17 ก.ย. 2022 เวลา 10:18 • ธุรกิจ
ไม่ใช่ Great Resignation แต่เป็น Great Switch Job
การทำงานในโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดแนวโน้ม “การลาออกครั้งยิ่งใหญ่” แต่คำถามที่ตามมาก็คือ คนนับล้านที่ลาออกนั้น…ไปไหนกัน?
.
The Great Resignation หรือ “การลาออกครั้งยิ่งใหญ่” คือกระแสการลาออกของพนักงานเป็นจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าการระบาดจะชะลอตัวลง รวมทั้งเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องจับตาและเร่งหาแผนการรองรับ หากไม่อยากสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของตน
.
เมื่อพนักงานที่เผชิญมรสุมจากโควิค-19 ได้โอกาสเริ่มต้นทบทวนตัวเองว่า ต้องการชีวิตการทำงานแบบใด ย่อมทำให้เกิดความคาดหวังใหม่ๆ ว่าจะได้รับสิ่งที่ดีกว่าเดิม หากองค์กรไม่สามารถสนองตอบได้ ก็มีโอกาสที่พนักงานจะยกขบวนกันลาออก ซึ่งมีตัวเลขยืนยันชัดเจนแล้วในกรณีของสหรัฐอเมริกา ด้วยสาเหตุหลักสองประการคือ
.
พนักงานต้องการ work from anywhere
ช่วงเวลาระบาดอันยาวนาน ทำให้การทำงานแบบ work from home ยาวนานตามไปด้วย จนพนักงานเกิดสำนึกว่า เราอาจทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสำนักงาน การทำงานแบบใหม่นี้ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
แต่เมื่อโควิดซาลง องค์กรหลายแห่งกลับคาดหมายให้พนักงานต้องกลับมาประจำออฟฟิศเหมือนเดิม ซึ่งขัดแย้งกับความคิดของพนักงานไปเสียแล้ว คนกลุ่มนี้พร้อมจะเปลี่ยนงาน เพื่อไปหาองค์กรใหม่ที่มอบชีวิตการทำงานแบบยืดหยุ่นให้กับพวกเขาได้
.
พนักงานต้องการชีวิตที่ดีขึ้น
.
พนักงานจำนวนมากเห็นว่า องค์กรมิได้ช่วยเหลือปกป้องพนักงานจากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดได้ดีพอ โดยเฉพาะพนักงานในภาคบริการที่ต้องเดินทางมาทำงานที่สำนักงาน และยังต้องพบปะผู้คนต่อไป ทำให้พนักงานรู้สึกว่าชีวิตตนเกิดความเสี่ยง
.
ปัญหาต่อมาอาจรวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันตัว ที่พนักงานต้องรับผิดชอบเอง เช่น ค่าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ค่าตรวจโควิด การหาวัคซีน หรือการไม่จ่ายค่าจ้างช่วงที่พนักงานหยุดงานเพราะป่วยเป็นโควิดหรือต้องกักตัว เป็นต้น องค์กรที่มิได้ใส่ใจบรรเทาทุกข์พนักงานในเรื่องนี้ หรือทำอย่างขอไปที ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานเอาใจออกห่างและอยากลาออกได้
.
อาจกล่าวได้ว่าประเด็นแรกเป็นปัญหาของพนักงานส่วนที่เรียกว่า white collar หรือพนักงานประจำแบบทำงานนั่งโต๊ะ และมิได้เป็นผู้ใช้แรงงาน ส่วนประเด็นที่สองนั้น เป็นปัญหาของกลุ่มคนงานที่เรียกว่า blue collar หรือลูกจ้างที่ต้องใช้กำลังแรงงานเพื่อแลกเป็นรายได้
ตัวเลขการเลิกจ้างงานของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2021 แตะระดับสูงสุด 3 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 4.5 ล้านคน จนเกิดคำถามตามมาว่า ผู้คนมากมายเหล่านี้ไปไหนกันต่อ
.
Chris Decker นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Nebraska Omaha ชี้ว่า โรคระบาดหนนี้ช่วยเร่งให้คนทำงานสูงวัยเกษียณชีวิตการทำงานของตนเร็วขึ้น หลายคนอาจถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง คนพวกนี้อาจอยู่ในวัยกลางคนไปจนถึงปลาย 50 มีเป็นจำนวนมากที่เลือกเกษียณอายุก่อนกำหนดไปเลย
.
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลาออกล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 อยู่ที่ 2.9% คิดเป็น 4.4 ล้านคน แต่ในช่วงเดียวกันนี้กลับมีผู้ถูกว่าจ้างถึง 6.7 ล้านคน
.
Jay Zagorsky อาจารย์อาวุโสแห่ง Questrom School of Business มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า คนจำนวนมากเหล่านี้ลาออกเพื่อไปที่อื่น มิได้นั่งทอดน่องสบายๆ บนโซฟาแต่อย่างใด เขาไม่ยอมรับแนวคิดทฤษฎีที่ว่าโควิด-19 ทำให้คนเกษียณอายุเร็วขึ้น
.
“ในบางครั้งนั้น The Great Resignation อาจเป็นเรื่องจริง แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นแค่นิทานเท่านั้น การลาออกของพวกเขานั้นมิได้เดินหันหลังให้แล้วหายไปเลย ตรงกันข้าม ผู้คนมากมายลาออก แต่ก็มีที่ใหม่จ้างงานพวกเขาต่อไป พวกเขากำลังเปลี่ยนงานเท่านั้น ผมไม่ขอเรียก The Great Resignation แต่ควรเป็น The Great Job Switch มากกว่า”
.
แต่ The Great Job Switch มิได้เกิดขึ้นทุกที่ อย่างเช่นลูกจ้างภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ อัตราการลาออกสูงสุดนั้นกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมภาคบริการและพักผ่อนหย่อนใจ (leisure and hospitality) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บาร์ รวมทั้งร้านค้าปลีกเป็นหลัก สังเกตว่าเป็นพนักงานในกลุ่ม blue collar เสียเป็นส่วนใหญ่
.
Zagorsky ระบุว่า เราเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าทำไมต้องเป็นที่นั่น
.
ส่วน Decker พยายามโต้ว่า ลูกจ้างที่มีอายุน้อยอาจกำลังเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปสู่การเรียนต่อ คนจำนวนมากอาจตัดสินใจทำเช่นนี้ แทนที่จะกลับไปเป็นแรงงานในทันทีหลังลาออกหรือถูกเลิกจ้าง “พวกเขาอาจเลือกกลับไปเรียนต่ออย่างเต็มเวลาก็ได้ พวกมีการลงทะเบียนเรียนในโปรแกรมเพื่อรับปริญญาในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น”
.
ทั้งนี้ข้อมูลสถิติของสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราการลาออกของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนเกิด pandemic เสียอีก แม้มีบางช่วงจะลดต่ำไปบ้างก็ตาม
.
Zagorsky ชี้ว่า ในสหรัฐฯ มีอัตราการเลิกจ้างสูงมาตลอด เรานั้นมีตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นคล่องตัว คำถามก็คือตลาดแรงงานของเราไหลลื่นคล่องตัวเกินไปหรือไม่
.
โพลของ Harris/USA Today พบว่า ราว 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 5 ของผู้ที่ลาออกในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในตอนนี้กลับเสียใจที่กระทำเช่นนั้น และมี 25 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเขาเข้าใจวัฒนธรรมในการทำงานของที่ทำงานเดิมผิดพลาดไป
.
Zagorsky ชี้ว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจในเนื้องานของเราอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะเข้ารับงาน และนายจ้างก็ต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่ดึงดูดการจ้างงานนั้นมีมากกว่าเรื่องเงิน
.
“เหตุที่คนลาออก ไม่ใช่เพราะปัญหาทางการเงินอย่างเดียว พวกเขาต้องรู้สึกว่าตัวเองนั้นมีค่า ไม่ถูกละเมิด ไม่ถูกดูหมิ่น ถ้าคนรู้สึกว่ามีค่า ได้รับความเคารพ รู้สึกว่าเป็นคนสำคัญขององค์กร ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ลาออก”
1
.
.
เรื่อง : ธนัย เจริญกุล
ภาพจาก : pexels.com
ข้อมูล :
#Spotlight #Resignation #WFH #Job #Humanitas
โฆษณา