30 ส.ค. 2022 เวลา 15:02 • การศึกษา
วิธีการทางสถิติพรรณา: ตาราง
ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับการสร้างตารางเป็นสาระการเรียนรู้ในระดับประถมต้น https://www.dltv.ac.th/teachplan/episode/44824 และการจัดข้อมูลให้อยู่ในรูปตารางเป็นวิธีนำเสนอสารสนเทศที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นกราฟ และแผนภูมิต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และตัดสินใจได้หลากหลาย
แต่ปัญหาที่มักพบในการใช้ตาราง คือ ข้อมูลมีมาก ยากที่จะจัดให้อยู่ในตารางที่อ่านค่าได้ครบถ้วนและสะดวก ไม่สามารถอ่านข้อมูลจากซ้ายไปขวา หรือบนลงล่างได้สอดคล้องกัน เช่น การรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด ตามรูป ซึ่งเกิดจากการจัดเรียงตารางแจกแจงข้อมูลหลายตารางไว้ด้วยกัน แต่ทำให้เห็นเป็นตารางเดียวโดยใช้สีพื้นหลังต่างกัน
รายงานผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 ณ 1 สิงหาคม 2564
หลักสำคัญในการออกแบบตารางเพื่อป้องกันปัญหานี้ คือการจัดองค์ประกอบในการนำเสนอให้มีโครงสร้างชัดเจน เริ่มจากการจำแนกตัวแปร ศึกษาแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เพื่อเปลี่ยนข้อมูลที่มีให้เป็นสารสนเทศที่มีผลต่อความคิดและการกระทำของผู้รับสาร หลักคิดสำคัญในการออกแบบตารางคือ การกำหนดหัวตารางให้สอดคล้องกับข้อมูลที่จำเป็นต่อปัญหาการตัดสินใจ จากรูปข้างต้น ข้อมูลที่สำคัญต่อผู้รับสารคืออะไร และข้อสงสัยที่เรามีต่อข้อมูลในตารางคืออะไรบ้าง ลองแจงดูมั้ย 🙂
ข้อกำหนดที่สำคัญในการสร้างตารางคือ การนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่าย ไม่มีรายการข้อมูลที่ถูกนับซ้ำ ข้อมูลหนึ่งชุดมักประกอบด้วยตัวแปรหลายตัว เราไม่จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลทุกตัวแปรในคราวเดียว การออกแบบตารางรายงานข้อมูลทำได้หลายแบบ ลักษณะของตารางจะต่างกันไปตามจำนวนและลักษณะของตัวแปรที่ต้องการนำเสนอ
เช่น ตารางบันทึกข้อมูล (Data table) ตารางแจกแจงความถี่ของข้อมูล (Frequency table) ตารางทางเดียว (One-way table) และตารางสองทาง (Two-way, Cross-tabulation, หรือ Contingency table) ซึ่งแสดงข้อมูลของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เราสามารถออกแบบตารางที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยการจำแนกกลุ่มตัวแปร และการใช้สีและสัญลักษณ์ คำสั่ง Pivot Table ใน Microsoft Excel จะมีประโยชน์มากในการสร้างตารางสำหรับข้อมูลหลายตัวแปร
โพสต์หน้า มาดูกันต่อนะ 😊
โฆษณา