7 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
อาหารทะเลแปรรูปพร้อมปรุงนิยมในสหรัฐฯ
แม้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมายอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลสำเร็จรูปจะหดตัวลงในตลาดสหรัฐฯ แต่พบว่าผู้บริโภคในตลาดกลับมองหาสินค้าอาหารทะเลแปรรูปผสมผสานนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการปรุงอาหารรับประทานมากขึ้น (Grab-and-go solutions)
ข้อมูลรายงานโดยบริษัท Information Resources Inc., (IRI) ระบุว่า ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มมูลค่า (Value-added seafood) หรืออาหารทะเลพร้อมปรุงในสหรัฐฯ ในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 12.2 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะที่ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลพร้อมรับประทานตามซุปเปอร์มาร์เก็ตกลับหดตัวลง ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคบางส่วนมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อในตลาด และผู้บริโภคส่วนที่มีรายได้สูงก็กลับไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารมากขึ้น ภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น
Mr. Sean Saenz ตำแหน่ง Senior Director of Meat and Seafood ห้างซูปเปอร์มาร์เก็ต Gelson’s กล่าวว่า ยอดจำหน่ายปลีกสินค้ากลุ่มอาหารทะเลในปีนี้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น ร้านอาหารสามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติ ผู้บริโภคที่ต้องปรุงอาหารรับประทานเองในช่วงที่ต้องอาศัยอยู่ที่บ้านตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เริ่มมีแนวโน้มที่จะออกไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบยอดขายกับปี 2562 ก่อนหน้าการแพร่ระบาดยังถือว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น
Mr. Guy Pizzuti ตำแหน่ง Business Development Director of Seafood ห้างสรรพสินค้า Publix กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลต่อสินค้าอาหารทะเลและอาหารพร้อมรับประทานแตกต่างกัน โดยเฉพาะปัจจัยด้านราคาที่อาหารพร้อมรับประทานมักจะมีราคาจำหน่ายในตลาดสูงกว่าสินค้าอาหารทะเลสด ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะหันไปเลือกซื้อวัตถุดิบและปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น
Ms. Anne-Marie Roerink ตำแหน่ง Principal บริษัท 210 Analytics กล่าวว่า ยอดจำหน่ายอาหารทะเลสดในตลาดชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ยอดจำหน่ายในตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
แม้ว่าปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อสินค้าอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น ชุดอาหารทะเลพร้อมปรุง กุ้งบาร์บีคิวพร้อมปรุง และปลาแซลมอนในน้ำซอสพร้อมปรุงอยู่บ้าง แต่ Mr. Roerink เชื่อว่ากลุ่มสินค้าดังกล่าวน่าจะยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคในตลาดอยู่เนื่องจากปัจจัยด้านความสะดวกสบายและความประหยัดเวลา
อีกทั้ง สินค้าอาหารทะเลพร้อมปรุงยังมีราคาจำหน่ายถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคาอาหารตามร้านอาหารด้วยซึ่งช่วยผู้บริโภคลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีด้วย นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดบางส่วนยังมักที่จะเลือกซื้อสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มมูลค่าที่พร้อมจะทำไปปรุงสุกที่บ้านเนื่องจากในชุดจะมีวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการปรุงให้พร้อมทั้งหมดผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อวัตถุดิบแยกแต่ละชนิดซึ่งช่วยให้ประหยัดและลดการสิ้นเปลืองจากวัตถุดิบเหลือใช้ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกจากผู้บริโภคในตลาดจะสนใจกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มมูลค่าที่ปรุงรสที่น่าสนใจแล้วผู้บริโภคยังสนใจสินค้าอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มมูลค่าที่จัดจำหน่ายพร้อมกับวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการปรุงอาหารด้วย เช่น ถุงบรรจุสุญญากาศ (Vacuum-packed) และถุงพลาสติกสำหรับนึ่งผ่านเตาอบไมโครเวฟ (Ready-to-microwave) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดยังสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารทะเลที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและส่งเสริมความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติด้วย จากข้อมูลผลการสำรวจตลาดผู้บริโภคสินค้าอาหารทะเลชาวอเมริกันโดย The Walton Family Foundation เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่า
• ร้อยละ 70 ของผู้บริโภคต้องการบริโภคสินค้าอาหารทะเลที่มาจากการประมงเพื่อความยั่งยืน
• ร้อยละ 65 ของผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งที่มาของอาหารทะเลที่รับประทาน
• ร้อยละ 72 ของผู้บริโภคสนับสนุนการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceable System) มาใช้ในอุตสาหกรรมประมง (ปัจจุบันสินค้าประมงนำเข้าสหรัฐฯ ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้)
• ร้อยละ 68 ของผู้บริโภคต้องการให้ภาครัฐดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มงวด
• ร้อยละ 78 ของผู้บริโภคต้องการให้ผู้จำหน่ายปลีกตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารทะเลที่จำหน่าย
สินค้าอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันมาโดยตลอดโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่ค่อยได้ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีกำลังซื้อมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคในตลาดหันไปเลือกซื้อสินค้าอาหารทะเลสดเพื่อนำกลับไปปรุงรับประทานที่บ้านมากขึ้น
จนทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลสดในสหรัฐฯ ปี 2563 ขยายตัวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและขยายตัวต่อเนื่องไปเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาด้วย
ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ที่เริ่มดีขึ้นในปีนี้ผู้ให้บริการร้านอาหารสามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติ ชาวอเมริกันที่โดยพื้นฐานเองที่มักจะมีนิสัยชอบออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านที่ต้องทำอาหารรับประทานเองที่บ้านมาเป็นเวลานานในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด
จึงมีพฤติกรรมเลือกที่จะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อชดเชยช่วงที่ไม่สามารถทำได้มากขึ้นและลดการซื้อสินค้าอาหารทะเลสดลง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลสดในสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอตัวลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจจะส่งผลทำให้ชาวอเมริกันบางส่วนชะลอการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านลงและเลือกซื้อสินค้าอาหารแปรรูปที่สามารถนำไปปรุงเองที่บ้านเพิ่มมากขึ้นได้
หากพิจารณาปริมาณการนำเข้าสินค้าอาหารทะเล (รวมทุกประเภท) ของสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2565 พบว่ามีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 7.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ ชิลี (ร้อยละ 13.92) แคนาดา (ร้อยละ 11.67) อินเดีย (ร้อยละ 9.81) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 7.37) เอกวาดอร์ (ร้อยละ 7.16) รัสเซีย (ร้อยละ 6.13) เวียดนาม (ร้อยละ 5.69) นอร์เวย์ (ร้อยละ 5.33) จีน (ร้อยละ 5.31) และ เม็กซิโก (ร้อยละ 3.05) ตามลำดับ
ส่วนไทยนั้นมีมูลค่าการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 15 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.11 ของมูลค่าตลาดทั้งหมดในสหรัฐฯ สินค้าส่งออกศักยภาพของไทย ได้แก่ กุ้ง (ร้อยละ 53.29) ปลาทูน่า (ร้อยละ 13.82) ปลาหมึก (ร้อยละ 10.08) และปลาโซลหรือปลาลิ้นหมา (ร้อยละ 4.26) ตามลำดับ
แม้ว่าในปีนี้ตลาดนำเข้าสินค้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ อาจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงไปบ้าง แต่โดยรวมคาดว่าผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ยังจะมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลเพื่อใช้สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิงที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว
โดยคาดว่า ในปีนี้สหรัฐฯ จะมีมูลค่านำเข้าสินค้าอาหารทะเลทั้งสิ้นประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือขยายตัวร้อยละ 10 – 15 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงน่าจะยังคงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปยังสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้
ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มผู้บริโภคในตลาดจะลดความสนใจสินค้าแปรรูปแช่แข็งพร้อมรับประทานเนื่องจากปัจจัยด้านราคาที่ค่อนข้างสูง หากผู้ประกอบการไทยสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พัฒนารสชาติอาหารที่น่าสนใจเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มนวัตกรรมที่สามารถอำนวยความสะดวกในการรับประทานก็น่าจะช่วยทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาด
อีกทั้ง หากผู้ประกอบการไทยสามารถยกระดับสินค้าโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานสินค้ารวมถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่เน้นหลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ทั้งระบบเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวก็น่าจะทำให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคในตลาดมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ประเด็นด้านปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส และแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยเป็นที่จับตามองของรัฐบาลสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาหลายครั้งที่สินค้าอาหารทะเลไทยได้รับผลกระทบจากการจัดอันดับในรายงานสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons: TIP Report) ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยยังควรที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสินค้าอาหารทะเลไทยในอนาคต
โฆษณา