอบสังหารผู้นำที่สำเร็จนั้น มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากประเทศที่มีระบอบเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางกลับกันไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับกรณีที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว
ตาราง 3: แสดงค่าความสัมพันธ์การลอบสังหารผู้นำที่มีผลต่อเชิงรัฐศาสตร์ (การเกิดสงคราม) ที่มา: บทความ Hit or Miss? The Effect of Assassinations on Institutions and War
การอ่านผลการประมาณค่าการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่อโอกาสในการเกิดสงครามแสดงได้ตามตาราง 3 (ด้านบน)
...
  • คอลัมน์แรกใช้ข้อมูลตั้งแต่ ค.ศ. 1875-2002 และคอลัมน์ที่สองใช้ข้อมูลหลังสงครามโลกช่วง ค.ศ. 1946-2002 พบว่า ความสำเร็จของการลอบสังหารผู้นำมีผลไม่ชัดเจนนักต่อโอกาสการเกิดสงคราม
  • แต่เมื่อพิจารณาในคอลัมน์ที่สาม ใช้ข้อมูลช่วง ค.ศ. 1946-2002 และจำแนกระดับของสงครามออกเป็นความรุนแรงระดับกลาง (จำนวนผู้เสียชีวิต 26-999 คน) กับระดับรุนแรง (จำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน) พบว่าความสำเร็จจากการลอบสังหารผู้นำจะมีผลต่อการเกิดความขัดแย้ง (รุนแรงระดับกลาง) แต่ไม่ถึงขั้นเกิดสงครามขั้นรุนแรง
  • ผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์
อ้างอิงบทความวิชาการชื่อ “Leader Assassination and Economic Growth” ของ Scott Gilbert, Kevin Sylwester และ Wei Gao ฉบับ September 2011 สามารถอ่านบทความวิชาการฉบับเต็มได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
...
ใช้วิธีเดียวกันกับ Jones และ Olken (2007) ที่เขียนไปก่อนหน้า แต่สำหรับ 3 คนนี้ ทำเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากแหล่งข้อมูลสองแหล่งคือ Penn World กับ Maddison และพิจารณาส่วนต่างของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ความแตกต่างระหว่าง ค่า After กับ ค่า Before เมื่อเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำเกิดขึ้น)
โดยใช้วิธีทั้งแบบเส้นตรง (Linear) และแบบกำลังสอง เพื่อตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่โดยไม่สนใจทิศทางว่าอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ตาราง 4: แสดงค่าความสัมพันธ์การลอบสังหารผู้นำที่มีผลต่อเชิงเศรษฐศาสตร์ (อัตราการเติบโต) ที่มา: บทความ Leader Assassination and Economic Growth
การอ่านผลการประมาณค่า แสดงได้ตามตารางที่ 4 (ด้านบน) พบว่า
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจาก Penn World หรือ Maddison และไม่ว่าจะเป็นตัวแปรแบบเส้นตรงหรือกำลังสอง ความสำเร็จในการลอบสังหารผู้นำก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่างไปจากกรณีที่ลอบสังหารไม่สำเร็จ
หมายถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะอ่อนไหวต่อสถานการณ์ลอบสังหาร แต่ชัดเจนว่าไม่อ่อนไหวต่อความสำเร็จของการลอบสังหาร
  • บทสรุปผลกระทบจากการลอบสังหารผู้นำ
  • เชิงรัฐศาสตร์: ความสำเร็จของการลอบสังหารผู้นำ มีผลเฉพาะในประเทศเผด็จการ ซึ่งจะนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นก่อให้เกิดสงคราม ขณะที่ประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ความสำเร็จของการลอบสังหารผู้นำไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ระบอบเผด็จการแต่อย่างใด
  • เชิงเศรษฐศาสตร์: ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการลอบสังหารผู้นำไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด
สรุปและเรียบเรียงโดย Right SaRa
9th July 2022
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
“Hit or Miss? The Effect of Assassinations on Institutions and War” ของ Jones และ Olken ฉบับ July 2009
“Leader Assassination and Economic Growth” ของ Scott Gilbert, Kevin Sylwester และ Wei Gao ฉบับ September 2011
โฆษณา