12 ก.ย. 2022 เวลา 06:13 • สุขภาพ
ยอมรับความรู้สึกตัวเอง ในวันที่ต้องเจอกับความสูญเสีย
.
“กลไกของจิตใจ” สามารถสั่งให้เราหยุดคิดถึงสิ่งที่ไม่ควรคิดได้ ลองสังเกตได้จากเวลาเราอยากซื้อของบางชิ้น แม้ว่าชอบมากแค่ไหน ก็สามารถหยุดคิดแล้วเลือกอีกสิ่งที่คิดว่าดีกว่าได้
.
ตัวเราเก่งกว่าที่เราคิด จิตใจของเราจะพยายามหาทางออกให้กับตัวเราเสมอ แต่ก่อนที่จะหาทางออกได้ เราต้องเชื่อมั่นในตัวเองเสียก่อน แล้วเราจะสามารถผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้
.
คนเราเกิดมาต้องเจอกับความสูญเสียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มันเป็นธรรมชาติของคน เรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย คนรอบข้างต้องตาย เรารู้ว่าต้องเจอความสูญเสียนั้นอย่างแน่นอน แต่อะไรล่ะที่ทำให้เรามีแรงตื่นขึ้นมาทำงาน ตื่นมาใช้ชีวิตโดยไม่กลัวตาย เหตุผลของคนส่วนใหญ่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้ เพราะเขามักจะมองว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว ความสูญเสียนั้นยังมาไม่ถึง จึงไม่จำเป็นต้องคิด และนี่แหละคือความสามารถของจิตใจที่จัดการไม่ให้เรานึกถึงสิ่งแย่ๆ ที่ยังมาไม่ถึง
.
จริงอยู่ที่วิธีการ “ไม่นึกถึงมัน” ทำให้เราสามารถเดินไปข้างหน้าได้ แต่ก็ไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืนซะทีเดียว เพราะหากเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เราจะหมดพลังสู้ไปข้างหน้า เนื่องจากจิตใจไม่ทันรับมือ
.
แม้ตัวเราเก่งก็จริง แต่สิ่งที่ทำให้เราผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้ คือทักษะความสามารถภายในจิตใจ จึงมีศาสตร์เกี่ยวกับการเยียวยาความโศกเศร้า สิ่งนี้ไม่ได้ใช้กับสถานการณ์สูญเสียในชีวิตเท่านั้น แต่ยังหมายความถึงการรับมือกับเรื่องไม่ดีที่เข้ามากระทบต่อจิตใจได้อีกด้วย
.
ศาสตร์การเยียวยาความเศร้าโศก คือ การให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกออกจากปากเขาเอง “เน้นที่ความรู้สึก” เล่าว่าเหตุการณ์นั้นทำให้รู้สึกอย่างไร เล่าความรู้สึก ณ ขณะที่กำลังพูด มันอาจเป็นความรู้สึกเสียใจมาก โกรธแค้นมาก หรือรู้สึกโทษในโชคชะตา หรือแม้แต่โทษในพระเจ้า ให้ลองจินตนาการเมื่อเราอกหักแล้วต้องการเล่าให้เพื่อนสนิทสักคนฟัง หลังจากเล่าทั้งหมดออกไป แล้วรู้สึกสบายใจ นั่นก็คือวิธีการแบบเดียวกัน เพียงแต่เราต้องซื่อสัตย์กับใจตัวเอง รู้สึกอย่างไรก็เล่าออกมาอย่างนั้น
.
เมื่อเล่าออกมาหมดแล้ว ลำดับถัดมาคือการ “ยอมรับ” ในความรู้สึกเหล่านั้น แม้คนทั่วไปจะมองว่าความโกรธไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่การรู้ตนเองว่ากำลังโกรธแล้วยอมรับมัน ย่อมดีกว่าเมื่อโกรธหรือเสียใจแล้วเก็บเอาไว้ ไม่ระบายออกมา สุดท้ายแล้วพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามมา อาจจะกลายเป็นการเก็บตัวจากสังคม หรือทำร้ายตัวเองก็เป็นได้
.
หลังจากยอมรับว่ากำลังเสียใจ สิ่งถัดมาคือ “สงสารตัวเอง” นี่คือหัวใจสำคัญในการเยียวยาจิตใจ เพราะไม่มีใครสามารถเยียวยาเราได้เท่าตัวเราเอง หากคุณมองว่าเขาคนนี้ (ตัวเราเอง) กำลังเสียใจหรือกำลังโกรธ คุณจะไม่ช่วยตัวคุณเองเลยหรือ
.
หากคุณสงสารตัวคุณเอง สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ คุณจะหาทางช่วยตัวคุณคนนี้อย่างไร?
.
แม้คนส่วนใหญ่ที่เจอกับเหตุการณ์ร้ายๆ จะไม่รู้วิธีการเยียวยาตัวเองให้หลุดพ้นจากความเสียใจอย่างไร แต่สิ่งแรกที่ทำได้แน่ๆ คือ “การปลอบใจตัวเอง” ลองถามตัวเองว่าตอนนี้คุณสามารถปลอบใจตัวเองได้แล้วหรือยัง?
.
บางคนต้องเจอกับเหตุการณ์ร้ายๆ อย่างในสงคราม ผู้คนรู้ว่าอันตรายกำลังจะมาถึง การหนีออกมาจากบ้านของตนเองและใช้ชีวิตต่อไปได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่การยอมรับความเปลี่ยนแปลง ยอมรับในความสูญเสีย ว่ามันต้องเป็นเช่นนั้น พอจิตใจเรายอมรับ เราจะกลับมาอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น จิตใจที่บอบช้ำจะค่อยๆ ถูกเยียวยาให้เราผ่านมันไปได้
.
สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน สิ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ ออกมาทำมาหากิน ใช้ชีวิตได้ปกติ คนกลุ่มหนึ่งอาจมองว่าอันตรายนี้เป็นเรื่องไกลตัว เลยไม่นึกถึงอันตราย ในขณะที่คนอีกกลุ่มมองว่าพวกเขาอยู่ด้วยความเข้าใจและยอมรับมัน
.
“การเข้าใจและยอมรับ” ในประเด็นเหตุการณ์ความไม่สงบสามารถมองได้หลายมิติมาก อย่างน้อยผู้คนใน 3 จังหวัดก็ยอมรับ (จำยอม) ว่าต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปอีกนานแสนนาน ดังนั้นเมื่อเรายอมรับในเงื่อนไขเวลานี้แล้ว ผู้คนก็จะพยายามหาทางออกในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยด้วยตนเอง
.
การรับมือด้วยความเข้าใจและยอมรับ สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แม้แต่เหตุการณ์โควิด-19 รวมถึงเหตุการณ์สูญเสียอื่นๆ ที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยการไม่นึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น มันก็สามารถทำได้ แต่เมื่อคุณเจอกับความสูญเสียขึ้นมา คุณจะสาหัสเอาการ
.
ทุกคนมีทักษะการยอมรับและเข้าใจอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ต้องอาศัยการฝึกฝน ซึ่งสามารถฝึกฝนได้กับทุกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะเข้าใจตนเองในวันนี้และพร้อมรับมือกับวันพรุ่งนี้ได้อย่างเข้มแข็ง
.
.
เรื่อง : นายแพทย์เอ็มนัสรี มินทราศักดิ์ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลปัตตานี
ภาพโดย : อับดุลกะริม ปัตนกุล
#MysteryMental #Humanitas
โฆษณา