14 ก.ย. 2022 เวลา 10:28 • ไลฟ์สไตล์
ส่องโลกของ "ไวน์โลกใหม่" (ฉบับมือใหม่ หัดรู้จัก)🍷
เพื่อน ๆ มือใหม่หัดเลือกไวน์ หรือกำลังเลือกไวน์เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใหญ่
เวลาที่คิดอะไรไม่ออก ก็มักจะได้ยินคนพูดผ่านหู (หรือ search เจอในกูเกิ้ลกับพันทิป) บ่อย ๆ ว่า
 
- อยากได้หรู ๆ หน่อย ก็จัด “Opus one” (จากหุบเขานาปา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา)
- ไวน์ของ Robert Mondavi ก็ไม่เลวนะ นั่นจากไร่องุ่นของเจ้าพ่อไวน์อเมริกันเลยนะ ! (จากหุบเขานาปา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา)
- คิดไรไม่ออกจริง ๆ ไม่อยากได้แพงมาก ก็จัดไวน์ Bin 2 Bin 8 หรือ Bin 389 ไปฝากผู้ใหญ่ละกัน (ไวน์ของเพนโฟลด์จากออสเตรเลีย)
- หรือถ้าอยากได้ไวน์ราคาเบา ๆ ดื่มคนเดียวสบาย ๆ จัดไวน์ของ Chile, South Africa ดีดีมีเยอะแน่นอน..
เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนคงต้องเคยคุ้นกับชื่อเหล่านี้ หรือเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง 😅
จากรายชื่อส่วนใหญ่ ถ้าดูจากแหล่งผลิตไวน์แล้ว เราก็จะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นไวน์ที่มาจากนอกทวีปยุโรป (ุถึงแม้จะมีชื่อสายพันธุ์องุ่นจากยุโรป เช่น Cabernet Merlot, Shiraz Mataro, Riesling ก็ตาม)
หากว่าไวน์องุ่นเหล่านี้ถูกปลูก บ่ม และผลิตนอกยุโรป เราก็จะจัดกลุ่มไวน์เหล่านี้ว่า “ไวน์โลกใหม่ (New World Wine)”
เรื่องราวของไวน์โลกใหม่ จะค่อนข้างแตกต่างจากใน Part ที่ 1 หรือ ไวน์โลกเก่า/ยุโรป ที่พวกเราได้เล่าสั้น ๆ กันไปในโพสก่อนหน้านี้
เอ้ะ 🤔 .. ชักเริ่มสงสัยแล้วสิว่า ในเมื่อต้นกำเนิดของสายพันธุ์องุ่นไวน์ มาจากองุ่นของทวีปยุโรป
แล้วจุดอะไรที่ทำให้ไวน์โลกใหม่ แตกต่างจากไวน์โลกเก่าบ้างละ ?
แล้วไวน์โลกใหม่เนี่ย มันมีความเป็นมาคร่าว ๆ ยังไงบ้างนะ ?
พวกเรา InfoStory ขอชวนเพื่อน ๆ ไปอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ “ไวน์โลกใหม่” ในแบบฉบับของมือใหม่หัดรู้จักไวน์ในโพสอัลบั้มนี้กันดีกว่า !
ซึ่งเราขอเลือกเรื่องราวของประเทศสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, ชิลีและอาร์เจนตินา มาให้เพื่อน ๆ ได้เปิดโลกไปพร้อม ๆ กันนะคร้าบ
[ เถาองุ่นจากยุโรป สู่ เถาองุ่นนอกยุโรป 🗺🍇 ]
คิดว่าเพื่อน ๆ อ่านหัวข้ออาจอ่านแล้ว งง งง กันบ้างเล็กน้อย
ว่ากันง่าย ๆ คือ จากไวน์โลกเก่า(ยุโรป) ไปสู่ "ไวน์โลกใหม่” มันแพร่ขยายออกไปได้ยังไงกันนะ ?
งั้นต่อจากนี้ เราขอเล่าเรื่องเพิ่มเติมต่อจากในภาพอินโฟกราฟิกภาพนี้นะคร้าบ
เราขออธิบายต้นกำเนิดของไวน์โลกใหม่ ด้วยประโยคนี้
“ที่ใดที่มีคนนับถือศาสนาคริสต์ ที่นั่นย่อมมีไวน์องุ่น” ⛪✝🍷
InfoStory
ว่ากันว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1492 ที่โคลัมบัสได้ค้นพบทวีปใหม่ (อเมริกาและแอฟริกา) และการเดินเรือของชาวยุโรปเริ่มพัฒนามากขึ้น
ผู้อพยพชาวยุโรปก็ได้โยกยย้ายเข้าไปสู่กลุ่มประเทศในทวีปใหม่ ๆ
โดยส่วนมากผู้อพยพชาวยุโรปก็นับถือศาสนาคริสต์กันเป็นปกติ
พอพวกเขาเข้าไปครอบครองดินแดนใหม่ ๆ
แน่นอนว่า…ศาสนาคริสต์ก็ถูกเผยแพร่เพิ่มมากขึ้น
“ไวน์องุ่น” จึงได้ค่อย ๆ แพร่ขยายตามศาสนาคริสต์
ผู้อพยพชาวยุโรปหลายคน ก็เริ่มเห็นประสิทธิภาพผืนดินและสภาพอากาศของดินแดนทวีปใหม่ ว่าไม่ได้มีความแตกต่างอะไรไปจากทวีปยุโรปเลย (คือ แตร์รัว เหมาะสมกับการปลูกไวน์มาก)
อย่างไรก็ดี… ด้วยเทคนิคการปลูกและผลิตไวน์องุ่นสายพันธุ์พื้นเมืองของไวน์ทวีปใหม่ อาจไม่ได้ช่วยทำให้ไวน์องุ่นโลกใหม่มีรสชาติที่ดีแบบยุโรป
(เข้าใจว่าต่อให้ดินจะสมบูรณ์ แต่สายพันธุ์องุ่น มันไม่เหมือนกับองุ่น “ Vitis vinifera” หรือสายพันธุ์ไวน์องุ่นยุโรป)
แต่จุดเปลี่ยนก็คือ ยิ่งโอกาส ความเป็นไปได้และชื่อเสียงของการผลิตไวน์ในทวีปใหม่เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่
ชาวยุโรปเอง ก็ยิ่งหาช่องว่างในการทำธุรกิจมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโรงบ่มไวน์ชื่อดังจากฝรั่งเศส จนไปถึงเจ้าของฟาร์มเล็ก ๆ ในอิตาลีที่อพยพไปยังทวีปใหม่ ก็ได้นำองุ่นสายพันธุ์ยุโรปมาปลูกและพัฒนาการผลิตไวน์ให้ดีขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ (ในเมื่อแตร์รัวดี แต่ขาดองุ่นดี ก็แก้ปัญหาให้ตรงจุด แน่นอนว่านี่มันคือแหล่งสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ เลยนะ !🤩🤑)
จนกระทั่งในปี 1970 เป็นต้นมา ระบบการขนส่งและสื่อสารทั่วโลกก็ได้พัฒนาไปอีกขั้น (เครื่องบิน หรือ เรือคลังสินค้า) จึงทำให้ผู้คนทั่วโลกได้เริ่มทดลองไวน์จากนอกยุโรปมากขึ้น 🚞🚢🛫
แน่นอนว่า… ต้นฉบับของไวน์ (อย่างไวน์ยุโรป เช่น ฝรั่งเศสหรืออิตาลี) ก็คงไม่ยอมเป็นแน่
เพราะว่าไวน์โลกใหม่ จะทำเลียนแบบได้เหมือนกัน รสชาติดีและมีราคาถูกแบบนี้ไปต่อไม่ได้ ! (ไม่งั้นไวน์ฝรั่งเศสคงจะขายไม่ออกแล้ว)
ฝั่งไวน์ยุโรป จึงได้ดึงเรื่องของ “ความเป็นต้นตำรับ” และ “ความพรีเมียม” ขึ้นมาเป็นจุดแข็ง
เอาง่าย ๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้ลูกค้าคิดว่า ไวน์ยุโรป มีคุณภาพดีสมกับราคา ในขณะที่ไวน์โลกใหม่ คุณภาพก็สมกับราคา(ถูก) เช่นกัน…
ซึ่งก็ได้ผล.. กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ดื่มไวน์เนี่ย ก็เลือกที่จะดื่มด่ำกับความต้นตำรับและดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์ไปด้วย 😋🏺🍇
(อีกเรื่องคือ ฉลากไวน์ยุโรปที่อ่านยากแต่ดูหรูหรา ด้วยการนำโรงบ่มหรือสถานที่ปลูกไวน์องุ่นชั้นเยี่ยม มาบนฉลาก สำหรับเราก็ทำให้รู้สึกขลัง มีประวัติศาสตร์ เลยพลันคิดว่ามันจะต้องดีเยี่ยมอย่างแน่นอน)
พอเป็นแบบนี้
แล้ว… ผู้ผลิตไวน์โลกใหม่ มีกลยุทธ์เดินเกมอย่างไรต่อละ ?
งั้นเดี๋ยวเราจะไปเล่าเรื่องราวของ “Blind Test” ที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ เห็นภาพกันมากขึ้น
[ 🤓 ชะแว้บ..! แอบแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ]
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?
ไอเจ้าคำว่า “ไวน์โลกใหม่” ก็เป็นฉายาที่ถูกเรียกโดยชาวยุโรปนะ
(แต่คำว่า “ไวน์โลกเก่า” เนี่ย ถูกเรียกโดยผู้คนจากทวีปใหม่ ที่จะเปรียบว่า ไวน์ดีดีไม่จำเป็นจะต้องมาจากยุโรปเสมอไป.. นั่นมันเป็นอดีตไปแล้ว แต่ชาวยุโรปเอง กลับไม่เห็นด้วยเท่าไรที่จะเรียกว่า “Old world” เพราะ ไวน์ยุโรป มีความอมตะ ไม่ได้เป็นแค่อดีต…)
[ “Blind Test” จุดเริ่มต้นของการเปิดใจต้อนรับ “ไวน์โลกใหม่” 👀❌🍷]
สิ่งของบางสิ่งหรือคนบางคน คนแต่ละคนก็คงจะมองไม่เหมือนกัน
เราอาจจะมีมุมมองแบบเหมารวม (Stereotype) หรือ อาจจะมอง/เชื่ออะไรตามกระแสที่คนอื่นเขาว่ากัน (เช่น Similarity Bias) หรือบางทีเราก็อาจจะมีมุมมองในแง่บวกกับสิ่งสิ่งนั้น จากการที่เราเคยชิน (Experience Bias)
แต่เมื่อเราลดอคติ (Bias) ลงได้
ก็คงจะทำให้เรามีมุมมองต่อสิ่งสิ่งนั้น เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย
เฉกเช่นเดียวกัน..
ในขณะที่ไวน์ยุโรป เริ่มท้วงคืนเวทีของตลาดไวน์โลก…
เหล่าผู้ผลิตไวน์โลกใหม่(อเมริกา) ก็เลยตั้งคำถามว่า..
เอ้อ ! ถ้าคุณนักดื่มทั่วโลกมาปิดตาชิมไวน์ คุณแยกออกเหรอ ว่าไวน์นี่มาจากประเทศอะไร ?
แล้วตัวไหนดีกว่ากัน ? (อารมณ์ประมาณว่า ลด Bias ลง และเปิดใจดูหน่อยสิ) ☝️🇺🇸
.
(คหสต ของเรา : เราว่าเอาดีดีนะ กลุ่มผู้ผลิตไวน์โลกใหม่ส่วนใหญ่มันก็คนจากยุโรปที่อพยพไปนี้ละ ที่ไปเปิดตลาดใหม่และมาแข่ง ฮ่า ๆ สำหรับเรามันก็แอบเป็นศึกของชาวยุโรปแบบอ้อม อยู่เหมือนกันนะ)
.
แน่นอนว่า กลุ่มผู้ผลิตไวน์ยุโรป ก็ของขึ้นเหมือนกัน เพราะพวกเขาก็มั่นใจว่า ไวน์ดั้งเดิมของยุโรปเนี่ยมันมี character ที่เด่น ต้องชนะใจผู้บริโภคแน่นอน
และมองว่าพวกไวน์โลกใหม่ มันก็ใช้สายพันธุ์เดิม ๆ ของยุโรป แค่เปลี่ยนพื้นที่ปลูก ก็เท่านั้น
แล้วอีกอย่าง ชาวยุโรปจะต้องหาวิธีจัดการกับความโด่งดังของไวน์อเมริกาให้ได้อีกด้วย 🤫🤏
Blind Testing
จากเรื่องราวตรงนี้ จึงทำให้เกิดเทศกาลชิมไวน์ที่มีชื่อว่า “Blind Testing” ขึ้นมา 👀❌🍷
(จะขอเล่าเรื่อง Blind Testing เป็นข้อ ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ อ่านตามกันง่ายนะคร้าบ)
1. การจัดงาน “Blind Testing” หรือ คำพิพากษาของปารีส (Judgement of Paris 🇫🇷 1976) ก็เลยได้ถือกำเนิดขึ้น งานนี้จะเป็นการจัดงานชิมไวน์ระหว่าง ฝรั่งเศส-อเมริกา ในปี ค.ศ. 1976 (และถือเป็นงานฉลองครบรอบ 200 ปีที่อเมริกาประกาศอิสรภาพด้วย)
.
2. งาน “Blind Testing” ครั้งแรกนี้จัดขึ้นที่กรุงปารีส 🇫🇷
โดยจะจัดให้มีนักวิจารณ์ไวน์ ซอมเมอลีเย และ เจ้าของโรงบ่มไวน์ชาวฝรั่งเศส มาเป็นคณะกรรมการตัดสิน จำนวน 10 ท่าน (ไม่มีชาวอเมริกัน)
และให้เดาว่า ไวน์นี้เป็นองุ่นพันธุ์อะไร ? มาจากไหน? วินเทจอะไร (ปีที่ผลิต) ?
.
3. ไวน์ที่ถูกคัดเลือกนำมาให้คณะกรรมการ จะมีทั้งไวน์ยุโรป 🇫🇷 (ฝรั่งเศส) และ ไวน์โลกใหม่ 🇺🇸 (อเมริกา) ทั้งหมดจะถูกใส่ฝักขวดไม่ให้เห็นฉลาก
แบ่งเป็น ไวน์แดงและไวน์ขาว ประเภทละ 10 ชนิด
.
4. ผลปรากฏว่า ทั้ง 10 ท่านตอบออกมาไม่เหมือนกัน แต่จากปริมาณผลการโหวตแล้ว พอจะเรียงลำกับได้ว่า
ผลตัดสินไวน์ขาว (White wine ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ chardonnay ของเบอร์กันดีและแคลิฟอร์เนีย)
อันดับที่ 1 Chateau Montelena (1973) ไวน์อเมริกา
อันดับที่ 2 Meursault Charmes Roulot (1973) ไวน์ฝรั่งเศส
อันดับที่ 3 Chalone Vineyard (1974) ไวน์อเมริกา
.
ผลตัดสินไวน์แดง (Red Wine)
อันดับที่ 1 Stag’s Leap Wine Cellars (1973) ไวน์อเมริกา
อันดับที่ 2 Château Mouton Rothschild (1970) ไวน์ฝรั่งเศส
อันดับที่ 3 Château Montrose (1970) ไวน์ฝรั่งเศส
.
5. สิ่งที่น่าสนใจจากผลคะแนน คือ
🔹 ไวน์ที่มีคะแนนโหวตรวมมากที่สุด มาจากทางฝั่งอเมริกา (แคลิฟอร์เนีย)
🔹 เหล่าคณะกรรมการคิดว่าไวน์แดง Stag’s Leap Wine Cellars (อันดับที่ 1 - อเมริกา) คือ ไวน์จาก Château Montrose (อันดับที่ 3 - ฝรั่งเศส)
.
6. นอกจากเทศกาลชิมไวน์ครั้งนี้แล้ว
ฝรั่งเศส ยังได้จัดการชิมไวน์ (ขอแก้มืออีกสักที 2 ทีเถอะนะ !) ในปี 1986 และ 2006
ปรากฏว่า ใน 2 รอบนี้ ไวน์อเมริกา เอาชนะ โดยอยู่ในอันดับที่ 1 - 5 ของทั้งฝั่งไวน์แดงและไวน์ขาวเลย
เรื่องราวตรงนี้ เลยทำให้ไวน์โลกใหม่ได้เรียกแสงแจ้งเกิดกับชาวโลกของจริงเลยทีนี้ 🇺🇸🍷🌟
ต้องบอกว่า Blind Testing ไม่ได้เพียงแค่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเปิดใจรับไวน์โลกใหม่
แต่ยังเป็นการแย่งส่วนแบ่งตลาดโลกจากไวน์โลกเก่า อย่างเป็นทางการ และปรับเปลี่ยนทัศนคติในการดื่มไวน์ จากการดื่มด่ำในประวัติศาสตร์และความหรูหรา ค่อย ๆ กลายมาเป็น ดื่มด่ำเพื่อความสุข ไวน์ที่ดีจะมาจากที่ไหนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง
“ให้คนดื่มไวน์ ไม่ใช่ไวน์ดื่มคน”
InfoStory
สำหรับพวกเราแล้ว ความแตกต่างของไวน์โลกใหม่กับไวน์ยุโรป ในฉบับมือใหม่หัดรู้จัก ก็จะเป็น
✔ มีราคาที่จับต้องง่ายกว่า
✔ รสชาติยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน
✔ ความหลากหลายของการผสมองุ่นมากกว่า
✔ ฉลากอ่านง่าย
(บอกพันธุ์องุ่นตรง ๆ มีปีที่ผลิตชัดเจน ตรงนี้ก็ถูกใจชาวมือใหม่กันไป)
[ เคยมีคำกล่าวว่า "ไวน์อเมริกา เป็นไวน์แคลิฟอร์เนีย" ]
ขอเริ่มต้นด้วย Fact เกี่ยวกับไวน์อเมริกา กันสักนิด 🍷🇺🇸
☑ ว่ากันว่าชาวอเมริกา เริ่มต้นปลูกองุ่นทำไวน์มาเพียงแค่ 250 ปี เท่านั้น
☑ อเมริกามีพื้นที่ปลูกองุ่นเป็นอันดับที่ 4 ของโลก (นองจาก สเปน ฝรั่งเศส และ อิตาลี)
☑ เกือบ 90% ของไวน์องุ่นอเมริกา ผลิตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย
☑ ไวน์ที่โด่งดังก็มาจากองุ่นสายพันธุ์ยุโรปอย่าง Cabernet Sauvignon, Merlot และ Zinfandel นี่ละ
☑ ไม่ได้มีแค่รัฐแคลิฟอร์เนียที่ผลิตไวน์เก่ง แต่รัฐอื่น ๆ อย่าง ออริกอนและวอชิงตัน ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน (โดยเฉพาะ Pinot noir (แดง), Pinot Gris (ขาว), Riesling (ขาว))
ถ้าดูจากอายุของการเริ่มผลิตไวน์ ก็ถือได้ว่าเป็นไวน์โลกใหม่ได้อย่างเต็มตัว
อเมริกาเริ่มผลิตไวน์ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1772 (ก่อนหน้าประกาศอิสรภาพสหรัฐไม่นาน)
โดยในสมัยนั้นก็มีรากฐานมาจากการใช้เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ ⛪✝🍷
และไร่องุ่นสำคัญที่ผู้อพยพชาวยุโรป (โดยมากคือขาวฝรั่งเศส) ใช้ปลูกองุ่น คือ ไร่องุ่นรอบ ๆ เมืองซานดิเอโก (San diego) จนไปถึงหุบเขาโซโนมา (Sonoma valley) ที่ติดอยู่กับหุบเขานาปา (Napa Valley) ซึ่งทั้งหมดอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
Napa Valley
Sonoma valley (เพื่อนๆคุ้นตากับฉากนี้กันไหมเอ่ย? เพราะนี้คือสถานที่จริงของฉากหลังของ windows)
แต่ในตอนนี้ไวน์อเมริกาก็ไม่ได้โด่งดังอะไรมากมาย สายพันธุ์องุ่นพื้นเมือง ก็ไม่ได้โดดเด่น
จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 1850 เป็นต้นมา ที่อาจเรียกได้ว่าเริ่มมีการผลิตไวน์อย่างจริงจัง
ในยุคนั้น อาจเป็นยุคที่เพื่อน ๆ ทราบกันในชื่อของ “ยุคตื่นทอง (California Gold Rush) 🇺🇸🪙⛏” ก็คือผู้คนต่างแห่คลั่งกันมาขุดทองคำที่อเมริกา โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ชาวยุโรปต่างหลั่งไหลกันเข้ามา…
แน่นอนว่านอกจากทองคำแล้ว ชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาลี ก็ได้ค้นพบผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ (เปรียบเป็นทองคำแห่งวงการไวน์ก็ว่าได้) เลยได้ตั้งรกรากปลูกองุ่นแถวรัฐแคลิฟอร์เนียและเนวาดา
โดยเฉพาะหุบเขานาปาและโซโนมา ที่โดนชาวยุโรปมาครอบครองพื้นที่ปลูกองุ่น (หลาย ๆ เจ้า ก็นำแบรนด์ไวน์ของตัวเองมาเปิดสาขาผลิตที่นี้)
แต่แล้ว อุปสรรคสำคัญกับอุตสาหกรรมไวน์องุ่นในอเมริกา ก็เกิดขึ้นในช่วงปี 1920-1935
หลัก ๆ คือเรื่องของกฎหมายห้ามดื่มสุราและการระบาดของเพลี้ยองุ่น 🦟(เดี๋ยวมาเล่าเพิ่มข้างล่างน้า)
สักพักใหญ่ ๆ จนถึงในปี 1970 ก็มาถึงยุคฟื้นฟูอุตสาหกรรมไวน์ของอเมริกา ที่นำโดยคุณโรเบิร์ต มอนดาวี (Robert Mondavi) 🤵‍♂ เจ้าพ่อไวน์อเมริกาจากหุบเขานาปา (Napa valley)
Robert Mondavi
จนกระทั่งกลับมาแย่งพื้นที่ตลาด ฟัดเหวี่ยงกับไวน์ยุโรปได้อย่างในปัจจุบัน
จากเรื่องตรงนี้จึงทำให้คนทั่วโลกกล่าวขานถึงไวน์อเมริกาว่า ใช้เวลาเพียงแค่ 50 กว่าปี ก็ปฏิวัติวงการไวน์โลกใหม่ให้เฟื่องฟูได้ (เมื่อเทียบกับวงการไวน์ยุโรปแล้ว อเมริกาจึงดูเด่นทันที)
แต่จะว่าไปแล้ว…กลุ่มคนหลัก ๆ ที่มาพัฒนาวงการไวน์อเมริกา ก็เป็นกลุ่มทุนผู้ผลิตไวน์เจ้าใหญ่หน้าเดิม ๆ จากฝั่งของยุโรปนะแหละ (เช่น Baron Philippe จาก Chateau Mouton Rothschild 🇫🇷 และ ตระกูลเฟรสโกบัลดี (Frescobaldi) 🇮🇹 ร่วมกับเจ้าพ่อแห่งไวน์อย่างคุณโรเบิร์ต 🇺🇸)
นอกจากผลิตไวน์แล้ว
ชาวอเมริกาเนี่ย เรียกได้ว่าหาผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมไวน์ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเปิดโปรแกรมทัวร์โรงไวน์ เปิดบางพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทัวร์ชมการผลิต/บ่มไวน์ ให้นักชิมได้ลิ้มรสทั้งไวน์ เรื่องราว และบรรยากาศ (ก็ดีนะเป็น Value added ที่ดีมาก)
ไม่น่าแปลกใจ ที่อุตสาหกรรมไวน์ของอเมริกา จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
[ 2 วิกฤติใหญ่ ที่อาจทำให้เราไม่ได้รู้จักไวน์อเมริกา ]
1. วิกฤติเพลี้ยองุ่นจากยุโรป (Phylloxera)
อย่างที่เพื่อน ๆ อาจพออ่านผ่านตาในบทความตอนที่ 1 ไวน์ยุโรปกันไปแล้ว
ที่บอกว่าเพลี้ยองุ่น ได้ทำให้วงการไวน์ฝรั่งเศสและอิตาลีต้องหยุดชะงัก
แล้วก็อย่างที่เพื่อน ๆ อ่านเรื่องราวของไวน์อเมริกามาตั้งแต่ต้น ว่าผู้อพยพ(และผู้ที่แสวงหาธุรกิจ)ชาวยุโรปได้เข้ามาบุกเบิกเส้นทางไวน์ในอเมริกา
พวกเขาเหล่านี้ ได้นำเพลี้ยองุ่นที่ระบาดในยุโรป ติดตามมาจากต้นองุ่นด้วยนะสิ !...
เพลี้ยองุ่น น่ากลัวแค่ไหน ?
เพลี้ยมันก็คือตัวแมลงศัตรูพืช 🦟ที่จะดูดน้ำเลี้ยงจากรากองุ่น ทำให้ต้นองุ่นเหี่ยวแห้ง และไม่มีผลผลิต… ลงเอยด้วยการแห้งตายของต้นองุ่น
(ไม่ใช่แค่นั้นนะ เพลี้ยจากอเมริกาเอง ก็ติดตัวชาวยุโรป กลับไปแพร่กระจายใหม่ที่ยุโรปอีกตะหาก เอ้า…วนกันไปวนกันมา)
ว่ากันว่าในปี 1886 เนี่ย แทบจะไม่เหลือไร่องุ่นในอเมริกาอยู่เลยละ 🏜
จนสุดท้ายในปี 1881 ชาวเมืองบอร์โด(ฝรั่งเศส) ก็ได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหา ด้วยวิธีการทาบกิ่ง
เพราองุ่สายพันธุ์ยุโรปถูกโจมตีโดยเพลี้ยง่าย จึงต้องตัดกิ่ง ไปทาบกับรากและโคนต้นขององุ่นพันธุ์อเมริกา ที่ถึกและทนต่อเพลี้ยองุ่นได้ดีกว่า นั่นเอง
เพียงแต่…การทำแบบนี้จะทำให้รสชาติของไวน์องุ่น…ไม่เหมือนเดิม
แต่สำหรับวงการไวน์โลกใหม่อย่างอเมริกา ก็ถือว่าฟื้นตัวได้รวดเร็วมากด้วยวิธีการนี้
พอทุกอย่างเริ่มจะดีขึ้น ก็…เปรี้ยง !
เกิดเหตุการณ์ต่อไปในทันที
2. วิกฤติในปี ค.ศ. 1919 กับ กฎหมายห้ามดื่มสุราทั่วประเทศ
อันนี้เรียกได้ว่า หนักกว่าเพลี้ยองุ่น..
เพลี้ยยังมีวิธีแก้ แต่ว่าความคิดความรู้สึกของคนเนี่ย มันแก้ยากกว่าเยอะ…
คือเรื่องราวมันเป็นอย่างนี้
ก่อนหน้าที่กฎหมายฉบับนี้จะถูกใช้งาน
ชาวอเมริกาจำนวนมาก ได้ออกมาประท้วงห้ามดื่มสุรา
เพราะพวกเขาบอกว่ากลุ่มชนชั้นแรงงาน มัวแต่ดื่มเหล้ากันตลอด พอเมาก็ทำงานไม่ได้ แถมยังเกิดอาญชากรรมทั่วประเทศอีก (ต้องบอกว่าเหล่านายจ้างบอกเป็นคนประท้วง เสียมากกว่า)
กลุ่มผู้ประท้วงได้ขยายตัวไปจนทั่วทั้งประเทศอเมริกาเลยทีเดียว และยังกล่าวหาด้วยว่า สุราทุกชนิด คือ ยาเสพติด !
ซึ่งในปี 1851 ที่หลายรัฐในอเมริกา เริ่มต่อต้านการขายแอลกอฮอล์
จนกระทั่งในปี 1919 ถึงได้มีกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายสุรา
จนกระทั่งอเมริกาเลิกใช้ในปี 1933 และเริ่มธุรกิจไวน์ก็เริ่มฟื้นตัวอย่างจริงจังในช่วงปี 1960-70 เป็นต้นมา
[ “Cult Wine” ได้ยินบ่อยจัง มันคืออะไรหว่า…? 🧐🤨 ]
พอพูดถึงหุบเขานาปา ก็จะต้องพูดถึง “คัลต์ไวน์ (Cult Wine)” กันต่อตามสูตร
อย่างที่เพื่อน ๆ ได้อ่านเรื่องราวของ Blind testing กันไปในภาพก่อนหน้านี้
คอนเซ็ปต์คือ “ไวน์ที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง”
แต่สำหรับ Cult Wine หรือ กลุ่มผู้ผลิตไวน์อิสระแล้ว คอนเซ็ปต์ของเขาก็คือ “ไวน์ที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีแบรนด์หรือโรงบ่มใหญ่ ๆ ” (อันนี้เราขอนิยามตามความเข้าใจของเรานะคร้าบ)
ว่ากันว่า จุดเริ่มต้นของการผลิต Cult Wine หรือ ไวน์คุณภาพดีเยี่ยมจากผู้ผลิตไวน์อิสระที่มีพื้นที่ขนาดเล็กเนี่ย ก็มาจากหุบเขานาปา (Napa Valley)
ถึงแม้จะเป็นโรงผลิตไวน์ขนาดเล็ก แต่ว่าคุณภาพนั้นคับกล่องมาก ! (คือพรี่เมี่ยม เยี่ยมมาก)
(บ้างก็เคยมีคนเปรียบเทียบว่า เล็กเท่าโรงจอดรถ เลยจะมีคำว่า “Garage wine” มาให้ได้ยินกันบ้างเนอะ)
คือ ผู้ผลิตอิสระเหล่านี้ เขาจะใส่ใจในรายละเอียด ตั้งแต่พื้นที่ที่จะปลูกก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำการวิจัยว่าจะต้องใช้เทคนิคการบ่มหมักดินเป็นแบบไหน ? การใช้ปุ๋ยธรรมชาติสำหรับปลุกองุ่น ? องุ่นสายพันธุ์ใดที่ปลูกแล้วเหมาะสมที่สุด ? ยาวไปจนถึงการพัฒนาสายพันธุ์องุ่นใหม่ ๆ (ใช้การดัดแปลงทางพันธุกรรม) และทดลองปลูกจนกว่าจะพอใจ
ว่ากันง่าย ๆ คือ Cult Wine จะต้องมีความพิเศษโดดเด่น, หาได้ยากหรือมีจำนวนจำกัด, มีเรื่องราวที่น่าสนใจ และใช้ต้นทุนที่สูง 🍷🌟
จริง ๆ ก็ยังมีเรื่องของการเลือกใช้ไม้โอ้ค ในการหมักบ่มไวน์อีกด้วยนะ (พวกเรื่องของกลิ่นอีก)
จากเรื่องราวคร่าว ๆ เกี่ยวกับไวน์อเมริกา คงจะคลายความสงสัยของเพื่อน ๆ เวลาได้ยินคนแนะนำเรื่องไวน์แดงจากหุบเขานาปา (Napa Valley) และ แบรนด์ไวน์ Robert Mondavi หรือ เจ้าพ่อไวน์อเมริกา ไปได้บ้างเนอะ (ต้องบอกว่า ถ้าจะให้ลงลึกเกี่ยวกับทั้ง 2 เรื่องราวเนี่ย โอโห… จะต้องยาวไปอีก 2 หน้าเลยคร้าบ)
[ 2 ตัวแทนแห่ง "ไวน์อเมริกาใต้" 🇦🇷 🇨🇱 ]
หากเราพูดถึงไวน์จากทวีปอเมริกา
เราก็พลันคิดถึงไวน์จากอเมริกาเหนือซะเป็นส่วนใหญ่
แต่จริง ๆ แล้ว ในทวีปอเมริกาใต้ ก็มีไวน์ดีดีให้เลือกชมอยู่ไม่น้อยเลย
อย่างเช่น
✅ คาร์เมเนเร (Carmenère) คือสุดยอดองุ่นที่พัฒนามาจากสายพันธุ์บอร์โด (Bordeaux) ที่ทำให้ชิลีมีฉายาว่า "บอร์โดแห่งอเมริกาใต้" 🇨🇱🍇
.
✅ ไวน์องุ่น "มาลเบ็ค (Malbec)" ของอาร์เจนตินาดีที่สุดในโลก 🇦🇷🍷
งั้นเราไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของไวน์ทั้ง 2 ประเทศ กันเบา ๆ ดีกว่า !
[ ชิลี (Chile) 🇨🇱 ประเทศที่ไม่ได้มีดีแค่เกาะอีสเตอร์ รูปปั้นหินโมไอ (Moai) ชายหาดและเมืองซานดิเอโก ]
มาเกริ่นถึงตัวประเทศชิลีกันสักหน่อย
ชิลี เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลแปซิฟิกทั้งหมด
คือ ลักษณะของตัวประเทศ จะทอดตัวยาวตามแนวเทือกเขาแอนดีสทางทิศตะวันออก ประกบกับมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตก
จึงทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่ดี มีจุดเด่นคือ ที่ดินที่สมบูรณ์ + สภาพอากาศที่อบอุ่น + ความเย็นของสมจากมหาสมุทรแปซิฟิก ผนวกกับภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยหุบเขา จึงเป็นหนึ่งในจุดเด่นของอุตสาหกรรมการผลิตไวน์ 🏔
Fact เกี่ยวกับไวน์ชิลี 🍷🇨🇱
🔸มีฉายาว่า "บอร์โดแห่งอเมริกาใต้" จากชื่อเสียงขององุ่น “คาร์เมเนเร (Carmenère)🍇”
Carmenère
🔸ถึงแม้ว่าพื้นที่ปลูกองุ่นของชิลีจะมีขนาดเล็กกว่าเพื่อบ้านอย่างอาร์เจนตินาหลายเท่าตัว แต่ทราบไหมว่า ชิลีมียอดส่งออกไวน์ มากกว่าอาร์เจนตินา มากถึง 2 เท่า
🔸องุ่นสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดจากบอร์โด(ฝรั่งเศส) ทั้งหมด สามารถเติบโตได้ดีที่ชิลี (เช่น Cabernet Sauvignon (แดง), Merlot (แดง), Sauvignon Blanc (ขาว))
🔸ชิลี มีไวน์ตัวเทพที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยร่วมลงทุนกับโรงบ่มไวน์ชื่อดังหลายแห่ง เช่น
- แบรนด์ Seña (Viña Errázuriz 🇨🇱 ร่วมกับ Robert Mondavi 🇺🇸 )
- แบรนด์ Almaviva (Viña Concha y Toro 🇨🇱 ร่วมกับ Château Mouton Rothschild 🇫🇷 )
- แบรนด์ Montes (แบรนด์ของชิลี) ที่เน้นการผลิตไวน์บอร์โดชั้นสูง
ไวน์ชิลีมีจุดเริ่มต้นจาก Francis Drake นักเดินทางชาวอังกฤษ เป็นผู้นำองุ่นยุโรปมาเผยแพร่ในชิลีในช่วงศตวรรษที่ 16 (ส่วนใหญ่เป็นองุ่นของฝรั่งเศส)
ในช่วงเวลาที่ใกล้กัน ก็มีกลุ่มมิชชันนารีจากอาณานิคมของสเปน ก็ได้นำองุ่นเข้ามาผลิตไวน์ เพื่อทำพิธีทางศาสนาคริสต์
ชิลี จึงอุดสมบูรณ์ไปด้วยองุ่นหลากหลายสายพันธุ์จากยุโรป
และว่ากันว่าเป็นประเทศแรกที่นำเข้าองุ่นสายพันธุ์ยุโรป (Vitis vinifera)
พอพูดถึงองุ่นสายพันธุ์ยุโรป (Vitis vinifera) ก็จะต้องมีเรื่องราวของเพลี้ยองุ่นตามมาด้วยเสมอ
แต่ว่า… เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?
ชิลีเป็นก็ยังเป็นประเทศเดียว ที่ไม่เคยได้รับความเสียหายจากวิกฤติเพลี้ยองุ่น !
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ล้อมไปด้วยหุบเขาสูง (เช่นเทือกเขาแอนดีส)
ถ้าเป็นในทวีปอื่น ๆ หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างอาร์เจนตินา ก็จะต้องแก้ปัญหาเพลี้ยระบาดด้วยการทาบกิ่งข้ามสายพันธุ์
(กล่าวคือ ลำต้นองุ่นพันธุ์ยุโรป + โคนรากองุ่นพันธุ์อเมริกา)
แต่กลายเป็นว่า ชิลี กลายเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ (และอเมริกา) ที่ยังคงรักษาสายพันธุ์องุ่นยุโรปแบบไม่ได้ตัดแต่งไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เรื่องราวของความอุดมสมบูรณ์ทั้งสายพันธุ์องุ่น + พื้นที่ดิน + สภาพอากาศที่มีความเหมาะสม แห้งกำลังดี มีฤดูฝนคลายความแห้งแล้ง และมีอุณหภูมิของกลางวันและกลางคืนที่ไม่ต่างกันมากจนเกินไป
ก็เลยทำให้ชิลี กลายเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของกลุ่มนักธุรกิจ
นักลงทุนทั่วโลกเริ่มหันมาพัฒนาธุรกิจไวน์ชิลีในช่วงปี 1970 นำโดย "Robert Mondavi" เจ้าพ่อแห่งไวน์อเมริกา จากหุบเขานาปา นั่นเองจ้า
ก่อนที่ต่อมาโรงบ่มไวน์ชื่อดังหลายแห่งจากทั้งยุโรปและอเมริกา จะแห่กันเข้ามาจับจองพื้นที่ (ส่วนใหญ่เป็นการจับมือร่วมกับโรงผลิตไวน์ท้องถิ่นของชิลี)
อีกเรื่องที่เราว่าสำคัยและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันคือ การผลิตไวน์ชิลี ไม่มีกฏเกณฑ์ที่ตายตัว เน้นแค่องุ่นสายพันธุ์ดี และวิธีการผลิตที่ยอดเยี่ยม (เพราะพื้นดินและสภาพอากาศเป็นใจ ไม่ต้องกังวล)
ชิลี จึงมีแบรนด์ไวน์องุ่น ที่คุณภาพดีสมราคา แต่เราอาจไม่รู้จักชื่อเสียงมากเท่าที่อื่น (ฟังไปฟังมาก็จะคล้ายกับ Cult wine อยู่เหมือนกัน - อันนี้ คหสต. ของเราเองนะคร้าบ)
บรรยากาศไร่องุ่นในประเทศชิลี บริเวณเทือกเขาแอนดีส
[ อาร์เจนตินา (Argentina) 🇦🇷 พื้นที่ผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ]
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?
ประเทศอาร์เจนตินาผลิตไวน์องุ่นเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และมีไร่องุ่นที่อยู่สูงที่สุดในโลก ! (บนเทือกเขาแอนดีส) 🗻🇦🇷
และมีพื้นที่ปลูกไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ มีไร่องุ่น 220,000 เฮกตาร์ หรือคิดเป็น 4 เท่าของฝรั่งเศส
.
ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีไร่องุ่นที่อยู่สูงที่สุดในโลก
ภาพถ่ายของ Guinness World record ของไร่องุ่นที่อยู่สูงที่สุดในโลก
แต่ว่า…แหล่งปลูกองุ่นเกือบทั้งหมดจะตั้งอยู่บริเวณปลายเทือกเขาแอนดีส ด้วยอากาศที่อบอุ่นไปจนถึงร้อนชื้น
ว่ากันว่าชาวอาร์เจนตินา รู้จักการปลูกองุ่น ก็ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1541 ที่ชาวอาณานิคมสเปน (conquistadores) ได้เข้ามาปกครองดินแดนแถบอเมริกาใต้
ชาวยุโรปกลุ่มนี้ เลยกลายเป็นผู้บุกเบิกการปลูกองุ่นในเขตเมนโดซา (Mendoza) ซึ่งนำโดยบาทหลวง "Juan Cidrón"
ไร่องุ่นในเขตเมนโดซา (Mendoza)
แต่ว่าชาวอาร์เจนตินาจะเริ่มผลิตไวน์กันได้ ก็ปาเข้าไปช่วงปี ค.ศ. 1767 โน่นเลยละ
หลังจากที่อาร์เจนตินาได้รับอิสรภาพจากสเปน ในช่วงปี 1820
ถึงจะเรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์อาร์เจนตินาที่แท้จริง
โดยช่วงปี 1880 เป็นต้นมาเนี่ย ก็ได้มีชาวยุโรปที่อพยพมาจำนวนเยอะม๊ากก (เหมือนเดิมแล้วจ้า)
โดยเกือบครึ่งของประชากรจะเป็นชาวอิตาลีและสเปน 🇪🇸 🇮🇹
(แล้วก็จะมีกลุ่มประชากรที่เรียกว่า “เมส์ตีโซ (mestizo)” เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อสายผสมยุโรปและชนพื้นเมือง)
(อ้อ อ้ออ ! ชาวพื้นเมืองอาร์เจนตินา สมัยก่อนเขาจะเรียกชาวยุโรปว่า “กลุ่มคนขาว” แต่ว่าในที่นี้ เขาไม่ได้หมายถึงการเหยียดผิวหรืออย่างไรนะคร้าบ)
เอาเป็นว่าการอพยพของชาวยุโรปกลุ่มใหญ่นี่ พวกเค้าก็ได้นำองุ่นสายพันธุ์ยุโรปใหม่ ๆ เข้ามาปลูกด้วย แถมยังนำเทคนิคการผลิตไวน์เข้ามาอีกด้วย
และด้วยพิธีทางศาสนาและอะไรต่ออะไรอีก (เช่น ทางรถไฟที่ถูกพัฒนาขึ้น เชื่อมดินแดนสู่ดินแดน)
จึงทำให้การดื่มไวน์ ค่อย ๆ กลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวอาร์เจนตินา ⛪✝🍷
.
