20 ส.ค. 2022 เวลา 06:41 • อาหาร
“เค้กปลาช่อน: ข้อถกเถียงเรื่องของหวานที่มีส่วนผสมของของคาว”
1
ได้ยินชื่อเค้กปลาช่อนแม่ลาสิงห์บุรี 20 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย เคยผ่านสิงห์บุรีกี่รอบจำไม่ไหว แต่ไม่เคยแวะซื้อ ไม่เคยมีใครซื้อมาฝาก และยังไม่เคยคิดว่าต้องพยายามดิ้นรนแสวงหามากิน จึงยังไม่เคยกิน ในรถเที่ยวกลับจากอุทัยธานีเมื่อวานมีคนสวมวิญญาณนักทดลองอยู่สามคนที่แม้จะมีประเด็นถกเถียงเรื่อง “คาว” หรือ “ไม่คาว” แต่ที่สุดเราก็แวะซื้อมันมาวิจัยด้วยลิ้นของพวกเราเอง
เค้กปลาช่อนราดซอสสับปะรดหวานซ่อนเปรี้ยวที่บรรจุมาคู่กันในกล่อง
เพราะอะไรจึงมีคนคิดนำเอาวัตถุดิบที่คนทั่วไปใช้ทำของคาวมาทำของหวาน มีใครทำมาก่อนแล้วหรือยัง? และไม่กลัวคาวหรือ?
เรื่องนี้มีสตอรี่พอสมควรเลยครับ ว่ากันว่า แต่ไหนแต่ไรมาคนสิงห์บุรีเขาภูมิใจใน ปลาช่อน วัตถุดิบทำอาหารคุณภาพดีและมีชุกชุมมอยู่ในลำน้ำแม่ลา จนปลาช่อนกลายเป็นของดีสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมานานแล้ว
จน พ.ศ. 2539 นายวิพัฒน์ คงมาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีเวลานั้น กำหนดให้ทางจังหวัดจัดงาน "เทศกาลกินปลาและงานกาชาด" ขึ้น และให้ถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดมาตั้งแต่นั้น ในการจัดงานปีแรกทางจังหวัดได้เชิญชวนให้คนสิงห์บุรีส่งผลงานการแปรรูปอาหารจากของดีของจังหวัดเข้าร่วมการประกวด และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากเวทีประกวดครั้งนี้ คือ “เค้กปลาช่อน” ผลงานการสร้างสรรค์ของร้าน "เกษรา เบเกอรี่"
Timeline “เกษรา เบเกอรี่"
พ.ศ. 2529 นางเกษรา และ นายสุพจน์ ประสงค์สุขสันต์ เริ่มต้นกิจการขายขนมปังรถเข็นขนาดเล็กในตลาดสดเมืองสิงห์ จากเงินลงทุน 130 บาท ด้วยคุณภาพและความอร่อยของขนมปัง แรงสนับสนุนจากลูกค้า และความมุ่งมั่นพยายาม ส่งผลให้กิจการขนมปังของเกษราและสุพจน์โตวันโตคืน
พ.ศ. 2536 ขนมปังรถเข็นกลายเป็น "ร้านเกษรา เบเกอรี่” สาขาแรกบนถนนนายจันหนวดเขี้ยว อำเภอเมืองสิงห์บุรี ชื่อเสียงของขนมปังและขนมเค้กเนยสดได้รับการบอกต่อ ทางร้านได้แตกยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นหลากหลาย รวมทั้งขยายสาขามายังถนนสายเอเชีย ตรงข้ามวิทยาลัยเกษตรสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี
ร้านเกษณา เบเกอรี่ ริมถนนสายเอเชีย
พ.ศ. 2539 เค้กปลาช่อน ได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากการส่งเข้าประกวดเพื่อร่วมกิจกรรมกับทางจังหวัด ตามด้วยเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์งานจังหวัด โดยการทำเค้กปลาช่อนยาว 5 เมตร จัดแสดงเป็นไฮไลท์ในพิธีเปิดงาน แต่ปรากฏว่าได้กระแสตอบรับดี ทางร้านจึงผลิตจำหน่ายหน้าร้าน พร้อมทั้งยังต่อยอดนำเนื้อปลาช่อนประยุกต์เข้ากับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ไอศกรีมกะทิสดเนื้อปลาช่อน ทองม้วนเนื้อปลาช่อน ขนมเปี๊ยะก้างปลาช่อน เนื้อปลาช่อนทุบ และกวนเชียงปลาช่อนเห็ดหอม เป็นต้น
ขนมเค้กปลาช่อนสินค้าขายดีของร้านเกษรา เบเกอรี่
ความคาดหวังก่อนกินเค้กปลาช่อน
  • ไม่มีกลิ่นคาว
  • มีเนื้อปลาช่อนเป็นเท็กซ์เจอร์เคี้ยวสู้ลิ้น
ผลการทดลองกินเค้กปลาช่อนที่มีข้อความระบุข้างกล้องแบบเน้น ๆ ว่า “มีส่วนผสมของเนื้อปลาช่อน” มีทั้งถูกและผิดไปจากความคาดหวัง คือ ข้อแรกเป็นไปตามความคาดหวัง เพราะไม่รู้สึกว่าคาวแต่อย่างใด แต่ไม่เป็นไปตามข้อ 2 คือ ไม่มีเนื้อปลาเป็นเท็กซ์เจอร์กระทบฟันกระแทกลิ้น ดังนั้นหากไม่บอกว่าเป็นเค้กปลาช่อนก็แทบไม่มีทางรู้ได้เลย
โดยเฉพาะความคาดหวังในข้อแรกนั้นเชื่อโดยสุจริตว่า เป็นวิถีปกติธรรมดาที่คนจะใช้วัตุดิบชนิดหนึ่งชนิดใดปรุงอาหารได้ทั้งหวานและคาว โดยเฉพาะคนที่มีความช่ำชองในการใช้วัตถุดิบและทักษะการใช้เครื่องเทศ ย่อมสามารถจัดการกับความคาวและชูรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของวัตถุดิบได้ดี
เค้กปลาช่อนที่นำออกจากกล่องยังไม่ทันราดซอสสับปะรดรสหวานซ่อนเปรี้ยว
น่าเชื่อว่า มนุษย์คุ้นเคยวัตถุดิบที่ปรุงอาหารได้ทั้งหวานและคาว รวมทั้งคนไทยซึ่งนิยมอาหารเช่นที่ว่าหลายเมนู เช่น ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง ข้าวเหนียวหน้าปลา ปลาแห้งแตงโม เค้กปลาทู พายปลาทู กะหรี่ปั๊บ และน้ำปลาหวาน ไม่นับรวมอาหารว่างเชิงของคาวอย่าง ล่าเตียง ช่อม่วง สาคูไส้หมู และขนมฝรั่งที่ต้องใช้ไข่เป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างขนมเค้ก ทาร์ต พาย มิลเฟย เอแคลร์ และมาการอง จะว่าไป ความกลัวคาวจึงน่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ไม่เคยคุ้นมากกว่าอย่างอื่น
1
โฆษณา