10 ส.ค. 2022 เวลา 17:56 • ปรัชญา
เงินคือพระเจ้า หรือความรู้คือพระเจ้ากันแน่? พระเจ้ามีจริงไหม? มนุษย์เกิดมาทำไม? อะไรคือแก่นสารของชีวิต? ซีรีย์ประวัติศาสตร์ปรัชญาชุดนี้ จะพาผู้อ่านไปเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ รากเหง้าวิธีคิดของมนุษย์ที่เรียกว่าวิชาปรัชญา อันจะนำเราไปสู่การไขความลับต่างๆ ด้วยคำถาม เพราะมนุษย์เกิดมาพร้อมสติปัญญา และการตั้งข้อสงสัย จนทำให้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน ของโลกใบนี้
โดยบทความชุดนี้จะเล่าประวัติศาสตร์แห่งวิชาปรัชญาโดยแยกตามยุคต่างๆ เอาไว้ทั้งหมด 7 ตอน (รวมบทเกริ่นนำนี้เป็น 8) ให้เข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อเล่าถึงวิวัฒนาการทางความเชื่อของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มต้นกำเนิดวิชาปรัชญาในยุคกรีกโบราณจนถึงปัจจุบัน ว่าวิชาปรัชญามีความสำคัญต่อพวกเราทุกคนในโลกนี้อย่างไร และมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราบ้าง
Histoy of Philosophy ( ภาพ: redeemer.ca)
ปรัชญา คืออะไร?
ในภาษากรีก “Philosophy” มาจากคำว่า
philo : love ความรัก
sophy : wisdom หรือ ปัญญา ความรู้
‘Philosophy’ จึงแปลว่า ‘Love of wisdom’ หรือ ความรักในปัญญาความรู้ [1]
ในภาษาไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) ทรงบัญญัติขึ้น “ปรัชญา” มาจากรากของภาษาสันสกฤต 2 คำ คือ
ปฺร : ประเสริฐ
ชฺญา : ความรู้, ปัญญา
‘ปรัชญา’ จึงแปลว่า ‘ความรู้อันประเสริฐ’ [2]
เมื่อไรก็ตามที่มีคนพูดถึงคำว่า “ปรัชญา” เชื่อว่าหลายคนอาจจะร้องยี้ ฟังผ่าน เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว มันคือนามธรรม จับต้องไม่ได้ เปลี่ยนเป็นเงินก็ไม่ได้
แต่ในความเป็นจริง ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนมีแนวคิดปรัชญาเป็นรากเหง้าทั้งสิ้น เช่นคำถามที่ว่า “ทำไมเราต้องทำงาน?” หลายคนก็อาจจะคิดแค่ว่า “อ้าว ก็ต้องทำงานเพื่อแลกเงินสิ ถึงจะมีเงินไปซื้อข้าวกิน”
แล้วถ้าถามต่อว่า “มันมีวิธี ที่เราสามารถมีข้าวกินได้ โดยที่ไม่ต้องทำงานมั้ย?”
เช่น เราอาจจะได้รับมรดกที่ดิน เป็นเจ้าของที่นา ที่มีคนอื่นคอยปลูกข้าวให้ แล้วผู้เช่าเอาข้าวมาจ่ายเป็นค่าเช่าที่นา ทำให้เรามีข้าวกินตลอดชีวิต พอเจอคำตอบแบบนี้ เราก็อาจจะตั้งคำถามต่อว่า “แบบนี้เรายังจำเป็นต้องทำงานอยู่หรือเปล่า?
Rice (ภาพ: Pixabay)
หรือถามต่อว่า “เรากินข้าวไปทำไม?” คำตอบก็อาจจะตามมาว่า “อ้าว ถ้าไม่กินข้าวก็ตายสิ” ถ้างั้นถามต่อว่า “ถ้าไม่อยากตาย กินอย่างอื่นแทนข้าวได้ไหม” หรือ “เรากินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ไปทำไม?”
ปรัชญา คือการตั้งคำถาม เพื่อสืบไปยังต้นตอของสาเหตุ และสาวไปยังผล ว่าทำไมจึงทำสิ่งนี้ ทำไมไม่ทำสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร และหากไม่มีประโยชน์ จะทำไปทำไม จะเห็นได้ว่า ความสงสัยของมนุษย์นั้น ส่งผลให้เกิดสิ่งต่างๆ มากมายหลายแขนง เพราะคำถาม นำไปสู่คำตอบที่หลากหลาย และนำไปสู่การผลิต หรือคิดค้นวิทยาการในศาสตร์ต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ แพทยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น ถามว่า “เรากินไปเพื่ออะไร?” คำตอบของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไป ส่งผลต่อการกระทำที่ต่างกันด้วย
Question (ภาพ: Unsplash)
บางคนอาจจะกินเพื่ออร่อย แต่ละวันก็จะหาเงินมาเพื่อเสาะแสวงหาที่กินอาหารโอชารส ตามสถานที่ต่างๆ จากทั่วโลกไปวันๆ ใช้เวลาของชีวิตแต่ละวันหมดไปกับการปรุงอาหาร เพื่อบำรุงระบบประสาทสัมผัสแห่งการลิ้มรส ให้ตนและผู้อื่นพึงพอใจ แค่นี้ก็สนองความต้องการเพียงพอแล้ว และคำตอบนี้ ก็อาจจะนำพาให้กลายไปทำอาชีพเป็นนักชิม นักรีวิวอาหาร หรือกลายเป็นเชฟมิชชิลิน เป็นต้น
แต่กับบางคนอาจจะตอบคำถามข้างต้นว่า กินเพื่อให้มีแรงไปแสวงหาทางพ้นทุกข์ คนๆ นั้นก็อาจจะแสวงหาเส้นทางแห่งการเป็นนักบวช กินวันละ 1 มื้อ ไม่ได้ติดใจในรสชาดของอาหาร ยินดีในสิ่งที่แล้วแต่ว่าใครจะให้มา และเอาเวลาที่เหลือไปศึกษาคำสอน ทดลองลงมือปฏิบัติ เพื่อรู้เท่าทันกิเลสในใจตน หาทางหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ต่อไป เป็นต้น
นี่จะเห็นได้ชัดว่า คำถามเดียวกันที่เกิดจากปรัชญา สามารถนำพาคำตอบที่แตกต่างกันได้ ตามหลักแห่งปรัชญาชีวิตของแต่ละคนเช่นกัน
โลกที่เราอยู่นี้ พัฒนามาจากอะไร จะไปในทิศทางไหนต่อ เราจะรู้จักสรรพสิ่งต่างๆ อย่างถ่องแท้ได้อย่างไร เราตัดสินทุกสิ่ง จากระบบประสาทสัมผัส หรือการที่เราเดาๆ เอา ฝันเอา หรือจากการตั้งคำถาม และเปิดทางให้คำตอบที่อาจเป็นไปได้ ทั้งหมดนี้ ล้วนคือศาสตร์แห่งปรัชญาซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราทุกคนในโลกนี้ทั้งสิ้น
ปรัชญาในแต่ละยุค มีความสำคัญกับเราอย่างไร และมีวิวัฒนาการถึงปัจจุบันอย่างไร และเกี่ยวข้องกับเราทุกอย่างอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ยกตัวอย่างเช่น หากไม่มีการค้นพบว่ามนุษย์มีจิตสำนึกในยุคศตรวรรษที่ 18 เราก็คงไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมนุษย์มีจิตใต้สำนึกซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ที่ควบคุมจิตสำนึกอีกที จากการค้นพบของฟรอยด์ และ โชเพนเฮา ในยุคศตรวรรษที่ 19
หลังจากนั้นวิชาจิตวิทยา หรือ Psychology ก็ถูกจับแยกออกมาเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งในเวลาต่อมา ทำให้เรารู้ในปี 2022 นี้ว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ หาใช่แม่มด หรือผีปอบเข้าสิงแต่อย่างใด เป็นต้น
เอาล่ะ นี่เป็นแค่เพียงบทความเกริ่น เกี่ยวกับปรัชญา ต่อจากนี้จะเป็นซีรีย์ปรัชญาตามยุคต่างๆ ทั้ง 7 ยุค ได้แก่ [3]
  • 1.
    ยุคกำเนิดปรัชญา
  • 2.
    ปรัชญาในยุคกลาง
  • 3.
    ปรัชญาในยุคเรเนซองซ์
  • 4.
    ปรัชญาในยุคบารอค
  • 5.
    ปรัชญาในยุคแห่งการรู้แจ้ง
  • 6.
    ปรัชญาในยุคศตวรรษที่ 19
  • 7.
    และปรัชญาในยุคศตวรรษที่ 20
ผู้เขียนจะพาคุณผู้อ่านเริ่มต้นเดินทางย้อนสู่อดีตแห่งปรัชญาความเชื่อและวิวัฒนาการของมนุษย์กัน อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม เพื่อจะได้ไม่พลาดซีรีย์นี้ในตอนต่อๆ ไปกันนะคะ เพราะผู้เขียนจะเขียนวันละบทค่ะ ยังไม่จบง่ายๆ น๊า
[1] Berkeley 2003 [1710]: 5; Blackburn 1999: 1.
[3] Michael Guery. (2011). Eine kleine Geschichte der Philosophie. Stuttgart Germany: Ernst Klett Verlag GmbH.
โฆษณา