แต่เส้นทางไวน์ของอาร์เจนตินา กว่าจะขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ก็ไม่ได้ราบเรียบเท่าไร
ขอสรุปสั้น ๆ ประมาณนีันะคร้าบ (เพราะเรื่องแต่ละอันมันยาวม๊ากก)
1. วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำโลกช่วงปี 1929-1930 ทำให้อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด 📉
2. ไม่พอเท่านั้น การกระทบกระทั่งทางการเมืองภายใน รัฐบาลฝ่ายซ้าย รัฐบาลทหาร ทุจริตคอร์รัปชั่นต่าง ๆ ทำให้อาร์เจนตินา ตกต่ำยิ่งกว่าเดิม
3. ในปี 1960-1980 ธุรกิจผลิตไวน์อาร์เจนตินาได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะส่งออกไวน์ไม่ได้เลย ทำให้สามารถผลิตเพื่อดื่มในประเทศ 😖
4. แต่จะดื่มกันเองภายในประเทศ ก็ยากอีก ! เพราะค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสูงมากกกกก
ผู้ผลิตไวน์หลายเจ้าก็ล้มละลาย 🤯
5. ในช่วงปี 1990 ปัญหาต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายลง นักลงทุนต่างชาติเริ่มกล้าที่จะเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น
6. กลุ่มธุรกิจไวน์อาร์เจนตินา เลยได้รับอานิสงส์ สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง 🤕👍
Fact เกี่ยวกับไวน์อาร์เจนตินา 🍷🇦🇷
👉 พื้นที่ผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุด (ที่ทำให้อาร์เจนตินาติดอันดับที่ 5 ของโลก) คือ เขตเมนโดซา (Mendoza) คือ 70% ของไวน์ทั้งประเทศ ผลิตจากที่นี่ (นึกถึงรัฐแคลิฟอร์เนียของอเมริกาเลย)
👉 คอนเซ็ปต์ที่พิเศษสำหรับไวน์อาร์เจนตินา คือ ผลิตจากองุ่นปลอดสารพิษ
👉 สายพันธุ์องุ่นที่มีชื่อเสียง คือ Malbec (แดง), Bonarda (แดง), Torrontés (ขาว)
[ "มาลเบ็ค (Malbec)" องุ่นจากอาร์เจนตินา ดีที่สุดในโลก ]
ถ้าเปรียบเป็นโลกของฟุตบอล “มาลเบ็ค” ก็อาจเปรียบได้กับ ลิโอเนล เมสซิ
(อันนี้ขอเปรียบเปรยเองนะคร้าบ ฮ่า ๆ)
.
ไวน์แดงมาลเบ็ค เป็นไวน์องุ่นที่มีรสเข้มข้น ซึ่งเป็นหนึ่งในองุ่นของฝรั่งเศส (เขตบอร์โด)
แต่ว่าน้ององุ่นพันธุ์นี้ จะไม่ทนกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ และไม่ชอบอากาศที่หนาวเย็น
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสไม่ค่อยนิยมปลูกองุ่นแดงมาลเบ็ค ก็เพราะ ฝรั่งเศสมีฤดูหนาวที่ค่อนข้างหนาวเย็นมาก องุ่นสายพันธุ์นี้ มักจะเฉาตาย (เปลืองต้นทุน)
อีกอย่างคือ มาลเบ็ค เป็นองุ่นที่มักจะอยู่ใต้ร่มเงาของ Merlot, Cabernet Sauvignon (มันเลยนิยมน้อยลงไปอีก)
.
แต่ว่าสำหรับอาร์เจนตินา (จริง ๆ ชิลีก็ปลูกด้วยนะ) สภาพอากาศที่เหมาะสม ผนวกกับช่องทางในการชุบชีวิตเจ้ามาลเบ็คให้กลับมาสู่ตลาดโลก ก็ทำได้ง่ายกว่า
ซึ่งปัจจุบัน อาร์เจนตินา มีพื้นที่ปลูกองุ่นมาลเบ็คมากถึง 10,000 เฮกตาร์เลยทีเดียว
[ จากไวน์ของอาณานิคมผู้อพยพ สู่ "ไวน์โลกใหม่ระดับโลก" ]
อ้างอิงตามประวัติศาสตร์ ทวีปออสเตรเลียถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1606
เพียงแต่ว่า ในปี ค.ศ. 1616 เราอาจกล่าวได้ว่า เป็นปีที่ชาวยุโรป (ชาวดัตช์) ได้ลงเรือ ขึ้นไปเหยียบบนแผ่นดินออสเตรเลียจริง ๆ 🛶🇳🇱
ก่อนที่ต่อมา ออสเตรเลีย จะกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงปี 1770 ที่กัปตันเจมส์ คุก บุกขึ้นฝั่ง (คาดว่าเพื่อน ๆ คงจะคุ้นหูกับชื่อของคุณคนนี้มาบ้าง) 🏴󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿🇬🇧
ทีนี้ เรากำลังจะมาเข้าเรื่องต้นกำเนิดของไวน์กันละนะ ! 👉🍷
ชาวอาณานิคมอังกฤษที่มาตั้งรกรากในออสเตรเลียเนี่ย
เขาก็ได้ตั้งเขตแดนใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า “New South Wales” ในปี 1788
(เพราะว่า อีกฝั่งหนึ่งมันมีดินแดนที่ชาวดัชต์มาประกาศตั้งชื่อว่า “New Hollland”)
หลังจากที่ชาวอังกฤษได้ตั้งรกราก แน่นอน..ศาสนาคริสต์ก็ถูกเผยแพร่ได้กว้างมากขึ้น
ไวน์องุ่น จึงเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มสำคัญไปในทันที ⛪✝🍷
แรกเริ่มเดิมทีชาวอังกฤษ เขาก็นำเข้าองุ่นสายพันธุ์จากแอฟริกาใต้และสเปน
จากนั้นได้เริ่มต้นผลิตไวน์หวาน (fortified wine) เป็นไวน์ประเภทแรก ๆ
(เพราะชาวอังกฤษชื่นชอบไวน์หวานมาก ถ้าดูโพสอัลบั้มไวน์โลกเก่า เพื่อน ๆ จะเห็นเรื่องราวดราม่าของไวน์บอร์โด(ฝรั่งเศส) และไวน์พอร์ต/เชอร์รี (โปรตุเกส/สเปน) ที่ชาวอังกฤษงอนฝรั่งเศส กันไปๆมาๆ)
ส่วนไวน์แดงและไวน์ขาว ก็เริ่มผลิตในเวลาต่อมา
แต่ว่า…ปัญหาสำคัญของออสเตรเลีย คือ ด้วยสภาพอากาศแบบนั้น มันเลยไม่มีองุ่นท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นการนำองุ่นจากยุโรปเข้ามาปลูก (และนำเข้ามาโดยชาวอังกฤษ เจ้าอาณานิคมอีกแหนะ !)
"Multi-District-Blends" เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ของไวน์ออสเตรเลีย ที่นำองุ่นจากหลายเขตมาผสมกัน นั่นเอง
แต่ต้องบอกว่า ในมุมมองของผู้ผลิตไวน์ออสเตรเลียในช่วงแรก พวกเขามองแค่ว่า “ไวน์ก็ผลิตจากองุ่นก็พอแล้ว ดื่มแล้วมีความสุข นำไปใช้ในพิธีทางศาสนาได้ ก็พอ..”
มันเลยทำให้ ไวน์ออสเตรเลีย มักจะโดนคนทั่วโลกดูถูก ว่าเป็นไวน์คุณภาพแย่… 🍷🇦🇺👎
⌛ เรื่องราวก็ผ่านว๊าบบ จากช่วงปี 1840 มาจนถึง ช่วงประมาณปี 1970
ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญ 2 อย่างที่เกิดขึ้นบนโลก (ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไวน์ออสเตรเลีย)
1. สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะจบลงไป
2. ชาวยุโรปรู้จักวิธีการรับมือกับ เพลี้ยองุ่น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวอิตาลีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ 🇮🇹🤕
จึงได้มีผู้อพยพหลายคน (ที่กำลังหาโอกาสฟื้นฟูตัวเอง) โยกย้ายมายังทวีปออสเตรเลีย
และได้เริ่มต้นพัฒนาไวน์องุ่น (ที่ไม่ได้เป็นไวน์หวานสไตล์อังกฤษ)
รวมไปถึง การที่ออสเตรเลียได้รับเอกราช เปลี่ยนฐานะจากอาณานิคมของอังกฤษเป็นประเทศในเครือจักรภพที่ปกครองตนเอง ในปี ค.ศ. 1901
ตั้งแต่กลุ่มชาวยุโรปที่เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ออสเตรเลีย การปลูกองุ่นก็ค่อย ๆ เริ่มกระจายออกไปจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ไล่ลงมาที่เซาท์ออสเตรเลีย และที่อื่น ๆ เพียงแต่ จะกระจายไปยังพื้นที่ตามชายฝั่ง หรือ หุบเขา ที่มีสภาพอากาศพอดี กล่าวคือ ไม่เย็นเกินไป…ไม่ร้อนเกินไป (อุณหภูมิระหว่างวันไม่เหวี่ยงมาก)
เรื่องราวตรงนี้ จึงทำให้ธุรกิจไวน์ออสเตรเลียค่อย ๆ ฟื้นฟู จนกลายมาเป็นไวน์ที่มีคุณภาพเยี่ยม (และมีแบรนด์ที่หลายคนติดหูอย่าง Penfold, Jacob's Creek) ระดับโลกได้ 🍷🇦🇺🌟
[แทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ]
เพื่อน ๆ หลายคนอาจเห็นว่า ทวีปออสเตรเลียมันค่อนข้างกว้างใหญ่มหาศาล
เพียงแต่ว่า…เพื่อนที่สำหรับปลูกองุ่น มันไม่ได้เยอะตามไปด้วยนะสิ…
เพราะดินแดนตรงกลางทวีปส่วนใหญ่มีสภาพภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าว
แถมหน้าหนาวก็คือ เย็นยะเยือกเลย..
แต่ว่าออสเตรเลียเนี่ย มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ สภาพอากาศไม่แปรปรวนแบบทวีปยุโรป
เลยปลูกองุ่นง่ายหน่อย
ปัจจุบันออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตและส่งออกองุ่นเป็น อันดับที่ 6 ของโลก (รองจากอาร์เจนตินา)
(ข้อมูลจากปี 2018)
Fact เกี่ยวกับไวน์ออสเตรเลีย 🍷🇦🇺
✔ ฉลากไวน์ออสเตรเลีย จะเน้นให้อ่านเข้าใจง่าย (ฉลากไวน์โลกใหม่) โดยจะบอกแค่แบรนด์, สายพันธุ์องุ่น, เขตที่ปลูก/บ่ม (GI), วินเทจ
✔ Syrah/Shiraz ไวน์องุ่นดาวเด่นแห่งออสเตรเลีย🍇🇦🇺
เป็นพันธุ์องุ่นที่ปลูกมากที่สุดในทวีป (ประมาณ 25%)
✔ ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ ชาวออสเตรเลียจะนิยมดื่มไวน์มีฟอง (สปาร์คกลิ้งไวน์) จากองุ่น Shiraz 🍇🍾
Shiraz
✔ สายพันธุ์องุ่นที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ เช่น Grenache blends (แดง) Cabernet Sauvignon (แดง) Chardonnay (ขาว) Semillon (ขาว)
✔ สูตรผสมไวน์องุ่นที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลีย
- "Shiraz + Cab.Sauvignon" ไวน์องุ่นสูตรผสมสุดเข้มข้นตามแบบออสเตรเลีย (alc.15%)
- “Shiraz + Merlot” สำหรับคนไม่ชอบความเข้มเผ็ด ก็จะเพิ่มความละมุนจากองุ่นแมร์โล ขึ้นมาหน่อย
รู้ไว้ใช่ว่า ?
☝️🇫🇷 ”Syrah” เป็นการเรียกชื่อแบบยุโรป (ฝรั่งเศส)
👉🇦🇺 ”Shiraz” เป็นการเรียกชื่อแบบออสเตรเลีย
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ เจาะลึกไวน์ทั่วโลก เล่ม1-2 เขียนโดย Won Bok Rhie
- หนังสือ Wine A Tasting Course by Marnie Old
- หนังสือ The Wine Bible โดย Karen Macneil
- หนังสือ The World Atlas of Wine โดย Jancis Robinson
- หนังสือ A History of the World in 6 Glasses โดย Tom Standage
โฆษณา