19 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
(Netflix เพิ่งนำหนังเรื่องนี้มาฉาย จึงถือโอกาสนี้รีวิวย้อนหลัง)
อเล็กซ์ การ์แลนด์ เป็นนักเขียนนวนิยายที่หันไปเอาดีทางเขียนบทภาพยนตร์ เขาเขียนบทหนังเรื่อง The28 Days Later, Sunshine ฯลฯ (สองเรื่องนี้กำกับโดย Danny Boyle คนที่ทำเรื่อง Slumdog Millionaire, 127 Hours)
วัดฝีมือจากเฉพาะเรื่อง 28 Days Later ซึ่งถูกยกว่าเป็นหนังเกี่ยวกับซอมบี้ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ก็สามารถพูดได้ว่าเป็นมือเขียนบทระดับแถวหน้าได้
หลังจากเขียนบทให้คนอื่นมามาก การ์แลนด์ก็ลงมือกำกับเอง นี่เป็นเรื่องแรก
Ex Machina (หรือ EX_MACHINA)
โปรแกรมเมอร์หนุ่มคนหนึ่งถูกส่งไปทำงานกับเจ้านายของเขาซึ่งมีที่ทำงานกลางป่าหนึ่งสัปดาห์ หน้าที่ของเขาคือประเมินความสามารถของหุ่น AI ตัวหนึ่ง (หรือคนหนึ่ง?) เป็นการประเมินผลที่เรียกว่า Turing test
Turing test หรือชื่อเดิมเรียกว่า The Imitation Game เป็นแบบทดสอบว่าเครื่องจักรสามารถแสดงพฤติกรรมที่เทียบเท่ามนุษย์ได้หรือไม่
คนต้นคิดคือ อลัน ทิวริง นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชาวอังกฤษ ผู้มีบทบาทในการถอดรหัสเครื่องเอ็นนิกมา (Enigma) ของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ทิวริงสร้างเครื่องถอดรหัสที่เรียกว่า Bombe
ระบบถอดรหัสของทิวริงประสบความสำเร็จ ช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามเร็วขึ้น คนในวงการคอมพิวเตอร์ยกย่องเขาว่าเป็นคนที่ให้กำเนิดคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ชื่อ อลัน ทิวริง ไม่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง เพราะเขาเป็นโฮโมเซ็กชวลซึ่งผิดกฎหมายในเวลานั้น หลังใช้งานทิวริงเสร็จก็เชือดทิ้ง ศาลอังกฤษสั่งให้ทิวริงรับการฉีดฮอร์โมนเพศมิฉะนั้นจะต้องเข้าคุก ทิวริงเลือกการฉีดยา ส่งผลให้เขามีหน้าอกอย่างผู้หญิง และมีจิตใจแปรปรวน ในที่สุดทิวริงก็ฆ่าตัวตายโดยการกินแอปเปิลเคลือบไซยาไนด์ (มีทฤษฎีที่ว่าโลโกคอมพิวเตอร์แอปเปิลเป็นการแสดงความสดุดีต่อ อลัน ทิวริง !)
3
ใครสนใจเรื่องของ อลัน ทิวริง สามารถดูฉบับหนังได้ คือเรื่อง The Imitation Game (Benedict Cumberbatch รับบทเป็น อลัน ทิวริง)
โปรแกรมเมอร์หนุ่มถอดรหัสพฤติกรรมของ AI สำเร็จหรือไม่ เป็นคำถามที่จบด้วยการหักมุม
1
Ex Machina เป็นหนังไซไฟแบบไซไฟบริสุทธิ์ ช่วงหลังเราจะพบแต่ไซไฟแบบแตะวิทยาศาสตร์แค่ผิวๆ (soft sci-fi) มากกว่าไซไฟแบบลึก (hard sci-fi) เช่นเป็นหนังแอ็คชั่นที่อิงไซไฟนิดหน่อย ยกตัวอย่างเช่น Gemini Man (ซึ่งเป็นหนังเลวร้ายอย่างยิ่ง) หรือ The Island ของพี่เบย์ ซึ่งแตะวิทยาศาสตร์นิดหน่อย เพื่อเป็นฐานให้ถล่มภูเขา เผากระท่อม เป็นต้น
ตัวอย่าง hard sci-fi เช่น 2001: A Space Odyssey, Solaris ซึ่งไม่ค่อยมีคนสร้าง เพราะมักเข้าใจยากกว่า
2
ที่อยู่ระหว่างกลางคือเล่นประเด็นยาก แต่เข้าใจไม่ยาก และสนุก เช่น Contact, Interstellar, Arrival, Blade Runner 1-2 เป็นต้น
Ex Machina เป็นหนังที่มีตัวละครหลักแค่สามคนกับหนึ่งฉาก (ความจริงน่ายินดีที่คนไทยทำงาน Minimalism แบบนี้ตั้งแต่ 50 ปีก่อน คือเรื่อง ชู้ ของเปี๊ยกโปสเตอร์)
1
หนัง Minimalism ที่มีตัวละครน้อย ฉากเดียว และเป็นไซไฟจิตวิทยาด้วย ทำยาก มีโอกาสพังสูง เรื่องต้องน่าสนใจจริงๆ
โชคดีที่ อเล็กซ์ การ์แลนด์ มือถึง
นี่เป็นหนังไซไฟที่คมคายที่สุดเรื่องหนึ่งนับจาก 2001: A Space Odyssey ของ สแตนลีย์ คูบริก และ Solaris ของ อังเดร ทาร์คอฟสกี
ความจริงฉากตัวละครมนุษย์สองคนคุยกับหุ่น AI ก็เหมือน เดวิด โบว์แมน กับ แฟรงก์ พูล คุยกับ HAL 9000 และมีความเลือดเย็นคล้ายกัน
ฉากโปรแกรมเมอร์สัมภาษณ์ AI คล้ายฉาก Rick Deckard (แฮริสัน ฟอร์ด สัมภาษณ์ replicant สาว 'ราเชล'ใน Blade Runner แต่ลึกกว่า
2
แม้จะมีฉากน้อย ตัวละครน้อย แต่เรื่องกลับเข้ม ตัวละครดูเหมือนง่าย แต่กลับซับซ้อน บทสนทนาค่อนข้างลึก มี thought experiment ที่น่าสนใจ เป็นไซไฟน้อยเรื่องที่เข้าไปในพื้นที่จิตวิทยา AI
หนังเกี่ยวกับ AI จำนวนมากแสดงให้เห็นว่า AI ฉลาด แต่ไม่บอกว่า AI มีพัฒนาการในเรื่องความคิด อารมณ์อย่างไร จิตวิทยา AI เป็นอย่างไร
1
Ex Machina เป็นหนังเสริมนิวรอน มันตั้งคำถามต่างๆ เกี่ยวกับ AI แต่เมื่อถึงตอนท้ายแล้ว เราจะพบว่าบางทีหนังอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับมนุษย์มากกว่า
ในท่อนหนึ่งตัวละครโปรแกรมเมอร์หนุ่มถามเจ้านายว่า "คุณสร้าง AI ขึ้นมาทำไม?"
เจ้านายตอบทำนองว่า ทำไมจะไม่สร้างล่ะ เราทำในสิ่งที่เราทำได้ ดีไม่ดีไม่ใช่ประเด็น เขาเห็นว่าคุณค่าชีวิตของ AI ไม่สำคัญเท่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
2
บางทีเพราะเราเป็นมนุษย์ เราไม่เคยแคร์คนอื่นๆ อยู่แล้ว อย่าว่าแต่ AI ที่โดยเนื้อแท้ก็เป็นเพียงแผงวงจรและสายไฟมาเชื่อมต่อกัน
10/10
Netflix
1
โฆษณา