30 ส.ค. 2022 เวลา 06:23 • บันเทิง
Pop Culture วัฒนธรรมฉาบฉวยที่ทรงพลัง
ถ้าเอ่ยถามถึง Pop Culture กับคนที่อยู่ในช่วงวัยต่างกัน แต่ละคนอาจจะมีภาพคำตอบที่นึกขึ้นได้ต่างกันด้วย เพราะวัฒนธรรมประชานิยมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย แม้จะถูกมองเป็นวัฒนธรรมที่ตื้นเขิน ฉาบฉวย บ้างอาจมองว่าไร้สุนทรียะ แต่ Pop Culture นี่เองที่มีอิทธิพลมากกับคนในแต่ละยุค กลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมุมมองความคิด ค่านิยม จุดร่วมของคนในสังคมในวัยที่เติบโตมาพร้อมกัน
.
คำคำนี้เริ่มมีปรากฏขึ้นมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ในช่วงแรกหมายถึงวัฒนธรรมแบบของคนทั่วไปในระดับแมสที่แตกต่างจาก “วัฒนธรรมโดยรัฐ” หรือวัฒนธรรมของคนชนชั้นปกครอง และต่างจาก “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งนิยมอยู่ในวงจำกัดในพื้นที่นั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในไทยเรามี “โขน” เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูง เป็นสัญลักษณ์ของชาติที่ถูกยอมรับโดยรัฐ ขณะที่ “ลิเก” เป็นวัฒนธรรมประชานิยมที่รู้จักและชื่นชอบกันทั่วประเทศ ส่วน “มโนราห์” เป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยมในท้องถิ่นภาคใต้ เป็นต้น
1
.
ในเวลาต่อมา การกล่าวถึง Pop Culture ก็เริ่มมีนัยเป็นมาตรวัดด้านคุณภาพด้วย โดยวัฒนธรรมแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีความฉาบฉวยทางศิลปะมากกว่า แต่เข้าถึงสังคมระดับ “แมส” หรือเข้าถึงคนวงกว้างได้ดีกว่า
.
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ Pop Culture เริ่มมีบทบาทที่ชัดเจนในสังคมช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคทศวรรษ 1950s เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นยุคที่เศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม” เฟื่องฟูหลังสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ เศรษฐกิจระบบนี้จะอาศัยกระแสบริโภคนิยมเป็นตัวกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการดึง Pop Culture มาเป็นเครื่องมือในการขายสินค้าคือส่วนผสมที่ลงตัวอย่างยิ่ง
.
เราจะได้เห็นรสนิยมของสังคมและผลิตภัณฑ์ยอดนิยมกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนกันและกัน หนังดัง การ์ตูนดัง ถูกต่อยอดขายเป็นผลิตภัณฑ์สารพัด เช่น เสื้อสกรีนลาย หุ่นฟิกเกอร์ ธีมคาเฟ่ บุคคลดังสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นและทำให้แฟชั่นนั้นกลายเป็นวัฒนธรรม
.
มีคำกล่าวที่น่าสนใจจาก Joseph Benesh ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะ Phoenix Center of the Arts เขามองกระบวนการส่งเสริมกันของวัฒนธรรมประชานิยมและการขายของไว้ว่า
มีนิตยสารหลายร้อยเล่มที่ขายแต่ Pop Culture เท่านั้น เช่น Vogue, GQs, People หรือนิตยสารวัยรุ่นต่าง ๆ แล้วคนก็จ่ายเงินไปเพื่อให้ตัวเองถูกล้างสมองว่าจะใช้จ่ายเงินครั้งต่อไปกับอะไรดี และจะจ่ายเพิ่มให้กับอะไรก็ตามนั่นด้วย อัจฉริยะจริง ๆ
.
หลายคนมอง Pop Culture ที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับทุนนิยมอย่างเป็นปฏิปักษ์เหมือนกับ Benesh ดังนั้นภาพของวัฒนธรรมประชานิยมที่เป็นความชื่นชอบที่ถูกหล่อหลอมจากคนหมู่มาก อีกกระแสหนึ่งมองว่า มันเป็นเพียงภาพที่บริษัทต่าง ๆ ‘ป้อน’ ให้กับสังคมเพื่อให้สังคมชื่นชอบแบบอุปาทานหมู่ และจะได้ขายของได้มากขึ้นเท่านั้น
ไม่ถูกวางบนหิ้ง แต่สำคัญกับชีวิต
.
ไม่ว่าคุณจะมองที่มาของวัฒนธรรมป๊อปอย่างไร จะเป็นเรื่องที่มาจากเบ้าหลอมของสังคมโดยแท้ หรือมาจากการอัดฉีดจากบริษัทพาณิชย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ Pop Culture คืออิทธิพลอันมโหฬารต่อวิถีชีวิตคน
.
วัฒนธรรมประชานิยมก็เหมือนกับวัฒนธรรมรูปแบบอื่น นั่นคือการเป็นสิ่งที่รวมคนกลุ่มหนึ่งให้รู้สึกว่าเป็นพวกพ้องเดียวกัน เป็นคนกลุ่มเดียวกัน ในที่นี้มักจะมีอิทธิพลกับ “วัยรุ่น” เป็นพิเศษ เพราะนี่คือกลุ่มวัยที่รับอิทธิพล สร้าง ส่งต่อ และต่อยอดวัฒนธรรมป๊อปในรุ่นของตัวเอง การมีวัฒนธรรมร่วมกันทำให้วัยรุ่นมีการเข้าสังคม ได้สานสัมพันธ์ มีเรื่องให้พูดคุย และเข้าใจกัน (แน่นอนว่าคนที่ไม่สามารถเข้าถึงและไม่รับวัฒนธรรมป๊อปของคนหมู่มาก ก็จะรู้สึกแปลกแยกออกไป)
.
แม้จะถูกประณามว่าเป็นวัฒนธรรมที่ตื้นเขิน ฉาบฉวย ไร้สุนทรียะทางศิลปะ หรือเป็นเครื่องมือทางการตลาด แต่ Pop Culture พิสูจน์ตนเองมาหลายสมัยว่า
วัฒนธรรมที่เข้าถึงคนในระดับแมสนี่แหละ คือวัฒนธรรมทรงพลังต่อวิธีคิดและสัญลักษณ์ทางสังคม
1
ยกตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ Star Wars ภาพยนตร์ดังที่เริ่มฉายครั้งแรกเมื่อปี 1977 แม้จะเป็นเรื่องราวแฟนตาซีที่แต่งขึ้น แต่กินใจคนถึงขนาดที่ทำให้เกิด “ศาสนาเจได” (Jediism) มีสาวกที่รับเอาปรัชญาและวิถีเจไดมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริง หรือในไทยจะได้เห็นพลังจากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ที่ทำให้การประท้วงทางการเมืองหยิบฉวยสัญลักษณ์ “ชู 3 นิ้ว” จากในภาพยนตร์มาใช้ในชีวิตจริง เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่คนในยุคสมัยเดียวกันเข้าใจนัยและอารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน
.
.
ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้
คุณลักษณะที่ทำให้ Pop Culture เป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือการเป็นวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ถูกแช่แข็งหรือมีความพยายามที่จะอนุรักษ์สิ่งใดไว้ วัฒนธรรมประชานิยมจะลื่นไหลไปตามกาลเวลา เมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นและ ‘ฮิต’ มากกว่า สิ่งนั้นจะขึ้นมาแทนที่และทำให้วัฒนธรรมเดิมตกรุ่นได้ แม้บางครั้งจะเห็นการวนซ้ำของวัฒนธรรม เช่น ปัจจุบันที่แฟชั่นยุค 90s เริ่มกลับมาให้เห็นอีกครั้ง แต่ใช่ว่าจะต้องทำเหมือนเดิมทุกกระเบียด แต่สังคมจะต่อยอดหรือปรับเปลี่ยนให้เป็นของยุคสมัยนั้น ๆ
.
รวมถึงลักษณะของ Pop Culture ในยุคหลังอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียบูมสุดขีดในช่วงทศวรรษ 2010s การจะหยิบจับว่าอะไรอยู่ในกรอบนิยามของ Pop Culture จะยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก เพราะในอดีต สื่อหลักจะเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าอะไรที่กำลังมา กำลังเป็นกระแส คนในสังคมรับสาส์นจากช่องทางเดียวกันคือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ ความชอบของคนหมู่มากจึงไม่หนีกันสักเท่าไหร่
.
ขณะที่ยุคอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถเลือกกลุ่มความสนใจของตนเองได้ ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างอาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่ากระแสหลัก แต่มีคนกลุ่มใหญ่ที่ชื่นชอบจนสิ่งนั้นก็อาจเรียกว่าเป็น Pop Culture ได้เหมือนกัน เช่น อนิเมะ คอสเพลย์ สตรีมเมอร์เกม อาหารวีแกน เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมป๊อปของคนยุคนี้แตกแยกย่อยออกไปมากกว่าที่เคย จนเส้นแบ่งการเลือกว่าอะไร ‘ป๊อป’ หรือ ‘ไม่ได้ป๊อปขนาดนั้น’ เริ่มจะพร่าเลือนมากขึ้น
ยุคทศวรรษ 80s
Pop Culture ในแบบไทย ๆ
.
ในประเทศไทย Pop Culture ของบ้านเราส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ นำมาผสานเข้ากับบรรยากาศแบบไทย ๆ ทำให้เป็นวัฒนธรรมประชานิยมในรูปแบบของเราเอง ตลอดประวัติศาสตร์ป๊อปของเราได้ผ่านยุคสมัยมาตั้งแต่ยุคอเมริกันเฟื่องฟู ยุคกระแสจากแดนปลาดิบ และล่าสุดกับคลื่นเกาหลีใต้ที่ถาโถมเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์วัฒนธรรมป๊อปของเรา
.
ยุคทศวรรษ 80s
ทศวรรษนี้เป็นยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ทั้งศิลปะ ดนตรี แฟชั่น ต่างสะท้อนความรู้สึกของคนหมู่มากที่เต็มไปด้วยความหวัง ความสนุกสนาน และการปลดแอกขีดจำกัดตัวเอง
.
ประเทศที่ส่งอิทธิพลต่อไทยในยุคนี้หนีไม่พ้นวัฒนธรรมอเมริกัน ในสหรัฐฯ ยุคนั้นมีภาพยนตร์ดังที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและอวกาศจำนวนมาก เช่น Back to the Future, Star Trek, The Terminator ในชีวิตคนเริ่มมีเครื่องมือใหม่อย่าง “คอมพิวเตอร์” ซึ่งทำให้ศิลปะคอมพิวเตอร์ยุคแรกกำเนิดขึ้น หรือ “วอล์กแมน” ที่ทำให้คนพกเพลงไปฟังได้ทุกที่
.
ดนตรีเองก็เริ่มนำเครื่องสังเคราะห์เสียงเข้ามาผสมกับแนวเพลงป๊อป ร็อค และเมทัล มีไอคอนของยุค เช่น ไมเคิล แจ็กสัน และมาดอนน่า ก่อกระแสสไตล์การแต่งตัวด้วยสีสันสดใสตัดกันแบบ Color Block หรือลวดลายพิมพ์กราฟิก สวมใส่กางเกงขาบานหรือยีนส์ฟอกคู่ใจ ฝั่งผู้หญิงยังมีสไตล์แต่งตัวพิเศษที่นิยมการใส่สูทเสริมไหล่หนากว้างเรียกว่าเป็นชุด ‘Power Suit’ เพื่อชูกระแสผู้หญิงมีอำนาจเท่าเทียมชาย
.
ไทยเราได้รับอิทธิพลเหล่านี้มาเช่นกัน โดยเฉพาะด้านแฟชั่นที่เห็นได้ชัด ส่วนงานดนตรีเรามีวงดังแห่งยุคอย่าง ดิ อิมพอสซิเบิล, แกรนด์เอ็กซ์ ในสังกัด นิธิทัศน์ โปรโมชัน และเป็นยุคถือกำเนิดของ อาร์เอส โปรโมชั่น จุดกระแสศิลปินเพลงป๊อป เช่น ฟรุตตี้, ซิกเซนต์, บรั่นดี, เรนโบว์ ตามด้วย แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนต์ ต้นสังกัดศิลปินอย่าง เต๋อ-เรวัต พุทธินันท์, คาราบาว และศิลปินที่จะกลายเป็นตำนานอย่าง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์
ยุคทศวรรษ 90s
.
ยุคนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น (ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในปี 1997) และเทคโนโลยีก็ยังคงก้าวหน้า โดยเฉพาะการมาของ “อินเทอร์เน็ต” เป็นช่วงที่การมี “เบราว์เซอร์” เกิดขึ้น มีเว็บไซต์ดอตคอม ทุกอย่างดูทันสมัยฉับไว และกลายเป็นยุคทองที่คนจะนึกย้อนถึง (nostalgia) มากที่สุดหากให้คิดถึง Pop Culture ในไทย
.
ที่บอกว่าเป็นยุคทอง เพราะนี่คือช่วงที่วงการเพลงไทยเฟื่องฟูอย่างมากและเป็นต้นสายของวัฒนธรรมป๊อปไทยทั้งมวล
.
จากการแข่งขันดุเดือดของค่ายเพลง ทั้งอาร์เอส แกรมมี่ และค่ายใหม่อย่าง เบเกอรี่มิวสิก ที่ยึดเอาพื้นที่ในสยามสแควร์ สถานที่พบปะสุดฮิตของวัยรุ่น 90s เป็นที่ตั้งค่ายเพลง โดยมีค่ายเพลงลูกของตัวเองในชื่อ โดโจซิตี้ ต้นสังกัดของวงที่จะปลุกกระแส 90s อย่างชัดเจนนั่นคือ Triumph Kingdom ต้นแบบของแฟชั่น “สายเดี่ยว ส้นตึก เกาะอก เอวลอย” ที่ถือว่าแหวกขนบการแต่งตัวของหญิงไทยในยุคนั้น และกลายเป็นกระแสที่วัยรุ่นไทยใจถึง ๆ ต้องแต่งตาม
.
เพลงไทยในยุค 90s เฟื่องฟูทั้งเพลงป๊อป ร็อค และอินดี้ ดนตรีของไทยมีความหลากหลายและหยิบยืมกลิ่นอายจากฟังก์ แรป เข้ามาผสม แต่กระแสหลักของเพลงยุคนี้มักจะเป็นเพลงสไตล์ ‘ลูกกวาด’ ที่เน้นดนตรีน่ารัก ฟังง่าย ติดหูง่ายเป็นหลัก
.
ค่ายเพลงไทยยังมีอิทธิพลไปถึงวงการภาพยนตร์ แกรมมี่ ฟิล์ม มีการผลิตภาพยนตร์ดัง “รักออกแบบไม่ได้” ข้ามฝั่งอาร์เอส ฟิล์มก็มี “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” เป็นภาพยนตร์แห่งยุคที่คนคิดถึง
ยุคทศวรรษ 2000s
ยุค 2000s เป็นทศวรรษคาบเกี่ยวอิทธิพลจากช่วง 90s มา ไม่ว่าจะเป็นน้ำพุเซ็นเตอร์พอยต์ สยามสแควร์ ที่เกิดขึ้นในปี 1998 ตามด้วยชานมไข่มุกแก้วสูงที่ฮิตมาตั้งแต่ปี 1999 และกระแสการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดเป็นคอมโบที่รวมกันมาเป็นเทรนด์ในช่วงต้นทศวรรษ 2000s วัยรุ่นไทยมี ‘Starter Kit’ ของคนฮิปคือการแต่งชุดที่ทันสมัยที่สุดในตู้เสื้อผ้า นัดเจอกันที่น้ำพุสยาม ถือแก้วชาไข่มุก และส่ง SMS หากัน
.
Pop Culture ช่วงนี้มีอิทธิพลใหม่ที่น่าสนใจจากฝั่งญี่ปุ่น
ทั้งศิลปิน J-Rock และ J-Pop เป็นกระแสสุดฮิตในไทย เช่น X-Japan, L’arc~en~Ciel, Arashi, Kat-tun, Utada Hikaru สร้างปรากฏการณ์วัยรุ่นไทยต้องตามหานิตยสาร J-Spy ทุกเดือน กระแสจากญี่ปุ่นมีผลต่อแฟชั่นวัยรุ่นไทยกับการแต่งกายแบบเสื้อผ้าทับซ้อนหลายเลเยอร์ กระโปรงสั้นมินิสเกิร์ต ชุดนักเรียนญี่ปุ่น และที่สำคัญคือทรงผมซอยบาง บิ๊กอาย ในสไตล์แอ๊บแบ๊ว มาพร้อมกับการเข้าตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์ชู 2 นิ้วแบบวัยรุ่นญี่ปุ่น
.
กระแสเหล่านี้ถูกนำมาปรับให้เข้ากับ T-Pop ไทยผ่านค่ายเพลงใหม่ของอาร์เอส นั่นคือ “Kamikaze” รวมตัวบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป หรือศิลปินเดี่ยวที่สดใส น่ารัก ขี้เล่น เช่น โฟร์-มด, เฟย์ ฟาง แก้ว, K-OTIC, หวาย-ปัญญริสา ก่อกระแส Kamikaze ฟีเวอร์ นำเทรนด์ทั้งแนวเพลง แฟชั่น บุคลิกภาพของคนร่วมสมัยเดียวกัน
.
ทศวรรษ 2000s ยังเป็นยุคแห่งการเชื่อมต่อถึงกันแบบดิจิทัลได้เต็มที่ เพราะนี่คือยุคแห่งการ “แชท” ตั้งแต่โปรแกรม QQ, ICQ, Pirch98, MSN จนถึงโทรศัพท์ Blackberry ในช่วงปลายทศวรรษ โลกได้เปิดกว้างให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันได้ไกลขึ้น เราไม่ได้รู้จักแค่คนในวงสังคมเดียวกัน แต่สามารถรู้จักกันข้ามโรงเรียน ข้ามจังหวัด หรือข้ามโลกก็ได้
ยุคทศวรรษ 2010s ถึงปัจจุบัน
ยุคทศวรรษ 2010s ถึงปัจจุบัน
.
ยุคแห่ง K-Pop หลังจากเริ่มเข้าสู่ไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2000s ยุค 2010s คือยุคทองของวัฒนธรรมเกาหลีที่กลายเป็นต้นขั้ว Pop Culture ไทย ทุกสิ่งทุกอย่างในกระแสนิยมอ้างอิงจากเกาหลีเป็นหลัก ตั้งแต่ดนตรี ซีรีส์ ภาพยนตร์ อาหาร แฟชั่น กระทั่งสไตล์การถ่ายภาพลง Instagram
.
สไตล์แฟชั่นไปจนถึงของแต่งบ้านในยุคนี้แปรเปลี่ยนมาเป็นยุคแห่ง “มินิมอล” ทุกอย่างเน้นความเรียบง่าย สีขาว เบจ น้ำตาล การจัดวางดูโล่ง สะอาดตา โดยมีแบรนด์ที่เป็นต้นทางของการออกแบบอย่าง Muji ตามด้วยแบรนด์ที่แมสมากขึ้นด้วยกลไกราคาอย่าง Xiaomi และแพร่ไปสู่การออกแบบโดยทั่วไป ไม่ว่าใครก็ต้องเกาะกระแสมินิมอลไว้ก่อน
.
แม้จะปล่อยให้เกาหลีครองเมืองอยู่พักใหญ่ แต่ไทยเราก็รับเอาวัฒนธรรมมาดัดแปลงให้เป็น Pop Culture ของตัวเองได้อีกครั้ง โดยวงการเพลงไทย T-Pop เริ่มมีคลื่นลูกใหม่อีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 2010s กับยุครุ่งเรืองของเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ ที่กลับมาในมาดใหม่ เน้นความสามารถครบ (เหมือนกับเกาหลี) ร้อง เต้น หน้าตา บุคลิก พร้อมที่จะเป็นไอดอล นอกจากนี้ยังผสมผสานกับกระแสเพลงแรปที่มาแรงจนเป็นกระแสหลักสำเร็จในยุคนี้
.
2010s ยังเป็น “ยุคแห่งการตื่นรู้ทางการเมืองและสังคม” การตระหนักรู้และเรียกร้องคือวัฒนธรรมที่กลับมาใหม่หลังจากหล่นหายไปหลังยุค 70s กระแสนิยมมีการตื่นรู้ทุกประเด็น ตั้งแต่ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย ฯลฯ วัฒนธรรมที่เปิดกว้างขึ้นทำให้บางกระแสที่เคยต้องหลบซ่อนหรือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เช่น ซีรีส์วาย สามารถเป็น Pop Culture ของคนหมู่มากโดยเปิดเผยได้
.
เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากยุคแชท ก็เข้าสู่ยุคแห่งโซเชียลมีเดีย พร้อม ๆ กับสมาร์ตโฟนที่แพร่หลาย ทำให้ Pop Culture ในปัจจุบันแตกแขนงได้หลายกลุ่มย่อยกว่าที่เคย แม้บางอย่างมองราวกับว่าเป็นวัฒนธรรมกระแสรอง แต่ก็รวมคนได้มากพอที่จะส่งอิทธิพลกับสังคมเช่นกัน ทำให้การมองหาสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของยุคนี้อาจจะไม่ง่ายเช่นในยุคก่อน ๆ อีกแล้ว
.
#Spotlight #PopCulture #Humanitas
โฆษณา