Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พุทธศิลป์มงคล
•
ติดตาม
26 ส.ค. 2022 เวลา 08:30 • ประวัติศาสตร์
ตำนานพญานาค
นาค หรือ พญานาค งูใหญ่มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล
นาคเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ บางแห่งก็ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้า ตำนานความเชื่อเรืองพญานาคมีความเก่าแก่มาก ดูท่าว่าจะเก่ากว่าพุทธศาสนาอีกด้วย สืบค้นได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ด้วยเหตุจากภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าเขาจึงทำให้มีงูอยู่ชุกชุม และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพคือมีพิษร้ายแรง งูจึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองู
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ และเมื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำโขงควรยกมือไหว้เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐานคือพญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี7สี
และที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียณสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม
ความเชื่อเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติ
พญานาค หรือ งูใหญ่มีหงอน ในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย ตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ ชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์
พญานาค งูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และ บันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราจะพบเห็น เป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่างๆบันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนา ภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมาย
พญานาคแปลงกายได้ ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไรก็ได้ แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อนๆ กัน ชั้นสูงๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้นๆ
จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี
ความเชื่อเกี่ยวพันกับชีวิต น้ำ ธรรมชาติ
พญานาค เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ "นาคให้น้ำ" เป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านรู้และเข้าใจดี ที่ใช้วัดในแต่ละปี จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคเกี่ยงกันให้น้ำ แต่ละตัวจึงกลืนน้ำไว้ในท้องไม่ยอมพ่นน้ำลงมา
เกี่ยวข้องกับคนไทย
เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่างๆ หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถานบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง เช่น นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได นาคลำยอง ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลอง และนาคทันต์ คันทวยรูปพญานาค
พญานาคกับตำนานในพระพุทธศาสนา
ตามตำนาน พญานาค มีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ดังเช่น หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคชื่อ "มุจลินท์" เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า
เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา
#P_JOB_PROFESSIONAL ◀️◀️ สามารถกดเช็คเครดิตได้ที่นี่.. 🙏🙏
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
ไทย
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย