10 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย? เมื่อเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรพุ่งทะลุ 10%
สถานการณ์เงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร (UK) ที่สูงทะลุ 10%
กำลังหลอกหลอนผู้คนให้หวนนึกย้อนกลับไปตอนช่วงทศวรรษที่ 1970 อีกครั้ง
ตอนนั้น ประเทศเจอกับปัญหาราคาพลังงานสูง ซึ่งเกิดมาจากการคว่ำบาตรไม่ส่งออกน้ำมันของประเทศตะวันออกกลาง
มาตอนนี้กลายมาเป็นประเทศในทวีปยุโรปเองอย่างรัสเซียที่งดส่งออกพลังงาน
แต่ผลลัพธ์เมื่อดูแบบผิวเผินก็สะท้อนออกมาเหมือนกัน คือ ราคาพลังงานที่สูงส่งต่อมาสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูง กัดกร่อนอำนาจการซื้อของผู้คน
 
แต่ในรายละเอียด เงินเฟ้อครั้งนั้นก็มีส่วนที่แตกต่างกับเงินเฟ้อครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่เราจะยกมาเล่ากันในบทความ
📌 ปัญหาเงินเฟ้อตอนนี้ต่างกับตอนนั้น
เงินเฟ้อในเดือนล่าสุดของ UK ประกาศออกมาอยู่ที่ 10.1% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี
ครั้งสุดท้ายที่เงินเฟ้อสูงขนาดนี้ ต้องย้อนกลับไปถึงตอนยุค 1970-1980 ต้นๆ
 
ในตอนนั้น เงินเฟ้อ UK เฉลี่ยทั้งปีสูงสุดเคยขึ้นไปสู่ระดับ 25% ในปี 1975
 
เงินเฟ้อทั้งสองครั้งเกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
จนนำมาซึ่งการแบนส่งออกพลังงานมาที่ UK ครั้งแรกเกิดมาจากตะวันออกกลางและครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นตอนนี้ เกิดมาจากรัสเซียอย่างที่เรารู้กัน
1
ปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้คน
ส่งผลไปทั้งภาคการเงินและความเชื่อมั่นของรัฐบาล เป็นปัญหาที่กระทบกับทุกคนอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อในตอนยุค 1970 นั้นมีความแตกต่างจาก
ปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบันอย่างน้อย 2 ประการ
ความแตกต่างประการแรก คือ ประเทศ UK ในตอนช่วงปี 1970 มีโครงสร้างสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญให้แรงงานมีอำนาจต่อรองกำหนดค่าจ้างแรงงานในประเทศ
โดยในช่วงนั้น มีแรงงานมากกว่า 50% ของประเทศที่อยู่ภายใต้สหภาพแรงงาน
สหภาพแรงงานทุกสหภาพมีบทบาทซ้ำเติมเงินเฟ้อผ่านการขอขึ้นค่าจ้างหลังจากที่ข้าวของแพงจากเงินเฟ้อ
แต่ปัญหาก็คงจะไม่รุนแรงมาก ถ้าไม่มี “สหภาพแรงงานถ่านหิน”
รวมอยู่ในนั้นด้วย
เพราะเมื่อพวกเขาขอขึ้นจ้างแรงงานและไม่ประสบผล ก็เลยตามมาด้วยการสไตร์คหยุดงาน ซึ่งมาซ้ำเติมปัญหาราคาพลังงานในประเทศมากขึ้นไปอีก
1
ทำให้ตอนนั้นต้องออกนโยบายการทำงานสามวันต่อสัปดาห์ในปี 1974
(The Three Day Working Day) โดย Edward Heath
และก็มีการตัดไฟตามช่วงเวลา เพื่อให้มีไฟฟ้าพอใช้ได้ในประเทศ
ความแตกต่างประการที่สอง คือ ธนาคารกลางอังกฤษมีอิสระจากภาครัฐ และมีกรอบเป้าหมายในการจัดการเงินเฟ้อที่ชัดเจนกว่าเดิมมากแล้ว
ตามทฤษฎีแล้ว ความเป็นอิสระและกรอบเงินเฟ้อที่ชัดเจนของธนาคารกลางจะช่วยถ่วงดุลไม่ให้ผู้คนและธุรกิจปรับขึ้นราคามากจนเกินไปในช่วงที่เกิดเงินเฟ้อ
เพราะยิ่งมีการปรับราคามากขึ้น ธนาคารกลางก็จะยิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นไปอีก
กลายเป็นว่า การปรับขึ้นค่าจ้างหรือราคาของแรงงานหรือธุรกิจนั้น
ก็จะไม่ได้ทำให้ได้กำไรมากขึ้น เพราะถูกเบียดบังจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั่นเอง
📌 การเข้ามารับงานยาก Liz Truss จะเหมือนกับสมัย Thatcher หรือไม่?
 
ปัญหาเงินเฟ้อสมัยในยุค 70 มาถูกแก้ไขในยุคของ Thatcher ในช่วงต้นยุค 80 นั่น ผ่านการดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวต่อสหภาพแรงงาน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปสูงและการลดรายจ่ายของรัฐบาล เพื่อจัดการเงินเฟ้อ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้า
หลายคนจึงเปรียบเทียบกันว่า การเข้ามารับตำแหน่งของ Liz Truss คลับคล้ายกับการเข้ารับตำแหน่งของ Margaret Thatcher ที่ต้องเข้ามาจัดการปัญหาเงินเฟ้อที่สูงเช่นกัน
แต่เบื้องต้นนี้นโยบายที่ออกมาในรัฐบาล Liz Truss เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นในยุคสมัยของคุณ Thatcher เลยสักครั้ง นโยบายนั้นคือ “การอุดหนุนราคาพลังงาน”
เพราะทางคุณ Thatcher นั้นเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของตลาดเสรี การอุดหนุนแบบนี้ในมุมมองของเธอคงเป็นเหมือนรัฐสวัสดิการ ที่ Thatcher มองว่า ไม่ใช่แนวคิดที่เหมาะสม
ซึ่งที่ Liz Truss เลือกทำแบบนี้ น่าจะมาจากบทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ที่มีผู้คนจำนวนมากไม่พอใจนโยบายของ Thatcher ที่ทำให้พวกเขาต้องตกงาน จากสภาวะวิกฤติถดถอย
แต่ส่วนบทเรียนที่ดีที่นำมา ก็คือ การเตรียมตัวปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่รัฐบาลไม่ไปแทรกแซงธนาคารกลางอีกต่อไป
ซึ่งการเลือกทางเดินนี้ ก็น่าจะเป็นการช่วยผ่อนคลายค่าครองชีพของประชาชน ในสภาวะที่เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงถดถอย
แต่ข้อเสียที่สำคัญที่จะตามมา คือ ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ที่จะต้องก่อหนี้มากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ดอกเบี้ยต้องปรับตัวสูงขึ้นแบบนี้ ก็จะยิ่งส่งผลต่อความสามารถของประเทศต่อไปในอนาคตระยะยาว
และวิธีการอุดหนุนเช่นนี้ ก็ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร ถ้าราคาพลังงานไม่ปรับลงมาทีหลัง การใช้จ่ายงบประมาณส่วนนี้ก็จะช่วยบรรเทาได้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น
ซึ่งการบริหารแหล่งพลังงานในอนาคต เป็นงานสำคัญที่จะตัดสินอนาคตทางการเมืองของ Liz Truss ต่อไป...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : Daily Express/Hulton Archive/Getty Images via Bloomberg
#APEC2022Thailand #APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา