21 ส.ค. 2022 เวลา 05:58 • ประวัติศาสตร์
พระศรีทรงยศ เจ๊สัวผู้ก่อตั้งตลาดอิสรานุภาพ
เมื่อคุณเดินผ่านโลตัส สาขาเยาวราช คุณจะเห็นศาลเจ้าจีน ภายในตั้งรูปปั้นชายชาวจีนไม่สวมเสื้อ มีป้ายจารึกว่า พระศรีทรงยศ (เจ๊สัวเนียม) แล้วเจ๊สัวเนียมเป็นใคร? คำว่าเจ๊สัวมาจากไหน? มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับตลาดอิสรานุภาพ (ซอยเยาวราช 6)
ศาลพระศรีทรงยศ (เจ๊สัวเนียม)
คำว่า เจ๊สัว หรือ เจ้าสัว มีที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ว่า “จ่อซัว” 座山 แปลว่า ผู้นั่งอยู่บนภูเขาอันหมายถึงเศรษฐีเชื้อสายจีน เมื่อมาถึงประเทศไทย จึงเพี้ยนเป็น เจ๊สัว หรือ เจ้าสัว
เจ๊สัวเนียม เป็นชาวจีนแซ่เตีย มีบรรพชนทำอาชีพปลูกผักอยู่บริเวณท่าราชวรดิฐ ต่อมาได้ย้ายลงมาแถวสำเพ็งเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในปี ค.ศ.1782 จีนเนียได้ทุนจากการปลูกผักนำไปปล่อยเงินกู้ให้กับชาวจีนที่อพยพเข้ามาใหม่เพื่อเป็นทุนทรัพย์ในการหาเลี้ยงชีพ ต่อมาได้ประสานงานกับทางการในการผูกอากรนำเข้าเบี้ยจากประเทศจีน ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระศรีทรงยศ”
พระศรีทรงยศ (เนียม)
พระศรีทรงยศเมื่อมีฐานะมั่นคง ได้ซื้อที่ดินหลังตลาดเก่า(ตรอกโรงโคมและซอยเยาวราช 11) ทำเป็นตลาดสดที่ทางเดินผ่ากลางขนานคลองทิ้งสิ่งปฏิกูลที่คนสมัยนั้นเรียกกันว่า “คลองเว็จขี้” (ถนนมังกรในปัจจุบัน)
พระศรีทรงยศแต่งงานกับอำแดงทองดี มีบุตร 2 คน ธิดา 5 คน “นิ่ม” หนึ่งในธิดาได้แต่งงานกับพระยาอิสรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) อธิบดีกรมมหาดไทยในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อพระศรีทรงยศถึงแก่กรรม ได้มอบทรัพย์สินที่เป็นตลาดให้กับคุณหญิงนิ่ม เพราะพระศรีทรงยศเติบโตและร่ำรวยบนแผ่นดินสยาม จึงให้ธิดาเป็นผู้รักษาที่ดิน ส่วนบุตรนั้นมีโอกาสออกไปทำงานตั้งตนในที่ห่างไกลมากกว่า
พระยาอิสรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) ที่มา: http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang012.html
ตลาดที่พระศรีทรงยศมอบให้คุณหญิงนิ่มและพระยาอิสรานุภาพได้พัฒนาเป็นตลาดที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร เรียกว่า ตลาดอิสรานุภาพ ส่วนทางเดินผ่ากลางตลาดเรียกกันว่า ตรอกอิสรานุภาพ (ซอยเยาวราช 6) ตลาดแห่งนี้มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งรวมเครื่องเทศ อาหารแห้ง ผลจีน และอาหารจีนสำหรับงานเทศกาลต่างๆ
ตลาดอิสรานุภาพ หรือ ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ภาพจาก www.wikiwand.com/th/ถนนเยาวราช
และเมื่อกิจการตลาดเติบโตขึ้น จึงได้สร้างอาคารพิชัยญาติ ตามชื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) บิดาพระยาอิสรานุภาพ และมีการสร้างศาลพระศรีทรงยศ (เนียม) หน้าทางเข้าเพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษผู้บุกเบิกที่ดินแห่งนี้จนกลายเป็นทำเลทองแห่งหนึ่งในย่านเยาวราช
อาคารพิชัยญาติ ภาพจาก https://www.facebook.com/pichaiyardbuilding
ที่มา
- ญาณิณ ธัญกิจจานุกิจ, เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร. การเปลี่ยนสัณฐานย่านสำเพ็ง กรณีศึกษาตรอกอิสรานุภาพ. สาระศาสตร์ฉบับที่ 2/2564
โฆษณา