5 ส.ค. 2022 เวลา 02:57 • หนังสือ
อันความกรุณาปรานี
อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
บทพระราชนิพน์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างต้นนี้ ซึ่งอยู่ในเรื่อง “เวนิสวาณิช” ที่มาจากบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ เรื่อง The Merchant of Venice
ถือเป็นบทหนึ่งที่ติดหูติดปากคนไทยเป็นอย่างดี ด้วยความงดงามของคำและความ
เรื่องความกรุณาปรานีของมนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น และเป็นเรื่องที่ผูกขาดสำหรับมนุษย์อย่างพวกเราหรือไม่ เป็นเรื่องน่าสนใจและเป็นหัวข้องานวิจัยของนักชีววิทยาหลายคนทีเดียว
ปกเรื่อง “เวนิสวาณิช” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1, ภาพ: วิกิพีเดีย
งานวิจัยในลิงชนิดต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก และมักเห็นไปในทางที่ว่า ลิงและไพรเมต (ลิงกลุ่มไร้หางที่มีลักษณะต่างๆ คล้ายคนมาก) ยังแสดงความเอื้ออาทร “อย่างมีเงื่อนไข” เท่านั้น
คือทำเมื่อมีการร้องขอ หรือเมื่อมีแรงกดดันอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น
แม้ว่าในลิงชิมแปนซีซึ่งมีพันธุกรรมคล้ายกับมนุษย์มากที่สุด และมีรายงานบันทึกข้อสังเกตไว้ทั้งในกรณีลิงที่อยู่ในธรรมชาติและที่อยู่ในที่กักขัง แต่กลับยังไม่มีการทดลองที่ออกแบบดีๆ และให้ผลชัดเจนอย่างไม่อาจโต้แย้งได้ออกมาเสียที
จนในปี 2011 นี่เอง
ทีมวิจัยนำโดย ฟรานส์ เดอ วาล (Frans de Waal) ตีพิมพ์ในวารสารวิจัย Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 2011 ว่า
พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า เรื่องความเอื้ออาทรนั้นมีปรากฏลึกลงไปในสัตว์ที่มีวิวัฒนาการใกล้ชิดกับคนมากอย่างลิงชิมแปนซีด้วยเช่นกัน
Photo by Margaux Ansel on Unsplash
ทีมวิจัยใช้ลิงชิมแปนซีตัวเมียรวม 7 ตัวด้วยกันในการทดลอง
โดยมีลิงที่นำมาจับคู่ด้วยอีก 3 ตัว โดยในแต่ละการทดลองจะทำการทดลองคราวละคู่เท่านั้น ลิงทั้งคู่จะอยู่ในกรงที่มองเห็นกันได้ และแยกจากกันด้วยลวดตาข่ายเท่านั้น
ลิงตัวหนึ่งจะอยู่ในกรงที่มีกล่องวัตถุซึ่งมีวัตถุเหมือนๆ กันอยู่รวม 30 ชิ้น แต่มีการออกแบบวัตถุดังกล่าวให้มีสีแตกต่างกันเพียง 2 สี หากลิงชิมแปนซีตัวดังกล่าวนั้นเลือกวัตถุสีหนึ่งขึ้นมา ตัวมันเองเท่านั้นที่จะได้รับอาหารเป็นรางวัลสำหรับการเลือกนั้น
แต่หากมันเลือกวัตถุอีกสีหนึ่งที่เหลือ ทั้งตัวมันและลิงอีกตัวที่อยู่ในกรงติดกัน ต่างก็จะได้รับอาหารนั้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ผลก็เป็นไปได้เพียง 3 แบบคือ หากลิงตัวนั้นแสดงความเห็นแก่ตัว ก็จะเลือกแต่สีที่ทำให้ตัวเองได้อาหารเท่านั้น แต่หากแสดงความเอื้ออารีแก่ลิงอีกตัว ก็ย่อมจะต้องเลือกสีที่ทำให้ลิงอีกตัวได้รับอาหารนั้นด้วยเช่นกัน
และหากลิงไม่สนใจหรือไม่รับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสีของวัตถุนั้นกับการให้รางวัลเลย การเลือกวัตถุก็น่าจะเป็นแบบสุ่ม คือเลือกสีทั้ง 2 นั้นอย่างเท่าๆ กัน
ผลที่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ลิงที่เป็นตัวเลือกวัตถุนั้นต่างก็เลือกวัตถุสีที่ทำให้ลิงที่เป็นคู่ได้รับอาหารเป็นรางวัลไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ว่าลิงที่จับคู่ในการทดลองด้วยนั้นจะร้องขอหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าลิงที่เป็นคู่นั้นจะเป็นญาติกันในฝูงหรือไม่ก็ตาม
ที่น่าสนใจก็คือ ในลิงรายที่คู่ร้องขอกันตรงๆ หรือสร้างแรงกดดันให้แก่กัน กลับจะเป็นการแรงจูงใจทางลบ ทำให้การเอื้ออาทรโดยการเลือกวัตถุสีที่เอื้อประโยชน์ดังกล่าวลดลง
ในสภาพตามธรรมชาตินั้น ลิงชิมแปนซีน่าจะได้รับประโยชน์จากการกระทำเช่นนี้ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
โดยเฉพาะในหมู่เหล่าที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางสายเลือดและมีสมาชิกใหม่เพิ่มเป็นระยะๆ
แต่ความเมตตาปรานีมีแต่ในคนและลิงเท่านั้นหรือ?
คำตอบอาจจะเป็นว่า ไม่ใช่ ครับ
การทดลองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีวิวัฒนาการร่วมกันย้อนกลับไปเก่าแก่กว่าลิงอย่างหนูนั้น ก็ให้ผลการทดลองที่น่าสนใจเช่นกัน ดังปรากฏในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับ 334 วันที่ 9 ธ.ค. 2011 นำทีมโดย เพ็กกี้ เมสัน (Peggy Mason) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก
Photo by Alexandr Gusev on Unsplash
หนูทดลองตัวหนึ่งจะถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ในขณะที่อีกตัวหนึ่งจะถูกขังอยู่ในกรงใกล้ๆ กัน
หลังจากปล่อยให้หนูทั้งคู่อยู่ในสภาพเช่นนี้หลายๆ ครั้งเข้า หนูที่เป็นอิสระก็เริ่มเรียนรู้ที่จะเปิดกรงปล่อยหนูอีกตัวให้เป็นอิสระได้อย่างรวดเร็วขึ้นและโดยเจตนา ที่ทราบว่าเป็นเช่นนั้นก็เพราะในชุดควบคุมที่ไม่มีหนูในกรง หนูที่เป็นอิสระไม่สนใจจะเปิดกรงออกแต่อย่างใด
แม้ว่าจะออกแบบการทดลองอีกชุดให้หนูทั้งสองตัวไม่มีการสัมผัสกันโดยตรง หนูอิสระก็ยังจะเปิดกรงให้หนูในกรงออกมาเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ แม้จะมีเงื่อนไขที่ทำให้หนูอิสระเสียประโยชน์คือ หากเปิดกรงให้หนูอีกตัว จะทำให้กลไกกรงอีกอันปิดขังช็อกโกแลตไว้ ทำให้ต้องเสียเวลาเปิดกรงที่สองอีก
หนูอิสระก็ยังปล่อยหนูติดกรงให้เป็นอิสระก่อนที่จะไปเปิดกรงที่สอง และแถมยังแบ่งช็อกโกแลตให้อีกตัวกินด้วย
งานวิจัยในด้านนี้ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มักจำกัดอยู่ในสัตว์สังคมชั้นสูง แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชี่อว่า แมลงสังคมหลายชนิด เช่น พวกผึ้งนั้น ผึ้งงานต้องทำงานหนักตลอดชีวิต หรือผึ้งทหารที่ปล่อยเหล็กไนใส่ศัตรู แต่ตัวเองก็ต้องตายตามไปด้วย
จนอาจนับเป็น “รากทางวิวัฒนาการ” ที่ลึกสุดๆ ของเรื่องความกรุณาปรานีต่อผู้อื่น ... ก็เป็นได้
ไม่ว่าผลสรุปสุดท้ายจะเป็นว่า สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในพันธุกรรมและพร้อมแสดงออกมา หรือเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูด้วยก็ตาม แต่ไม่ผิดเลยที่จะกล่าวดังข้างต้นว่า …
อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ !!!
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
โฆษณา