12 ก.ค. 2022 เวลา 21:23 • สุขภาพ
ง่วงเหงาหาวนอน, วิตกกังวล, เครียด, เบื่อง่าย, ทำอะไรไม่ต่อเนื่อง เหล่านี้คืออาการของ “สมาธิสั้น” ที่เกิดจากการเสพติดข้อมูลข่าวสาร ผ่าน Smartphone มากเกินไป หากปล่อยไว้นานวันเข้า ศักยภาพการจดจำของสมอง และความคิดสร้างสรรค์จะย่ำแย่หนักขึ้นเรื่อยๆ จนอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
อาการสมาธิสั้น เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่
1. ป่วยเป็นโรค ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม ลองทำบททดสอบนี้ดูว่า คุณเข้าข่ายป่วยเป็นโรค ADHD หรือไม่ การรักษาจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
2. แต่หากสมาธิสั้นเพราะเสพติดข้อมูลข่าวสารจาก Smartphone สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีรายละเอียดตามบทความนี้ค่ะ
เซเนก้า นักปรัชญาผู้ก่อตั้งลัทธิสโตอิก กล่าวว่า..
“The life of a foolish man is fearful and unpleasant;
it is swept totally away into the future.”
Lucius Annaeus Seneca [1]
คำพูดของ เซเนก้า ข้างต้น มีความหมายว่า “ชีวิตของคนโง่มักเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและความไม่พึงพอใจ จนถูกคลื่นของผู้อื่นซัดพาไปในอนาคตอย่างไร้จุดหมาย”
อาการสมาธิสั้น (ภาพ: กรมสุขภาพจิต)
ศาสตราจารย์บุช (Prof. Dr. Volker Busch) คุณหมอชาวเยอรมัน แห่งมหาวิทยาลัยคลินิคเรเกนสบวร์ก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา จิตเวช และจิตบำบัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า โลกออนไลน์ผ่าน Smart phone คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมาธิสั้น อันมีผลโดยตรงต่อสมองและส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ ของผู้คนในโลกยุค 2022
คนที่มีอาการสมาธิสั้นนั้น เกิดจากการที่ในแต่ละวัน สมองของเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นล้านๆ เรื่อง ผ่านการมองเห็นจากระบบแจ้งเตือน ที่ขึ้นฟีดในโทรศัพท์มือถือ หรือแทปเลต ผ่านแอพต่างๆ มากจนเกินไป และเป็นข้อมูลที่แทบไม่มีประโยชน์ ซึ่งไม่ได้ถูกเอาไปใช้ต่อ
ทำให้สมองของเรารีบลบข้อมูลระยะสั้นที่ไม่มีประโยชน์เหล่านั้นทิ้ง ออกจากหน่วยความจำโดยอัตโนมัติให้เร็วที่สุด แต่ข่าวร้ายคือ มันส่งผลต่อพฤติกรรมการรับรู้ของเราในระยะยาวของเราด้วย
แม้แต่ในคนที่มีสมาธิจดจ่อมากกว่าคนปกติทั่วไปก็ตาม หากถูกรบกวนถี่ๆ เข้า ด้วยข้อมูลขยะโซเชียล ความสามารถในการมีสมาธิจดจ่อ ก็จะเริ่มลดลงเช่นกัน
Smartphone (ภาพ: Unsplash)
สมองคนเราไม่ได้มีปัญหาต่อปริมาณของข้อมูลอันมหาศาล เพราะพื้นที่หน่วยความจำสมองนั้นไร้ขีดจำกัด แต่ปัญหาคือสมองไม่มีความสามารถในการรับรู้ข้อความสั้นๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกัน และมาพร้อมกันคราวละมากๆ และถี่ๆ ต่างหาก
เปรียบเหมือนขยะหลากหลายประเภทที่สุมกองรวมกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการคัดแยกเป็นหมวดหมู่นั่นเอง
ส่งผลให้สมองขาดประสิทธิภาพในการจัดลำดับการรับรู้ ทำให้แม้คนที่เคยมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ ได้นั้นค่อยๆ ลดหายไป ความจำแย่ ง่วง อาการเหนื่อยง่าย เบื่อง่าย เข้ามาแทนที่ สนใจหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน แต่ทำไม่ได้ต่อเนื่องสักอย่าง จนเกิดปัญหากลายเป็นโรคสมาธิสั้นในที่สุด
วิธีปรับแก้พฤติกรรมเบื้องต้น คือลดการรบกวนจากปัจจัยภายนอกลง เช่น ลดการเช็คสมาร์ทโฟน ที่คอยแต่จะมีคนส่ง Line, Messenger, DM เข้ามาตลอดเวลา รวมถึงหน้าฟีด Facebook, Instagram, Reddit, Twitter หรือ Blogdit ก็ตาม ที่มีคนคอยสร้างฟีดดึงความสนใจของเราแทบจะ 24 ชั่วโมง ควรปรับเป็น แทนที่จะเช็คทุก 10 นาที ก็ปรับเป็นเช็คข้อความวันละครั้ง เป็นต้น
1
Brain (ภาพ: Unsplash)
  • ทำไมเราจำเป็นต้องลดการเข้าถึงข้อมูลขยะโซเชียลลง ?
เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญ ที่คอยส่งคลื่นรบกวนการเชื่อมโยงข้อมูลภายในสมองของเราถี่เกินไป อันเป็นผลกระทบโดยตรงต่อสมองที่กำลังดำดิ่งอยู่กับสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ทำให้สมาธิที่กำลังดิ่งลึก ถูกรบกวนจนกระจัดกระจาย เมื่อสมองถูกรบกวนซ้ำๆ บ่อยๆ ก็จะทำให้กลายเป็นโรคสมาธิสั้นได้นั่นเอง
  • โดพามีน คือสาเหตุที่ทำให้เสพติดโซเชียลมีเดีย ?
เมื่อระบบประสาทการรับรู้คือ ตา หรือหูของเราได้รับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา เช่น เมื่อมีคนส่งข้อความ หรือกดไลค์ภาพของเรา สมองจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร โดพามีน หรือสารแห่งความสุข ซึ่งเป็นตัวหล่อลื่นระบบประสาทให้รู้สึกตื่นเต้น ซาบซ่าน เป็นพลังงานให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว และสาร โดพามีนนี่เอง คือตัวการทำให้เราเสพติดกับข้อมูลเหล่านั้นบนโลกโซเชียล
วิธีปรับแก้พฤติกรรมสมาธิสั้น Step by Step
  • วางโทรศัพท์มือถือให้ห่างจากตัว หรือปิดเครื่องไปเลย หยิบมาใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
  • ปิดการแจ้งเตือนข่าวจากแอพต่างๆ เช่น Youtube, Facebook, Line เพราะการแจ้งเตือนข่าวสารจากแอพเหล่านั้นก่อให้เกิดความไม่สงบภายในจิตใจ
  • ให้ถามตัวเองทุกครั้งว่า เราจะหยิบมือถือขึ้นมาใช้ทำอะไรในเวลาที่รู้สึกกระวนกระวาย อยากจะเช็คโทรศัพท์มือถือ
  • หมั่นสังเกตร่างกายว่าเริ่มเกิดอาการปวดคอ ปวดไหล่มั้ย เมื่อไรที่รู้ตัวว่า นั่งหลังงอ ยกไหล่ ให้รีบวางมือถือลงทันที
  • หยุดพฤติกรรม Multifunction คืออย่าใช้มือถือหรือแทปเลต พร้อมกับทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น ช้อปปิ้งผ่านแทปเลต และถักไหมพรมไปด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความผิดพลาดแล้ว ยังอาจทำให้ต้องแก้ไขออเดอร์ที่สั่งไป หรือแก้ไหมพรมที่ถักผิดไป ทำให้ใช้เวลานานกว่าเดิมเป็นสองเท่า แถมยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสมาธิสั้นหนักขึ้น
  • การดำดิ่งที่ต่อเนื่องเท่านั้นจึงจะทำให้เกิดสมาธิ เช่น หากว่า ใน 1 วัน เราต้องการเขียนหนังสือ 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลานี้ ให้สร้างสิ่งแวดล้อมที่คนอื่นจะเข้าถึงเราไม่ได้ เช่น ปิดเครื่องโทรศัพท์มือถือตลอด 1 ชั่วโมงนั้น โดยไม่มีพักคั่นระหว่างชั่วโมง
  • เมื่อสมองลดการรบกวนจากภายนอกมากเข้า สมองจะสามารถจำแนกได้ว่า ข้อมูลส่วนไหนจำเป็น และสำคัญ รวมถึงสามารถคัดกรองสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป ยิ่งฝึกมาก การพัฒนาของสมองก็จะยิ่งเร็วขึ้น และแม่นยำมากขึ้น
  • การพักสมองสัก 5 นาที ระหว่างชั่วโมงที่จดจ่อนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น อาจจะเปลี่ยนไปฟังเสียงจากธรรมชาติ อย่างเสียง brown noise เป็นต้น
  • นอกจากนี้แล้ว การใช้ Smart phone ตลอดทั้งวันและก่อนนอน ก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการนอนหลับอีกด้วย ให้ลองเปลี่ยนไปอ่านหนังสือก่อนนอนแทน รวมถึงใช้นาฬิกาปลุกแบบธรรมดาแทนการใช้มือถือตั้งปลุก จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ที่นอน อีกทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ที่คอยส่งคลื่นพลังงานไฟฟ้ารบกวนการพักผ่อนของสมองขณะนอนหลับอีกด้วย [2]
อาการสมาธิสั้น ไม่จดจ่อ อาจส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิต ทำให้ทำงานคั่งค้าง ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน จนก่อให้เกิดอาการเครียด วิตกกังวล เบื่อง่าย หรือเหนื่อยหน่ายขณะประชุม หากเราหมั่นสังเกตตัวเอง รู้ตัวและแก้ไขพฤติกรรมการใช้ Smartphone หรือ Tablet ได้ต่อเนื่องยาวนานพอ สมองเราจะถูกฝึกให้มีความจดจ่อที่ยาวนานขึ้นเอง และอาการสมาธิสั้นจะค่อยๆ หายไป
Meditation (ภาพ: Unsplash)
หากต้องการกลับมามีสมาธิต่อเนื่องยาวนาน อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้เร็วขึ้น ก็คือ การฝึกนั่งสมาธินั่นเอง อาจจะเริ่มจากการฝึกนั่งสมาธิ ตามยูทูป ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก ภาวนาพุทธ-หายใจเข้า ภาวนาโธ-หายใจออก หรือจะกำหนดเป็นนิมิตพระพุทธรูปที่กลางท้อง ณ ตำแหน่งสุดของลมหายใจ โดยไม่บังคับร่างกายและจิตใจใดๆ แค่ทำในแบบที่เรารู้สึกว่าง่าย สบายๆ เบาๆ มีความสดชื่น ไม่ต้องคิดอะไร แค่ทำใจนิ่งๆ ว่างๆ หลังตื่นนอน เริ่มต้น สัก 5 นาที ก่อนนอนอีก 5 นาที และค่อยๆ เพิ่มเวลาไปเรื่อยๆ
หรือหากสนใจฝึกสมาธิจริงจัง ก็สามารถค้นหาคอร์สออนไลน์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีไม่น้อย อย่างคลาสสมาธิ "กลั่นใจให้เป็นสุข" ก็เป็นคอร์สที่เราสามารถนั่งสมาธิพร้อมคนอื่นๆ ได้ฟรีมีครูสอน ค่อนสะดวก และง่ายด้วยค่ะ
ชอบกดไลค์ 👍 ใช่กดแชร์ 🚀หากข้อมูลเป็นประโยชน์กดติดตาม 🔔
เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยนะคะ 🧡🌷🌼
อ้างอิง
[2] Interview: Dr. Prof. Volker Busch. Das AOK-Gesundheitsmagazin (02/2022). p.23.
โฆษณา