11 ส.ค. 2022 เวลา 21:48 • ปรัชญา
ยุคจุดกำเนิดแห่งปรัชญา แยกเป็น 4 ยุค คือ
1. วัฒนธรรมกรีกโบราณแบบเก่า
2. ปรัชญาธรรมชาติ
3. จุดสูงสุดแห่งยุคปรัชญาโบราณ
4. Hellenism หรือ ปรัชญาแบบกรีกสมัยใหม่
ตำนานเทพเจ้ากรีก (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
จากที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะเขียน “ยุคจุดกำเนิดแห่งปรัชญา” ให้จบในตอนเดียวรวดเลย แต่ดูเหมือนว่าบทความจะยาวจนเกินไป ผู้เขียนจึงขอแยกบทความ ออกเป็น 2 ส่วนก็แล้วกันนะคะ
เริ่มไปกันเลย…
1. วัฒนธรรมกรีกโบราณแบบเก่า (600 ปี ก่อนคริสตกาล)
เป็นยุคที่มนุษย์เริ่มสงสัยและออกหาคำตอบของชีวิต เป็นจุดกำเนิดแห่งปรัชญาในยุคเริ่มต้น ทางฝั่งตะวันออกจะเป็นยุคช่วงก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงออกบวช ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 23 พรรษา และเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตก่อนที่จะออกบวชในอีก 6 ปีต่อมา (ในวัย 29 พรรษา)
ซึ่งทางฝั่งตะวันตก จะเป็นยุคเดียวกับที่ชาวกรีกโบราณเชื่อว่า ฟ้าร้อง ดินถล่ม น้ำท่วม ฝนตก ฟ้าผ่า หรือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีเทพเจ้าจำนวนมากควบคุมความเป็นไปอยู่ตลอดเวลา โดยมีเทพสูงสุดอยู่ทั้งสิ้น 12 องค์ เช่น ซุส เป็นผู้ปกครองนครโอลิมปัส เป็นจ้าวแห่งท้องฟ้าและสายฟ้า และเป็นผู้นำเหนือเทพทั้งปวง
จนมีการเอาคาแรกเตอร์ของเทพต่างๆ มาทำเป็นหนัง X-Men นั่นแหละ
(เพิ่มเติม: หากผู้อ่านสนใจศึกษาเรื่องตระกูลเทพกรีกโบราณ คลิกตามอ้างอิงนี้ [1])
ยกตัวอย่างการอธิบายเรื่องปรากฎการณ์การเกิดฤดูหนาว 3 เดือน ที่เทพกระทำต่อธรรมชาติซักหนึ่งเรื่อง สนุกๆ
เทพเพอร์เซโฟเน (Persephone) เทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิ ได้ถูกเทพเฮดีส จ้าวแห่งนรก ลักพาตัวไปเป็นพระมเหสี และแม่ของเพอร์เซโฟเน ซึ่งก็คือ ดิมิเทอร์ (demeter) เทพธิดาแห่งความสมบูรณ์ เกษตรกรรมและการเก็บเกี่ยว หรือภรรยาของซุส (Zeus) ก็รีบไปฟ้องพระสวามีให้รีบจัดการสั่งให้เฮดีส (Hedes) ที่เป็นพี่ชายของซุส ส่งลูกสาวกลับคืนมา
แต่ซุส ก็เกรงใจพี่ชายของตนเอง เพราะหากเฮดีสโมโหขึ้นมา ก็อาจจะส่งคนตายขึ้นมายังโลกเป็นวิญญาณเร่ร่อนเดือดร้อนกันไปทั่ว เขาจึงยื่นข้อเสนอว่า หาก เพอร์เซโฟเน กินอาหารในนรก ก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในนรกได้ตามจำนวนของอาหารที่กินเข้าไป ไม่เช่นนั้นต้องส่งเทพธิดาที่เป็นลูกสาวของตนกลับคืนมา
ซึ่งเพอร์เซโฟเน ก็ดันเผลอกินเมล็ดทับทิมไป 3 เม็ด ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในนรกเป็นเวลา 3 เดือน ส่งผลให้พระมารดา เทพผู้ดูแลความอุดมสมบูรณ์ ตกอยู่ในความเศร้าตลอดช่วงสามเดือนนั้น ซึ่งก็คือฤดูหนาวช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ถึงมีนาคม ที่พืชพันธ์ุธัญญาหาร จะไม่งอกเงิย นั่นเอง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างการผูกเรื่องโยงปรากฎการณ์ธรรมชาติ ให้เข้ากับศีลธรรมอันดีงามของมนุษย์ในยุคนั้น โดยแฝงความเชื่อภาคบังคับให้คนกลัวเอาไว้ในเรื่องเล่า ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เทพเจ้าประสงค์ กำหนดให้มนุษย์ต้องทำให้เทพเจ้าพึงพอใจด้วยการกราบไหว้บูชา เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามทำให้เทพเจ้าพิโรธ ไม่เช่นนั้น จะเกิดปรากฎการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งมนุษย์ในยุคนั้นก็เชื่อเสียด้วย
จากความเชื่อนี้ ที่ถูกอธิบายเป็นเรื่องเล่าของครอบครัวเทพเจ้าที่มีทั้งอำนาจ และศีลธรรมในมือ ก็กลายเป็นระบบความคิดในวัฒนธรรมกรีกสืบต่อกันมา
โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่าทำไมฟ้าถึงผ่า ทำไมฝนถึงตก ทำไมพายุถึงเข้า
จากคำถามทางปรากฎการณ์ธรรมชาติ ก็กลายเป็นการค้นหาคำตอบที่เกี่ยวกับธรรมชาติ และศีลธรรม จนเกิดวิชาปรัชญา ต้นกำเนิดแห่งศาสตร์ทั้งปวง หรือ Philosophy ที่หมายถึง ความรักในปัญญาความรู้ บูมขึ้นในยุคนั้นนั่นเอง
2. ปรัชญาธรรมชาติ (600-450 ปี ก่อนคริสตกาล)
ยุคนี้เป็นช่วงต่อมาจากปรัชญากรีกโบราณ หากเทียบให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเฟื่องฟู อยู่ในช่วงปีที่พระพุทธเจ้าออกบวช ตรัสรู้ และประกาศธรรมแล้ว นับไปอีก 43 ปี ก่อนทรงปรินิพพาน
ปรัชญาธรรมชาติ หรือเรียกว่าปรัชญายุคก่อนโสเครติส (Socratis) เริ่มก่อตัวในเมืองขึ้นของกรีก คือ อิตาลีตอนใต้ ไล่ไปถึงตุรกีในปัจจุบัน เป็นเพราะผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ ไม่ได้ถูกบังคับเรื่องการแสดงออกทางความคิดมากเท่ากับคนในเมืองหลวง ปรัชญาชุดนี้จะอธิบายการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ โดยในภาษากรีก คำว่า Physis แปลว่า ธรรมชาติ ทำให้วิชาฟิสิกส์ ก็ได้ถือกำเนิดมาจากปรัชญาชุดนี้นั่นเอง
โดยแบ่งนักปรัชญาออกเป็นกลุ่มๆ ตามประเภทการค้นพบได้ตามนี้
1
Substance หรือ สสาร ( ภาพ: Unsplash )
จุดกำเนิดของสสาร
  • ธาเลส Thales of Miletus (625-547 ปีก่อน ค.ศ.) ค้นพบว่า น้ำ คือจุดกำเนิดของทุกสิ่ง
  • อะนัคซิเมเนส Anaximenes (585-526 ปีก่อน ค.ศ.) กล่าวว่า ลม คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง
  • พีธากอรัส Pythagoras (570-496 ปีก่อน ค.ศ.) กล่าวว่า ทุกอย่างในโลกและจักรวาล รวมถึงดนตรี ล้วนถูกกำหนดด้วยการคำนวนทางคณิตศาสตร์ไว้หมดแล้ว
การเปลี่ยนแปลงของสสาร
  • พาร์เมนิเดส Parmenides (540-480 ปีก่อน ค.ศ.) พบว่า มีสารตั้งต้นในธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และเป็นส่วนประกอบของสิ่งต่างๆ อยู่
  • เฮราคลิตุส Heraclitus (570-480 ปีก่อน ค.ศ.) พบว่า ของทุกอย่างมีขั้วตรงข้ามกัน เช่น ดำกับขาว หญิงกับชาย สงครามกับสันติภาพ หากไม่มีสงคราม ก็จะไม่เกิดการดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด หรือสิ่งที่ดีกว่า และนี่คือจุดเริ่มต้นของแนวคิดสังคมนิยมของคาล มาร์กซ์ หรือ ทฤษฎีดาวิน ที่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งกว่าเท่านั้นจะอยู่รอดได้
  • เอ็มเพโดเคลส Empedocles (494-434 ปีก่อน ค.ศ.) เอาสิ่งที่ Parmenides พาร์เมนิเดส และ เฮราคลิตุส ค้นพบมาต่อยอดและหักล้าง ว่า สารตั้งต้นของสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้น ไม่ได้มีแค่ธาตุเดียว แต่มี 4 ธาตุต่างหาก นั่นก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
Atom ( ภาพ: Unsplash )
อะตอม
  • อะนาซะโกรัส Anaxagoras (500-428 ปีก่อน ค.ศ.) ต่อยอดจาก เอ็มเพโดเคลส ว่าธาตุทั้ง 4 นั้น มีอะตอมประกอบอยู่ สามารถประกอบรวมตัว และแยกจากกันเป็นอิสระได้
  • ลิวซิปปัส Leucippus (ครู) และ เดโมคริตุส Democritus (ศิษย์) (450 ปีก่อน ค.ศ.) ทั้งสองคนช่วยกันต่อยอด ว่าอะตอมนั้นมีจำนวนและรูปร่างที่แตกต่างกันมากมายมหาศาล แต่เป็นอนุภาคที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะป็นอนุภาคที่เล็กที่สุด สามารถรวมตัวกับอนุภาคอื่นๆ ฟอร์มตัวขึ้นมาใหม่ และแตกออกได้อีกวนๆ ไป ส่งผลให้สสารมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
รวมถึง เดโมคริตุส อธิบายว่าร่างกายของมนุษย์เกิด และตาย แต่จิตวิญญาณไม่ได้ตายไปด้วย และเห็นตรงข้ามกับ อะนาซะโกรัส ที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นคนสร้างธาตุต่างๆ
วิชาเคมีในปัจจุบันก็ได้ศึกษาต่อจาก เดโมคริตุส และค้นพบว่า โลกของเรามีอะตอมหลายร้อยชนิดจริง และแต่ละชนิดก็ประกอบด้วย โปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน เป็นของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการพบว่ามี Quark ที่เป็นส่วนประกอบเล็กลงไปอีก แต่ก็ยังคงมีคำถามทางปรัชญาค้างอยู่ว่า เราจะแยกสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ออกจากกันได้ไม่สิ้นสุดหรือไม่ [2]
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราเริ่มพอมองเห็นภาพการต่อยอดความรู้จากนักปรัชญารุ่นก่อน สู่นักปรัชญารุ่นใหม่กันไปแล้วนะคะ
จากเดิมที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้า เพื่อตอบคำถามปรากฏการณ์ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จากนั้นก็เริ่มมีนักปรัชญาตั้งคำถามถึงธรรมชาติ ชีวิต ศีลธรรม เพราะมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นพวก ต้องเริ่มทำมาหากิน เก็บเกี่ยวเพาะปลูก และเฝ้าสังเกตธรรมชาติ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมมาสนองความสงสัยของตนเอง จนเกิดเป็นคำถาม คำตอบทางด้านวิทยาศาสตร์ ส่งต่อมาเป็นทอดๆ มาสู่ยุคที่มนุษย์เริ่มเข้าใจเรื่อง ธาตุและอะตอมแล้ว
ตอนต่อไปจะเป็นตอนที่แยกจากบทความนี้เป็นตอนที่ 2.2 นะคะ คือ
3. จุดสูงสุดแห่งยุคปรัชญาโบราณ (450-300 ปี ก่อนคริสตกาล) และ
4. Hellenism หรือ ปรัชญาแบบกรีกสมัยใหม่ (300 ปี ก่อนคริสตกาล - 450ปี หลังคริสตกาล)
อย่าลืมกดไลค์ กดติดตาม ปักหมุด กดแชร์ เพื่อจะได้ไม่พลาดตอนต่อไปกันนะคะ
[2] Michael Guery. (2011). Eine kleine Geschichte der Philosophie. Stuttgart Germany: Ernst Klett Verlag GmbH.
โฆษณา