21 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
วันนี้เมื่อ ๑๔๙ ปีก่อน (๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๖) ฝรั่งคนหนึ่งตายในเมืองไทย เป็นฝรั่งที่คนไทยสามารถยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจ เพราะเขามีบุญคุณต่อเมืองไทยอย่างใหญ่หลวง
6
หมอฝรั่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอเมริกา สู่โลกใหม่ที่เขาไม่เคยเห็น ชีวิตเขาเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง
3
หมอฝรั่งเป็นหมอ แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทย เขากลายเป็นปลัด - ปลัดเล
แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) ชาวอเมริกัน ป่วยเมื่ออายุยี่สิบ หูมีอาการหนวก เขาสวดภาวนาในโบสถ์ขอให้หายจากอาการป่วย ต่อมาเขาก็หายป่วย และเลื่อมใสในศาสนาอย่างยิ่ง เขาศึกษาวิชาแพทย์เพื่อที่จะทำงานเป็นมิชชันนารี เผยแผ่ศาสนาคริสต์
เขาสมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีใน American Board of Commissioners for Foreign Missions ทำงานในแผ่นดินไกลโพ้น
1
เขาเลือกเดินทางไปสยาม
1
ในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ หมอแบรดลีย์เดินทางจากเมืองบอสตัน ไปพร้อมกับเอมิลี ภรรยาและมิชชันนารีกลุ่มหนึ่ง พวกเขาถึงประเทศพม่าในปลายปีนั้น แล้วเดินเรือต่อไปที่สิงคโปร์ ใช้ชีวิตในสิงคโปร์หลายเดือนก่อนเดินทางต่อไปสยาม
เรือพากลุ่มมิชชันนารีถึงกรุงเทพฯราตรีวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ รัชสมัยรัชกาลที่ ๓
เอมิลีกล่าวว่า “สุขสันต์วันเกิดปีที่ ๓๑”
ใช่ วันเหยียบแผ่นดินไทยเป็นวันเกิดของเขา
และเป็นวันเกิดของเรื่องใหม่ ๆ มากมายของสยามประเทศ
หมอแบรดลีย์เปิดโอสถศาลาแห่งแรกในสยามข้างวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) รักษาคนไข้และเผยแผ่ศาสนาคริสต์ การรักษาประสบความสำเร็จ ตรวจคนไข้นับร้อยคนต่อวัน ชาวบ้านเรียกหมอว่า หมอบรัดเลย์บ้าง ปลัดเลบ้าง
เป็นที่มาของ ‘ปลัด’ ฝรั่งในแผ่นดินไทย
วันหนึ่งเจ้าของที่ดินแจ้งเขาว่า “พวกคุณต้องย้ายออกจากที่นี่”
1
“ทำไม?”
“ทางการกดดันผม เนื่องจากย่านนี้มีคนจีนมาก ทางการกลัวว่าการที่คุณมารักษาคนแถวนี้จะทำให้คนจีนกระด้างกระเดื่อง ยากต่อการปกครอง”
“แล้วเราจะไปที่ไหน?”
“คุณอาจย้ายไปที่กุฎีจีน ถิ่นชาวโปรตุเกส”
ปลัดเลย้ายโอสถศาลาไปแถวกุฎีจีน บริเวณใกล้โบสถ์วัดซางตาครู้ส จุดเดียวกับร้านชักภาพของ ฟรานซิศ จิตร เช่าที่ดินหน้าวัดประยุรวงศาวาสของเจ้าพระยาพระคลัง ผู้ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เปิดทำการโอสถศาลาแห่งใหม่เมื่อเดือนตุลาคม ๒๓๗๘
พ.ศ. ๒๓๘๐ มีงานฉลองที่วัดประยุรวงศ์ฯ กระบอกบรรจุดินดำทำพลุแตกระเบิด คนตายแปดคน พระรูปหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสที่แขน ไม่มีหมอชาวบ้านคนใดรักษาได้ และหากไม่ทำอะไร แผลจะเน่า พระจะมรณภาพ ชาวบ้านพาพระไปยังที่พึ่งสุดท้าย บ้านหมอฝรั่ง
1
ปลัดเลทำการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสยาม การตัดแขนผ่านไปด้วยดีโดยไม่มียาสลบ พระรูปนั้นมีชีวิตรอด
3
หลังการผ่าตัดพระสำเร็จ หมอบรัดเลย์แสดงฝีมืออีกหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดก้อนเนื้องอกออกจากหน้าผากของชายผู้หนึ่งสำเร็จ ต่อมาก็ผ่าตัดรักษาต้อกระจก ต้อเนื้อ สำเร็จ ผู้คนเริ่มเชื่อถือการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน
3
เขาต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงโน้มน้าวใจคนไทยให้เชื่อเรื่องการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษด้วยเชื้อหนอง เริ่มที่ปลูกฝีให้กับชาวต่างชาติในสยาม เมื่อชาวบ้านเห็นว่าป้องกันฝีดาษได้จริง จึงยอมปลูกฝีกัน
1
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินก้อนหนึ่งซื้อเชื้อหนองฝีโคที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งทรงให้แพทย์หลวงศึกษาวิธีการปลูกฝีจากหมอบรัดเลย์
1
หมอบรัดเลย์พยายามชี้แนะให้คนไทยเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟหลังคลอด เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มารดาเสียชีวิตหลังคลอด
1
ขณะที่หมอบรัดเลย์รักษาคนไข้ เอมิลีภรรยาก็เป็นครูสอนภาษาอังกฤษในวัง
การรักษาแบบตะวันตกของหมอบรัดเลย์ทราบถึงพระกรรณเจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) ซึ่งเวลานั้นทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร รับสั่งให้หมอเข้าเฝ้า เพื่อถวายการรักษาพระโรคลมอัมพาตจนทุเลา หมอบรัดเลย์จึงได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่นั้น ทรงสนทนาเรื่องทั่วไปในโลก ทั้งวิทยาศาสตร์และอื่น ๆ
2
หมอบรัดเลย์ยังทำหน้าที่เป็นผู้ร่างและแปลจดหมายภาษาอังกฤษถวายงาน ไปจนถึงการทำหน้าที่ล่ามในการเจรจาการค้ากับฝ่ายตะวันตก ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึงเมื่อฝ่ายศาสนจักรในสหรัฐฯตัดสินใจยุติการสนับสนุนภารกิจของพวกมิชชันนารีในสยาม คณะมิชชันนารีพากันกลับบ้าน แต่หมอบรัดเลย์ต้องการอยู่ต่อ
1
เขาบอกภรรยาว่า “หากจะอยู่ต่อไป เราต้องมีรายได้เพียงพอ”
“เราจะทำอะไร?”
“คณะมิชชันนารีทิ้งแท่นพิมพ์ไว้ เราสามารถดำเนินกิจการการพิมพ์เป็นภาษาไทย”
1
“แต่ตัวพิมพ์ไทย...”
“เราสามารถนำตัวพิมพ์จากสิงคโปร์หรืออินเดียมาใช้ชั่วคราวไปก่อน แล้วค่อยประดิษฐ์ตัวพิมพ์ไทยขึ้นเอง”
1
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ราชสำนักว่าจ้างหมอบรัดเลย์ตีพิมพ์เอกสารประกาศของราชการ เช่น ประกาศห้ามสูบและค้าขายฝิ่น พิมพ์จำนวนเก้าพันฉบับเผยแพร่ชาวบ้าน
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ หมอบรัดเลย์เป็นคนแรกที่หล่อตัวพิมพ์ไทยได้สำเร็จ หนึ่งในงานสิ่งพิมพ์ชิ้นแรก ๆ คือ ครรภ์ทรักษา หนา ๒๐๐ หน้า เป็นตำราการคลอดและวิธีรักษาโรค
5
งานพิมพ์ในยุคแรกของหมอบรัดเลย์เป็นงานเผยแผ่ศาสนาเป็นหลัก แต่เพื่อให้มีรายได้พอ จึงเริ่มพิมพ์งานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเผยแผ่ศาสนาคริสต์
1
วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๓๘๗ หมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยาม ชื่อ หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) เขาทำหน้าที่ทั้งบรรณาธิการและนักเขียน เสนอข่าวสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลวิทยาการต่าง ๆ การแพทย์ การพาณิชย์ของสยามและต่างประเทศ พงศาวดารต่าง ๆ
5
ความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งมาเยือนเมื่อเอมิลีเสียชีวิตด้วยวัณโรค เขาจึงพาลูกสามคนกลับสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๓๙๓
สามปีต่อมา เขาก็กลับมาสยามอีกครั้งโดยได้ทุนสนับสนุนจากสมาคมมิชชันนารีอเมริกัน ครั้งนี้เดินทางมากับภรรยาคนใหม่ ซาราห์ แบลกลี (Sarah Blachly)
เช่นเดียวกัน แหม่มซาราห์สอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในบ้านเมืองเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีถัดมา รัชกาลที่ ๔ พระราชทานที่ดินให้หมอบรัดเลย์และมิชชันนารี ปลูกบ้านและโรงพิมพ์บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ใกล้ป้อมวิชัยประสิทธิ์ งานพิมพ์จำนวนมากก็หลั่งไหลออกจากแท่นพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ เช่น ตำราเรียนภาษาไทย ประถม ก. กา งานวรรณคดีต่าง ๆ ตำราแพทย์ พจนานุกรมบาลี นิราศลอนดอน จินดามณี ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น ไปจนถึงราชกิจจานุเบกษาฉบับแรกของสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑
2
ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ หมอบรัดเลย์ไปหาหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) กล่าวว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะตีพิมพ์ นิราศเมืองลอนดอน ของหม่อม”
3
สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี เป็นล่ามหลวงไปกับคณะราชทูตไทย เชิญพระราชสาสน์และเครื่องมงคลราชบรรณาการ เดินทางไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นที่มาของต้นฉบับ นิราศเมืองลอนดอน ที่แต่งขึ้นหลังจากเดินทางกลับมาสองปี
5
หมอบรัดเลย์เสนอว่า “ข้าพเจ้าจะชำระค่าลิขสิทธิ์เป็นเงิน ๔๐๐ บาท”
นับเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ตีพิมพ์หนังสือครั้งแรกในสยาม
บิดาแห่งการพิมพ์ของสยามผลิตงานออกมาต่อเนื่อง พัฒนาวงการศึกษาไทยไปโดยปริยาย
3
ชาวบ้านมุงกันข้างนอกโอสถศาลา พวกเขาคุยกันว่าหมอบรัดเลย์กำลังป่วยหนัก หมอกำลังจะตาย
ปีนี้หมออายุ ๖๙ การทำงานหนักและความชราภาพที่มาเยือนทำให้หมอล้มป่วย มีอาการหนัก
1
หลังจากทำงานเพื่อแผ่นดินไทยมาเกือบสี่สิบปี หมอบรัดเลย์ก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๖ สิริอายุ ๖๙ ปี ศพฝังที่สุสานโปรเตสแตนท์ บนถนนเจริญกรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
1
หมอฝรั่งจากโลกไปโดยไม่มีทรัพย์สมบัติ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ของในหลวงรัชกาลที่ ๕ บันทึกว่า “ให้ช่วยในการก่อขุดศพหมอปลัดเลที่เงินยังขาดอยู่ ๑๒๐ บาท ให้ทำรั้วเหล็กล้อมที่ฝังศพ ๒๐๐ เหรียญ”
2
แหม่มซาราห์ แบลกลี ไม่ได้กลับไปอเมริกาเลยตลอดชีวิต นางเสียชีวิตเมื่อ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ อายุ ๗๕ ปี หลังจากใช้ชีวิตในสยามยาวนาน ๔๓ ปี ลูกของนางทุกคนเดินทางกลับอเมริกา ยกเว้นลูกสาวชื่อไอรีน (แหม่มหลิน) ยังอยู่เมืองไทยจนแก่ สั่งเสียว่าหลังจากเสียชีวิตให้มอบที่ดินให้กองทัพเรือ
3
แดน บีช แบรดลีย์ เป็นมากกว่าหมอ เป็นผู้ปฏิรูปประเทศ เป็นผู้ให้ความรู้ เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสยาม เป็นเข็มทิศสังคมไทย
2
และที่สำคัญ เขาเป็นคนไทยด้วยหัวใจ
คนต่างชาติบางคนเป็นคนไทยยิ่งกว่าคนไทย ฝังหัวใจในแผ่นดินไทย ฝังร่างกายบนแผ่นดินไทย
4
หากพระเจ้าคือความรัก หมอบรัดเลย์ก็ทำงานของพระเจ้าสำเร็จลุล่วง
จากหนังสือ #ประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม ๑ (ชุดนี้มี ๕ เล่ม) ซื้อตรงจากนักเขียนได้ที่ http://www.winbookclub.com/shopping.php (หมวดสารคดี)
โฆษณา