17 ส.ค. 2022 เวลา 08:11 • อาหาร
"ประเพณีกินสี่ถ้วย: ไข่กบ นกปล่อย มะลิลอย อ้ายตื้อ"
ประเพณีกินสี่ถ้วยมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ "พิธีมงคลสมรส" สืบเนื่องมาจากการจัดเตรียมอาหารเซ่นไหว้บอกกล่าวผีบรรพชนปู่ย่าตายาย และขอขมาญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตเชิงขออนุญาตก่อนหนุ่มสาวเข้าสู่พิธีวิวาห์และออกเรือนตามประเพณีเข้าตามตรอกออกตามประตู ว่ากันว่า เป็นประเพณีเก่าแก่ท้องถิ่นของชาวสุโขทัยที่นับย้อนกลับไปได้ถึงสมัยพระร่วงเจ้า
สำรับ “กินสี่ถ้วย” ประกอบด้วย ไข่กบ นกปล่อย มะลิลอย/นางลอย และอ้ายตื้อ
ลอดช่องใส่เครื่องพบได้ทั่วไปในทุกประเทศอุษาคเนย์ ได้แก่ ไทย เมียนมา สิงคโปร์ มาเลย์ อินโดฯ ติมอร์-เลสเต บรูไน ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
สัญญาประชาคม
นอกจากเครื่องเซ่นไหว้ อันได้แก่ หมากพลู บุหรี่ เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนและไก่ต้มแล้ว ในพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบรรพชนและขอขมาญาติผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย ยังประกอบด้วยขนมสำคัญที่คนในตระกูลไท-ลาวโบราณเรียกรวมกันว่า “การวักเซ่น/การเซ่นวัก” ก่อนทำพิธีผูกข้อไม้ข้อมือร่วมหอลงโลง กระทั่งพัฒนาสู่ประเพณี “กินสี่ถ้วย” ที่คนสองคนจะร่วมกันทำสัญญาขึ้นท่ามกลางสักขีพยานทั้งต่อหน้าผีและคนในการที่คนทั้งสองจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงามที่ตกทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
กินสี่ถ้วย
จากพิธีกรรมเซ่นวักและขอขมาต่อหน้าประชาคม การได้รับเชิญ "ไปกินสี่ถ้วย" จึงมีความหมายโดยนัยว่า ไปร่วมเป็นสักขีพยานในงานมงคลสมรส หรือ ไปงานแต่งงาน และร่วมกินขนมมงคล 4 อย่าง อันได้แก่
  • ไข่กบ (เมล็ดแมงลัก + น้ำกะทิ)
  • นกปล่อย (ลอดช่อง + น้ำกะทิ)
  • มะลิลอย/นางลอย (ข้าวตอก + น้ำกะทิ)
  • อ้ายตื้อ (ข้าวเหนียวดำ + น้ำกะทิ)
กินสามถ้วย
ในหนังสือ “ทุ่งมหาราช” ของ ครูมาลัย ชูพินิจ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าถ่ายทอดความเป็นท้องถิ่นไว้ได้อย่างงดงาม ปรากฏบันทึกประเพณีการแต่งงานของชาวบ้านชาวเมืองเมื่อสมัยพระร่วงเจ้าของชาวเมืองกำแพงเพชรเอาไว้ด้วย โดยกล่าวถึงประเพณีการแต่งงานแบบ “กินสามถ้วย” ซึ่งหมายถึงการเลี้ยงขนมมงคลสามอย่างหรือสี่อย่างในงานมงคลสมรส
กินถ้วยเดียว
สมชาย เดือนเพ็ญ อดีตมัคคุเทศก์ประจำอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รองปลัดเทศบาลตำบลในเมือง และผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มจังหวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย เล่าว่า ตนมีบรรพชนเป็นคนมอญ พบว่าประเพณีของมอญตกทอดอยู่ในประเพณีไทยจำนวนมาก คนมอญคนไทยเก่า ๆ แถบสุโขทัยเรียกพิธีแต่งงานว่า “กินสี่ถ้วย” มาแต่โบราณ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่ามีที่มาจากประเพณีกินลอดช่อง "ถ้วยเดียว" ในงานแต่งงานของคนมอญ กล่าวคือ
ในวันสุกดิบ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะส่งผักปลาให้บ้านเจ้าสาวสำหรับทำอาหารเลี้ยงแขกวันสุกดิบ ส่วนฝ่ายเจ้าสาวจะจัดเตรียม “โหลดโช่ง” สำหรับเลี้ยงแขกฝ่ายเจ้าบ่าวเช้าวันงาน ซึ่งจะเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวในงานเท่านั้น เนื่องจากขนมชนิดนี้มีชื่อมงคล คือ หลุดพ้นอุปสรรค ราบรื่น ปลอดภัย
เช้าตรู่ เมื่อขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวถึงบ้านเจ้าสาว บ่าวสาวทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือนฝ่ายเจ้าสาว นำพานดอกไม้และอาจมีผ้าไหว้ด้วย กราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่รับดอกไม้และผ้าไว้แล้วใส่เงินกลับลงในพาน รวมกับเงินสินสอดให้บ่าวสาวใช้เป็นทุนตั้งต้นชีวิตก่อร่างสร้างครอบครัวของทั้งคู่
จากนั้นเป็นพิธีสู่ขวัญ อาจาบะ (อาจารย์สู่ขวัญ) ทำพิธีสวดมงคลคาถา แหล่ให้ศีลให้พร รวมทั้งหลักในการปฏิบัติต่อกันเพื่อการครองเรือนที่เป็นมงคลชีวิต เสร็จแล้วเป็นพิธีรดน้ำ อันเป็นที่มาของคำเรียกพิธีแต่งงานของมอญว่า “ปะแหมะเหง่อท่อปตัว” (พิธีมงคลซ้อนมือ) โดยเจ้าบ่าววางมือทั้งสองของตนซ้อนบนมือทั้งสองของเจ้าสาว และผู้ที่ทำหน้าที่รดน้ำบนมือบ่าวสาวมีเพียงพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายรวม 4 คนเท่านั้น
ที่มาของขนมมงคลสี่ถ้วย
1
"ไข่กบ"
1
คือ เมล็ดแมงลัก เตรียมง่ายที่สุด เพียงแค่นำเมล็ดแมงลักแห้งใส่ลงในน้ำสะอาด เพียงชั่วอึดใจ เมล็ดแมงลักจะดูดซับน้ำเข้าไว้จนพองตัว เกิดเป็นวุ้นสีขาวครามหุ้มอยู่รอบเมล็ดสีดำจนดูเหมือนไข่กบก่อนที่จะพัฒนาเป็นลูกอ๊อดและเติบโตเป็นกบตัวเต็มวัยในเวลาต่อมา
2
"นกปล่อย"
คือ ลอดช่อง ใช้เวลาเตรียมซับซ้อนที่สุดในบรรดาสี่ถ้วย ทำจากแป้งข้าวเจ้า และอาจผสมแป้งมันสำปะหลัง หรือแป้งถั่วเขียวเพื่อความหยุ่นนุ่ม ผสมน้ำปูนใส หากต้องการกลิ่มหอมและสีเขียวสวยก็ใส่น้ำใบเตยด้วย กวนบนเตาไฟจนสุกข้น เทใส่แม่พิมพ์เจาะรูซึ่งวางเหนือภาชนะใส่น้ำเย็น เพื่อให้เส้นแป้งที่ตกจากแม่พิมพ์อยู่ตัวทันทีเมื่อสัมผัสน้ำเย็น ลักษณาการที่เส้นแป้งตกจากพิมพ์จึงมองดูคล้ายสิ่งซึ่ง "นกปล่อย" ขณะบินอยู่บนท้องฟ้า
2
"มะลิลอย"
คือ ข้าวตอก ใช้เวลาเตรียมมากกว่าไข่กบเล็กน้อย เพียงนำกระทะตั้งไฟ นำข้าวเปลือกใส่ลงไปคั่ว โดยไม่ต้องใช้น้ำมันแต่อย่างใด ความร้อนจะทำให้เมล็ดข้าวข้างในระเบิดออกจากเปลือก รูปทรงเมล็ดข้าวแตกออกเป็นแฉก ๆ ประกอบกับลักษณะข้าวตอกซึ่งมีสีขาว เบานุ่ม และลอยน้ำจึงเทียบได้กับดอกมะลิสีขาวที่คนโบราณนิยมนำมาลอยในขันน้ำเพื่อให้น้ำดื่มมีกลิ่นหอมมะลิชื่นใจ
"อ้ายตื้อ"
คือ ข้าวเหนียวดำ ใช้เวลาเตรียมมากรองลงมาจากลอดช่อง ด้วยการนึ่งข้าวเหนียวสุก มูนด้วยน้ำกะทิ ข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของคนไท-ลาวโบราณ ปัจจุบันคนไทยกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ข้าวเหนียวจึงกลายเป็นขนมหวานนาน ๆ กินที และเนื่องจากข้าวเจ้าเบากว่า เมื่อกินข้าวเหนียวซึ่งมีความแน่น ทำให้รู้สึกอิ่มง่ายและหนักกว่ากินข้าวเจ้า เรียกอาการนี้ว่า อิ่มตื้อ
สามองค์ประกอบของขนมหวานดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ได้แก่ แป้งข้าวเจ้า (หรือข้าวเหนียว) มะพร้าว (กะทิ) และน้ำตาล
สำรับขนมมงคล “กินสี่ถ้วย” ในพิธีมงคลสมรสของคนไทยโบราณ
น้ำเสียง “กินสี่ถ้วย” ไม่ต่างจาก “กินดอง” ของคนถิ่นไท-ลาว “กินเหนียว” ของคนใต้-มลายู การกินบัวลอยน้ำขิงของคนเวียดนาม และการยกน้ำชาของคนจีนในในงานมงคลสมรส ทั้งหมดนี้ เป็นดั่งคำมั่นสัญญาว่า นับจากนี้เป็นไป ทุกการกินการอยู่ล้วนอุดมสมบูรณ์
ด้วยไม่มีสุขใดเท่าการมีกิน และอิ่มเต็ม อย่างที่คนไทใหญ่ไทลื้อในแคว้นสิบสองปันนามักจะทักทายกันว่า “อยู่ดีกินหวาน” ที่กินความลึกซึ้งมากกว่าการมีกินธรรมดา นั่นคือ การอยู่ดีมีสุข ปราศจากเรื่องเศร้าหมอง และไร้โรคาพยาธิเบียดเบียน แน่นอนว่า คนสุขภาพดีกินอะไรก็ย่อมถึงความอร่อย
โฆษณา