9 ส.ค. 2022 เวลา 00:27 • ปรัชญา
“ดูจิตเหมือนเราดูหนัง
ดูหนัง เราไม่ใช่คนเขียนบท
บทมันมีอย่างไร ตัวละครมันก็เล่นไปอย่างนั้น
เราเป็นแค่คนดู”
“ … ใจลอยตัวเดียวก็คือไม่ได้ทำกรรมฐานแล้ว
เราจะค่อยเรียน ย้อนเข้ามาเรียนที่ตัวเอง
ในที่สุดก็จะเห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง
เดี๋ยวก็ไปรับอารมณ์ทางตา
เดี๋ยวไปรับอารมณ์ทางหู
ไปรับอารมณ์ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
เดี๋ยวก็ไปรับอารมณ์ทางใจ
มันไม่เที่ยง
แล้วจิตจะไปดู หรือจิตจะไปฟัง หรือจิตจะไปคิด
เราห้ามไม่ได้
อย่างเราจะห้ามจิตว่าอย่าคิด ห้ามไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มาฝึกว่าจะต้องไม่คิด
เพียงแต่ว่าพอคิดไป รู้เรื่องราวที่คิดแล้ว
จิตสุขให้รู้ จิตทุกข์ให้รู้
จิตเป็นกุศลให้รู้ จิตเป็นอกุศลให้รู้
ตัวนี้ต่างหากสำคัญ
ไม่ใช่ไปห้ามมันคิด ห้ามไม่ได้หรอก จิตมีหน้าที่คิด
ฉะนั้นเราจะค่อยๆ เรียนลงมาในกายในใจของเรา
อย่าใจลอย ถ้าเราใจลอยตัวเดียวก็คือไม่ได้ทำกรรมฐานแล้ว
จิตหลงไปอยู่ข้างนอก
ไปรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ภายนอก
ฉะนั้นเราต้องโอปนยิโก น้อมเข้ามารู้สึกอยู่ที่ตัวเองนี้
อย่าให้ใจมันหนีไป
ถ้ารู้สึกลึกซึ้งลงมาได้ถึงจิต ดีที่สุด
ถ้ากำลังไม่พอ ช่วงไหนกำลังไม่พอ
รู้เข้ามาถึงจิตไม่ได้ ให้รู้เข้าไปที่กาย
จิตนั้นมันหนีเร็ว หนีแผล็บๆๆๆ หนีไปแล้ว
แต่ร่างกายมันไม่ไปไหน มันก็นั่งอยู่อย่างนี้
มันก็หายใจอยู่อย่างนี้
ฉะนั้นช่วงไหนหาจิตไม่เจอไม่ต้องไปหามัน
หาจิตไม่เจอต้องรู้สึกลงในร่างกายเลย
เห็นร่างกายนั่ง เห็นร่างกายเดิน
เห็นร่างกายหายใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ
พอจิตมีแรงขึ้นมา บางทีก็เกิดปัญญา
เห็นความจริงของกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
หรือบางทีจิตมันชอบเดินปัญญาด้วยการดูจิต
ดูนามธรรม
พอเราดูกายไปสักช่วงหนึ่งจิตมีกำลังปุ๊บ
มันจะย้อนกลับไปดูจิตอัตโนมัติเลย
จะเห็นเลยตอนนี้จิตสุข ตอนนี้จิตทุกข์
ตอนนี้จิตสงบ ตอนนี้จิตฟุ้งซ่าน
ฉะนั้นการที่เราดูกายก็มี 2 ส่วน
ดูเพื่อให้เห็นความจริงของกายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้แบบหนึ่ง
อีกอันหนึ่งดูเพื่อให้เกิดสมาธิ
พอเราดูกายจิตไม่วอกแวกไปที่อื่น
จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวคือรู้กาย
จิตก็ได้สมาธิขึ้นมา
พอได้สมาธิแล้วก็ถึงขั้นเดินปัญญา
จะเดินปัญญาด้วยการเห็นความจริงของกายก็ได้
หรือบางคนถนัดดูจิต
พอจิตมีกำลังมันดีดตัวขึ้นไป ไปดูจิตอัตโนมัติเลย
อย่างหลวงพ่อตอนหัดใหม่ๆ ก็หัดพุทโธนี่ล่ะ
หัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
จิตมันสว่างขึ้นมา แล้วทีแรกไม่รู้เรื่อง
ไม่มีครูบาอาจารย์แนะนำ
แล้วจิตมันสว่างขึ้นมาก็อยากเห็นอะไร
อยากเห็นผี เห็นเทวดา ดูนรก ดูสวรรค์
จิตมันก็แต่งให้เราดู
จริงหรือเปล่าพิสูจน์ไม่ได้ แต่มันเห็น
เห็นเทวดา เห็นอย่างโน้นอย่างนี้
เทวดาก็ไม่ใช่อยู่ปราสาทยอดแหลมอย่างเดียว
เทวดาอยู่ตึกก็มี เทวดาอยู่กระต๊อบก็มี
เขาชอบของเขาอย่างนั้น
แต่ถ้าเราดูตามฝาผนังโบสถ์
เทวดาต้องอยู่ปราสาทยอดแหลมๆ
ไม่จำเป็นหรอก แล้วแต่พอใจ
จิตออกไปรู้ๆๆ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เชื่อถือไม่ได้
ต่อมารู้ว่าออกไปรู้ข้างนอก ไม่เห็นเกิดประโยชน์ตรงไหนเลย
ไปเห็นเทวดาเราก็อยู่กับเขาไม่ได้
เขามีอาหารกิน เราก็กินของเขาไม่ได้
เขามีสวนดอกไม้สวยๆ เราไปดูได้โฉบๆ
ดูได้ ไปอยู่ตรงนั้นก็อยู่ไม่ได้
คล้ายๆ เราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี
เราเป็นยาจกแล้วเราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี
รู้สึกไม่มีสาระ เสียเวลา
หลังจากนั้นพยายามหายใจ
พอใจมันสว่างขึ้นมา มันจะพุ่งออกไปรู้โน่นรู้นี่ รู้ทัน
สติรู้ทัน จิตมันไม่ไหลออกไปแล้ว
พอจิตมันไม่ไหลก็สว่างเด่นดวงอยู่
มีความสุข มีปีติเกิดขึ้นมา
ใจเราค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มีกำลัง
ถ้าจิตเที่ยววอกแวกออกข้างนอกไป จิตจะไม่มีแรง
เพราะฉะนั้นที่เราทำสมาธิจิตมันได้กำลัง
แต่ถ้าทำสมาธิแล้วก็เคลิ้มเห็นโน่นเห็นนี่ จิตไม่มีกำลัง
เพราะฉะนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์
จะนั่งสมาธิแล้วเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นจิตคนอื่น
เห็นผี เห็นเทวดา เห็นชาตินี้ เห็นชาติหน้า เห็นอดีต
ไม่ใช่ ไม่ใช่วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ที่เราทำสมาธิเพื่อให้จิตมีกำลัง
พอจิตมีกำลังแล้วเราก็มาเดินปัญญา
ดูกายก็ได้ ดูใจก็ได้แล้วแต่ถนัด
อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ ก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์
ก็พยายามหาทางที่จะปฏิบัติ
ก็มาดูร่างกาย ดูไปที่ผม
กำลังสมาธิมันเยอะผมหายไปเลย เห็นหนังศีรษะ
ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะเปิดเลยเห็นหัวกะโหลก
ดูหัวกะโหลก หัวกะโหลกหายไปเลย
หัวขาดเป็นผีหัวขาดแล้ว
ดูลงในร่างกายนี้ที่เหลือ
เนื้อหนังอะไรก็สลายไป เหลือกระดูก
ดูกระดูกๆ ระเบิดกลายเป็นกรวดเล็กๆ หล่นอยู่
ดูลงไปอีกก้อนกรวดนี้สลายตัวกลายเป็นแสง
เป็นคลื่นแสง เป็นอนุภาค
เป็นอะไรก็แล้วแต่เขาจะเรียก
ที่เราเห็นมันมันกลายเป็นแสง
สลายตัวกลืนเข้ากับจักรวาลไป
เห็นอย่างนี้แล้วก็รู้สึกว่าการดูกายนี้จืดชืด
ดูแล้วมันก็มาลงตรงนี้ ไม่มีอะไรให้ดูต่อ
ก็เลยไม่ชอบดูกาย รู้สึกดูกายนี้คับแคบ
คล้ายๆ เราเป็นปลาตัวใหญ่ต้องอยู่ในตู้แคบๆ อึดอัด
ไม่สนุก ไม่ชอบ
ดูละครในใจของเรา
ขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก ท่านพิจารณาแล้ว
ท่านสอนหลวงพ่อดูจิตเลย
ไม่ต้องดูกายให้ดูจิตเข้าไปเลย
เราก็สนุกเลยคราวนี้ จิตนี้เปลี่ยนแปลงทั้งวัน
ทีแรกไปดูจิตก็ดูไม่เป็น
พยายามควบคุมจิตให้มันสงบ
ให้มันนิ่ง ให้มันสว่าง ให้มันไม่คิดไม่นึกอะไร
แล้วต่อมาหลวงปู่ท่านบอกว่าทำผิด
จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง
ไม่ใช่ไปทำมันจนไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง
อันนั้นล่ะคือความปรุงแต่ง
ตรงที่จะพยายามไม่แต่งนั่นล่ะคือแต่ง
“ให้ไปดู ไม่ได้ให้ไปทำ” ท่านบอกอย่างนี้
หลวงพ่อก็เลยดู ดูจิตเหมือนเราดูหนัง
ดูหนัง เราไม่ใช่คนเขียนบท
บทมันมีอย่างไร ตัวละครมันก็เล่นไปอย่างนั้น
เราเป็นแค่คนดู
แล้วเราก็ไม่ใช่คนเล่นละคร เราไม่ต้องอิน
เราเป็นแค่คนดูเฉยๆ ดูแบบคนวงนอก
ดูจิตเหมือนคนวงนอกเราไม่อินกับมัน
จิตดีก็ โอ๊ย ปลื้ม จิตไม่ดีก็เศร้าโศกเสียใจ
จิตเป็นอย่างไรก็รู้มันไปอย่างนั้น ดูแบบคนวงนอก
ไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี
มันเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น
ไม่ต้องไปอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี
เราไม่ใช่นักวิจารณ์ ไม่ใช่คนเขียนบท
ไม่ใช่ผู้แสดง ไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่นักวิจารณ์ละคร
เราแค่เป็นคนดู ดูจิตแสดงละคร
1
จิตนี้เหมือนละครโรงใหญ่เลย
แสดง แต่มันแสดงทีละตัว
เราดูละครเวที
บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้งสิบ ตัวละครเต็มเวที
ดูจิตมันก็เหมือนกัน
ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก
แต่ตัวเดียวที่เรารู้
อย่างเราดูละครเวที
ตัวแสดงสิบตัว เราไม่ได้ดูทั้งสิบตัว
ตัวไหนมีบทบาทเด่นเราดูตัวนั้นใช่ไหม
ตอนนี้ผู้ร้ายเด่นเราดูผู้ร้าย ไม่ได้ดูนางเอกแล้ว
ตอนนี้พระเอกเด่นเราก็ดูพระเอก
นางเอกเด่นเราก็ดูนางเอก
ฉะนั้นเวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว
ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย
เล่นโขน พระรามก็พวกหนึ่งตั้งหลายสิบตัว
พวกยักษ์ก็อีกหลายสิบตัว เต้นกันไปเต้นกันมา
ถามว่าเราดูไหมไอ้ที่เต้นๆ
… ไม่ได้ดู เราดูหัวหน้ายักษ์
ไม่ก็ดูพระลักษณ์ พระราม ดูนางสีดา
เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง
เป็นตัวเอกขณะนั้น
ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก
ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น
ดูละครเราก็ดูอย่างนี้ใช่ไหม
หรือจะดูแต่นางเอกไม่คลาดสายตาเลย
นั่นเขาไม่เรียกว่าดูละคร
เขาเรียกพวกหื่นจะดูแต่คนสวย
ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้
แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น
ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน
ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน
ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น
มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี
ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี
ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา
ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่
เวลาเราดูจิตดูใจ
บางทีโทสะมันแรงเราไม่เห็นจิต โทสะมันเด่น
เราก็รู้ว่าจิตมีโทสะ รู้โทสะไป
พอโทสะมันดับจิตมันเด่นดวงขึ้นมา
เราก็รู้จิตของเรา ดูตัวที่ทำงานเป็นตัวเอก
แล้วต่อไปจะค่อยๆ ลอกเปลือกมันไป
ตัวนี้ตัวประกอบทั้งนั้นเลย
ความสุขทุกข์เป็นตัวประกอบ
กุศลอกุศลเป็นตัวประกอบ
ความจำได้หมายรู้เป็นตัวประกอบ
ตัวเอกคือจิต จิตก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ถ้าเราดูจิตเหมือนดูละคร
บางครั้งจิตเราก็เป็นผู้ร้าย เคยไหมจิตเป็นผู้ร้าย
จิตเป็นนางอิจฉาเคยไหม
ยุคนี้ผู้ชายก็มีเขาเรียกเป็นนายอิจฉา
จิตเป็นนายอิจฉา อิจฉาคนนั้น อิจฉาคนนี้
นี่กำลังเล่นละครอยู่
เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย
เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น
เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น
เล่นหมุนไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น
เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา
ดูใจของเราเหมือนดูละคร
ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา
บางคนจะดูจิต เอ๊ะ จิตอยู่ตรงไหนๆ จะดูอะไรดี
ตรงนั้นกำลังฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จบแล้ว
ตัวเอกในขณะนั้นก็คือฟุ้งซ่าน
เอ๊ะ ตรงนี้ เอ๊ะ ที่นี่ เอ๊ะ ไอ้นี่ ตัวเอกคือตัวสงสัย
สงสัยรู้ว่าสงสัย
ใจดิ้นเร่าๆ อยากจะหาว่าจะดูอะไรดี ฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน
เพราะฉะนั้นดูจิตดูใจก็เหมือนดูละคร
ตัวไหนมีบทบาทหลักก็ดูตัวนั้น ไม่ต้องเที่ยวหา
อย่างตัวละครขึ้นมาไม่ต้องไปสอดส่อง
เอ๊ะ ตัวนี้มันหายไปไหน ทำไมมันยังไม่ออกมา
เสียเวลา ฟุ้งซ่านกว่าเก่า ดูละครไม่สนุก ไม่รู้เรื่อง
หลวงพ่อดูจิต หลวงปู่ดูลย์สอนดูจิต
โอย มันสนุกจริงๆ เหมือนเราดูละครทั้งวันเลย
แล้วตัวละครหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันขึ้นมา
เดี๋ยวก็ผู้ร้าย เดี๋ยวก็พระเอก เดี๋ยวตัวดี เดี๋ยวตัวชั่ว
เดี๋ยวตัวสุข เดี๋ยวตัวทุกข์
เดี๋ยวตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง
อย่างบางทีใจเราก็เป็นเดรัจฉาน
เล่นบทของสัตว์เดรัจฉาน จิตเรานี่ล่ะ
จิตเดรัจฉานเป็นอย่างไร
จิตเหม่อๆ จิตหลงๆ
เหม่อเป็นไหม หลงเป็นไหม
เออ ถ้าเหม่อเมื่อไรก็บอกตัวเอง
อ๋อ เดรัจฉานกำลังแสดงบทบาทอยู่
สัตว์เดรัจฉานมันชอบหลง นั่งเหม่อๆ ใจลอยไป
หรือบางทีจิตเราก็จมอยู่ในความทุกข์ เราก็ดู
อ๋อ ตอนนี้เป็นบทของสัตว์นรกกำลังแสดงอยู่
ดูจิตดูไปเรื่อยๆ ดูละคร
ละครข้างนอกก็อย่างนั้นๆ มาดูละครโรงในนี้
โรงในจิตเรานี้ สนุก
เราก็จะเห็นเดี๋ยวก็เป็นสัตว์นรกไปแล้ว เศร้าโศกเสียใจ
เดี๋ยวก็ขี้ขลาดตาขาว เจ้าเล่ห์แสนกล
ไม่กล้าสู้ใครเขาซึ่งหน้าหรอก
เล่นลับหลังอะไรอย่างนี้ เล่นทีเผลอ
พวกนี้พวกอสุรกาย
พวกขี้ขลาด เล่นลับหลัง
อย่างพวกเล่นไสยดำ พวกนี้อสุรกาย
พื้นฐานเลยก็คืออสุรกาย ลอบทำร้าย
หรือบางทีจิตเราก็แสดงบทเปรต อยากโน้นอยากนี้
บางทีจิตก็อยากเอาชนะ อยากเอาชนะคนอื่น
เราดูละคร ไม่ต้องไปเสียเงินดูที่อื่นหรอก
ไม่เสียค่าดูด้วย ดูละครในใจของเรานี้สนุ้กสนุก
พอเห็นไตรลักษณ์แล้วถึงจุดหนึ่ง จิตมันจะวาง
ตั้งแต่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต อันอื่นไม่สนใจเลย รู้สึกจิตเรานี้น่าดูจริงๆ มีอะไรให้ดูได้เยอะแยะไม่รู้จักจบจักสิ้น
รู้สึกเรียนรู้เท่าไรก็ยิ่งรู้ว่าไม่รู้
ยิ่งเรียนรู้ก็เหมือนกัน เอ๊ะ ไอ้นี่ก็ไม่รู้ๆ
ค่อยๆ เรียนๆๆ ไป
ถึงวันหนึ่งมันก็จะเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
จิตมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น
เหมือนเราดูละคร พระเอกก็ไม่ใช่ของเรา
นางเอกก็ไม่ใช่ของเรา
ตัวไหนก็ไม่ใช่ของเราทั้งนั้น
ละครภายในนี้ก็เหมือนกัน
จิตจะดีจะชั่ว จะสุขจะทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา
ไม่ใช่ของเราเหมือนๆ กัน
เพราะฉะนั้นเรามาหัดดูละครภายใน แล้วสนุก
ตั้งแต่หลวงปู่สอนให้ดูจิต
หลวงพ่อ โอ๊ย สนุกจังเลย
จิตนี้มันวิจิตรพิสดารจริงๆ
เรียนเท่าไรๆ ก็เหมือนกับเรียนแล้วไม่มีที่สิ้นสุดเลย
ไอ้นี่เรียนขึ้นมา โอ้ เกิดความรู้
เดี๋ยวภาวนาไปเรื่อย เอ้า รู้เรื่องนี้อีกแล้ว
ถ้าไปหลงอยู่ในความรู้ก็ใช้ไม่ได้อีก ใจจะเครียดขึ้นมา
แต่ถ้าเรารู้ลงปัจจุบันไป รู้แล้ววาง รู้แล้ววางไป
อย่าห่วงความรู้
อย่างเวลาเราภาวนาแล้วเกิดความรู้ความเข้าใจอะไร
พอรู้แล้วก็โยนทิ้งไปเลย ไม่ต้องหวง
บางทีจิตมันภาวนาแล้วมันเกิดรู้อะไรขึ้นมา
แล้วพยายามจำ จำๆๆ พักเดียวใจเราจะหนักอึดเลย
ภาวนาแล้วก็กลายเป็นพวกแบกตู้พระไตรปิฎก
ภาวนาผิดแล้ว ภาวนาแล้วรู้เยอะเกิน
รู้ปัจจุบัน รู้แล้วก็วางเสีย ไม่ต้องไปแบกเอาไว้
เราจะค่อยๆ คลายออกๆ
ถึงจุดหนึ่งมันจะปิ๊งเลย จิตไม่ใช่เรา
แล้วภาวนาเรื่อยๆ ไป
วันหนึ่งเราจะรู้จิตมันคือตัวทุกข์
ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษหรอก
ตรงที่มันเห็นทุกข์นั่นมันจะวาง
ถ้าไม่เห็นทุกข์มันไม่วางหรอก
ถ้าเราเห็นกายเป็นทุกข์ จิตก็วางกาย
เห็นจิตเป็นทุกข์ มันก็วางจิต
คำว่าเห็นเป็นทุกข์ๆ ไม่ใช่เห็นแค่ความทุกข์
คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นล่ะ
มันคืออาการของความทุกข์ทั้งหลายแหล่
ความไม่เที่ยง ก็เป็นแสดงความทุกข์ให้ดู
การทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่ง
นั่นก็แสดงความทุกข์ให้ดู
การที่เราควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้
ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา นั่นก็เป็นความทุกข์ให้ดู
คือดูไตรลักษณ์นั่นล่ะ
พอเห็นไตรลักษณ์แล้วถึงจุดหนึ่ง จิตมันจะวาง
เพราะฉะนั้น อย่างพระอรหันต์ ท่านมี 3 จำพวก
พวกหนึ่งบรรลุด้วยอนิมิตตวิโมกข์
ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีที่สังเกตเลย
อันนี้เห็นอนิจจังเพราะทุกสิ่งเกิดแล้วดับหมดเลย
ก็เลยไม่มีนิมิตอะไรเหลืออยู่ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ
ท่านเหล่านี้บรรลุพระอรหันต์เพราะเห็นอนิจจัง
บางท่าน ท่านทรงฌาน จิตท่านมีความสุขมหาศาล
ต่อมาท่านเห็นว่าจิตที่ว่ามีความสุข นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ก็จะวาง
อันนี้เรียกว่าอัปปณิหิตวิโมกข์
มันจะวางเพราะว่าเห็นทุกข์
ความสุขก็คือทุกข์ มันจะเห็นถึงขนาดนั้น
แล้วถ้าบางท่านมีปัญญากล้า
ท่านจะบรรลุพระอรหันต์โดยสุญญตวิโมกข์
เห็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นเวลาเห็น
จะเห็นอนิจจังก็ได้ ทุกขังก็ได้ อนัตตาก็ได้
จิตมันเห็นของมันเอง
เรามีหน้าที่ดูไปเรื่อยๆ
ดูสภาวะปัจจุบันไปเรื่อยๆ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วใจเราเป็นอย่างไร
เรารู้ไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวจะเห็นมันเล่นละครทั้งวัน
ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้เลย
จิตทุกชนิดไม่เที่ยง
จิตทุกชนิดเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นอยู่ตลอด
จิตทุกชนิดเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้
มันเห็นเองว่ามันจะเลือกมุมใดมุมหนึ่ง
ไม่มีใครบรรลุทีเดียว 3 มุมหรอก
ก็บรรลุในมุมใดมุมหนึ่ง
ฉะนั้นเราภาวนา เราไม่ได้มีหน้าที่บรรลุ
เรามีหน้าที่ทำเหตุ แล้วผลมันเกิดขึ้นเอง
ถ้าเราภาวนาแล้วเราอยากบรรลุเร็วๆ
รู้เลยจิตกำลังแสดงบทบาทของเปรตอยู่
จิตกำลังเป็นเปรตแล้วอยากบรรลุ โลภ
ดูละคร ดูละครภายในนี้
ต่อไปถึงจุดหนึ่งมันเข้าใจความจริง
กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์
ทุกข์เพราะอะไร
ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น
ทุกข์เพราะควบคุมบังคับไม่ได้ ใจก็จะวาง
พอวางแล้วคราวนี้มันวางกายได้
อะไรจะเกิดขึ้นในกาย ไม่มีความทุกข์เข้ามาถึงจิตถึงใจอีกแล้ว
ถ้าวางจิตได้
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์อะไร จิตก็ไม่ฟูไม่แฟบ
จิตก็สงบเข้าถึงสันติสุขอยู่ภายใน มีความสงบสุข
สิ้นทุกข์ก็สิ้นกันตรงที่จิตหมดความปรุงแต่ง
หมดความหิวโหย หมดความดิ้นรน
หมดความอยาก หมดความยึดถือ
ค่อยๆ ฝึกไป ดูของจริงไป
ฉะนั้นจุดตั้งต้นเลยก็คือ อย่าส่งจิตออกนอก
คอยรู้สึกตัว รู้สึกกายรู้สึกใจ
แล้ววันหนึ่งปัญญามันก็จะพัฒนาอย่างที่หลวงพ่อบอก
แต่ถ้าจุดตั้งต้นเราทำไม่ได้ ใจเราลอยทั้งวัน
คิดเรื่องคนอื่นทั้งวัน
คนโน้นเขาจะคิดกับเราอย่างไร
คนนี้เขาจะว่าอย่างไร
ไม่เคยดูกายดูใจตัวเอง เอาดีไม่ได้หรอก เอาดีไม่ได้
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไม่ยากนะวันนี้ง่ายๆ ง่ายไหม
ฟังไม่ยากหรอกแต่ทำจริงก็ยากเหมือนกัน
เพราะจิตเราชอบหนีไปเที่ยว เที่ยวไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นจิตมันเที่ยวรู้ทันมัน มันฟุ้งซ่าน รู้ๆๆ ไป
ต่อไปก็เห็นกายก็ทุกข์ ใจก็ทุกข์ ไม่มีอะไร
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป
ก็แค่นี้เอง ก็วางแล้ว …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 กรกฎาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา