5 ส.ค. 2022 เวลา 03:02 • ไลฟ์สไตล์
บทที่ 3 : กับข้าวคนกรุงฯ
ที่บ้านยายเค้าไม่ค่อยเรียกชื่อผมกัน แต่จะเรียก “หำ” มาโดยตลอด มาทำความเข้าใจกับ “หำ” กันก่อน เพื่อให้สามารถมโนภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และ เกรงจะเข้าใจว่าผมลามกจกเปรตไปเสียอย่างนั้น
คำว่า “หำ” ย่อมาจาก “หำน้อย” คือ ยุวหำ ที่ยังไม่โตเต็มวัยทั้งนี้อาจเป็นสรรพนาม ที่ใช้เรียกเด็กผู้ชายในภาษาอีสาน นั่นก็คือ “บักหำน้อย” หมายถึงไอ้หนูน้อย ให้มันดูน่ารักนั่นเอง ดังนั้นเมื่อผมเป็นลูกอีสานเข้ากรุง
คนที่นี่ (ทั้งบ้านรวมถึงยาย) ก็จะเรียกผมเช่นนั้น เอาจริง ๆ นะ จนมาถึงตอนนี้ ผมหัวหงอกแล้ว แม่ยังเรียก หำๆ อยู่เลย อยู่ในบ้านผมก็ไม่คิดอะไร แต่เวลาไปตลาดแม่ก็ยังเรียกอยู่ มันน่ากังวลใจ และ ช่วนให้คนมองตามเป็นยิ่งนัก
หลังจากได้ลูกมะพร้าวแล้ว ผมก็เดินลงบันไดไม้อย่าง กล้าๆกลัวๆ ลองเอาเท้าจุ่มน้ำดู เดินลงบันไดไปเรื่อย ๆ เอาลูกมะพร้าวคล้องลอดแขนทั้ง 2 ข้างผ่านรักแร้ไว้ ผมยืนเอาเท้าแช่น้ำอยู่นาน กว่าจะกล้าลงไปตามขั้นบันได ลงไปจนน้ำลึกถึงครึ่งอก และ ลึกลงไปเรื่อย ๆ เพื่อน ๆ ก็เชียร์กันใหญ่
“ลงเลยบักหำๆ” เป็นที่สนุกสนาน
ผมก็ก้าวลงไปเรื่อย ๆ พรวด!! ขั้นบันไดหมด!!
คุณคิดดูนะ คนเวลาตกใจเมื่อตกจากที่สูง มันก็จะต้องยกมือขึ้นใช่มั๊ย ผมก็ยกมือขึ้นเหมือนกัน ก็ตอนเอาลูกมะพร้าวให้ผม ก็ไม่ได้สอนนิว่าต้องทำไง
ผลคือ ผมจมมิดหัว ส่วนลูกมะพร้าวก็ลอยไปสบายใจ ดีนะที่พ่อมองอยู่ห่าง ๆ ใช้มือหิ้วผมขึ้นจากน้ำในทันที สำหรับผม “อิ่ม” ครับ ได้ลิ้มรสน้ำคลองไปหลายอึก
หลังจากผ่านวินาทีเฉียดตายแล้ว ผมก็เริ่มไม่กลัว เอาใหม่!! ผมกอดลูกมะพร้าวคู่นั้นไว้แน่นค่อย ๆ โผออกจากขั้นบันได สู่คลองอันกว้างใหญ่ ราวกับลูกนกเพิ่งหัดบิน ก็สนุกไปอีกแบบนะ
เหนื่อยก็ขึ้นมากินน้ำอัดลม และ ที่สำคัญผมได้น้ำแข็งแบบเต็ม ๆ แก้ว ซึ่งผมไม่เคยได้กินน้ำแข็งเยอะขนาดนี้มาก่อนตอนอยู่ที่บ้าน
นอกจากเรือ ธงเหลือง ธงเขียว ที่วิ่งรับส่งคน จาก ท่าสะพานพุธ และ ท่าราชินีแล้ว เรืออื่นๆ ที่เห็นก็จะเป็นเรือนักท่องเที่ยวอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นนั่นล่ะครับ เวลาเรือเหล่านี้ผ่านหน้าบ้านยาย ก็จะต้องชะลอเครื่องลง ด้วยความที่มันเป็นทางแยกต้องเลี้ยว เรือเช่าเหมาลำบางลำจะมี มัคคุเทศก์ ไว้อธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามเส้นทางเพื่อความเข้าใจของนักท่องเที่ยว ช่วงน่าท่องเที่ยวปกติคนนั่งสังสรรค์ก็จะโบกมือโบกไม้ทักทาย ฝรั่งก็จะยกมือตอบรับ บ้างก็ถ่ายภาพ
บรรยากาศปัจจุบันยามค่ำคืน
แต่ที่จะสนุกกันหน่อยก็เห็นจะเป็นช่วงสงกรานต์ ทั้ง 2 ฝ่ายจะเตรียม “ถุงร้อน”ขนาดที่ใส่ก๋วยเตี๋ยวนั่นล่ะครับ ใส่น้ำคลองมัดปากถุง ปาหัวกันเป็นที่สนุกสนาน ผมก็หนึ่งในนั้นล่ะ
ช่วงก่อนจะมีพระใหญ่ ยามเย็นจิบเบียร์ชมโลง ก็เข้ากันดีนะ
ทางเดินหลังบ้านยาย จะเป็นทางไม้เล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามข้างบ้านซึ่งจะ สามารถเดินทะลุไป วัดประดูในทรงธรรม ได้เวลาเดินก็ต้องระวัง ในสมัยนั้นจะเป็นไม้เก่า ๆ บางจุดก็กำลังจะหัก ถ้าตกลงไปละก็ ทั้งน้ำทั้งโคลน ก็น่าจะระดับเอวผู้ใหญ่เลยที่เดียว เวลาเดินผ่านบ้านไหน แม่ กับ พ่อ ก็จะทักทายไปเรื่อย ๆ และ บักหำน้อย ก็จะถูกถามไถ่ไปตลอดทาง
กรุงเทพฯ สำหรับผมทุกอย่างตื่นตาตื่นใจไปหมดหลังจากนั่งเรือออกมาจากบ้านยาย ตลาดพาหุรัต เป็นที่หมายของครอบครัวเรา สำหรับ พ่อ กับ แม่ ก็จะเลือกเสื้อผ้าไว้ใส่ไปทำงาน พ่อ บอกว่าที่นี่ถูกดี แล้วเวลาไปใส่ที่บ้านเราจะไม่มีใครเหมือน
สำหรับผมชอบตรงของกินข้างทางมากกว่า เดินไปก็ดึงแขนแม่
ไปพลาง ไม่ว่าจะเป็น ขนมเบื้อง ขนมชั้น หนวดปลาหมึกย่าง แล้วก็ปิดท้ายก่อนขึ้นเรือกลับก็คือ น้ำเก็กฮวยเย็น ๆ แก้วละ 2 บาท แก้วใหญ่ ๆ ที่อยู่ในตู้แช่หน้าร้านขายของชำมันแหม่!! ชื่นใจยิ่งนัก
Cr.http://www.thousandreason.com/post10131021029873
แม่เล่าว่าหากคุณยายรู้ว่าบ้านเราจะมา คุณยายจะพายเรือลำเล็ก ๆ ออกจากบ้านแต่เช้า เป้าหมายของคุณยายผมคือ "ปากคลองตลาด" เพื่อซื้อกับข้าวไว้ทำอาหารไว้รอรับ
*ปากคลองตลาดปัจจุบัน
Cr.https://tpbuddytravel.wordpress.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94/
คุณยายมักจะบอกทุกคนว่า “บักหำ” มันชอบกินต้มยำกุ้ง ที่บ้านมันไม่ค่อยได้กิน ฮาฮา.... แต่มันก็จริงนะครับ ผมไปถึงที่ไรผมก็ไม่ทำให้ยายผิดหวัง กินข้าวกับต้มยำกุ้งหมดหม้อทุกที
มาระยะหลังผมโตขึ้นมาหน่อย ผมก็ชอบไปแอบดูยายทำกับข้าว ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกกะปิ ต้มยำกุ้ง ผมแอบ ดูแอบจำมาใช้จนถึงทุกวันนนี้เลยล่ะ
ต้มยำกุ้งฝีมือผมแกะสูตรคุณยายหน้าตาก็จะประมาณนี้ ทำทีไรถ่ายกุ้งไม่ทันสักทีเลย
.....โปรดติดตามตอนต่อไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา