14 ก.ค. 2022 เวลา 11:21 • ปรัชญา
แวนโก๊ะ, เอดิสัน, โมซาร์ท ล้วนไม่มีใครมีความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เกิด แต่ความคิดสร้างสรรค์ที่พวกเขามี ล้วนถูกปั้นขึ้นมาผ่านกระบวนการใน 3 ระดับ ตามงานวิจัยของมาสโลว์
ทอมัส อัลวา เอดิสัน เด็กหูหนวก ที่ครูเรียกเขาว่าเด็กหัวขี้เลื่อย เพราะเขาไม่สนใจเนื้อหาที่ครูสอน จนต้องถูกเชิญให้ออกจากโรงเรียนหลังจากเข้าเรียนได้เพียงแค่ 3 เดือน แม่จึงพาเขาทำ Home School เรียนรู้ด้วยตัวเองจากที่บ้านผ่านหนังสือ และทดลองในสิ่งที่เขาสนใจ เช่น การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ อย่าง หลอดไฟ, โทรศัพท์, เครื่องโทรเลข, เครื่องถ่ายภาพ, โรงภาพยนตร์ ฯลฯ
เอดิสัน เริ่มหาเงินจากการเป็นเด็กขายอาหารและหนังสือพิมพ์บนรถไฟ
ตลอด 84 ปีในช่วงอายุของ เอดิสัน เขาได้จดสิทธิบัตรเป็นของตัวเองจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,093 ผลงาน และกลายเป็นนักธุรกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท General Electrics บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก
เมื่อนักข่าวถามว่า อะไรทำให้เขากลายเป็นอัจฉริยะ เอดิสันก็ตอบกลับว่า
ความเป็นอัจฉริยะ เกิดจากแรงบันดาลใจ 1% และ เหงื่ออีก 99%” [1]
Thomas Alva Edison
1
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) นักดนตรีคนสำคัญของโลก ใครๆ ก็บอกว่าเขามีพรสวรรค์ แต่ความจริงคือ โมซาร์ทเริ่มฝึกเล่นเปียโน ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ทุกวันๆ ละ 3 ชั่วโมง พ่อเขาก็พาตระเวนเล่นดนตรีตามพระราชวังทั่วยุโรป จนโด่งดัง พออายุครบ 6 ขวบ เขาก็มีชั่วโมงฝึกซ้อมเปียโนแล้วถึง 3,500 ชั่วโมง
ในช่วงศตวรรษที่ 18 อาจจะมีเพียงเด็กไม่กี่คนที่ได้เล่นดนตรี โมซาร์ท จึงเป็นเด็กคนแรกของยุโรป ที่สร้างผลงานอันเป็นตำนาน ด้วยการแต่งเพลงเองตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แต่เขาก็ต้องดิ้นรนเอาตัวให้รอด ด้วยการแต่งเพลงเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพอย่างกับฟรีแลนซ์ทั่วไป ไม่หยุดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในวัย 35 ปี ความเป็นอัจฉริยะของโมซาร์ท ไม่ได้มาโดยโชคช่วย แต่เพราะลงมือทำล้วนๆ [2]
ในปัจจุบันนี้ มีมือสมัครเล่นจำนวนไม่น้อย ที่สามารถไต่ระดับทัดเทียมมืออาชีพได้ไม่ยากนัก เพราะมีทางเลือกในการฝึกฝนที่หลากหลายกว่ายุคก่อน รวมถึงการฝึกฝน เก็บสะสมชั่วโมงฝึกมาอย่างหนักพอ จนเขาย่อมได้รับชื่อเสียงและยอดแฟนคลับติดตาม เป็นรางวัลตอบแทน [3]
Maslow's Hierarchy of Needs
มาสโลว์ ผู้ค้นพบทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความต้องการของมนุษย์ ก็ยืนยันอีกว่า
อย่ามองคนแค่ภายนอกว่าเขาเป็นอะไร แต่ให้มองว่าเขามีศักยภาพทำอะไรได้บ้าง
ตอนแรก เขาคิดว่า คนที่ร่ำรวย และเพียบพร้อมตั้งแต่ระดับที่ 5 ขึ้นไปเท่านั้น (ตามทฤษฎีความต้องการของมนุษย์) ที่จะสามารถมีไอเดียสร้างสรรค์ที่ดีๆ ได้ แต่ผลการวิจัยของเขากลับไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะคนที่อยู่ในระดับที่มีปัญหาชีวิต ก็ยังคงมีผลงานสร้างสรรค์ดีๆ ได้เช่นกัน
Die Sternennacht (1889) von Vincent van Gogh; Vincent van Gogh, Public domain, via Wikimedia Commons
แวน โก๊ะ (Vincent Willem van Gogh) ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตและตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เขาเอามีดโกนปาดหูตนเอง และส่งไปให้กับหญิงโสเภณีที่เขาหลงรัก แม้สภาพจิตใจและร่างกายจะย่ำแย่ แวนโก๊ะ ยังสามารถวาดภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้มากกว่า 2100 ภาพ ตลอดช่วงเวลาการเป็นจิตกรของเขา ในเวลาเพียงแค่สิบกว่าปี จนกระทั่งเสียชีวิตจากการยิงปืนเข้าที่อกของตัวเองในวัยเพียง 37 ปี แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ผลงานของเขากลับโด่งดัง จากนั้นแวนโก๊ะ ก็กลายเป็นที่ยกย่องในฐานะศิลปินเอกของโลก [4]
ความคิดสร้างสรรค์สามารถเกิดได้กับคนที่มีรายได้น้อย หรือไม่มีรายได้เลย เช่น แม่บ้าน ที่อาจจะไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก แม่บ้านเก่งๆ สามารถรังสรรค์เมนูอาหารรสเลิศด้วยเงินเพียงน้อยนิดที่มี หรือ แต่งบ้านให้สวยงามจากของเหลือใช้ได้ จนอาจจะกลายเป็นสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัวได้อีก
กลุ่มแม่บ้าน จ.กระบี่ ผลิตและจำหน่ายน้ำพริกปลาเสียบ (ภาพ: 77kaoded)
เราแค่ต้องรู้ตัวเอง ว่าเรามีความสามารถมากมายที่แอบซ่อนอยู่ ที่อาจถูกกดทับเอาไว้ ด้วยกรอบความคิดของผู้ใหญ่ หรือของสังคมที่เราอยู่
อยากมีความคิดสร้างสรรค์โดนๆ ต้องทำยังไง
มาสโลว์ได้จำแนกประเภทของการผลิตความคิดสร้างสรรค์เอาไว้ 3 ลำดับด้วยกัน คือ
1. แบบเบื้องต้น
ความคิดสร้างสรรค์ในขั้นนี้ จะซ่อนอยู่ในห้วงของจิตใต้สำนึก ที่อยู่ส่วนลึกภายในใจ มองไม่เห็นได้ชัดเจนเท่าไรนัก วิธีเอาออกมาใช้ คือ ลองสังเกตความถนัดที่เรามีอยู่ พูดหรือแสดงอารมณ์ขันออกมา มันอาจออกมาขณะที่เรากำลังเล่นเหมือนเด็ก ทำทุกอย่างด้วยความสนุกสนาน และปลดปล่อยมันออกมา ก้าวข้ามเหตุและผล มองข้ามว่าคนอื่นจะคิดยังไง ปลดปล่อยและเชื่อมั่นในพลังงานที่อยู่ส่วนลึกภายในจิตใจ
ไอเดียส่วนนี้จะพบจากการฝึกคิดบวก การด้นสดแบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน หรือร้องแร๊พสด แทนที่จะเป็นการร้องแบบอัดเสียง หรือภาพร่างคร่าวๆ แทนที่จะเป็นภาพวาดมาสเตอร์พีซ เป็นต้น คือเราต้องขุดหรือกระตุ้นมันออกมานั่นเอง
2. แบบขั้นสอง
เกิดจากการลงมือทำไประดับนึง ผ่านประสบการณ์ลองผิด ลองถูก และการถูกวิจารณ์ผลงานอย่างหนัก ไอเดียสร้างสรรค์แบบขั้นสองนี้ มันจะมาหลังจากตอนที่เราผลิตผลงานขั้นต้นแล้วไม่เป็นที่ถูกตาต้องใจของลูกค้า หรือขายผลงานนั้นไม่ออก สายตาของเราก็จะเริ่มมองหาสิ่งใหม่ สองมือของเราก็จะเริ่มทดลองทำสิ่งที่แตกต่างจากที่ทำไปก่อนหน้านี้ แล้วจะเริ่มมีคำถามตามมาในหัวว่า “นี่มันใช่หรือยัง” “คนอื่นจะเข้าใจในสิ่งที่เราทำหรือป่าว” “มันเป็นเหตุเป็นผลมั้ย” “คนจะซื้อไอเดียนี้หรือป่าว”
3. ไอเดียสร้างสรรค์แบบผสมผสาน
จะเกิดขึ้นเป็นกระบวนการถัดมา กล่าวคือ ไอเดียชนิดนี้คือรวมไอเดียทั้งสองอย่างแรกเข้าด้วยกันนั่นเอง ซึ่งขั้นตอนนี้แหละคือ ไอเดียที่ตกผลึกแล้ว คือ เราจะเริ่มมองเห็นไอเดียที่เวิร์ค และไม่เวิร์ค ไอเดียใหม่จะผุดขึ้นมาในขณะที่เรากำลังเสริชข้อมูลที่เกี่ยวข้องในกูเกิล หรือการไปเดินในตลาด เราจะเริ่มเห็นการผนึกรวมไอเดียกันจากของสองสิ่ง [5]
Creative (ภาพ: Unsplash)
กล่าวโดยสรุป ไอเดียสร้างสรรค์ ล้วนเกิดจากการลงมือทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลองผิด ลองถูก อย่าไปคิดว่า ต้องทำออกมาแล้วคนจะชอบผลงานของเราเลย เพราะนั่นแปลว่า คุณจะไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรเลย เพราะกลัวผิด กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ก็คือการต่อยอดจากความผิดพลาดนั่นเอง
ซึ่งตรงตามหลักฆราวาสธรรม 4 คือ [6]
  • 1.
    สัจจะ คือ ความตั้งใจทำอะไรทำจริง
  • 2.
    ทมะ คือ การฝึกฝน ปรับปรุงตนเอง
  • 3.
    ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ไม่ท้อถอย
  • 4.
    จาคะ คือ เสียสละความสะดวกสบาย รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้อื่น
ความเป็นอัจฉริยะหาใช่พรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ แต่เป็นพรแสวง ที่เราทุกคนต่างฝึกฝนได้นั่นเอง
โฆษณา