12 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Extraordinary Attorney Woo : ผู้หญิง ความเป็นแม่ และปิตาธิปไตยในสังคมเกาหลีใต้
เมื่อครั้งก่อน Bnomics เคยนำซีรีส์เรื่องนี้มาเขียนในประเด็นของโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ที่มีอาการออทิสติกส์สเปกตรัม แต่หลังที่ซีรีส์ออนแอร์ไปจนใกล้จะจบแล้ว ผู้เขียนพบว่าซีรีส์นี้ได้เล่าถึงประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจมากมาย
และสำหรับวันแม่นี้ ผู้เขียนก็เลยอยากจะดึงประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง และความเป็นแม่ ในสังคมเกาหลีใต้ออกมาเล่าให้ทุกคนฟัง ซึ่งดูเหมือนใน Episode 12 ซีรีส์พยายามขยี้ให้เราเห็นถึงปมปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลีใต้มาอย่างยาวนานผ่าน
[Spoiler alert! เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ ใครยังดูไม่ถึงตอนนี้ขอให้กดแชร์ไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่านภายหลัง]
📌 เหตุใดผู้หญิงจึงอยู่ในตลาดแรงงานน้อยกว่าผู้ชาย...การศึกษา หรือ ค่านิยม?
ใน Episode 12 คดีที่ทนายอูยองอูรับผิดชอบ เกี่ยวข้องกับการที่บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ตัดสินใจปรับโครงสร้างพนักงานด้วยเงื่อนไขที่ว่า
พนักงานที่เป็นคู่สมรสกัน ต้องมีคนใดคนหนึ่งสมัครใจลาออก
โดยจะได้รับค่าชดเชยจำนวนหนึ่ง แต่หากหนึ่งในพนักงานที่เป็นคู่สมรสกัน
ไม่สมัครใจลาออกเอง พนักงานที่เป็นสามีจะต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
มีคู่สมรสที่เข้าเกณฑ์นี้ทั้งหมด 112 คู่ และเราคงเดาได้ไม่ยากว่าคนที่ลาออกส่วนใหญ่เกินกว่า 90%...คือ ผู้หญิง
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ตั้งแต่ในอดีตสังคมเกาหลีใต้ มีค่านิยมปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) สูงมาก ไม่ต้องพูดถึงไปโอกาสในการทำงาน เพียงแค่โอกาสในการลืมตาดูโลกยังน้อยกว่าเลย
ลูกสาวมักไม่ค่อยเป็นที่ต้องการเท่าลูกชาย และถึงแม้พวกเธอจะเกิดมาก็มักไม่ได้รับการศึกษาสูงนัก
ในปี 1990 จำนวนปีการศึกษาโดยเฉลี่ยของผู้หญิงอายุ 30 ปี อยู่ที่ 10.4 ปี ในขณะที่สำหรับผู้ชายอยู่ที่ 11.8 ปี
จนกระทั่งในปี 2010 ค่าเฉลี่ยนี้ใกล้เคียงกันมากขึ้น คือ 13.9 ปี สำหรับผู้หญิง และ 14.1 ปี สำหรับผู้ชาย เนื่องจากในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ทางรัฐบาลได้มีการบรรจุนโยบายการศึกษาของผู้หญิงไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (1987-1991) โดยมุ่งหวังที่จะลดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการเข้าสู่ระบบการศึกษา และขยายโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเข้าถึงการศึกษาระหว่างเพศหญิงและชายมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ในตลาดแรงงานมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากปราการด่านสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเข้าทำงานก็คือ “การเป็นผู้หญิง” และถึงแม้จะเข้าไปทำงานได้ ก็มักจะได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าผู้ชาย
จากข้อมูลพบว่าในปี 2010 ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเกาหลีใต้สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD
ผู้หญิงที่จบปริญญาตรีได้รับค่าจ้างประมาณ 66% ของค่าจ้างผู้ชายที่มีคุณสมบัติพอๆ กัน
และในอาชีพที่ต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างหมอ หรือทนาย ก็พบว่าผู้หญิงได้รับค่าจ้างเพียง 61.7% ของค่าจ้างที่ผู้ชายได้รับเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็หมายความว่าในคู่สมรสส่วนใหญ่ ฝ่ายสามีมักจะมีเงินเดือนมากกว่าภรรยา ดังน้้นถ้าเงื่อนไขในซีรีส์เกิดขึ้นในเกาหลีใต้จริงๆ ผลก็คงออกมาไม่ต่างกันว่าผู้หญิงต้องยอมถอย เพื่อความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานของสามี เพราะในสังคมปิตาธิปไตย ถ้าระหว่างคู่สมรสมีแค่ใครคนใดคนหนึ่งที่ทำงานได้ สังคมก็คงไม่อาจมองข้ามอคติได้ว่าคนๆ นั้นควรเป็นสามีอยู่ดี
📌 จะยอมสละหน้าที่การงาน หรือสละหน้าที่แม่และภรรยาที่ดี?
เวลาที่สามีไม่มีงานทำ จะกลายเป็นคนตกงาน
แต่ถึงภรรยาจะไม่มีงานทำ ก็ยังได้เป็นแม่บ้าน
ในซีรีส์ หนึ่งในโจทก์ยื่นฟ้องว่าบริษัทปลดพนักงานโดยเลือกปฏิบัติทางเพศ เป็นพนักงานยอดเยี่ยมที่อุทิศตนให้บริษัทถึงขนาดที่ยอมทิ้งวันลาคลอด แล้วกลับมาทำงานหลังคลอดได้เพียง 2 สัปดาห์
แต่เธอกลับต้องยอมลาออกเพราะถูกกดดันให้เห็นว่าที่ที่เหมาะสมกับเธอควรจะเป็นที่บ้าน
ในฐานะแม่ และในฐานะภรรยาที่ดีเสียมากกว่า ไม่ใช่ในฐานะรองหัวหน้าของบริษัทที่เธออุทิศตนทำงานอย่างหนักมาตลอดหลายปี
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมเกาหลี ที่ยังคงคาดหวังให้แม่จะต้องเป็นหลักในการเลี้ยงลูก และเป็นผู้สนับสนุนการงานของสามีอยู่เบื้องหลังเท่านั้น ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดความลำเอียง (Bias)
ในการรับสมัครพนักงานหรือเลื่อนตำแหน่ง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้หญิงจะลาออกหลังแต่งงานหรือมีลูกเพราะถูกกดดันให้ต้องทำตามครรลองของสังคม
จากข้อมูลในปี 2009 ผู้หญิงเพียง 49.2% มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของผู้ชายที่สูงถึง 73.1%
ผู้หญิงที่ทำงานในระดับสูงๆ หรือเป็นหัวหน้างาน คิดเป็นเพียง 20.6% ของผู้หญิงในตลาดแรงงานเพียงเท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการทำงานของแต่ละช่วงอายุ จะยิ่งเห็นได้ชัดว่ากราฟของผู้หญิงมีลักษณะเป็นตัว M โดยอัตราการทำงานของผู้หญิงจะลดลงไปในช่วงอายุ 30 และกลับขึ้นมาอีกทีในช่วงอายุ 40 ไปแล้ว ในขณะที่สำหรับผู้ชายเราไม่ได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรนัก
การลดลงของอัตราการทำงานอย่างมีนัยยะสำคัญนี้เองสะท้อนให้เห็นถึงภาระในการเลี้ยงดูลูกอันหนักหน่วงของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว
และแสดงให้เห็นว่า แม้การพัฒนาคุณภาพและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา จะทำให้ผู้หญิงสามารถเพิ่มโอกาสในการหางานทำได้
แต่กรอบแนวคิดปิตาธิปไตยที่ยังฝังรากลึกและมีอิทธิพลในเกาหลีใต้ ยังคงกดดันให้ผู้หญิงต้องเป็นคนรับผิดชอบหลักในการดูแลลูกรวมถึงงานในบ้านอยู่ดี
(ใน Episode 11 ก็ชี้ให้เห็นอีกกรณีหนึ่งที่ภรรยาหาเลี้ยงครอบครัวมาตลอดเนื่องจากสามีเป็นนักพนัน แต่เธอก็ยังต้องดูแลลูกและดูแลทุกสิ่งในบ้านอยู่ดี)
จึงทำให้ท้ายที่สุดแล้วผู้หญิงก็ยังคงมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานได้ยากกว่า แม้ว่าจะมีการศึกษาและความสามารถเท่าๆ กันกับผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่แต่งงาน มีลูกแล้ว เรียกได้ว่าประตูสู่การทำงานแทบจะปิดลงในทันที
งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า หากปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศนี้หายไป เศรษฐกิจจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้กว่า 15% โดยเฉลี่ยเลยทีเดียว และนโยบายรัฐที่จะช่วยได้ดีที่สุด คือ การเข้าไปแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน หาทางช่วยปลดภาระในบ้าน และการเลี้ยงลูกให้แก่ผู้หญิงผ่านนโยบายช่วยเหลือในการเลี้ยงดูลูก การสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ
และเมื่อปัญหาการกีดกันทางเพศในตลาดแรงงานลดลง การพัฒนาทางด้านการศึกษาถึงจะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี
Bnomics เชื่อว่ามนุษย์แม่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังพิเศษมาก พวกเธอสามารถรับผิดชอบหน้าที่แม่ที่ดี หน้าที่ภรรยาที่ดี ไปพร้อมๆ กับหน้าที่การงานที่ดีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หากได้รับความเข้าใจจากคนในครอบครัวและคนในสังคม
ขอบคุณมนุษย์แม่ทุกคนที่เลี้ยงดูอนาคตของชาติมาอย่างดี และหวังว่าวันหนึ่ง เด็กเหล่านั้นจะเติบโตมาในสังคมที่แทบจะไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศอีกแล้ว
พวกเขาจะเติบโตมาเป็นอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่เป็นสิ่งถูกกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของใคร
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : AStory และ KT Studio Genie via Netflix
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา