16 ส.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ราคาอาหารแพง ยังคงเป็นปัญหาในหลายประเทศ
ข่าวดีในขณะนี้ คือ ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงในหลายประเทศ เช่น
  • เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาประจำเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 8.5% ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่พุ่งไปสูงถึง 9.1%
  • เงินเฟ้อไทยในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 7.61% ลดลงจากเดือนมิถุนายนเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กดดันให้ราคาสินค้าแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหาร
ซึ่งปัจจัยหลัก ก็ยังคงหนีไม่พ้นราคาพลังงาน ที่ทำให้สถานการณ์ราคาอาหารแย่ลง
📌 สหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุด นับตั้งแต่ มีนาคม 1979
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งสหรัฐอเมริกา (Bureau of Labor Statistics)
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ชาวอเมริกันต้องเผชิญกับ ราคาอาหารและของใช้ เพิ่มสูงขึ้น 13.1%
ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1979
ถ้าเรามาดูสินค้าแต่ละชนิด ก็จะพบว่า
  • 1.
    ราคาไข่เพิ่มถึง 38%
  • 2.
    ราคาแป้งเพิ่ม 22.7%
  • 3.
    ราคาเนื้อไก่เพิ่ม 17.6%
  • 4.
    ราคานมเพิ่ม 15.6%
  • 5.
    ราคาเนื้อบดเพิ่ม 9.7%
  • 6.
    และราคาเบคอน เพิ่ม 9.2%
  • 7.
    ในขณะที่ราคาผักและผลไม้ เพิ่ม 9.3%
ปัจจัยที่ทำให้ราคาอาหารในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นมาจาก การขาดแคลนไข่ในสหรัฐอเมริกา
ภัยแล้งในบราซิล ที่ทำให้ราคากาแฟเพิ่มสูงขึ้น
รวมไปถึงสงครามในยูเครนที่ยังคงกดดันไปยังราคาธัญพืช
ความน่าหนักใจในสถานการณ์นี้ ก็คือ การที่อาหารเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีพของมนุษย์
ทำให้เราไม่สามารถหยุดการบริโภคได้ ถึงแม้ว่าราคาของสินค้าจะแพงขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ยังคงมีปัจจัยภายนอก ที่ไม่สามารถควบคุมได้ มากดดันราคาอาหารให้พุ่งสูงขึ้นอีก
จึงเป็นการยากที่เราจะรับมือ เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ในลักษณะนี้
วิกฤติพลังงานในยุโรป กำลังกระทบไปถึง ราคาอาหาร
เหล่าประเทศในทวีปยุโรป กำลังเผชิญฝันร้าย จากการขาดแคลนพลังงาน ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอื่น ๆ กันเป็นลูกโซ่
ถึงแม้ว่าราคาอาหารโลก ที่ได้ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ จะปรับตัวลดลงมาบ้างแล้ว
แต่ผู้คนก็ยังไม่สามารถวางใจได้
ผู้ผลิตอาหารในยุโรป กำลังเผชิญกับ ราคาพลังงาน ก๊าซ และ ถ่านหิน ที่สูงขึ้น
และหน้าหนาวที่กำลัจะถึงนี้ อาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง
จากความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น จนไปกดดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้น
และเมื่อต้นทุนแพงขึ้น ผู้ประกอบการต่าง ๆ ก็ต้องขึ้นราคาสินค้า ส่งผลกระทบต่อไปยังผู้บริโภค
คุณ Kona Haque หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ ของ ED & F Man กล่าวว่า
ไม่ว่าจะเป็นการคั่วกาแฟ หรือ ผลิตน้ำตาล สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลอยู่ก็คือ ต้นทุนวัตถุดิบ และ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น
ราคาวัตถุดิบ พลังงาน และ บรรจุภัณฑ์ ที่แพงขึ้น ทำให้กำไรของลดลง และกดดันให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนด้านราคาพลังงานที่ถูกกว่า
ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ภาครัฐต้องยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ
โดยสหภาพยุโรปให้เห็นพ้องในข้อตกลงที่จะใช้งบประมาณ จำนวน 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือประมาณ 3,941 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจในภาคเกษตรกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน ราคาปุ๋ย และ วัตถุดิบอื่น ๆ ที่สูงขึ้น
แต่ยังคงมีความเสี่ยง สถานการณ์ที่เลวร้ายที่อาจเป็นไปได้ คือ หากมีการขาดแคลนพลังงาน หรือ ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจทำให้ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาพลังงานในปริมาณที่สูงสำหรับการผลิตต้องปิดตัวลง และ อาจส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นตามมา
📌 ราคาอาหารและของใช้ที่สูงขึ้น อาจผลักให้ผู้คนในสหราชอาณาจักร เผชิญความยากลำบาก
สหราชอาณาจักร กำลังเผชิญกับกับเงินเฟ้อที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ราคาอาหารและของใช้ ราคาพลังงาน กำลังผลักให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
ถ้าเรามาดู ราคาสินค้าที่เราซื้อกันในชีวิตประจำวัน เช่น ไข่ไก่ หรือ นม
ค่าเฉลี่ยของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น 14.5% จากปีที่แล้ว
จากเดิมที่ค่าเฉลี่ยในการซื้อสินค้าสำหรับชีวิตประจำวันอยู่ที่ 27.92 ปอนด์ หรือ 1,200 บาท ในปีที่แล้ว
ในปีนี้ ค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่31.46 ปอนด์ หรือ 1,352 บาท
ในขณะที่เทียบกับเดือนก่อนหน้า ราคาสินค้าอาหารเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น 2.8% ในเดือนมิถุนายน
ถ้าหากเทียบสินค้า เช่น ไส้กรอก เนย นม เบคอน จะพบว่า ราคาสินค้าเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ทำให้ผู้บริโภคหลาย ๆ คน ลดการบริโภคลง หรือ หันไปซื้อสินค้าในแบรนด์ที่ราคาถูกกว่า
ราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อ กำลังไปกระทบกับการใช้จ่ายของครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ
โดย จากข้อมูลของ Asda Income Tracker พบว่า ประมาณ 20% ของครัวเรือนในสหราชอาณาจักร กำลังเผชิญกับภาวะการเงินติดขัด เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ค่าอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวัน ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง หรือ ค่าเช่าบ้าน
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา