4 ส.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ท่านพุทธทาสภิกขุน่าจะเป็นพระที่โดน 'ทัวร์ลง' มากที่สุดองค์หนึ่งในเมืองไทย ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ก่อร่างสวนโมกข์ โดนจัดหนักเป็นประจำ ถูกข้อหาคอมมิวนิสต์บ้าง บิดเบือนพระไตรปิฎกบ้าง ด้อยค่านิพพานบ้าง ฯลฯ ทั้งที่คนวิพากษ์อาจศึกษาธรรมไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของท่าน
1
บ้างก็โยงเข้าเรื่องการเมือง เช่น เมื่อท่านบอกว่าหากไม่มีธรรมะอย่างเดียว ระบอบอะไรก็เลวร้ายทั้งนั้น แม้แต่ประชาธิปไตย! ("ประชาธิปไตยนี้ มันดีต่อเมื่อมีศีลธรรมเป็นรากฐาน ถ้าไม่มีศีลธรรมเป็นรากฐาน มันก็เป็นประชาธิปไตยโกง" หรือ "ประชาธิปไตยโกงนั่นมันร้ายกาจอย่างไร คือประชาชนทั้งหลายไม่มีศีลธรรม แต่ถือระบบประชาธิปไตย")
18
ก็สรุปว่าท่านต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ท่านพูด
4
เป็นตรรกะวิบัติอย่างหนึ่ง
3
ผมอ่านงานของท่านซ้ำบ่อยมาก และดูจากการใช้ภาษา ท่านรู้ลึกมาก ลึกกว่านักเขียนอาชีพอีก
2
ท่านสอนรากศัพท์ที่มาด้วย อย่างคำว่า สึก กร่อนมาจากคำว่า สิกขา ลาสิกขาคือลาจากข้อที่ต้องศึกษา และกลายเป็นลาสึก
3
และอีกมากมาย
1
แสดงว่าอ่านมากจริงๆ และอ่านหลากหลาย
2
เมื่อครั้งที่ท่านพุทธทาสภิกขุเผยแผ่เรื่องเซน เช่น เรื่องเว่ยหล่าง ฮวงโป ฯลฯ หลายคนต่อว่าท่าน "ไปเอามหายานมาสอนทำไม?"
1
ท่านพุทธทาสภิกขุชี้ว่า เซนก็คือพุทธนั่นเอง เมื่อไปสอนในเมืองจีนซึ่งมีปราชญ์เยอะ ก็ปรับวิธีการสอนเป็นแบบเซน
7
เป็นพุทธศาสนาเดิมที่มีวิธี 'presentation' ใหม่ว่างั้นเถอะ
5
แปลว่าเซนมาจากอินเดีย? ถูกต้อง! จะบอกว่าเซนเริ่มมาจากพระพุทธเจ้าก็ไม่ผิด เพราะตำแหน่งพระสังฆปริณายกของเซน หากสืบสายถอยไป ก็จะพบว่าพระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 พระมหากัสสปะ ได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าโดยตรง สืบทอดตำแหน่งพระสังฆปริณายกไปจนถึงองค์ที่ 28 ก็ไปเผยแผ่ธรรมที่เมืองจีน
2
องค์ที่ 28 ก็คือพระโพธิธรรม หรือที่จีนเรียกว่าตั๊กม้อ ก็คือเจ้าสำนักวัดเส้าหลินนั่นเอง นักเขียนนิยายกำลังภายในชอบมอบบทบาทจอมยุทธ์ให้ท่านตั๊กม้อดังที่เราคุ้นเคยกัน แต่จริงๆ ท่านเป็นพระเซนองค์แรกของจีน
5
ต่อมาเซนก็ค่อยไปที่ญี่ปุ่น เชื่อมกับวิถีชีวิตเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน
4
จะเห็นว่าทั้งหมดก็คือเรื่องเดียวกันนั่นแหละ แต่มีวิธี 'presentation' คนละอย่าง
ท่านพุทธทาสฯบอกว่า "มหายานไม่ใช่เซน เซนก็ไม่ใช่มหายาน เซนเกิดขึ้นเพื่อล้อเลียนมหายานมากกว่า"
หลักสำคัญทางพุทธคือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่เรามักได้ยินคนพูดว่า มหายานต้องเป็นอย่างนี้ เถรวาทเป็นอย่างนั้นเป๊ะ
3
ทำให้นึกถึงค่ายเพลง แบ่งเป็นค่ายนั้นค่ายนี้ แต่มองให้ดีจะเห็นว่ายี่ห้อค่ายไม่สำคัญ สำคัญที่สาระ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลงไหน ก็สร้างเพลงออกมาให้ความสุขเหมือนกัน
8
พุทธทาสภิกขุให้โอวาทธรรมปาฏิโมกข์ในที่ประชุม หัวข้อเรื่อง “ยกหู ชูหาง” ที่สวนโมกขพลาราม ดังนี้
“พระพุทธศาสนาที่แท้นั้นไม่ใช่มหายาน และไม่ใช่เถรวาท ไม่ใช่พุทธศาสนาอย่างของเราหรืออย่างของใคร ที่เรามาเรียกว่า พระพุทธศาสนาอย่างของเราก็บ้าเต็มที่ เถรวาทนี้ก็ไม่ใช่ของเราหรือของใคร พุทธศาสนาที่แท้ไม่ใช่เถรวาทและไม่ใช่มหายาน แต่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ทนต่อการพิสูจน์ในตัวการปฏิบัตินั้น
3
แล้วสรุปกล่าวลงไปในข้อที่ว่า “ไม่มีตัวตน - ไม่มีของตน” พูดถึงแต่การปฏิบัติที่ทําให้หมดความสําคัญมั่นหมายว่า ตัวตน ว่าของตน นี้คือพุทธศาสนาที่แท้ ส่วนวิธีอธิบายที่เป็นไปอย่างมหายาน อธิบายไปในทํานองต้องพิจารณาด้วยสติปัญญา เขาก็มีวิธีอธิบายไปอย่างหนึ่ง ในเรื่องเดียวกันแท้ๆ แต่อธิบายต่างกันออกไปก็มี แท้จริงเป็นเรื่อง 'สุญญตา' เรื่องความไม่มีตัวตน ไม่มีของตน
6
"ฝ่ายเถรวาทเสียอีกที่ไม่ค่อยใช้ความคิดสติปัญญา ไปใช้ท่องจำ ไปใช้คำพูดที่ร้อยกรองไว้ตายตัว อย่างนี้กลับจะโง่กว่ามหายาน พวกที่ใช้สติปัญญา บุคคลผู้ที่ไม่รู้จริง ไปยกย่องเถรวาท ข่มขี่มหายาน อย่างนี้ก็บ้า หรือไปยกย่องมหายาน ข่มขี่เถรวาท มันก็บ้าเท่ากัน
2
"ถึงว่าเราจะถูกจัดเป็นพวกเถรวาท ก็ให้เป็นแต่เพียงโดยทะเบียนเถิด โดยการสมมุติเท่านั้นเถิด โดยจิตใจแล้วอย่าไปเป็นเถรวาท หรืออย่าไปเป็นอะไรเข้าเลย เป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องไว้ก่อนก็แล้วกัน ไม่ใช่เถรวาท ไม่ใช่มหายาน พยายามแต่จะเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง
5
เป็นพุทธบริษัทที่พยายามจะละ ตัวกู ของกู แล้วก็จะไม่ยกหู ซูหาง พยายามที่จะลิดรอนหู หาง ให้มันสั้นเข้า จนยกไม่ได้ พุทธบริษัทที่แท้ต้องไม่ใช่เถรวาท ไม่ใช่มหายาน หรือถ้าเป็นก็เป็นทั้งเถรวาท เป็นทั้งมหายานไปเลย เพราะว่าทุกฝ่ายนี้ก็มีส่วนที่จะสอนเรื่อง 'ไม่มีตัวตน' อยู่ด้วยกันทั้งนั้น วิธีสอนวิธีพูดเท่านั้นที่ต่างกัน
6
"ไปดูเถิด เรื่องสุญญตาในพระไตรปิฎกก็เต็มไปหมด พระไตรปิฎกเถรวาทนั่นแหละ ซึ่งก็พูดไปอีกแบบหนึ่ง วิธีพูดก็มีอีกแบบหนึ่ง ตามแบบของเถรวาท เป็นวิธีรักษาระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณี ทางฝ่ายมหายานก็ออกจะฟรีเกินไป เลยเถิดมากเกินไปก็มี เพราะฉะนั้นทางเถรวาทก็ตาม ส่วนดีของมหายานก็ตาม สวนใดเหมือนกันตรงกัน ก็ต้องใช้ได้ ส่วนใดที่เลยเถิดไป หรือหดมากเกินไป หรือขยายมากเกินไป ก็ใช้ไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย"
3
ข้อความเหล่านี้ท่านพุทธทาสฯพูดเมื่อปี พ.ศ. 2510 ก็ 55 ปีแล้ว
บทเรียนดี ผ่านไปกี่ปีก็ไม่ล้าสมัย
โฆษณา