16 ส.ค. 2022 เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม
Green Is The New Brown: Making Desert Becomes Green Nature Sources: แนวคิดทะเลทรายสีเขียว
ปัจจุบันโลกมีพื้นที่แห้งแล้งมากกว่า 40% จากการสำรวจพบว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายถึงประมาณ 2.1 พันล้านคน โดยมีอัตราการเติบโตของประชากร 18.5% ระหว่างปี ค.ศ. 2010 - 2020 ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี ค.ศ. 2070 ทำให้คนกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลกต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายทะเลทราย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ไม่ว่ากับมนุษย์หรือสัตว์
การคำนวณในปี ค.ศ. 2019 พบว่าปรากฎการณ์พื้นที่แปรสภาพเป็นทะเลทรายและที่ดินเสื่อมโทรมก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจโลกมากถึง 85 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าการขยายตัวของพื้นที่เขตทะเลทรายมีความรวดเร็วมากกว่าการคาดการณ์เดิมถึง 30 - 35 เท่า
1
เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนพื้นที่ จนอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคิดค้นวิธีเปลี่ยนทะเลทรายให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน การผลิต และการท่องเที่ยว พร้อมไปกับการนำเม็ดเงินเหล่านั้นกลับมายกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น
มีความพยายามมากมายที่ทำให้พื้นที่ในเขตทะเลทรายสามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้ ทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และวิศวกรรมการดัดแปลงสภาพภูมิอากาศ (Geoengineering) เช่น การเปลี่ยนคุณสมบัติดินทรายให้มีแร่ธาตุอาหารเพิ่มขึ้น การควบแน่นน้ำด้วยพลังงานหมุนเวียนเพื่อดึงเอาน้ำในอากาศมาใช้ การใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้ง การสร้างเมฆเพื่อทำฝนเทียมให้ฝนตก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมเหล่านี้สามารถนำไปทดลองใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนเงินทุนและความตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติเพื่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย
ยกตัวอย่างโครงการเกี่ยวกับแนวคิดนี้ เช่น 11 ประเทศในเขตซาเฮล (Sahel) ซึ่งเป็นเป็นเขตกึ่งทะเลทราย บริเวณทะเลทรายสะฮารา ซึ่งมักเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม และมีปัญหาปริมาณน้ำฝนแปรปรวน นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มสะอาด ได้ร่วมกันก่อตั้งโครงการกำแพงสีเขียวหรือ The Great Green Wall ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และยับยั้งไม่ให้เขตซาเฮลกลายเป็นทะเลทราย
ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมแนวคิดเกษตรกรรมตามภูมิอากาศ (​Climate Smart Agriculture) การอนุรักษ์ป่าไม้ ระบบพลังงานสะอาด การบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม การส่งเสริมผู้ประกอบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างงานสร้างอาชีพที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทกว่า 10 ล้านตำแหน่ง
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
1
- แนวคิดปรับพื้นที่ทะเลทรายให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว จำเป็นต้องเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และองค์กรอิสระ ที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาประยุกต์ใช้ในโครงการ จะช่วยเปลี่ยนทะเลทรายให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้สำเร็จ
- การทำทะเลทรายให้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนและช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้จากการย้ายถิ่นฐานออกครั้งใหญ่ของประชากรไปยังพื้นที่อื่น
- ผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศในเขตทะเลทรายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและวิถีชีวิตในเมืองของมนุษย์อาจนำไปสู่ความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นในวงกว้างรวมถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบและมีการทดลองในพื้นที่จำกัดก่อนเริ่มโครงการ
อ้างอิงจาก
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofSustainability #Desertification #ReversedDesert #DesertGreening #MQDC
โฆษณา