26 ก.ค. 2022 เวลา 08:01 • สุขภาพ
มาคุยเรื่องไข้เลือดออก
สไตล์​หมอเด็กคุยกับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
ช่วงนี้ฤดูฝน ไข้เลือดออกเริ่มมา เริ่มเจอผู้ป่วยเยอะขึ้น
ในการที่ต้องดูแลเด็กป่วยสักคนต่อเนื่องไปอีกหลายวันอาจจะเป็นสัปดาห์กว่าจะหาย ระหว่างทางอาจจะเจออะไรมากมาย การพูดคุยให้เห็นภาพใหญ่ก่อน สำหรับตัวเอง ถือว่าสำคัญและจำเป็นที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรทราบ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้คนป่วยกำลังอยู่ในระยะไหนของโรค เราจะเจออะไรได้บ้าง การดูแลรักษามทำอย่างไร และเมื่อไหร่จะเรียกว่าหาย
ด้วยความที่ตัวโรคมีความหลากหลายในความรุนแรง และคาดเดาความรุนแรงของคนไข้ได้ไม่ง่ายนัก เรื่องไม่คาดฝันเกิดได้เสมอ การเข้าใจธรรมชาติของโรคจึงจำเป็น เรียกได้ว่าต้องปรับทัศนคติ ปูพื้นความเข้าใจในตัวโรคให้ตรงกันก่อนค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้และเข้าใจว่าตอนนี้ลูกอยู่ตรงไหนของโรค เพราะหลายครั้งผู้ปกครองอาจมีความไม่รู้ มีความเข้าใจหรือความเชื่อที่คลาดเคลื่อนติดมาด้วย ซึ่งอาจส่งผลเสียในการดูแลผู้ป่วย
เราลองมาคุยกันง่ายๆ (หรือเปล่านะ 😅)​
เกี่ยวกับไข้เลือดออกสไตล์หมอเด็กแบบป้าๆ คุยกับคุณพ่อคุณแม่นะคะ
เมื่อเรารู้แล้วแน่ๆ ว่าผู้ป่วยคนนี้ติดเชื้อไข้เลือด ซึ่งวินิจฉัยจากประวัติ ตรวจร่างกาย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ สรุปได้แล้วว่าติดเชื้อไข้เลือดออกแน่ๆ ก็จะเริ่มปรับความเข้าใจของ
ผู้ปกครองค่ะ
🥰😊😇
🤒... ปกติแล้วไข้เลือดออกจะมี 3 ระยะของการเจ็บป่วย
🌡️🌡️🌡️ระยะแรก เรียก ระยะไข้ 🤒
ระยะไข้ ใช้เวลา 2-7 วันค่ะ น้อยมากที่จะไข้น้อยกว่าสองวัน หรือเกิน 7 วัน
ระยะไข้ที่เจอบ่อยๆ จะอยู่ที่ 3-5 วัน
ช่วงไข้นี้คนไข้มักจะมีไข้สูง 39-40 องศาได้เลยนะคะ ไข้สูงทานยาลดไข้แล้ว ไข้อาจจะลดลงมานิดหน่อย แต่อาจไม่แตะอุณหภูมิปกติ อันนี้เป็นปกติของไข้เลือดออกเลย นี่เป็นที่มาของคำว่า ไข้สูงลอย 2-7 วัน
ระยะไข้ มักไข้สูง ปวดเนื้อปวดตัว บางคนปวดมากปวดถึงกระดูก (breaked bone fever) ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา เบื่ออาหาร ทานได้น้อย อ่อนเพลีย ตาแดงๆฉ่ำๆ
อาการอื่นอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว มีผื่น โดยเฉพาะผื่นแบบจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาจเกิดเอง หรือเกิดเพราะการเช็ดตัวเวลามีไข้ หรือเกิดจากการตรวจด้วยการรัดแขนก็ได้ค่ะ อาการเลือดออกอาจจะมีหรือไม่มีให้เห็นก็ได้
อาการเลือดออกในช่วงนี้ อาจจะมีเลือดกำเดาไหลก็พบได้
ช่วงนี้เรื่องไข้จะเป็นเรื่องที่พ่อแม่กังวล และอยากเจาะเลือดกันมาก
เวลาเจาะเลือดด้วยการตรวจเลือดพื้นฐานทั่วไป (CBC)​ ผลเลือดอาจมีได้ตั้งแต่
ปกติ คือ ถ้าดูแค่แลป ไม่ดูอาการก็เหมือนผลเลือดคนปกติเลยค่ะ ถ้าแลปแบบนี้ เราก็มักจะรู้ว่า อาการไข้ น่าจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
หรือผลเลือดบอกได้เลยว่าติดเชื้อไวรัส เห็นแล้วรู้เลยว่าติดเชื้อไวรัสแน่ๆ แต่อาจจะแยกจากไวรัสตัวอื่นไม่ได้
หรือผลเลือดบอกได้เลยว่านี่ น่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก เพราะมีการเปลี่ยนของเลือดแบบจำเพาะต่อโรค พวกนี้เม็ดเลือดขาว มักต่ำกว่าห้าพัน เกล็ดเลือดน้อยกว่าแสน หรือใกล้ๆแสน
ผลเลือดจะออกมาแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราเจาะช่วงไหนของไข้ เจาะวันแรกที่ไข้ เจาะวันที่สามของไข้ เจาะวันที่ 5 ของไข้ แลปแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน การแปลผลเลือดต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค ร่วมกับอาการของคนไข้เสมอ
จะเห็นได้ว่า การใช้การตรวจเลือดเพียงการตรวจเลือดพื้นฐานเราก็สามรถวินิจฉัย และรักษาคนไข้ไข้เลือดออกได้ค่ะ สมัยก่อนแลปทำได้แค่นี้ เราก็ใช้แค่นี้ แต่ยุคสมัยนี้แลปทำได้มากขึ้น เราสามารถตรวจหาโปรตีนของไวรัสไข้เลือดออกในเลือดได้โดยตรง การวินิจฉัยอาจทำได้เร็วขึ้นแต่ไม่มีผลต่อการดูแลรักษา
นั่นคือการตรวจหา Dengue NS1Agถ้าตรวจเจอ แปลว่าติดเชื้อแน่ๆค่ะ ถ้าไม่เจอไม่ได้แปลว่าไม่เป็นนะคะ แค่ไม่เจอโปรตีนของเชื้อเท่านั้นซึ่งวันที่เจาะเลือดก็มีผลต่อการตรวจพบ Ag ด้วย
ฉะนั้นถ้าอาการน่าสงสัย ตรวจไม่พบ Dengue NS1Agเราก็จะยังเฝ้าระวังต่อเนื่องจนกว่าจะพิสูจน์ได้และแน่ใจจริงๆว่าไม่ใช่การติดเชื้อไข้เลือดออก ซึ่งก็อาจต้องใช้การเฝ้าติดตามอาการและเจาะเลือดซ้ำในเวลาที่เหมาะสม
🩺 การดูแลคนไข้ในระยะไข้ทำอย่างไร
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่มียาต้านไวรัส ไม่มียารักษาเฉพาะโรค เรารักษาประคับประคองตามอาการค่ะ หัวใจการรักษาคือ การเข้าใจพยาธิสรีรวิทยาของตัวโรคและให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมตามช่วงเวลา
ช่วงไข้ 🤒
💊 ไข้จนต้องทำใจ เราทำได้แค่บรรเทา ช่วงนี้เด็กจะไข้สูง การใช้ยาลดไข้ที่เหมาะสม จะช่วยบรรเทาอาการไข้สูงทรมานลงได้บ้าง
ยาที่แนะนำมีเพียงพาราเซตามอล​ใน
โด๊ส 10 mg/kg. สำหรับเด็ก หรือ 500 mg. ต่อโด๊ส สำหรับผู้ใหญ่ ได้ทุก 4-6 ชม. ถ้าเป็นไปได้พยายามยื้อให้ได้เกิน 4 ชม. ได้ถึง ทุก 5 หรือ 6 ชม.ได้ก็จะดีค่ะ
เนื่องจากยาต้องผ่านตับ การทานยาพาราเซตามอล​มากหรือต่อเนื่องนานเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ซึ่งตัวไข้เลือดอกเองถ้ารุนแรงก็จะทำให้ตับอักเสบได้เช่นกัน เคราะห์ซ้ำกรรมซัด รุนแรงจนตับวายยิ่งทำให้อาการเลือดออกรุนแรงขึ้นได้
ไม่แนะนำให้ใช้ยาลดไข้สูงกลุ่ม NSAIDs เลยนะคะ เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร
🧽 เราสามรถเช็ดตัวได้เรื่อยๆถ้าเด็กไข้สูง อาจจะไม่ได้ช่วยลดไข้โดยตรง แต่ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ให้ใช้น้ำอุณหภูมิห้องในการเช็ดตัว ไม่ต้องใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งนะคะ
🥙🍅🥛การดูแลเรื่องอาหารและสารน้ำสำคัญมาก
ช่วงนี้เด็กจะทานได้น้อย เบื่ออาหาร เอาจะทานเท่าที่ได้ แต่ขอให้ทานบ้างค่ะ ทานของอ่อนย่อยง่าย นม โยเกิร์ต ผลไม้แช่เย็นอาจทำให้สดชื่นขึ้นบ้าง บางรายอาจต้องทานน้ำเกลือแร่โดยเฉพาะในรายที่มีคลื่นไส้ อาเจียน ท้อวเสียแนะนำให้ดื่มเกลือแร่แทนน้ำเปล่าเลยค่ะ จิบบ่อยๆ ทีละน้อยๆ
ในช่วงไข้ถ้าไม่ได้มีภาวะขาดน้ำที่รุนแรงนะ และทานเองได้ คนไข้ทานเองจะดีกว่าให้สารน้ำทางเส้นเลือดค่ะ แต่ถ้าขาดน้ำมากก็อาจจะต้องให้สารน้ำทางเส้นเลือดตามความจำเป็นเท่านั้น
ถ้าเป็นไปได้เลี่ยงอาหารสีดำ สีแดง
เช่น ช็อคโกแลต น้ำแดง โค้ก เป็ปซี่ ต้มเลือดหมู อาหารเหล่านี้ไม่ใช่ของแสลงนะคะ แต่ถ้าอาเจียนออกมา จะลำบากที่จะบอกว่าสีดำหรือน้ำตาลเข้มในอาเจียนเป็นสีของอาหาร หรือเป็นเลือดที่ออกในกระเพราะอาหารคนไข้
ระยะไข้สามารถดูแลแบบคนไข้นอกได้
ถ้าผู้ป่วยไม่ได้ขาดน้ำมากนัก หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่กังวลมากจนไม่สามารถดูแเลเด็กได้
เราก็ดูแลที่บ้านกันค่ะ ทานยาลดไข้ เช็ดตัว ดูแลเรื่องอาหาร สารน้ำที่เหมาะสม กลับไปนอนไข้ที่บ้าน
การมาพบแพทย์เร็ว ไม่ได้ทำให้ระยะไข้สั้นลง ถ้าเด็กคนนี้จะไข้ 7 วัน มาหาหมอตั้งแต่วันแรกเขาก็จะไข้ 7 วัน ถ้าเขาจะไข้ 4 วัน มาหาหมอวันที่ 3 ของไข้เขาก็จะไข้ 4 วัน
🩸🔬 ในช่วงนี้จะมีการเจาะเลือดเพื่อ
1.วินิจฉัย
2.เมื่อวินิจฉัยได้แล้ว เราจะเจาะเพื่อติดตามว่า ผู้ป่วยเข้าระยะวิกฤติหรือยัง เราจะตามดูเกร็ดเลือดค่ะ เมื่อไหร่เกร็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เป็นตัวบอกว่าผู้ป่วยเข้าสู่ระยะที่สอง คือระยะวิกฤติ
🔥💉🔥 ระยะวิฤกติ
ช่วงนี้ใช้เวลา 24-48 ชม. หลังเกล็ดเลือดต่ำกว่าแสนมักสัมพันธ์กับอาการไข้ลง
เมื่อเกล็ดเลือดลดต่ำกว่า 100,000 จะเป็นตัวบอกเราว่าคนไข้กำลังเข้าสู่ระยะวิกฤติและมักจะสัมพันธ์กับอาการของคนไข้คือไข้ลด
แต่ระยะวิกฤติอาจจะไม่ได้วิกฤติทุกเคส
คนไข้บางส่วนเกล็ดเเลือดอาจไม่ต่ำกว่าแสนเลย อาการเหมือนติดเชื้อไว้รัสทั่วๆไป ไข้ลงแล้วค่อยๆดีขึ้น
คนไข้บางคน เกล็ดเลือดต่ำกว่าแสนแต่ไม่มีอาการรั่วของพลาสม่าออกนอกเส้นเลือด
คนไข้บางคน เกล็ดเลือดต่ำกว่าแสนและมีการรั่วของพลาสม่าออกนอกเส้นเลือดแต่ไม่ช็อค
คนไข้บางคน เกล็ดเลือดต่ำกว่าแสน มีการรั่วของพลาสม่า และมีภาวะช็อค บางคนช็อครอบเดียว บางคนช็อคสองรอบ บางคนช็อคบ่อยกว่านั้น บาวคนมีเลือดออกด้วยซึ่งมักจะออกแบบเรามองไม่เห็นว่าเลือดกำลังไหลออก
เพราะความรุนแรงของโรคมีความหลากหลาย ตั้งแต่น้อยถึงมากในช่วงระยะวิกฤติ จึงมีการเฝ้าติดตามคนไข้อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค มีการเจาะเลือดบ่อยกว่าในช่วงไข้ เพื่อดูความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะๆ ตรวจวัดสัณญาณ​ชีพบ่อยๆ เฝ้าระวังสารน้ำเข้าและออก ร่วมถึงการประเมินอาการทางคลินิกอย่างใกล้ชิด
การรักษาประคับประคองตามความรุนแรงของโรคอย่างเหมาะสม จนกว่าคนไข้จะเข้าสู่ระยะที่สามของโรคค่ะ ซึ่งระยะนี้มักใช้เวลา 24-48 ชม.
🍀🌸🍃 ระยะฟื้นตัว
ระยะนี้เป็นช่วงฟ้าหลังฝนค่ะ
คนไข้พ้นระยะวิกฤติแน่ๆ (ซึ่งหนักเบาแต่ละคนไม่เท่ากัน)
ช่วงฟื้นตัวนี้
🌈คนไข้จะเริ่มทานได้เยอะขึ้น มีความอยาก อาหาร
🌈 ชีพจรเต้นช้าลง
🌈 ปัสสาวะออกมากขึ้น
🌈 มีผื่นที่มีเป็นผื่นที่มีลักษณะจำเพาะของโรคไข้เลือดออกตอนหายให้เราเห็นได้
เป็นยังไงคะ
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีหลายเฉดมาก ตั้งแต่อาการเล็กน้อยเหมือนติดเขื้อไวรัสทั่วๆแบบแยกไม่ออกเลยถ้าไม่เจาะดู NS1Ag ไปจนถึงอาการรุนแรง จนอาจทำให้เสียชีวิต
การรู้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่จุดไหนของการเดินทางผ่านโรคนี้ และเรากำลังทำอะไรบ้าง เพราะอะไร เมื่อผู้ปกครองเข้าใจตรงกับหมอ การดูแลคนไข้ก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ...
บางครั้งทั้งหมอและคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องลุ้นไปด้วยกันเลยทีเดียวค่ะ
เราจะป้องกันไม่ให้ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคมากัดคนไข้ในช่วงที่ป่วยโดยเฉพาะช่วงระยะไข้
ระยะนี้ มีไวรัสในกระแสเลือดคนไข้มากมายการโดนยุงลายกัด ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคผ่านทางยุงลายที่มากัด
และเราก็ต้องป้องกันไม่ให้คนที่ยังไม่ป่วยโดยยุงกัดเพื่อป้องกันการรับเชื้อด้วยเช่นกัน
ใครสนใจเนื้อหาแบบวิชาการ คลิกเข้าไปอ่านเล่นๆได้ค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา