1 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ดูไบสร้าง “ฟาร์มแนวตั้ง” ใหญ่ที่สุดในโลก
ฝ่ายครัวสายการบินเอมิเรตส์ (Emirates Flight Catering) ร่วมกับ Crop One Holdings ประกาศเปิดตัว นวัตกรรมการเกษตรรูปแบบใหม่ ชื่อฟาร์ม Bustanica (เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Emirates Crop One) ซึ่งเป็นฟาร์มแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและพื้นที่การเกษตรที่มีจำกัด
ฟาร์ม Bustanica เป็นฟาร์มประเภท Hydroponic ใช้เงินลงทุน 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอาคารใกล้สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของดูไบ (Al-Maktoum International Airport) เป็นที่ตั้งของฟาร์มแนวตั้งแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก บนพื้นที่กว่า 330,000 ตารางฟุต ที่ประกอบด้วยชั้นวางเรียงซ้อนกันเป็นแนวตั้ง
เพาะปลูกผักกาดหอม ผักโขม ผักร็อก เก็ต และผักใบเขียวอื่นๆ อีกหลากสายพันธุ์ ออกแบบให้เป็นฟาร์มที่สามารถประหยัดน้ำได้ราวร้อยละ 95 เทียบกับ การทำเกษตรแบบทั่วไป หรือใช้น้ำในการเพาะปลูกเพียง 5% เท่านั้น ทำให้สามารถประหยัดน้ำได้มากถึง 250 ล้านลิตรต่อปี คาดว่าจะมีผลผลิตราว 1 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือผลผลิตวันละ 3,000 กก.
ฟาร์ม Bustanica ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) และกระบวนการขั้นสูงอื่นๆ ร่วมกับความแข็งแกร่งของทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ พืชไร่ วิศวกร เกษตรกร และนักวิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตร ประกอบกับวัฏจักรการผลิตที่ต่อเนื่องทำให้มั่นใจได้ว่าผลผลิตจะสด และสะอาด
โดยสามารถปลูกให้พืชผักต่างๆ เจริญเติบโตงอกงามได้โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงสารกำจัดวัชพืช หรือสารเคมีใดๆ นอกจากนี้จะสามารถติดตามการเพาะปลูกอย่างใกล้ชิด และปรับแสง ความชื้น สารอาหาร และปัจจัยอื่นๆ โดยอัตโนมัติ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช
ปัจจุบันการทำฟาร์มแนวตั้งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น และจากความนิยมบริโภคผักออร์แกนิก เนื่องจากผักเกษตรอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิกเป็นผักที่ได้จากการทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดในทุกขั้นตอนการปลูก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กำจัดวัชพืช รวมถึงฮอร์โมนสังเคราะห์
ซึ่งสอดรับกับแนวทางของฟาร์มแนวตั้งโดยเฉพาะคาดว่าภายในเร็วๆนี้ ผู้โดยสารของสายการบินเอมิเรตส์และอีกหลายสายการบินอื่นที่ใช้บริการครัวเอมิเรตส์จะ ได้ลิ้มลองผักสดจากสวนแนวตั้งแห่งนี้ เช่น ผักสลัด ผักร็อคเก็ตหรืออารูกูล่า (Arugula) และผักโขม (spinach) รวมทั้ง จะใช้เพื่อวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศ และมีแผนที่จะขยายการปลูกผักและผลไม้อื่นๆ อีกด้วยความมั่นคงด้านอาหาร
Sheikh Ahmed bin Saeed Al Maktoum ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินเอมิเรตส์ กล่าวว่าความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาวและการพึ่งพาตนเองมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ รวมทั้งยูเออีก็ไม่มีข้อยกเว้น อีกทั้งยูเออีมีความท้าทายมากกว่าภูมิภาคอื่นในโลก เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับที่ดิน และสภาพอากาศ ดังนั้นฟาร์ม Bustanica จะนำพาประเทศเข้าสู่ยุคใหม่แห่งนวัตกรรมและการลงทุน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของยูเออี
ด้านนาย Craig Ratajczyk ตำแหน่ง CEO ของ Emirates Crop One กล่าวว่า ด้วยทำเลของฟาร์มตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน Al-Maktoum เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ผลผลิตจะถูกนำออกจากฟาร์มไปยังสายการบินทันที ทำให้ลดการเน่าเสียลงไปได้มาก และไม่ต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงระหว่างการขนส่ง จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
นอกจากนี้ ในกรุงอาบูดาบีมี Madar Farms ฟาร์มแนวตั้งในร่มขนาดใหญ่เสริมทัพ โดยหน่วยงาน Abu Dhabi Investment Office (ADIO) ของรัฐบาลอาบูดาบีใช้เงินลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร่วมกับบริษัท AeroFarms, RNZ และ Responsive Drip Irrigation (RDI) ของสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาการปลูกพืชในร่ม รวมถึงศูนย์วิจัยแห่งใหม่ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการและเทคโนโลยีการทำฟาร์มแนวตั้ง
แม้ว่าจะเป็นฟาร์มแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ยังคงให้ผลผลิตเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการบริโภคผักของยูเออีที่มีประชากรราว 10 ล้านคน เนื่องจากประเทศนี้อาศัยการนำเข้าอาหารถึงร้อยละ 80 อ้างจากรายงานของ Dubai Chamber of Commerce ที่แสดงมูลค่าการค้าอาหารของยูเออีในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 รวมประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่านำเข้า 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมูลค่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกต่อ (re-exports) มูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ประเทศหลักที่นำเข้าจากอินเดีย (สัดส่วน 12%) สหรัฐอเมริกา (7%) บราซิล (6%) ออสเตรเลีย (5%) แคนาดา(5%) และซาอุดีอาระเบีย (5%) การนำเข้าส่วนใหญ่ผ่านรัฐดูไบเป็นหลัก โดยในปี 2564 มีปริมาณ 7.9 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับการส่งออกกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทยไปยูเออีในปี 2564 มูลค่า 7,323 ล้านบาทหรือขยายตัว +18.5% ในปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัว 105.6% มีมูลค่า 4,790 ล้านบาท ทั้งนี้คิดเป็นสัดส่วน 10.8% ของมูลค่าที่ ไทยส่งออกไปยูเออีทั้งสิ้น อาหารที่ส่งออกมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ข้าว (+1,575%) ปลากระป๋อง (+89%) ผลไม้กระป๋อง (+32%) เครื่องดื่ม (+46%) ผลไม้สด (+53%) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+43%) ปลาแช่แข็ง (+1%) ผักสด (-3%) สิ่งปรุงรสอาหาร (+33%) และ
ผักกระป๋อง (+8%)
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แสดงให้เห็นว่า สามารถเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคภายในประเทศได้หลากหลายชนิดมากขึ้น แต่ความต้องการด้านอาหารยังมีอีกหลายชนิดที่ผู้ประกอบการไทยเข้าไปขยายตลาดได้ และนอกจากการส่งผลิตภัณฑ์อาหารเพียงอย่างเดียว ควรหาช่องทางเข้าร่วมในนโยบายส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรหรือนวัตกรรมการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายในระยะยาว
โฆษณา