7 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
สิงคโปร์ใช้บังคับฉลากเครื่องดื่มน้ำตาลสูงภายในสิ้นปี 2565
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 นาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดการประชุม International Society of Peritoneal Dialysis Congress 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์เป็นครั้งแรกว่า
ร้านค้าที่จำหน่าย เครื่องดื่มปรุงสดหน้าร้าน ได้แก่ ร้านกาแฟสด น้ำผลไม้คั้นสด และชานมไข่มุก ที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูงมาก จะต้องติดฉลากเครื่องดื่ม Nutri-Grade บนเมนูภายในสิ้นปี 2566 หลังจากที่ได้มีการประกาศข้อกำหนดสำหรับเครื่องดื่ม บรรจุหีบห่อที่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง ให้ติดฉลาก Nutri-Grade ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2565
นอกจากนี้ ร้านค้าต่างๆ จะถูกห้ามไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มปรุงสดใหม่ที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูงสุดตามข้อกำหนด รัฐบาลสิงคโปร์จะเผยแพร่มาตรการเหล่านี้กลางปี 2566 และจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2566
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งใน ความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ในการโน้มน้าวการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและจำกัดปริมาณน้ำตาลลดลง เพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคเบาหวาน อีกทั้งยังสอดคล้องกับการมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันในกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลสุขภาพใหม่ ที่เรียกกันว่า Healthier SG
นาย Hong Poh Hin ประธานสมาคมผู้ค้าร้านกาแฟและร้านกาแฟฟูโจว (Foochow) ซึ่งเป็นตัวแทนของร้านกาแฟมากกว่า 400 แห่งในสิงคโปร์ กล่าวว่า ผู้บริโภคมากถึงร้อยละ 70 ถามถึงตัวเลือกกาแฟที่มีน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาล อย่างไรก็ดี สมาคมไม่แน่ใจว่า รายละเอียดเนื้อหาทางโภชนาการจะระบุอย่างไร เพราะกาแฟหรือชาที่ชงและปรุงสดใหม่แต่ละถ้วยอาจมีปริมาณน้ำตาลที่ต่างกัน จึงแนะนำว่าเจ้าของร้านอาจจะไม่เติมน้ำตาลในเครื่องดื่มและให้ผู้บริโภคตัดสินความต้องการน้ำตาลและเติมเอง
1
ในขณะที่เจ้าของร้านน้ำผลไม้ กล่าวว่า เมนูผลไม้ในร้านมีประมาณ 30 ชนิด ซึ่งลูกค้าสามารถรวมผลไม้ประเภทต่างๆ ได้ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับร้านค้าน้ำผลไม้ในการคำนวณปริมาณน้ำตาลต่อแก้ว
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงการณ์เพิ่มเติมว่า ในช่วงเริ่มต้น กระทรวงฯ จะพิจารณาใช้ฉลาก Nutri-Grade สำหรับสถานประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น โดยจะยกเว้นสถานประกอบการขนาดเล็ก
นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะไม่กำหนดให้สถานประกอบการใช้การวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อกำหนดปริมาณน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในเครื่องดื่มของตนเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ แต่จะใช้เกณฑ์การให้คะแนนเครื่องดื่มจากการประมาณปริมาณน้ำตาลและไขมันอิ่มตัว หรือจากปริมาณของส่วนผสมแต่ละชนิดที่ใส่ลงในเครื่องดื่ม โดยจะมีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
1
เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ ในเดือนตุลาคม 2562 กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ (Ministry of Health : MOH) ได้ประกาศการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ โดยแสดงถึงเกณฑ์น้ำตาลระดับต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสิงคโปร์คำนึงถึงปริมาณบริโภคน้ำตาลต่อวัน และตระหนักถึงความเสี่ยงโรคต่างๆ ที่เกิดจากน้ำตาล เช่น โรคอ้วนและเบาหวาน เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เริ่มต้นด้วยสองมาตรการ คือ ฉลากโภชนาการ (Front-of-pack nutrient-summary Label) และระเบียบการโฆษณาสำหรับสินค้าเครื่องดื่มสำเร็จรูปรสหวาน (Advertising regulations for the least healthy Sugar-Sweetened Beverage : SSBs) โดยฉลากโภชนาการที่บังคับและข้อห้ามในการโฆษณาสำหรับเครื่องดื่ม Nutri-Grade นั้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ฉลากโภชนาการสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์
รัฐบาลสิงคโปร์จะใช้บังคับระเบียบการติดฉลากโภชนา "Nutri- Grade" ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ โดย เกรด A สีเขียว หมายถึงเกณฑ์น้ำตาลระดับต่ำสุด และเกรด D สีแดง หมายถึงเกณฑ์น้ำตาลระดับสูงสุด ทั้งนี้ ในการกำหนดฉลากโภชนา "Nutri-Grade" จะเป็นไปตามคุณภาพทางโภชนาการ ซึ่งจะมีน้ำตาลเป็นปัจจัยหลัก แต่จะไม่ใช่ตัวกำหนดเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ เครื่องดื่มที่ได้รับ เกรด A และ B จะได้ตราสัญลักษณ์ Healthier Choice
 
การห้ามโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์
เกรด D ในทุกช่องทางการสื่อสารทั้งหมดใน สิงคโปร์ รวมถึงช่องทางออนไลน์ ยกเว้น ณ จุดขาย (Point-of-Sale : POS) เพื่อลดอิทธิพลของการโฆษณาสินค้า ดังกล่าวต่อความต้องการของผู้บริโภค
ในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างรณรงค์การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น ไม่เพียงแต่ปัญหาด้านสุขภาพโดยตรงแล้ว แต่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ภาครัฐต้องดูแลรักษาสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ
อีกทั้ง วิถีชีวิตแบบคนเมืองสมัยใหม่ที่เร่งรีบ เน้นการบริโภคอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน น้ำตาลสูง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารจึงเป็นกลยุทธ์การป้องกันที่สำคัญ
รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้พยายามหามาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชน ตระหนักถึงการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพผ่านข้อกำหนดการติดฉลากเครื่องดื่ม Nutri-Grade และตราสัญลักษณ์ Healthier Choice เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อลดการบริโภคน้ำตาลโซเดียม และไขมัน เป็นต้น ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีตราสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” เช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อกำหนดการติดฉลากเครื่องดื่ม Nutri-Grade และตราสัญลักษณ์ Healthier Choice เพื่อนำไปปรับใช้กับสินค้าของตนเพื่อส่งออกมายังตลาดสิงคโปร์ รวมทั้งข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าที่ ผู้บริโภคมองหาสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
โฆษณา