26 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Seoul Vibe : มรดกทางเศรษฐกิจจากโอลิมปิกกรุงโซลปี 1988
Seoul Vibe ที่เพิ่งออนแอร์ทาง Netflix ในวันนี้ เป็นหนังที่จะพาทุกคนย้อนกลับไปในปี 1988 ช่วงที่เกาหลีใต้กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกครั้งยิ่งใหญ่
ปี 1988 ถือได้ว่าเป็นปีที่มีความหมายสำหรับชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก และโอลิมปิกครั้งนั้นก็เป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เกาหลี จึงทำให้ปี 1988 มักจะถูกพูดถึงอยู่ในหนัง หรือซีรีส์อยู่หลายครั้ง
อาจกล่าวได้ว่าช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านมากมาย ทำให้เมื่อมีหนังหรือซีรีส์ที่มีฉากหลังอยู่ในยุค 80 จึงเชื่อมโยงคนในปัจจุบันให้หวนคิดถึงอดีตและอินไปกับเนื้อเรื่องได้อย่างง่ายดาย
ในบทความนี้ เราจะมาเล่าย้อนกลับไปในปี 1988 ว่าการจัดโอลิมปิกในครั้งนั้นมีความหมายต่อเกาหลีใต้อย่างไร ถึงได้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์เกาหลีไปตลอดกาล
📌 หนทางอันยาวไกลสู่โอลิมปิกกรุงโซลปี 1988
หลังจากหน้าประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ของเกาหลี เต็มไปด้วยเรื่องราวความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นการตกอยู่ภายใต้อาณานิคม การแบ่งแยกดินแดนสงครามกลางเมือง ถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างยาวนาน
ดังนั้นการมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกจึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่เกาหลีใต้จะได้ส่งผ่านวัฒนธรรมความเป็นเกาหลีออกไปให้ทั่วโลกได้เห็น และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมา
1
นับตั้งแต่ถูกแบ่งแยกดินแดน เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือก็แข่งขันกันมาตลอดไม่ว่าจะเป็นทางด้านกองกำลังทหาร การทูต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการการยอมรับและการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ
การเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกปี 1988 จึงเป็นงานที่เกาหลีใต้คาดหวังไว้ว่าจะช่วยให้เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด และก่อให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้มากขึ้นในเวทีโลก
📌 ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากับการลงทุน
แน่นอนว่าการจัดงานโอลิมปิกเป็นงานใหญ่ที่มีต้นทุนการจัดงานค่อนข้างสูง อย่างการจัดโอลิมปิกที่มอนทรีออล ในปี 1976 ก็ก่อให้เกิดหนี้สินสูงกว่าผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับอยู่มาก เนื่องจากส่วนใหญ่หลายๆ ประเทศมักจะมองโลกในแง่ดีและคาดการณ์ผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าที่ควรจะเป็น
จึงยอมทุ่มงบประมาณมหาศาลทำให้ท้ายที่สุดประชาชนต้องแบกรับภาษีอย่างหนัก
ในตอนนั้นเกาหลีใต้ใช้เงินลงทุนไปกับการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับโอลิมปิกกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินลงทุนมาจาก 3 ส่วน คือ จากรัฐบาลกลาง, เมือง, และภาคเอกชน
ช่วงเวลานั้นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีรถไฟใต้ดินเกิดขึ้นใหม่ 3 สาย, มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ, ถนนหนทางในโซลถูกปรับปรุงให้มีความสวยงาม, มีการรีโนเวทและขยายพื้นที่สวนต่างๆ รอบเมือง รวมถึงมีการทำความสะอาดแม่น้ำฮันครั้งใหญ่ และสิ่งเหล่านี้เองที่กลายเป็นรากฐานในการพัฒนาพื้นที่กรุงโซลในปัจจุบัน
ในช่วงเวลาที่จัดงานโอลิมปิก เกิดการผลิตและการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เติบโตก็มาเติบโตขึ้นจริงๆ ในปีถัดจากที่มีการจัดงานโอลิมปิก
ในขณะเดียวกัน ภาคโทรคมนาคมก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างการเชื่อมต่อกันอย่างลงตัวระหว่างระบบคอมพิวเตอร์และระบบติดต่อสื่อสาร เพื่อเอาไว้ใช้บอกผลการแข่งหรือข้อมูลต่างๆ
1
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ จนกระทั่งในปี 1988 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมหลักในการส่งออกของเกาหลีใต้แทนที่อุตสาหกรรมสิ่งทอ
ทำให้ช่วงปี 1986 - 1988 เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตโดยเฉลี่ยปีละกว่า 10% ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดเลยก็ว่าได้
📌 มรดกจากโอลิมปิกปี 1988…ประตูสู่เสรีและประชาธิปไตย
ถ้าย้อนกลับไปในช่วงก่อนทศวรรษ 1980 ทั่วโลกยังไม่ค่อยรู้จักเกาหลีใต้มากนัก และภาพจำเกี่ยวกับเกาหลีใต้ก็มีแต่สงครามเกาหลี ความไม่สงบภายในประเทศ การสลายการชุมนุมนักศึกษาอย่างรุนแรง
การเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกปี 1988 จึงทำให้เกาหลีใต้ถูกจับจ้องจากทุกสายตาทั่วโลก รัฐบาลเผด็จการทหารจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องค่อยๆ ปรับตัวตามเสียงเรียกร้องของประชาชน และแสดงภาพลักษณ์ด้านดีๆ ให้ทั่วโลกได้เห็น
นโยบายทางเศรษฐกิจและการเมือง จึงเริ่มมีความเสรีมากขึ้น นโยบายความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประขาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ และเศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ได้เติบโตก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเวทีโลกแบบในปัจจุบัน
โอลิมปิกปี 1988 จึงไม่ใช่เพียงถูกใช้เพื่อโปรโมทวัฒนธรรมกีฬาและวัฒนธรรมเกาหลีใต้เท่านั้น แต่กลายเป็นสัญลักษณ์เแห่งการกระโดดจากประเทศโลกที่สาม
ไปเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเกาหลีใต้ในเวทีโลก ภายใต้สโลแกน
The World to Seoul, Seoul to the World
ที่ไม่ว่าวันเวลาผ่านไป โอลิมปิกครั้งนั้นก็ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คน และเป็นความภูมิใจที่ไม่มีวันลบเลือนในความทรงจำชาวเกาหลีใต้ทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
  • Brian Bridges (2008) The Seoul Olympics: Economic Miracle Meets the World, The International Journal of the History of Sport, 25:14, 1939-1952, DOI: 10.1080/09523360802438983
เครดิตภาพ : Netflix
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา