11 ก.ย. 2022 เวลา 05:00 • การตลาด
ชาวคิวบันใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในยุคน้ำมันขาดแคลน
ปัจจุบันชาวคิวบันเริ่มหันไปเลือกใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นทางเลือก สำหรับการเดินทางมากขึ้นในช่วงประเทศกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันอย่างหนักตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำมันโลกทำให้ราคาจำหน่ายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาก
โดยความนิยมเลือกใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในคิวบันส่วนหนึ่งเกิดจากดำเนินนโยบายสนับสนุน ของรัฐบาลในการควบคุมราคาจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในระดับที่ประชาชนมีกำลังสามารถซื้อได้ซึ่งปัจจุบันรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในคิวบามีราคาจำหน่ายในตลาดประมาณ 2,000 – 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน นอกจากนี้การดำเนินนโยบายจำกัดการนำเข้ารถจักรยานยนต์พลังงานน้ำมันของรัฐบาลคิวบาเองก็มีส่วนสำคัญทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงหันไปเลือกใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
ข้อมูลจากสำนักข่าว ABC News รายงานว่า ปัจจุบันคิวบามีจำนวนรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (หรือที่มักเรียกกันว่า Motorinas) เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 300,000 คัน เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คัน จากปี 2562 ดังนั้น เมื่อรวมกับจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดทำให้คิวบามีจำนวนยานพาหนะในประเทศ ทั้งสิ้นราว 500,000 คันทั่วประเทศ โดยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนยานพาหนะทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในเมือง Havana ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคิวบา
ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับ ความนิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้บริโภคชาวคิวบันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบสกู๊ตเตอร์ขนาดเล็กมีที่วาง พักเท่าขนาดใหญ่ตรงกลางและพื้นที่เก็บสัมภาระขนาด ใหญ่ตรงกลางตัวถังรถมีความเร็วไม่มากนักประมาณไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (31 ไมล์ต่อชั่วโมง)
โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในตลาดคิวบาเกือบทั้งหมดในปัจจุบันนำเข้ามาจากจีนผ่านปานามาซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของเมืองท่าหลักที่สำคัญของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คิวบาเองยังมีรถยนต์จักรยานยนต์ ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศแบรนด์ “Minerva” โดยบริษัท Ciclos Minerva ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ (State Owned Enterprise) ที่พัฒนามาจากการเป็นโรงงานผลิตจักรยานเริ่มผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกที่เมือง Villa Clara เมื่อปี 2560 กำลังการผลิตทั้งสิ้นประมาณ 8,000 คันต่อปี
Mr. Alejandro Vasallo ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากล่าวว่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความ นิยมในคิวบามาเป็นเวลานานพอสมควรแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่ปริมาณน้ำมันในประเทศเริ่ม ขาดแคลนและมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นประชาชนชาวคิวบันในประเทศต้องเข้าคิวรอที่สถานีบริการน้ำมันเพื่อที่จะเติมน้ำมันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จึงทำให้ชาวคิวบันจำนวนมากหันไปเลือกใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ความนิยมของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในคิวบาเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อเกิด สถานการณ์น้ำมันขาดแคลนในคิวบาในช่วงปี 2561 ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดปรับตัวสูงขึ้นซึ่งทำให้ชาวคิวบัน เช่นเดียวกัน ชาวคิวบันจึงหันไปเลือกใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนของ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนั้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่ประธานาธิบดีคิวบาได้ดำเนินนโยบายและร้องขอให้ผู้ประกอบการในประเทศช่วยนำเอารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอำนวยความสะดวกช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในลักษณะรถให้บริการรับส่งเป็นการพิเศษ (Unofficial Electric Motorcycle Taxi Service)
โดยรวมการที่รัฐบาลคิวบาดำเนินมาตรการควบคุมราคาจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในตลาด ให้อยู่ในระดับต่ำในขณะนี้ ทำให้ราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดมีราคาจำหน่ายถูกกว่ารถจักรยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้นในขณะนี้
คิวบาเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่สองใน แคริบเบียนรองจากประเทศเฮติอย่างไรก็ตามแม้จะมีจำนวนประชากรมากแต่การดำเนินนโยบายเปิดประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปีทำให้การพัฒนาประเทศค่อนข้างล้าหลังรายได้ประชากรไม่มากนักราว 9 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี อีกทั้งรายได้ประเทศกว่าร้อยละ 70 พึ่งพิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบรุนแรงทำให้ขาดหายความสามารถในการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าในปี 2564 ที่หดตัวลงเหลือเพียง 8.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือลดลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562
ปัจจัยการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อปริมาณอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง รัฐบาลคิวบาจำเป็นต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากเวเนซูเอลาซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันหลักลงเหลือเพียงร้อยละ 30 ของปริมาณนำเข้าในช่วงปกติเท่านั้น
ซึ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมชาวคิวบันในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นรัฐบาลคิวบาจึงจำเป็นที่จะต้องหันไปดำเนินนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทดแทนจักรยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันเพื่อลดผลกระทบทั้งนี้คาดว่ารัฐบาลคิวบายังคงจะดำเนินนโยบายสนับสนุนการใช้ยานพาหนะพลังงานทางเลือก ภายในประเทศต่อเนื่องในอนาคต
แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับคิวบาจะมีไม่มากนักโดยในปี 2564 ไทยและคิวบา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันทั้งสิ้น 6.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกไปคิวบาเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นมูลค่าการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 2.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐสินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ วัคซีน สายพานลำเลียง ยางรถยนต์ อาหารแปรรูป เครื่องจักรทางการเกษตร และผ้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตามด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันที่มีมาค่อนข้างยาวนานประกอบกับความต้องการนำเข้าสินค้าไทยของคิวบาในแทบจะทุกกลุ่มสินค้าทำให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดน่าจะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตใช้งาน และการบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในคิวบาด้วย
เช่น ยางล้อรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก เบาะรถ โครงรถ แบตเตอรี หมวกนิรภัย และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์ เป็นต้น อีกทั้ง กลุ่มสินค้าจักรยานไฟฟ้าที่เริ่มมีผู้ประกอบการในไทยมากขึ้นก็น่าจะมีโอกาสในการ ขยายตลาดส่งออกไปยังคิวบาด้วย
รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมใช้งานในประเทศ ไทยอย่างแพร่หลายมานานจนทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งการผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนการผลิตสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการไทยหลายรายได้พัฒนาตลาดไปสู่การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานไฟฟ้าเพื่อรองรับกับแนวโน้มความต้องการของตลาดที่ต้องการใช้ยานพาหนะพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นด้วย
อีกทั้งหากพิจารณาถึงปัจจัยด้านคุณภาพและเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยผู้ประกอบการไทยยังมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพจึงควรพิจารณาขยายตลาดส่งออกไปยังคิวบาที่น่าจะมีความ ต้องการนำเข้าทั้งสินค้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำหรับการผลิตและบำรุงรักษามากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ จากนโยบายการเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนต่างชาติของรัฐบาลคิวบาเองซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 2557 ที่ได้แก่ไขกฎหมายภายในประเทศเพื่อเอื้ออำนวยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนกิจการในคิวบาและโอนเงินกลับประเทศได้ ดังนั้น ในระยะยาวผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดในคิวบา และประเทศในภูมิภาคแคริบเบียนจึงอาจจะพิจารณาขยายการลงทุนไปตั้งกิจการเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด ที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวจากภาวะการแพร่ระบาดได้ในอนาคตอันใกล้นี้
อย่างไรก็ตามประเทศคิวบายังคงปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์การบริหารประเทศรวมถึงการตัดสินใจด้านกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ เป็นอำนาจภายใต้ระบบสภาเดียว ซึ่งการพิจารณาด้านนิติบัญญัติทำได้ง่ายจึงอาจจะก่อให้เกิดความผันผวนและเป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนได้ในอนาคต
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดในคิวบาควรที่จะศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางการเมืองและกฎระเบียบทางการค้าภายในของคิวบาอย่างละเอียดเพื่อเตรียมความพร้อมและลดอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้
โฆษณา