19 ส.ค. 2022 เวลา 11:30 • ประวัติศาสตร์
ว่ากันตามตรง ถ้ามองในมุมของวิวัฒนาการ การเป็นประจำเดือนถือเป็นเรื่องที่แปลก
เพราะการมีเลือดไหลออกจากตัวทุกเดือน ทั้งยังอ่อนเพลีย ในโลกเมื่อแสนปีที่แล้วที่มีทั้งสิงโต หมาป่า และไฮยีนา ถือเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะเรียกแขกหน้าโหดเข้ามาทำร้าย แถมแร่ธาตุดีๆ ในเลือด ก็ยังต้องเสียไปแบบไม่เกิดประโยชน์
1
แต่ลองมองดูสิครับ ทุกวันนี้การเป็นประจำเดือนก็ยังอยู่ และไม่ใช่แค่ในมนุษย์ แต่ทั้งลิง เอป และหนูชรู (shrew) ต่างก็มีพฤติกรรมเรียกแขกแบบนี้ไม่ต่างกัน คำถามคือทำไม?
1
แน่นอนว่าประจำเดือนคงต้องมีประโยชน์อะไรสักอย่าง แล้วประโยชน์ที่ว่านั้นคืออะไร? WDYMean จะเล่าให้ฟัง
1
โดยปกติแล้วการมองในมุมของวิวัฒนาการ จะเป็นการมองแบบ cost-benefit หรือ ต้นทุนต่อความคุ้มค่าเสมอ
กล่าวคือถ้าสิ่งๆ นั้นมีต้นทุนที่สูง ความคุ้มค่าที่ได้ย่อมต้องสูงกว่า และเพื่อไปหาความคุ้มค่าของประจำเดือน เราจะเริ่มต้นเรื่องนี้กันที่ "รก" ของเด็กในครรภ์
2
หลังจากที่อสุจิ ได้มาเจอกับไข่ด้วยวิธีการบางอย่าง ไม่นานก็จะเริ่มรวมร่างกันเป็นไซโกต แบ่งเซลล์ เปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มบริโอและเดินทางมาฝังตัวที่ผนังมดลูก
ที่ผนังมดลูก ตอนนี้หน้าตาของเอ็มบริโอจะเริ่มคล้ายกับลูกโป่งที่มีลูกปิงปองเล็กๆอยู่ด้านใน เมื่อมุดผ่านผนังเข้าไป ชั้นผนังมดลูกของแม่ก็จะหุ้มเจ้าก้อนกลมๆ นี้เอาไว้ ลูกปิงปองด้านในจะกลายเป็นว่าที่ทารก ผิวลูกโป่งจะเริ่มกรุยทาง ขุดคลอง เพื่อดึงเลือดจากแม่เข้ามา เมื่อทำทางสำเร็จ เกาะยึดใช้ได้ รกก็เกิดที่ตรงนั้น
1
รก
รกคืออวัยวะพิเศษที่อยู่นอกร่างกาย ถ้าถามว่ารกทำหน้าที่อะไร ตลอด 36 สัปดาห์ รกทำหน้าที่ "เป็นทุกอย่าง" ตอนโตเราใช้ไตฟอกเลือด ปอดฟอกอากาศ ตับฟอกสารพิษ รกคือทั้งหมดนั้นรวมกัน
1
ในสัตว์ทั่วๆ ไปอย่างสุนัข แมว หรือกระต่าย รกของสัตว์เหล่านี้ก็ทำงานคล้ายๆ กับของเรา คือคอยขับของเสียและเลี้ยงดูตัวอ่อนให้อยู่รอด แต่จะต่างกันเล็กน้อยก็ตรงที่รกของพวกมันจะไม่ค่อยมุดสักเท่าไหร่ และเจ้ารกมุดนี่แหละครับ คือเหตุผลที่จะทำให้ผู้หญิงต้องเป็นประจำเดือน
1
รกมุด(ภาษาผม) หรือชื่อจริงๆ ก็คือ Invasive placenta คำหลังแปลว่ารก คำหน้าแปลว่าบุกรุก(ขอเรียกมุดแล้วกัน)
Invasive placenta คือการที่ผิวลูกโป่ง ซึ่งจะเจริญไปเป็นรก พาเอาลูกปิงปองที่จะเจริญไปเป็นตัวอ่อน มุดผ่านผนังมดลูกเข้าไปจนเกือบจะถึงชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งก็คือเข้าไปลึกมากๆ ในสัตว์อย่างแมวหรือกระต่าย รกของพวกมันก็จะมุดแค่ผนังชั้นนอก บางทีก็ผิวๆ แต่ไม่ลึกเท่าของเรา
1
ซึ่งเหตุผลที่มุดลึก จะลึกมากลึกน้อยก็เพราะมันมีข้อดีครับ คือยิ่งมุดลึกเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยู่ใกล้เส้นเลือดที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น แล้วในเส้นเลือดใหญ่มีแต่สารอาหารและของดีเต็มไปหมด ถ้ารกมุดเข้าไปได้ ยังไงตัวอ่อนก็อยู่รอด
1
ส่วนข้อเสียของเรื่องนี้มีอย่างเดียว นั่นคือความเสี่ยง และความเสี่ยงนี้เอง ที่เป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด
1
กรณีด้านบนที่เราพูดถึง คือการที่ตัวอ่อนมุดเข้าไปได้และอยู่รอด ทีนี้ลองมาคิดกลับกันว่า แล้วถ้าไม่รอดล่ะจะเกิดอะไรขึ้น?
ไม่ว่าจะด้วยปัญหาสุขภาพของแม่ โครโมโซมผิดรูป ติดเชื้อหัด หรืออะไรก็ตามที่ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง ไม่มีผลลัพธ์แบบไหนเลยที่จะทำให้แม่ ไม่เป็นอันตราย
ด้วยความที่รกของตัวอ่อน มุดเข้ามาลึกจนเกินไป การเน่าหรือติดเชื้อจะทำให้ของเสียจากรกวิ่งเข้ากระแสเลือดแม่ในทันที ถ้าเป็นสัตว์อื่นเช่นกระต่าย ที่รกของลูกเกาะแค่ชั้นผิวๆ สิ่งที่ต้องทำก็แค่ขับทิ้งไปหรือบางทีก็กลืนลูกตัวเอง
แต่ในคนเราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่ตัวอ่อนเข้ามาลึกมากๆ แล้วตาย มดลูกเรามักจะขับทิ้งไม่หมด คือขับตัวอ่อนออกได้ แต่รกและถุงน้ำคร่ำไม่ออกมาด้วย
1
ถ้าเป็นแบบนี้เลือดของแม่ก็จะไหลผ่านรกเหมือนก็อกน้ำที่เปิดทิ้งไว้ ผลคือแม่ก็จะเสียเลือดมากและเสียชีวิตในที่สุด
1
เมื่อขับทิ้งไม่ได้ เอาไว้ก็ไม่รอด ร่างกายจึงต้องมีกลไกอะไรสักอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนี้ สถานการณ์ที่ตัวอ่อนจะตาย
1
ซึ่งถ้าลองไปเช็คสถิติการแท้ง ส่วนใหญ่แล้วกว่าครึ่งมาจากโครโมโซมของตัวอ่อนที่ผิดรูป พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ก็เพราะตัวอ่อนเองนั่นแหละที่ไม่ดี ถ้าตัวอ่อนแข็งแรงดี การแท้งก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
1
คำถามคือ แล้วร่างกายเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวอ่อนที่จะมาฝังตัว ตัวไหนดีหรือไม่ดี? คำตอบคือ มันก็ต้องมีด่านทดสอบ
1
ชั้นเอนโดมีเทรียม
หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมานับล้านปี ร่างกายเราพบวิธีสร้างด่านทดสอบเพื่อมาแก้ปัญหาที่ว่านั้น นั่นคือการสร้างชั้นเอนโดมีเทรียม ไว้นอกสุดของผนังมดลูก
1
เอนโดมีเทรียม (endometrium) คือเยื่อบุหนาๆ ที่มีทั้งเซลล์กล้ามเนื้อและหลอดเลือดมารวมกัน โดยหน้าที่รองของเจ้าเยื่อนี้คือรองรับตัวอ่อน ส่วนหน้าที่หลักคือขัดขวางการฝังตัว
ดูย้อนแย้งไหมครับ?
ที่บอกขัดขวาง เพราะด้วยผิวของเยื่อบุนี้ที่ค่อนข้างจะเรียบลื่น จึงยากที่ตัวอ่อนจะยึดเกาะได้ ทีนี้ตัวอ่อนที่อ่อนแอ เกาะไม่ติด ก็จะหลุดลอยไป มีแต่ตัวที่รกเจ๋งๆ มุดเก่งๆ เท่านั้นที่จะอยู่รอด และรกที่มุดเก่ง ก็พอจะบอกได้แล้วว่าพันธุกรรมต้องดีประมาณหนึ่ง เป็นการยืนยันไม่ผิดตัวว่า "นี่จะเป็นตัวอ่อนที่ดีนะ"
3
พอมั่นใจว่าเป็นตัวอ่อนที่ดี มดลูกของแม่ก็จะมอบรางวัลเป็นที่นอนนุ่มๆ มีเลือด มีสารอาหารเลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมง คอยรองรับอย่างดีให้พร้อมกับว่าที่เด็กน้อยในอนาคต
ทีนี้กลับกัน ถ้าแม่สร้างด่านทดสอบ แต่ตัวอ่อนไม่มาล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?
1
คำตอบคือ มดลูกของแม่จะต้องขับเจ้าด่านนี้ทิ้งไป เหตุผลเพราะด่านทดสอบที่ว่านี้ใช้พลังงานสูงมาก ต้องใช้เลือด ใช้สารอาหารมาเลี้ยงเพื่อคงไว้
1
เปรียบเทียบเหมือนเรามีร้านตัดผม ถ้าเราอยากได้ลูกค้า แต่จะให้เปิดร้านรอทั้งวันทั้งคืน ทั้งปีเลยก็คงไม่ไหว สู้เปิดเป็นวันต่อวันจะประหยัดแรงกว่ามาก เช่นเดียวกันกับเยื่อนี้ การขับทิ้งและสร้างเป็นเดือนต่อเดือนดูจะมีประโยชน์มากกว่า
และเมื่อเยื่อบุนี้ถูกขับออก กลายเป็นของเหลวสีแดงที่ไหลลงชักโครกทุกเดือน เราเลยรู้จักมันในชื่อของ "ประจำเดือน" นั่นเอง
เหตุผลที่ผู้หญิงเป็นประจำเดือน ก็เพราะรกของตัวอ่อนเราเป็นประเภทรกมุด หรือ Invasive placenta
1
ข้อได้เปรียบของรกประเภทนี้ คือตัวอ่อนจะอยู่ลึก และอยู่ใกล้สารอาหาร ทำให้ตัวอ่อนมีพลังงานมากพอที่จะสร้างสมองที่ทรงพลังขนาดนี้ได้ แต่แน่นอนว่ามันก็ตามมาด้วยความเสี่ยง
1
เสี่ยงที่ถ้าตัวอ่อนตัวนั้นไม่ดีหรือตายไป ข้าวปลาที่เคยเลี้ยงก็จะเสียไปแบบเปล่าประโยชน์ ส่วนแม่ก็จะได้รับผลกระทบเต็มๆ คืออาจจะแท้ง เลือดตกใน จนถึงขั้นเสียชีวิต ร่างกายแม่จึงต้องหาวิธีทดสอบว่าตัวอ่อนที่จะมาฝังนั้นแข็งแรงดีหรือไม่ ธรรมชาติจึงให้ทางแก้มาเป็นการสร้างเยื่อบุหนาๆ ไว้รอบๆ ผนังมดลูก
1
เยื่อบุหนาๆ นี้จะทำให้การฝังตัวนั้นยากขึ้น แต่ข้อดีคือจะเป็นการคัดตัวอ่อนที่ไม่ดีออกไป เมื่อเหลือแต่ตัวอ่อนที่ดี โอกาสรอดสูง ลูกน้อยก็จะคลอดออกมาได้ และเริ่มนับหนึ่งในการสืบทอดวงศ์ตระกูล
แต่ถ้าไม่มีการฝังตัว ก็จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องขับเจ้าเยื่อบุนี้ออกไป เพราะการคงไว้ใช้พลังงานมหาศาล และการขับออกนี้เองคือสิ่งที่เราเรียกว่าประจำเดือน
1
การเป็นประจำเดือน มองมุมนอก อาจจะทำให้ดูเสียเปรียบผู้ล่า เพราะทั้งอ่อนล้าและอ่อนเพลีย
แต่เชื่อเถอะว่าถ้าไม่มีประจำเดือน ไม่มีการผลัดใบ ไม่มีการสร้างใหม่ ไม่มีด่านทดสอบ ตัวอ่อนที่ได้ก็จะไม่มีคุณภาพ อ่อนแอ ปวกเปียก และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เรา ก็คงไม่มีทางอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้
2
#WDYMean
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของรก เยื่อบุมดลูก และคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมผู้หญิงถึงเป็นประจำเดือน
1
หวังว่าทุกคนจะได้อะไรดีๆ กลับไปไม่มากก็น้อยนะครับ
ขอบคุณที่อ่านบทความนี้จนจบครับ
#อ้างอิงจาก
ทำไมผู้หญิงถึงเป็นประจำเดือน?
สงครามระหว่างรกกับมารดา
วีดีโอสั้นๆ จาก TED-Ed
วิวัฒนาการรกมุด
เกิดอะไรขึ้นระหว่างการฝังตัว?
โฆษณา