17 ส.ค. 2022 เวลา 00:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ลวงล้วงลึก
Photo by Thomas Park on Unsplash
สมมติว่าคุณเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งต้องเข้าร่วมการทดลอง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
คุณฟังมาว่าเป็นการทดลองวัดความสามารถที่ใช้เวลาสองชั่วโมง พอถึงเวลาทดลอง คุณเห็นว่ามีนักศึกษาอีกคนด้วยแต่ถูกแยกไป โดยมีนักศึกษาคนหนึ่งที่เพิ่งทดลองเสร็จมาพูดสรุปย่อให้เพื่อนร่วมการทดลองคนดังกล่าวฟังด้วย
พอเริ่มทดลองคุณก็พบว่าน่าเบื่อสุดๆ เพราะสิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ย้ายหลอดด้ายไปมาในกล่องนานครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็ย้ายหมุดเหล็กติดกระดาษไปรอบๆ กระดานอีกครึ่งชั่วโมง
พอจบการทดลองก็มีทีมงานมาขอบคุณ พร้อมกับเล่าว่ามีคนมากทีเดียวที่บอกว่า การทดลองน่าสนใจไม่น้อย
ถึงตอนนี้ คุณก็ชักจะเริ่มงง และสงสัยว่า ... มันน่าสนใจตรงไหนกันหรือ?
แต่เรื่องไม่จบแต่เพียงเท่านั้น คุณถูกขอร้องให้ช่วยสรุปย่อแทนผู้ช่วยอีกคนที่ไม่มา ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้ทดลองคาดหมายให้คุณเล่าว่า การทดลองนี้น่าสนใจมากเพียงใด โดยคุณจะได้รับค่าตอบแทนด้วย แม้ว่าจะเป็นเงินที่น้อยมากก็ตาม
แต่คณะผู้ทดลองก็ให้ความหวังกับคุณอีกว่า พวกเขาอาจจะเรียกใช้คุณในการทดลองอื่นๆ อีกในอนาคต
อ๊ะ ฟังดูเริ่มจะไม่เลวใช่ไหมครับ
พอคุณสรุปย่อให้นักศึกษาคนต่อไปเสร็จ คุณอาจจะรู้สึกผิดอยู่นิดหน่อยที่หลอกนักศึกษาคนดังกล่าว ให้มีความหวังว่าการทดลองจะสนุก
จากนั้นคุณก็ถูกแยกออกมานั่งคอย
ต่อมามีตัวแทนคณะผู้ทดลองเข้ามาขอบคุณอีกครั้ง พร้อมกับย้ำว่าคนจำนวนมากรู้สึกสนุกกับงานนี้ หวังว่าคุณก็คงสนุกด้วยเช่นกัน
แล้วคุณก็ถูกพามาที่อีกห้องหนึ่ง มีคนมาสัมภาษณ์คุณเกี่ยวกับการทดลองที่เพิ่งผ่านพ้นไป
คำถามหนึ่งก็คือคุณคิดว่าการทดลองน่าสนใจมากน้อยเพียงใด คุณคงจะต้องหยุดคิดสักเล็กน้อยก่อนที่จะตอบคำถามนี้
คุณอาจจะทบทวนแล้วพบว่า ตอนแรกๆ ก็รู้สึกว่าการทดลองน่าเบื่อ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้น่าเบื่อมากขนาดนั้น เผลอๆ อาจจะรู้สึกว่าการย้ายหลอดด้ายหรือหมุดติดกระดาษซ้ำๆ ไปมา ก็แอบซ่อนความงามแบบไม่สมมาตรอยู่บ้าง
ดูน่าสนใจไม่น้อย
แถมยังมีประโยชน์เพราะเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จึงคุ้มค่ากับแรงงานและเวลาที่เสียไปแน่นอน
คุณอาจจะถึงกับให้คะแนนว่า อยู่ในระดับน่าสนใจอยู่บ้างเหมือนกัน
หลังการทดลองคุณเจอกับเพื่อนอีกคนที่เข้าร่วมการทดลองเหมือนกัน คุณพบว่าการทดลองของคุณกับเพื่อนคล้ายกันมาก
มีข้อแตกต่างสำคัญเรื่องเดียวก็คือ เพื่อนของคุณได้รับค่าตอบแทนมากเป็น 20 เท่าของที่คุณได้รับ (การทดลองจริงซึ่งทำในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดปี ค.ศ.1959 ค่าตอบแทนที่ให้คือ 1 เหรียญกับ 20 เหรียญ)
แน่นอนเป็นใครก็คงเซ็งเป็นธรรมดา!
พอคุยต่อไปอีก คุณก็พบว่าเพื่อนคนนั้นตอบคำถามไปว่า การทดลองนั้นน่าเบื่อสุดๆ น่าเบื่อโคตรๆ ไปเลย และหากคุณยืนกรานว่าการทดลองไม่ได้น่าเบื่ออะไรมากขนาดนั้น หรือแม้แต่น่าสนใจ เธอก็ทำท่าราวกับว่าคุณเสียสติไปแล้วแน่ๆ
เกิดอะไรขึ้นกันแน่?
ทำไมคุณกับเพื่อนที่เข้าร่วมการทดลองเดียวกันแท้ๆ จึงวินิจฉัยความน่าสนใจของมันได้ต่างกันยังกับฟ้ากับเหวเช่นนั้น
และทำไมคุณที่ได้รับค่าแรงน้อยกว่า จึงกลับคิดว่าการทดลองมันน่าสนใจมากกว่าไปได้
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่าเป็น การไม่สอดคล้องกันของการรับรู้ (cognitive dissonance)
คำอธิบายสำหรับตัวอย่างข้างต้นก็คือ ตอนแรกคุณคิดว่าการทดลองนี้น่าเบื่อ แต่คุณก็ได้รับมอบหมายและค่าจ้างเล็กน้อยที่จะให้ไปบอกคนอื่นว่า การทดลองนั้นน่าสนใจเพียงใด
แน่นอนว่าคนปกติทั่วไปก็คงไม่ชอบโกหกพกลมแน่ แม้ว่าจะได้รับเงิน แต่จำนวนเงินที่ได้รับก็น้อยเกินกว่าจะทำให้คุณอยากโกหกใครต่อใครเพื่อเงินนั้น
คำถามคือคุณจะจัดการกับสถานการณ์ที่ชวนอิลักอิเหลื่อแบบนี้ได้อย่างไร
คำตอบจากผลการทดลองก็คือ ผู้เข้าร่วมการทดลองแก้ไขปัญหาโดยการตัดสินใจบอกกับตัวเองว่า “การทดลองนี้น่าสนใจไม่น้อย” ทีเดียวแหละ
ก่อนจะถึงข้อสรุปนี้ผู้จัดการทดลองก็เฝ้าส่งตัวแทนมาย้ำกับคุณซ้ำๆ ว่า คนอื่นเค้าเห็นว่าการทดลองน่าสนใจนั่นเอง
ในกรณีของเพื่อนคุณ สถานการณ์ต่างออกไปเล็กน้อย เพราะเธออาจบอกกับตัวได้ว่า เค้าจ่ายเงินให้ตั้ง 20 เหรียญ “เพื่อให้เราโกหก” และก็เป็นเงินที่ได้มาง่ายๆ สบายๆ พอจะทำให้พูดปดได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรมากนัก
เธอจึงตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า การทดลองน่ะน่าเบื่อ ไม่ว่าใครจะพูดว่าอย่างไร มันก็น่าเบื่อของมันอยู่อย่างนั้นแน่นอน
ความรู้เรื่องนี้มีประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวันบ้าง
ในชีวิตจริงคุณอาจจะได้รับสถานภาพสมาชิกบัตรหรือคลับบางอย่าง ซึ่งใครๆ ก็ว่าดูดีไฮโซหรือหรูหรามาก แต่เมื่อได้เป็นสมาชิกแล้ว คุณกลับรู้สึกว่ามันธรรมด้าธรรมดา
คุณก็ต้องหลอกตัวเองว่า โอ้ย มันพิเศษเหนือชั้นจริงๆ เพื่อ ... หักล้างกับความผิดพลาดที่คุณหลวมตัวไปเสียแล้ว
แพ็กเกจท่องเที่ยวหรือบัตรลดอาหารหรูเริ่ด บางทีก็ตกอยู่ในประเภทนี้เช่นกัน
บางคนที่ขโมยของนายจ้างหรือขโมยจากที่ทำงาน ก็บอกตัวเองว่า “ใครๆ ก็ทำกัน” หรือไม่ก็ “ค่าจ้างที่ได้ถูกเกินไป”
ความผิดที่มีจึงไม่กลายเป็นเรื่องผิดบาปในใจมากจนเกินไปนัก
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจไปเลยหากคุณพบว่า นักโกงเมืองหลายๆ คนยังคงโกงเมืองอยู่อย่างขะมักเขม้น เพราะ ...
ใครๆ เค้าก็ทำกันทั้งนั้น !!!
 
บทความนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
โฆษณา