3 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ย้อนอดีต “กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำโซเวียดคนสุดท้าย ผู้ปิดฉากสงครามเย็น
ทั่วโลกไว้อาลัยต่อการจากไปของอดีตผู้นำโซเวียตคนสุดท้าย
“มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)”
บุคคลสำคัญผู้ช่วยปิดฉากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
แต่ผลลัพธ์ข้างต้นเป็นเพียงหน้าม่านส่วนเดียวของชีวิตการเมืองของท่านเท่านั้น เบื้องหลังม่านทั้งนโยบาย
การตัดสินใจและผลกระทบที่ตามมาในชีวิตการเมืองของท่าน ก็ควรค่าแก่การศึกษาของคนรุ่นหลังไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งมันจะเปิดมุมมอง ให้เราเข้าใจความเป็นมาของรัสเซียแบบที่เป็นในปัจจุบันได้ดีขึ้น...
📌 ชีวิตก่อนการเข้าสู่การเมือง
ชีวิตวัยเด็กของคุณกอร์บาชอฟเติบโตขึ้นมาในครอบครัวในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งไม่ได้มีฐานะร่ำรวย และต้องคอยปลูกพืชผักตามนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง ไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเอง
ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดเกลาแนวความคิดด้านนโยบายเศรษฐกิจของคุณกอร์บาชอฟในเวลาต่อมา
เล่าเพิ่มเติมย้อนอดีตเล็กน้อยสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วหลัก คือ ฝั่งสหรัฐอเมริกาและฝั่งสหภาพโซเวียต ซึ่งมีแนวคิดทางระบอบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันพอสมควรทีเดียว
ในสหรัฐฯ เน้นระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีเป็นสำคัญ ใช้กลไกตลาดในการตัดสินว่า ทรัพยากรควรไปอยู่ในภาคธุรกิจใด
ส่วนในโซเวียด มีการใช้ระบอบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เริ่มแรกมีเพื่อแก้ปัญหาที่ภาคธุรกิจเอารัดเอาเปรียบภาคแรงงานจนเกินไป จึงจัดการให้ภาครัฐเป็นคนคอยควบคุมและปันส่วนผลผลิตให้คนในสังคม
กลับมาที่เรื่องราวของคุณกอร์บาชอฟ แม้จะอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เขาก็สามารถไต่เต้าขึ้นมาจนสามารถเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอสโก ซี่งเป็นที่ที่เขาได้พบกับภรรยาในอนาคต “ไรซา” ด้วย
หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็เริ่มเข้าสู่ชีวิตการเมือง
📌 นโยบาย Perestroika และ Glasnost อันเลื่องชื่อ
เมื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองมิคาอิล กอร์บาชอฟ ก็เติบโตอย่างรวดเร็วในพรรคคอมมิวนิสต์ จากผลงานที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับหน้าที่ควบคุมพื้นที่การเกษตรในแถบบ้านเกิด ที่เขาทำได้ยอดเยี่ยม
ซึ่งในสมัยนั้น ตำแหน่งในการดูแลเกษตรกรรมเป็นตำแหน่งสำคัญ ที่ทำได้ดีก็จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศได้
และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณกอร์บาชอฟเติบโตในเส้นทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว เพราะเขาเป็นคนที่รู้จักกาลเทศะในการเรื่องพูด เมื่อผู้มีอำนาจมีแนวคิดเดียวกับเขา เขาก็สนับสนุนเต็มที่ แต่เมื่อผู้มีอำนาจคิดต่างออกไป ก็เลือกที่จะเงียบรอเวลาของตนเอง
1
และเวลาของเขาก็มาถึงในปี 1985 เมื่อเขาได้รับเลือกให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ หรือก็คือเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตด้วย
 
คุณกอร์บาชอฟดำเนินตามแนวความคิดตนเอง ออกนโยบายที่โด่งดังที่สุดนโยบายหนึ่งในศตวรรษที่ 20 คือ
“Perestroika (ปีรีสโตรยก้า) และ Glasnost (กลาสนัสต์)”
Perestroika แปลว่า การปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งตอนแรกเขาต้องการเพียงแต่จะปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่สุดท้ายก็มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองด้วย ซึ่งสิ่งนี้สร้างความไม่พอใจ และการถ่ายโอนของอำนาจบางส่วนให้เกิดขึ้นแล้ว
การปฏิรูปส่วนสำคัญที่เกิดขึ้น คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศสามารถตัดสินใจในการผลิตสิ่งต่างๆ เปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการนำความคิด “การใช้แรงจูงใจ (incentive)” เข้ามาเพื่อให้แรงงานอยากทำงานมากขึ้น
ซึ่งในตอนแรกก็อาจจะมีผู้ที่ไม่พอใจอยู่บ้าง ที่ผู้นำไปนำแนวคิดเศรษฐกิจแบบตะวันตกเข้ามาใช้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจของโซเวียตตอนนั้นไม่ค่อยสู้ดีนัก และทุกคนก็ยอมรับกลายๆ ว่า ประเทศต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่าง
ทำให้ถึงจะไม่เห็นด้วย ก็ต้องเฝ้ารอดูผลไปก่อน
ซึ่งผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา ก็ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นรวดเร็วอย่างที่หวัง ส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างนี้ทำให้ราคาอาหารที่เคยได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐมาตลอดไม่ได้รับการอุดหนุนอีกต่อไป เมื่อมีการเปิดเสรี
ทำให้ราคาอาหารปรับเข้าสู่จุดที่สะท้อนต้นทุนการผลิตอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อค่าครองชีพของคนในโซเวียตอย่างมาก
ส่วน Glasnost แปลว่า การเปิดกว้าง (openness) ซึ่งเป็นการเปิดกว้างทั้งทางการเมืองให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และเปิดอิสรภาพของสื่อมวลชน ซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่า วิธีนี้คือวิธีเดียวที่จะลดความเฉื่อยชาในระบบราชการรัสเซีย และลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก
การเปิดกว้างนี้นำมาซึ่งข้อเสียที่ทางคุณกอร์บาชอฟอาจจะไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า คือ การประท้วงของประเทศสมาชิกสหภาพโซเวียต ที่ต้องการผู้นำท้องถิ่นของตนเอง และประชาชนที่ประท้วง เมื่อเห็นข่าวต่างประเทศจากสื่อ และทราบว่า คุณภาพชีวิตในประเทศพวกเขาแย่กว่าตะวันตกแค่ไหน
📌 บทบาทการสร้างสันติภาพกับตะวันตก และจุดสิ้นสุดสงครามเย็น
แนวนโยบายที่ออกมานี้ เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความซับซ้อนทางการเมือง และโอกาสในการฉกฉวยอำนาจ จนสุดท้ายสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายในปี 1991 และกอร์บาชอฟก็ถูกบีบให้ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำโซเวียต เนื่องจากไม่มีโซเวียตอีกต่อไป
ซึ่งในสายตาของแต่ละคน ก็มองคุณกอร์บาชอฟไม่เหมือนกัน บ้างก็อาจจะไม่ชอบกล่าวว่า เขาเป็นต้นเหตุที่ทำให้โซเวียตล่มสลาย
แต่ก็มีไม่น้อยที่ชื่นชมคุณกอร์บาชอฟในฐานะผู้ช่วยปิดฉากสงครามเย็น
เพราะนโยบายการเปิดประเทศของกอร์บาชอฟ ยังพ่วงมาด้วยแนวคิดในการยกเลิกนโยบายการทหารขนาดใหญ่ และเลิกการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ด้วยผ่านการเซ็นสนธิสัญญากับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคนั้นโรนัลด์ เรแกน
นอกจากนี้ กอร์บาชอฟยังเลือกที่จะไม่เข้าไปขัดขวางการรวมประเทศเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก จนทำให้เกิดการทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 และทำให้เขาได้รับโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1990
หากตอนนั้น คุณกอร์บาชอฟไม่เลือกที่จะดำเนินนโยบายแบบนี้ เราก็ไม่อาจจะแน่ใจได้เลยว่า โลกในยุคต่อมาจะเข้าสู่ช่วงมีเสถียรภาพเติบโตได้อย่างที่เป็นหรือไม่
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Boris Yurchenko / AP photo

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา