12 ก.ย. 2022 เวลา 06:15 • ความคิดเห็น
ผัดวันไม่ใช่ขี้เกียจ แต่เป็นการหลีกเลี่ยง : เพราะความกลัวว่างานที่ทำจะออกมาไม่ดีอย่างที่คิด
เช้าวันนี้ Facebook แจ้งเตือนขึ้นมาบอกว่าเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่ผมเริ่มเขียนงานแบบจริงจัง จำได้ว่าตอนที่เริ่มเขียนบทความนั้นไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพียงแค่อยากให้มีคนอ่าน แค่นั้นก็ถือว่าสำเร็จแล้ว แต่ประมาณสองปีต่อมา มีโอกาสออกหนังสือเล่มแรก ต่อจากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
มันเหมือนกับมีกำแพงทางความคิดที่หนาทึบเกิดขึ้น ขวางกั้นตัวผมกับการทำงานที่ตัวเองอยากทำ ผมติดกับดักทางความคิดที่พยายามจะ “เลี่ยง” งานเขียนต่างๆเป็นเวลาหลายเดือนเลย ผัดวันออกไปเรื่อย ๆ เลี่ยงไปทำนู้นทำนี่บ้าง ไม่ยอมเริ่มเขียนงานใหม่ๆซะที คิดว่าอยากเขียนแต่ก็กังวลวิตก กลัวว่าเขียนไปแล้วจะไม่ดี กลัวพลาด แล้วความคิดหนึ่งก็เกิดขึ้น
“หรือว่าผมจะไม่ใช่ ‘นักเขียน’ หรอกนะ เพราะถ้าเป็นนักเขียน ก็ไม่ควรเป็นแบบนี้สิ ไม่ควรที่จะเลี่ยงการเขียนแบบนี้ ผมไม่ได้หลงใหลมันแล้วเหรอ?”
แต่โชคดีที่ความคิดเหล่านั้นอยู่ไม่นาน (เพราะไม่งั้นคงไม่มาถึงตรงนี้) เพราะยิ่งความคิดนั้นชัดเจนมากขึ้นเท่าไหร่ มันจะยิ่งฝังลึกและกลายเป็นความจริงมากขึ้นเท่านั้น ผมกลับมาเขียนใหม่ได้อีกครั้งและมีหนังสือเล่มที่สอง และต่อมาเรื่อยๆอีกหลายเล่มจนถึงตอนนี้ เขียนบทความลงเว็บไซต์และเพจชื่อดังของบ้านเราเกือบสิบแห่งต่อเดือน
การเอาชนะกับดักทางความคิดที่เรามัวแต่คิดไม่ลงมือทำสักทีมีอยู่สองข้อ
1. ต้องเข้าใจว่า “เราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่ตัวเราคิด”
การมีความรู้สึก กลัว กังวล หรือ ไม่มั่นใจที่จะลงมือทำ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเลี่ยงที่จะทำตามความคิดนั้นไปด้วย ความรู้สึกข้างในที่อยากจะหยุดเขียน เลี่ยงที่จะไม่ทำ เป็นเหมือนความคิดที่จะผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป ไม่ใช่การยืนยันรับรองว่าตัวเราเป็นแบบนั้น
ความรู้สึกเป็นเพียงความรู้สึก เรามักคิดมากเกินไปเสมอ อย่าสับสนตัวตนของตนเองกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ที่จริงแล้วการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความรู้สึกที่ไม่ได้สวยงามระหว่างทำงานหนักตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ต่างหากที่บ่งบอกว่าเราเป็นใคร ไม่ใช่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน
2. อย่าไปเชื่อทุกสิ่งที่ตัวเองคิด
ทุกคนมีความคิดและแรงกระตุ้นที่กวนใจอยู่เสมอ บ่อยครั้งเราอาจจะอธิบายมันไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร บางครั้งมันก็ขัดแย้งและแปลกประหลาด ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดา ระบบประสาทและสมองของเราถูกสร้างขึ้นมาแบบนั้น ซึ่งเป็นการยากที่จะควบคุมมันได้ด้วย
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เราทำได้คือการตัดสินตัวเองจากเพียงแค่ความคิดที่อยู่ในหัว ความจริงคือการพยายามบอกตัวเองว่าอย่าไปคิดหรือนึกถึงมัน ยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงมากขึ้นไปอีก มันมีชื่อเรียกว่า “Ironic Process Theory”
มันมีการทดลองอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี มันถูกเรียกว่า “White Bear Test” โดยจะบอกให้เรานั้น “อย่าคิดถึงหมีโพล่าร์แบร์” และถามว่าตอนนี้คุณคิดถึงอะไรอยู่? แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะตอบว่า “หมีโพล่าร์แบร์” หรือ “หมีขาว” นั้นแหละครับ สิ่งที่พยายามจะบอกก็คือบางทีเราไม่สามารถบังคับความคิดไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ ยิ่งเราพยายามกดมันมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มันแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นก็แค่รู้ว่ามันมีอยู่และไม่ต้องเชื่อทุกอย่างที่ตัวเองคิด
ความคิดที่ว่าตัวเองยังไม่ดีพอ กังวล หรือไม่ใช่สิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้บ่งบอกความเป็นตัวตนของตัวเอง เพราะฉะนั้นการยิ่งเราไปให้ความสำคัญกับมัน ยิ่งเราคิดว่าเราต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ สุดท้ายเราก็จะเป็นแบบนั้นจริงๆ
การลงมือทำต่างหากที่บ่งบอกว่าเราเป็นใคร ไม่ใช่ความคิดของเรา
2
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมเริ่มกังวลหรือความรู้สึกแบบนี้เริ่มกลับมาอีก ผมก็พร้อมที่จะรับมือกับมันด้วยการเริ่มเขียนให้เร็วที่สุด พยายามตอบโต้ความคิดด้วยการลงมือทำ อาจจะเป็นเวลาไม่นาน เขียนสัก 30-40 นาทีแล้วความคิดเหล่านั้นจะสลายตัวไปเองอย่างไม่น่าเชื่อ หรือแม้แต่แค่เป็นบันทึกประจำวันก็ถือว่าโอเคแล้ว
2
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะไม่พยายามควบคุมความคิดที่เกิดขึ้น ความคิดเป็นเพียงความคิด การลงมือทำต่างหากคือของจริง
2
ช่องทางติดตามบทความเพิ่มเติม
The People, Beartai, The Matter, CapitalRead, 101.World, GQ, a day Bulletin : สามารถค้นหาชื่อ ‘โสภณ ศุภมั่งมี’ ได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา