Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storytelling Beside Dish
•
ติดตาม
28 ก.ค. 2022 เวลา 06:44 • อาหาร
“กล้วยหลุด (จากสภา?) : กล้วยดองน้ำผึ้งในตำนานวันนี้อายุ 40 วันละครับ”
กล้วยดองน้ำผึ้งโหลใหม่ใหญ่กว่าเดิม
★
จากการทดลองดองกล้วยกับน้ำผึ้งตามตำราคนมอญในเมืองมอญ อดีตราชอาณาจักรหงสาวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งผสมผสานความเชื่อทางศาสนาเรื่องพุทธคุณ พิธีกรรมบริสุทธิ์ช่วงเข้าพรรษา และคุณค่าแห่งน้ำผึ้งคุรุเภสัชแต่ดึกดำบรรพ์ ซึ่งผมเขียนเป็นบทความเผยแพร่เมื่อ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา
★
เมื่อตอนอายุครบ 1 เดือน ฟองอากาศจากกล้วยสดทำให้น้ำผึ้งที่กลายเป็น ไซหรับรสหวานซ่อนเปรี้ยวดันสูงจนเอ่อล้น ต้องเปลี่ยนโหลใหญ่ขึ้น และตักน้ำอันเป็นผลผลิตออกมาลองชิม 2 ช้อนโต๊ะ ผสมโซดา น้ำแข็ง…โอ้โห! บรรยายเป็นภาษามนุษย์โลกไม่ถูกเลยครับ…อารมณ์ Syrup บวก Citric บวก Alcohol อ่อน ๆ
1
2
★
“รสหวานกินง่ายครับ”
และ ด้านล่างนี้ คือบทความดั้งเดิมครับ
“กล้วยดองน้ำผึ้ง: ดองในพรรษา 3 เดือน กล้วยศักดิ์สิทธิ์ ยาอายุวัฒนะ หรือแค่ความเชื่อ"
คนโบราณเชื่อกันว่า "กล้วยดองน้ำผึ้ง” มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ยิ่งหากได้กินกล้วยดองน้ำผึ้งที่ดองในระหว่างพระภิกษุสงฆ์อยู่จำนำพรรษา 3 เดือนก็จะยิ่งเกิดสิริมงคลแก่ผู้กินมากขึ้นเท่านั้น
คนมอญในรัฐมอญ ประเทศเมียนมา นิยมดองกล้วยน้ำว้ากับน้ำผึ้งในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ใช้ระยะเวลา 3 เดือนเต็ม ถือเป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยระหว่างเข้าพรรษานี้พระภิกษุสงฆ์อยู่ในพรรษา ไม่มีการเดินทางธุดงค์ค้างแรม ชาวบ้านมีโอกาสเข้าวัดฟังธรรม ถือศีลนั่งสมาธิวิปัสสนา ทำให้ร่างกายและจิตใจบริสุทธิ์ จึงเชื่อกันว่า กล้วยดองน้ำผึ้งในพรรษามีพุทธคุณวิเศษคุ้มครอง
กล้วยน้ำว้าดองน้ำผึ้งมีประโยชน์สำหรับบำรุงร่างกาย และกินเล่นทั่วไป กล้วยที่นิยมใช้ดอง คือ กล้วยน้ำว้า และต้องเป็นกล้วยน้ำว้าไส้ขาว เรียกว่า “ปราดด้าจก์เต่าะฮ์” หากไม่มีใช้กล้วยน้ำว้าไส้แดง เรียกว่า “ปราดแยะคอญย์” หรือ กล้วยยะไข่ นอกจากนี้อาจใช้ กล้วยนาค หรือกล้วยทอง หรือ “ปราดทอ” และกล้วยหักมุก หรือ “ปราดปิเล”
คนมอญเรียกกล้วยที่มีเปลือกสีม่วงคล้ำคล้าย “นาก” (Pinchbeck) ที่คนไทยเรียก “กล้วยนาก” ว่า “ปราดทอ” แปลตรงตัวว่า “กล้วยทอง” เพราะในสายตาคนมอญ เปลือกกล้วยชนิดนี้เมื่อแก่จัดมีสีทอง รวมทั้งเนื้อในยังมีสีเหลืองเหมือนทองคำสุก คนมอญจึงมักใช้ “กล้วยนาก” เป็นเครื่องบูชาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
กล้วยนากมักจะปรากฏอยู่ในพาน ถาด หรือ กะละมังเครื่องเซ่นสังเวยพร้อมกับมะพร้าว ดอกไม้ ใบหว้า ธูป เทียน เครื่องหอม และฉัตรธง ประกอบพิธีกรรมเซ่นสรวงสังเวย ประกอบขันครูบายศรี หรือถวายพระภิกษุสามเณร เพราะเปลือกกล้วยมีสีสวย หนา ไม่ช้ำง่ายและสุกงอมช้า
นอกจากนี้ คนมอญในรัฐมอญ ประเทศเมียนมา และแถบเมืองกาญจนบุรี ยังมีเรื่องเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับกล้วยนากว่า “กล้วยนากกลัวผี ต้องปลูกไว้ใกล้ ๆ บ้าน หากปลูกห่างบ้านจะไม่ยอมออกลูก...” (เล็ก สายทอง, สัมภาษณ์, 2565)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีผู้เชื่อถือเรื่องเล่าดังกล่าวแล้ว “คนเก่าคนแก่เขาเล่ากันมาอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่จริงแล้ว เห็นมีคนปลูกขายกันเป็นไร่ ๆ …กล้วยมันจะกลัวผีไปทำไม ในตัวมันก็มีผี (ผีกล้วยตานี ผี – ผู้วิจัย) กล้วยนาก อยู่แล้ว แต่ผีพวกนั้นสู้ผีมอญไม่ได้ ผีมอญ (บรรพชนปู่ย่าตายาย - ผู้เขียน) ดุกว่า คนเขาถึงตัดกล้วยนากมาเซ่นไหว้ผีมอญ…” (วิทย์ บ็อบหนุก, สัมภาษณ์, 2565)
กล่าวได้ว่า แม้ว่ากล้วยนากจะมีลูกใหญ่ สีสวยน่ากิน เนื้อนุ่ม รสหวาน แต่คนทั่วไปก็ไม่นิยม เพราะกล้วยที่คนมอญคนไทยนิยมกินและใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารคาวหวานคือ กล้วยน้ำว้า ที่มอญเรียก “ปราดด้าจก์เต่าะฮ์” แปลว่า “กล้วยน้ำนม” และคนมอญคนไทยก็ยังใช้กล้วยน้ำว้าเป็นอาหารหลักสำหรับเด็กทารกคู่กับน้ำนมแม่ เป็นความสัมพันธ์ที่มีมาแต่โบราณ
น้ำผึ้งกับการดองในวิถีชาวบ้าน ชาวเมือง และชาวเทศ
วิถีชาวบ้าน
ตามชนบทห่างไกลสมัยก่อน ชาวบ้านมักใช้ภูมิปัญญาโบราณดั้งเดิม เมื่อมีคนตายใหม่ ๆ จะใช้น้ำผึ้งประมาณ 1-2 ขวด กรอกปากศพ เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งมีสารบางชนิดที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ป้องกันไม่ให้ศพเน่าเหม็น เนื่องจากต้องประกอบพิธีกรรมหลังความตายที่บ้านผู้ตายเป็นเวลาหลายวันก่อนเคลื่อนย้ายไปเผาที่ป่าช้า เป็นการป้องกันไม่ให้ศพส่งกลิ่นระหว่างประกอบพิธี
วิถีชาวเมือง
พิธีพระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นสูงในราชสำนักไทยสมัยก่อน บางศพมักจะมีการเก็บไว้เป็นระยะเวลานาน ด้วยต้องรอพระราชทานเพลิง ที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างพระเมรุตามฐานานุศักดิ์ และฤดูกาลให้พิธีพระราชทานเพลิงพ้นไปจากฤดูฝน ดังนั้นจึงต้องมีกรรมวิธีบางอย่างในการรักษาพระศพให้อยู่ได้นานโดยปราศจากกลิ่นรบกวน โดยการกรอกสารปรอท หรือ น้ำผึ้ง เข้าไปในร่างของศพ เพื่อช่วยชะลอการทำงานของแบคทีเรียดังกล่าว
วิถีชาวเทศ
ชาวอียิปต์เมื่อราว 2,400 ปีก่อนคริสตกาลใช้น้ำผึ้งรักษาบาดแผล รวมทั้งการดองศพทำมัมมี่ ดังที่มีการค้นพบน้ำผึ้ง ไวน์ และเครื่องประดับล้ำค่าฝังอยู่ใกล้หลุมศพฟาโรห์ตุตันคาเมนภายในสุสานทองคำ พวกเขาเชื่อว่า “รา” เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์สร้างแมลงอันศักดิ์สิทธิ์นี้ขึ้นมาจากน้ำตาของพระองค์เพื่อเชื่อมต่อกับโลกหลังความตาย ชาวอีอิปต์จึงพยายามรักษาศพฟาโรห์หรือกษัตริย์ของพวกเขาไว้รอเวลาที่จะได้กลับมาเกิดอีกครั้ง
กล้วยดองน้ำผึ้งสามเดือนเป็นยาอายุวัฒนะจริงหรือ?
วิถีนักวิชาการ
ผศ.ดร.อาณดี นิติธรรมยง สถาบันโภชนาการอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า "คงจะเป็นความเชื่อมากกว่า เพราะกล้วยน้ำว้าแช่น้ำผึ้ง 3 เดือน กล้วยคงไม่เน่า หรือไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะน้ำผึ้งช่วยฆ่าเชื้อ ช่วยถนอมอาหารด้วย คล้ายกับการที่เรารับประทานผลไม้เชื่อมอื่น ๆ แต่กล้วยที่บวกน้ำผึ้งเข้าไปอีกพลังงานก็จะสูงกว่า...ถ้ากล้วยดองน้ำผึ้ง 3 เดือนเป็นยาอายุวัฒนะได้ ถ้าอย่างนั้นคนก็คงไม่เสียชีวิตกันทั้งโลก"
รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า "ถ้าถามว่าทำให้อายุยืนหรือเปล่าคงไม่ใช่ แต่ต้องประกอบกันด้วยหลาย ๆ ปัจจัย แล้วถ้าเรากินแต่กล้วยกับน้ำผึ้งอย่างเดียวโดยไม่ทำอะไรเลย โดยไม่ออกกำลังกาย มันอาจจะได้น้ำตาลมากขึ้น ได้เบาหวานเข้าไป อายุจะสั้นลงอีก..."
ศ.วุฒิคุณ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า กล้วยน้ำว้ามีคุณค่าอาหารสูง กินทุกวันก่อนนอน 1 ลูกช่วยให้หลับสบาย เพราะกล้วยมีโปรตีน ทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งช่วยในการผลิตสารเซโรโทนิน (Serotonin) หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข...
กล้วยน้ำว้าสุกธรรมดายังช่วยแก้โรคกระเพาะและลำไส้ ช่วยระบบขับถ่ายดี หากนำมาดองหรือหมักกับน้ำผึ้งระยะตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ดื่มน้ำที่ได้วันละ 1 ช้อนโต๊ะ จะมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ เทียบได้กับยาวิเศษในแง่ของคุณค่าทางอาหาร (ไม่เกี่ยวกับความเป็นอมตะ หรือ ความไม่ตาย)
ความเชื่อพวกนี้น่าจะเกิดจากการที่คนเห็นว่า น้ำผึ้งไม่เคยบูด มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ คนโบราณใช้ทาแผลช่วยสมานแผลให้หายไว หรือชาวอียิปต์ที่ใช้ทำมัมมี ดองศพไม่ให้เน่าไม่ให้เปื่อย เหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนโบราณเชื่อถือในกล้วยดองน้ำผึ้ง ยิ่งดองในช่วงเข้าพรรษาก็จะยิ่งศรัทธากันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ เพราะมีพุทธคุณช่วยเสริม เกิดสิริมงคลแก่ผู้กิน
ไม่ว่าอย่างไรเสีย คนทุกคนต้องตาย กินกล้วยน้ำว้าดองน้ำผึ้งพร้อมเรื่องเล่าและความเชื่อเพื่อรับสารแห่งความสุขสักครั้งก่อนตายก็ไม่น่าจะผิดบาปอะไรนัก
รายการอ้างอิง
กล้วยหมักน้ำผึ้ง: รู้สู้โรค (คนสู้โรค)
https://www.youtube.com/watch?v=jHGdJArSN44
ชัวร์ก่อนแชร์: กล้วยดองน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะจริงหรือ? | สำนักข่าวไทย อสมท
https://www.youtube.com/watch?v=xtV39TO5Sng
องค์ บรรจุน. (2565). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การสร้างเรื่องเล่าเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอาหารชุมชนมอญทองผาภูมิ. คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ประวัติศาสตร์อาหาร
เรื่องเล่าข้างสำรับ
บันทึก
7
13
4
7
13
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย