17 ก.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
วาบิ-ซาบิ ความงามของความไม่สมบูรณ์
5
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
1
สตีฟ จ๊อบส์ ไปเยือนสวนหินแห่งวัดเรียวอันจิที่เกียวโตหลายครั้ง ภาพเขายืนมองดูสวนหินแห่งนี้เป็นภาพประหลาดและขัดแย้ง มันเป็นการตัดกันของโลกตะวันตกกับตะวันออก โลกหนึ่งแสวงหาความสมบูรณ์แบบ อีกโลกหนึ่งหนีจากความสมบูรณ์แบบ
6
ตลอดชีวิต สตีฟ จ๊อบส์ ทำงานโดยคาดหวังความสมบูรณ์แบบ แต่สวนหินแห่งนี้กลับสอนเรื่องตรงข้าม
2
ก้อนหินในสวนวัดเรียวอันจิมี 15 ก้อน แต่ออกแบบให้เราไม่สามารถมองเห็นหินทั้ง 15 ก้อนพร้อมกัน ไม่ว่ามองจากมุมไหน คำอธิบายคือในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เลข 15 หมายถึงความสมบูรณ์แบบ ผู้ชายที่อายุ 15 เป็นผู้ใหญ่แล้ว คืนจันทร์เต็มดวงก็เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ
4
เหตุที่ออกแบบให้ไม่เห็นหินทีเดียว 15 ก้อนก็เพราะคนจัดสวนเชื่อว่างานไม่มีวันสมบูรณ์
ไม่มีอะไรในโลกที่สมบูรณ์แบบ
2
นี่ก็คือวาบิ-ซาบิ (侘寂) แนวคิดที่ทางตะวันตกอาจเห็นว่าประหลาด แต่มันเป็นวิธีมองโลกและชีวิตที่ลึกซึ้ง และสะท้อนปรัชญาเซนอย่างชัดเจน
7
ตั้งแต่อารยธรรมกรีกถือกำเนิดในโลกตะวันตก มันเน้นเรื่องความสมบูรณ์แบบ สัดส่วนอาคาร เสา ต้องลงตัวสวยงาม พวกเขาคิดค้นสัดส่วนทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า Golden Section หรือบางทีเรียก divine proportion แปลว่าสัดส่วนศักดิ์สิทธิ์ คือสัดส่วนที่งามสมบูรณ์ที่สุดในจักรวาล
6
วิธีคิดแบบนี้สืบทอดมาในโลกตะวันตกจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นค่านิยมและมาตรวัดคุณค่าเรื่องต่างๆ โลกวันนี้เน้นและปลูกฝังคนว่า เราต้องแสวงหาความสมบูรณ์แบบ “In search of perfection” กลายเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์
โฆษณาและค่านิยมบอกเราว่า เราต้องมีเรือนร่างที่เพอร์เฟ็คท์ เส้นผมเพอร์เฟ็คท์ คิ้วเพอร์เฟ็คท์ ผิวขาวเพอร์เฟ็คท์ ตาสองชั้นเพอร์เฟ็คท์ ฯลฯ ไม่ว่าจะต้องจ่ายราคา (ทั้งในรูปเงิน การออกแรง และการเจ็บตัว) แค่ไหน เพื่อให้คนอื่นยอมรับเรา
2
Golden Section
คนบางคนถือคติก่อนออกจากบ้าน เสื้อผ้า-หน้า-ผมต้องเป๊ะ! ยอมเจ็บตัวทำหน้า ผ่าตัดโน่นนี่ เพื่อให้เพอร์เฟ็คท์ เมื่ออายุมากก็ต้องปิดบังส่วนที่หย่อนยาน เพราะยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสังขารไม่ได้ คนบางคนไม่ยอมแก่ทางกายภาพ ดิ้นรนทุกทาง จนมันกลายเป็นบ่วงรัดเรา
2
แต่การใช้ชีวิตเพอร์เฟ็คท์แบบนี้ทำได้ยาก และไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ การแสวงหาความสมบูรณ์แบบอาจทำไม่ได้ และอาจจะเขลาที่จะทำ เพราะมันไม่ยั่งยืน มันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
3
ไม่ใช่พวกกรีกโบราณทุกคนเห็นด้วย เพลโตบอกว่าความสมบูรณ์แบบไม่อาจดำรงอยู่ในโลกทางกายภาพ ความสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้เฉพาะในขอบเขตของความคิดเท่านั้น
3
เราหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง
1
คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ธรรมชาติมีความสมบูรณ์แบบหรือไม่
1
ปราชญ์ญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่าไม่มี ‘perfection’ น่าจะเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์
2
วิถีโลกเคลื่อนไปอย่างนั้นเอง วิวัฒนาการทำงานของมันไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน ธรรมชาติไม่เคยบอกว่านี่คือความงามที่สมบูรณ์ นี่คือสัดส่วนที่เพอร์เฟ็กท์ มันยังวิวัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ
2
เราเองต่างหากเป็นคนติดป้าย ‘perfection’
2
เราวัดค่าความประณีตสมบูรณ์ได้ถึงจุดไหน สมมุติว่าเรามองดูประติมากรรมชิ้นหนึ่ง เช่น รูปเดวิดของไมเคิลแองเจโล สัดส่วนงดงาม สมบูรณ์ยิ่ง ผิวหินอ่อนถูกสลักเสลาจนเนียน แต่หากเราส่องมันลึกลงไปด้วยกล้องจุลทัศน์ลงไปเรื่อยๆ เราจะพบความหยาบ รอยแตกที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
3
มีความหยาบ ความไม่สมบูรณ์ซ่อนอยู่ในความสมบูรณ์
4
ไม่มีอะไรในโลกที่สมบูรณ์พร้อม หรือไร้ตำหนิ มันเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง
9
ดังนั้นเราอาจไม่มีทางทำให้งานจบสมบูรณ์ มันยังสามารถไปต่อได้เสมอ จุดสมบูรณ์อยู่ตรงไหน?
1
หนังดีทุกเรื่องมีจุดตำหนิ แต่ถ้าภาพรวมมันดี เราก็บอกว่ามันเป็นหนังดี โดยไม่ต้องเพอร์เฟ็กท์ทุกจุด
2
ปราชญ์ญี่ปุ่นโบราณเห็นว่าในเมื่อมันไม่มีความสมบูรณ์ในธรรมชาติ ทำไมเราต้องแสวงหาความงามของความสมบูรณ์ด้วยเล่า? อยู่กับสิ่งที่มีไม่ดีกว่าหรือ? มิใช่ความงามหรือ?
5
นี่ก็คือความคิดที่แฝงในหิน 15 ก้อนที่วัดเรียวอันจิ
2
วาบิ-ซาบิ
1
ความงามของความไม่จีรัง ความไม่สมบูรณ์
เดิมคำว่าวาบิ-ซาบิมีความหมายในเชิงลบ แต่ต่อมามันพัฒนาเป็นด้านบวก ส่วนหนึ่งเพราะแนวคิดทางพุทธที่สอนให้เข้าใจสัจธรรมของความเปลี่ยนแปลงและความไม่จีรัง
3
คำว่า วาบิ (侘) เดิมหมายถึงความหดหู่เดียวดายในการอยู่ในธรรมชาติ ห่างจากผู้คน แต่ต่อมาในศตวรรษ 14 สองคำนี้ก็เริ่มมีความหมายดีขึ้น ความหมายเปลี่ยนไปทางของความเศร้าอมสุขของการอยู่สันโดษคนเดียว
5
ส่วนคำว่า ซาบิ (寂) เดิมหมายถึงเหี่ยวแห้ง เสื่อมสลาย กลายเป็นความหมายนัยใหม่ว่า การมีอายุ ความเสื่อมทางกายภาพ เป็นสัญลักษณ์ของเวลา และคุณค่าของการผ่านเวลา
2
วิถีเซนมองว่าธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง เป็นวงจร ไม่มีความสมบูรณ์และความไม่สมบูรณ์ มันเป็นเช่นนั้นเอง การเข้าใจว่าโลกว่างเปล่าและไม่สมบูรณ์ เป็นประตูสู่ซาโตริ นี่ก็คือวิธีคิดแบบพุทธในเรื่องอนิจจังและความไม่เที่ยงอย่างเป็นรูปธรรม
7
เซนยอมรับว่าโลกเป็นอย่างนั้นเอง ทั้งส่วนสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์เกี่ยวร้อยกันและกัน หรือพูดใหม่ได้ว่า โลกไม่มีทั้งความสมบูรณและความไม่สมบูรณ์ เซนจึงเป็นรากฐานของวาบิ-ซาบิ และมันกลายเป็นรากคุณค่าความงามของญี่ปุ่น
4
วาบิ-ซาบิ เป็นมุมมองเกี่ยวกับการยอมรับการดำรงอยู่สั้นๆ เช่น ดอกไม้มีอายุไม่กี่วัน ความไม่สมบูรณ์ ความไม่ถาวรของธรรมชาติ แต่อะไรที่มีอายุ มีการเลื่อนผ่านของเวลา ก็มีความงามได้
3
วาบิ-ซาบิเห็นว่าความงามมาจากการยอมรับว่าไม่มีอะไรถาวร ไม่มีอะไรสำเร็จเรียบร้อย ไม่มีอะไรสมบูรณ์
6
ทำไมเราต้องใช้ชามสวยงามสมมาตรสมบูรณ์? เราใช้ชามผิวหยาบ สัดส่วนไม่สมมาตรไม่ได้หรือ? มันทำให้กินข้าวไม่อร่อยหรือ? เรากำลังเน้นที่เปลือกนอกหรือเนื้อในกันแน่? บางทีชามหยาบก็มีความงามได้ เพียงแต่เป็นความงามอีกแบบหนึ่ง และอาจลึกกว่าความงามที่สมบูรณ์ เพราะมันแฝงปรัชญาชีวิตในความไม่สมบูรณ์ มันทำให้เข้าใจแก่นของธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน
3
สิ่งที่เราพบเห็นในงานศิลปะของวาบิ-ซาบิ เช่น ความไม่สมดุล ความหยาบ ความเรียบง่าย ความน้อยที่สุด ใช้วัตถุตามธรรมชาติโดยไม่เสแสร้งปั้นแต่ง
4
วาบิ-ซาบิจึงเป็นมากกว่าแค่ความไม่สมบูรณ์ แต่เป็นปรัชญาชีวิตด้วย มันเป็นหลักในศิลปะญี่ปุ่น หลักธรรม นอกจากนี้มันยังเป็นส่วนหนึ่งของพิธีชงชา งานศิลปะ แม้แต่บทกวี
2
บทกวีไฮกุมากมายมีกลิ่นของวาบิ-ซาบิ ถ่ายทอดภาพธรรมชาติที่แท้จริง เช่น ต้นไม้ไร้ใบ ทางคดเคี้ยวขรุขระไม่สมบูรณ์ ใบไม้ร่วงปกคลุมทาง เหล่านี้คือความงาม
1
ยกตัวอย่าง เช่น
จิ้งหรีด ส่งเสียงร้องสดใส
ไม่มีใครคิด
เจ้าตายเร็วเพียงใด
(มัตสึโอะ บะโช 松尾 芭蕉)
4
สระเก่า
กบกระโดดลงไป
เสียงจ๋อมของน้ำ
(มัตสึโอะ บะโช 松尾 芭蕉)
3
ป่าหนาว
เสียงลมกรีดร้อง
ไม่มีใบไม้ให้พัดปลิว
(นัตสึมิ โซเซกิ 夏目 漱石)
3
ถ้วยวาบิ-ซาบิ ที่ 'ไม่สมบูรณ์'
บางครั้งวาบิ-ซาบิก็เกิดมาจากขอบเขตจำกัดของสิ่งหนึ่ง ไปได้แค่นั้น เช่น อายุของดอกไม้ ลานพื้นไม่ขนานกับพื้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ลาดเอียงเพื่อให้น้ำไหล มันเป็นขีดจำกัดของแต่ละสิ่ง
แต่เราก็สามารถมองขีดจำกัดเป็นความงามได้
ดอกไม้มีอายุไม่กี่วัน ก็ร่วงโรย เพราะมันเป็นขีดจำกัดของธรรมชาติของมันอย่างนั้น
1
ถ้วยที่มีทรวดทรงไม่สม่ำเสมอเพราะดินที่ปั้นมันทำงานได้แค่นั้น ถ้วยมีความหยาบ เพราะไฟที่ใช้เผาอ่อนเท่านั้น แผ่นเหล็กมีสนิมเพราะมันเป็นธรรมชาติของเหล็กที่ต้องขึ้นสนิม สนิมจึงไม่ใช่ของน่าเกลียด เช่นที่คนแก่มีผมขาว ผมขาวไม่ใช่ของน่าเกลียดที่ต้องปิดบังหรือละอาย
5
ใบไม้ร่วงก็งามได้ในมุมมองของวาบิ-ซาบิ
ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยบอกผมนานมาแล้วว่า คนญี่ปุ่นชอบชมดูดอกซากุระ เหตุผลหนึ่งเพราะมันสะท้อนปรัชญาชีวิต ซากุระบานโดยไม่บอกล่วงหน้า และมันเบ่งบานในช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนดาวตกที่เจิดจรัสแค่พริบตา ก็ลาลับ
6
นี่คือความไม่แน่นอน ไม่จีรังของธรรมชาติ
3
เมื่อเข้าใจ ก็มีความสงบทางจิต
3
ความเรียบง่ายคือความงาม ความน้อยคือความงาม ความไม่ยั่งยืนคือความงาม
7
มนุษย์เราล้วนไม่สมบูรณ์ เราต่างมีข้อจำกัดและจุดตำหนิ
6
ถ้าเรารับปรัชญาวาบิ-ซาบิ เราก็ไม่ต้องวิ่งตามกระแสเพอร์เฟ็คท์ไปเสียทุกเรื่อง
2
ดังนั้นถ้ามองด้วยหัวใจ ใบไม้ร่วงบนพื้นก็งามได้ คนแก่ร่างกายเสื่อม ก็สามารถงดงาม และเมื่อเรามีสายตาที่สัมผัสและซาบซึ้งกับความงามที่ไม่เสแสร้งหรือปรุงแต่ง หัวใจเราจะอ่อนโยนขึ้น จิตสงบขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น
12
และนั่นมิใช่ความงามของชีวิตดอกหรือ?
2
โฆษณา