18 ก.ค. 2022 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 : หมอบรัดเลย์เดินทางมาถึงกรุงเทพเป็นครั้งแรก
คนไทยหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อของ หมอบรัดเลย์ นายแพทย์ชาวอเมริกันที่ได้เข้ามาสร้างคุณูปการมากมายให้กับประเทศไทย ทั้งทางด้านการแพทย์และสื่อหนังสือพิมพ์
18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378
แดน บีช แบรดลีย์ เป็นชื่อจริงของหมอบรัดเลย์ เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2347 ที่เมืองมาร์เซลล์ส มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หมอบรัดเลย์เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างมาก เขาได้เริ่มต้นเรียนวิชาการพยาบาลจากสถาบันออเบิร์น และได้เข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยการแพทย์นิวยอร์ก
แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอบรัดเลย์
ในสมัยนั้นสหรัฐอเมริกามีนโยบายที่ต้องการจะฟื้นฟูหลักคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ทำให้มีความต้องการมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์
หมอบรัดเลย์เลื่อมใสในภารกิจของหมอยัดสัน ผู้ซึ่งเคยเดินทางเข้าไปเผยแพร่ศาสนาในประเทศพม่ามาก่อน จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับคณะกรรมาธิการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเลแห่งอเมริกา (American Board of Commissioners for Foreign Missions; ABCFM) เพื่อเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาและนำวิชาความรู้ไปพัฒนายังประเทศในตะวันออกไกล
แอนน์ ฮาเซลไทน์ ยัดสัน หรือหมอยัดสัน
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 หมอบรัดเลย์และภรรยาได้ออกเดินทางจากเมืองบอสตันพร้อมกับกลุ่มมิชชันนารี โดยมีจุดมุ่งหมายแรกคือประเทศพม่า และใช้เวลา 157 วันจึงเดินทางมาถึง ในระหว่างแวะพักเขาได้ถือโอกาสเข้าคารวะหลุมศพของหมอยัดสัน ก่อนจะออกเดินทางต่อมายังสิงคโปร์
ช่วงนั้นเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูมรสุม เรือไม่สามารถเดินทางออกทะเลได้ หมอบรัดเลย์และภรรยาจึงต้องพำนักอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลากว่า 6 เดือน เขาได้พบกับครูสอนภาษาไทยที่ชื่อ สมี และได้ใช้เวลาเหล่านั้นในการเรียนรู้ภาษาไทย คณะมิชชันนารีที่สิงคโปร์ได้มอบแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์อักษรไทยให้กับหมอบรัดเลย์เพื่อใช้ในกิจกรรมเผยแพร่ศาสนา
และแล้วในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 หมอบรัดเลย์และภรรยาก็ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพในเวลาประมาณ 3 ทุ่มของวันเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันเกิดครบรอบ 31 ปีของเขาพอดี
ครอบครัวหมอบรัดเลย์ (พ.ศ. 2407)
ในช่วงต้น เขาได้พักอาศัยอยู่ในบ้านย่านวัดเกาะ สำเพ็ง (วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร) ก่อนจะย้ายมาอยู่ในที่ดินเช่าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และได้เปิดทำการเป็นโอสถศาลาในเวลาต่อมา
บ้านหมอบรัดเลย์ที่กรุงเทพ
ตลอดการมาอยู่ของหมอบรัดเลย์ได้สร้างคุณูปการให้กับสยามเป็นอย่างมาก ทั้งการสอนวิทยาการด้านการแพทย์ตะวันตก การปลูกฝี การทำวัคซีนและเซรุ่ม รวมถึงการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศที่มีชื่อว่า บางกอกรีคอร์เดอร์
สุสานหมอบรัดเลย์ ที่สุสานโปรเตสแตนต์ บริเวณโรงงานยาสูบ ถนนตก
เครดิตภาพ
อ้างอิง
  • 1.
    สุกัญญา สุดบรรทัด. (2547), "หมอบรัดเลย์กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม", กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน
  • 2.
    Somrat Charuluxananana and Vilai Chentanez. (2007), "History and evolution of western medicine in Thailand", ,vol.1 no.1
  • 3.
    Wikipedia, "Dan Beach Bradley", https://en.wikipedia.org/wiki/Dan_Beach_Bradley, (30 พฤษภาคม 2565)
โฆษณา