17 ส.ค. 2022 เวลา 03:54 • การเมือง
เซนส์ป๋าอ่านการเมืองขาด !! “สุรชาติ” ยกปฏิญาณรักชาติ วัดสปิริตผู้นำทหารยุคใหม่
“ยุคนายกฯ เปรม ไม่ต้องตีความ 8 ปี ต้องยอมรับว่าป๋ามีเซนส์ทางการเมืองมองขาด...มันถึงจุดอิ่มตัว !! ด้วยวลีสำคัญที่สุด...ผมพอแล้ว !! กลายเป็นตัวแบบเปรียบเทียบทั่วโลกของการเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ...มันมีนัยสำคัญกับผู้นำทหารในปัจจุบัน"
คีย์แมสเสจ “ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองแบบพันทาง…ที่เป็นระบบการเมืองครึ่ง ๆ กลาง ๆ ตัวนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง !!
ยุคป๋าเปรม “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีนิด ๆ เศรษฐกิจเติบโต การเมืองมีเสถียรภาพพอสมควร วัดจากหลักฐาน 2 ชิ้น คือ รัฐประหารปี 2524 และปี 2528 ล้มเหลว ขณะเดียวกันบทบาทคนชั้นกลางมากขึ้น
1
แง่หนึ่ง...สะท้อนความรู้สึก ความมั่นใจของสังคมว่า ในภาวะที่ป๋าอยู่นานพอสมควร การเมืองชุดใหม่น่าจะเริ่มแล้วละ พูดง่าย ๆ การเมืองไทยควรจะถอยจากการควบคุมของผู้นำทหาร คนอยากเห็นนายกฯ คนใหม่ที่ไม่ใช่นายกฯ แบบพันทาง !!
ฟากวิชาการมีพูดคุย และเห็นคล้อยกัน ซึ่งต้องให้เครดิต อ.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช - อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ - อ.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ส่วนพวกเราเป็นอาจารย์รุ่นรองลงมา ได้มีส่วนเข้าไปช่วยทำแถลงการณ์ 99 คน หรือฎีกา 99 ย้อนกลับไปคงคล้ายกับแถลงการณ์ 14 ต.ค. 2516 ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้น 99 เหมือนกัน…น่าสนใจน่ะ !??
แง่มุมนี้...ต้องยอมรับว่า ป๋าอ่านเกมการเมืองออก !! พูดง่าย ๆ รู้ลมพายุมันเริ่มแรง มันถึงจุดพลิกผันแล้วล่ะ !? ฎีกา 99 มันก็เหมือนเปิดประตู 2 ด้าน
ด้านหนึ่ง - ป๋าเอาประตูนี้เป็นทางลง ?
อีกด้าน - ป๋าเอาประตูนี้เป็นทางขึ้นต่อ ? ไม่ต้องแคร์ แต่ประตูนี้จะเปิดไปสู่การประท้วงใหญ่แน่ ๆๆๆ
ดังนั้นต้องให้เครดิตนายกฯ เปรม ที่ตัดสินใจด้วยวลีสำคัญที่สุด คือ ผมพอแล้ว !!
ตรงนี้อยากใช้คำว่า...มันเป็นสปิริตของตัวผู้นำ
“รธน.ไม่มีข้อจำกัด 8 ปี ไม่มีข้อถกเถียงหรอก แต่มันเป็นสปิริตที่ผู้นำรู้ว่าการเมืองเดินถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ป๋าตัดสินใจยุติบทบาท หรือสำนวนในยุคนั้น คือ ป๋าตัดสินใจล้างมือในอ่างทองคำ ลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม
ถ้าใช้ภาษารัฐศาสตร์ เป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยความสมัครใจของตัวผู้นำ ทำให้รอยต่อการเมืองราบรื่นที่สุด คือ การส่งไม้ต่อจากนายกฯ เปรม ไปสู่นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วเป็นการขึ้นสู่อำนาจของนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งถึงว่านานมาก
และกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่กลายเป็นตัวแบบเปรียบเทียบทั่วโลกว่า เป็นการเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติชุดหนึ่ง”
แต่สุดท้ายยุคนายกฯ ชาติชาย ไปสะดุดกับรัฐประหาร กุมภาฯ 2534 และกลับสู่วงจรแบบไทย ๆ รัฐประหารเสร็จ - ร่างรธน. – เลือกตั้งใหม่ – นำไปสู่ข้ออ้างรัฐบาลพันทาง พยายามย้อนรอยนายกฯ เปรม เอาผู้นำทหารกลับสู่ตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง
เผอิญ ๆ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยเอ่ยปากว่า...จะไม่มา !! แต่เมื่อต้องมารับตำแหน่งนายกฯ ก็ไปประกาศในกองทัพบกว่า มีความจำเป็นต้อง..."เสียสัตย์เพื่อชาติ" !!??
คำพูดนี้ คือ การราดน้ำมันบนกองเพลิงของการประท้วง และนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งผมขอเรียกเหตุการณ์นี้ว่า พฤษภา ประชาธิปไตย เพราะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างประชาธิปไตยอีกชุดหนึ่งหลังปี 2535 มาถึงวันนี้ก็ 30 ปีแล้วนะ
“อ.สุรชาติ” ย้ำหนักแน่นถึงความคิด ณ เวลานี้ว่า ตกลงคำชี้ขาดวันที่ 23 ส.ค. 2565 จะเป็นเหมือนคำพูดว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” อย่างปี 2535 หรือไม่ มันจะกลายเป็นการราดน้ำมันลงกองเพลิงอีกครั้งหนึ่ง !?
ไม่รู้ว่าเราจะเห็นอะไร !?
เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรจริง ๆ !?
มันเป็นสิ่งที่น่าคิด น่าท้าทายต่อ !?
ยิ่งบริบทการเมืองยุคนี้หนักกว่ายุคป๋า ตอนตัดสินใจพูดว่า...ผมพอแล้ว !! แปลว่าสังคมไทยวันนี้เจอวิกฤติซ้อนวิกฤติรอบด้าน หลายฝ่ายยังหวังว่า สปิริตผู้นำจะเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่ไขประตูออกไปสู่หนทางของการแก้วิกฤติในอนาคต
สิ่งที่วงวิชาการทำได้...แค่เตือนสติผู้นำ !!
แต่ถ้าวันนี้ไม่ใช้สติก็หวังจะเห็นสปิริตผู้นำทหารไทย ที่ถูกสอนเสมอว่า...ผมต้องรักชาติ
“จริง ๆ 14 ต.ค. 16 ไม่ใช่ปัญหาเดียว !! มีปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤติน้ำมัน วิกฤติน้ำตาล คนรุ่นหลังอาจนึกไม่ถึง สมัยนั้นอนุญาตให้ซื้อน้ำตาล คนละ 1 กก. ต้องเอาสำมะโนครัวมาด้วย พวกผมเป็นนิสิตปี 1 อาสาเข้าไปช่วยปั๊มนิ้วคนที่ซื้อน้ำตาลด้วยสีที่ลบไม่ออก เพื่อไม่ให้เวียนกลับมาซื้อ
แปลว่ามันไม่ใช่วิกฤติโดด ๆ ไม่ใช่นักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยเรื่องเดียว แล้วจอมพลถนอม กิตติขจร ปราบแล้วจบเลย...มันไม่ใช่แต่มันมีวิกฤติโถมเข้ามา
ส่วนยุคป๋าเปรม วิกฤติไม่ถาโถม แต่ป๋าอ่านการเมืองขาด รู้ว่าถึงจุดอิ่มตัว ลงดีกว่ามากกว่าเดินขึ้น
ผมอยากเห็นผู้นำทหารรักชาติจริง ๆ ที่ไม่ใช่รักชาติ เพื่อปิดประตูว่าฉันจะอยู่ต่อนาน ๆ อย่าให้ความรักชาติที่เคยปฏิญาณตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหารตอนเด็ก ๆ มันนำสังคมไปสู่วิกฤติขนาดใหญ่
ในบริบทสิ่งที่เห็น 23 ส.ค. คำตอบจะเป็นวิกฤติในตัวเองแน่ ๆ ผิดถูกบาปนี้จะตกที่ศาล เพราะเขาพูดมาตลอดว่าขึ้นอยู่กับศาล ตัวเจ้าของเรื่องไม่ตัดสิน ”
การตีความปม 8 ปี “บิ๊กตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตามแนวทางรัฐศาสตร์ตอบง่าย !!
ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ การตีความมันชัดด้วยตัว...คำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประกาศวันที่ 24 ส.ค. 2557 มันชัดด้วยคำสั่งทางกฎหมายที่คณะรัฐประหารทำเอง
ย้ำนะครับว่า...ไม่มีช่องให้ตีความเป็นอื่น !!!!!
ส่วนทางนิติศาสตร์ มีพื้นที่ที่เป็นช่องอยู่ เป็นการตีความแบบเขย่ง จะตีความให้จบที่ 2557, 2568, 2570 แต่คิดว่าคำตัดสิน 23 ส.ค. นี้ ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ
วันนี้ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับสปิริต และจิตใจของตัวผู้นำเองว่าจะวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตอย่างไร !?
ประวัติศาสตร์การเมืองมันมีนัยสำคัญกับผู้นำทหารในปัจจุบันว่า เมื่อเห็นอดีตแล้วรู้สึกไหมว่า...อดีตนี้มันคือบทเรียนสอนใจ !? --//--
.
WhoChillDay
17 สิงหาคม 2565
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และทักทาย WhoChillDay นะคะ
#WhoChillDay #สุรชาติ บำรุงสุข #ป๋าเปรม
#8 ปีบิ๊กตู่ #23 สิงหาคม 2565

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา