15 ก.ย. 2022 เวลา 08:01 • สุขภาพ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ จนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น
พบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นอีกทั้งยังอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้ง่าย
ขณะที่ผู้ชายมีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนัก โอกาสที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจึงมีน้อยกว่ามาก
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย แต่ครั้งละน้อยๆ มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัด ขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ ปัสสาวะขุ่น ในรายที่เป็นมากอาจปัสสาวะมีเลือดปน มีไข้
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักไม่พบอาการที่ชัดเจน แต่อาจมีอาการอ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด ความอยากอาหารลดลง และอาเจียน
สำหรับผู้สูงอายุบางคนแทบไม่พบอาการ แต่มักจะมีอาการอ่อนเพลีย สับสน หรือมีไข้
สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
สาเหตุหลักที่พบมากที่สุด คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การเช็ดก้นในลักษณะจากด้านหลังมาทางด้านหน้า การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือการสวนปัสสาวะ แต่กลไกในการเกิดโรคยังไม่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะเกิดได้น้อยมาก เช่น เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง การใช้ยา โดยเฉพาะยาเคมีบำบัด เช่น ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ และยาไอฟอสฟามายด์
การฉายรังสีบริเวณกล้ามเนื้อเชิงกราน ซึ่งเนื้อเยื่อภายในกระเพาะปัสสาวะบริเวณที่โดนฉายรังสีอาจเกิดการอักเสบและอาจส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะเช่นกัน
นอกจากนี้ การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบตามมา
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของร่างกายหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น เช่น นิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
การเสียดสีในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน อาจทำให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี
การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้หญิงหากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี เช่น เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังมาด้านหน้า แทนที่จะเป็นจากด้านหน้าไปด้านหลังก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อจากช่องคลอดและทวารหนักได้
การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เช่นกัน เนื่องจากในวัยหมดประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะของร่างกาย ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดเสียสมดุล จึงไวต่อการติดเชื้อได้ง่ายและกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
• ผู้หญิงจะเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้นกว่า และตำแหน่งที่เปิดอยู่ใกล้ทวารหนักมากกว่าผู้ชาย จึงเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
• อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ โดยอาจพบหญิงตั้งครรภ์ 4 ใน 100 คน ที่มักเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
• ผู้หญิงที่มีการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิในช่องคลอด
• อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะหลังหมดประจำเดือนจนอาจทำให้ป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ได้น้อยลง
• ผู้ที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
• ผู้ที่มีความผิดปกติหรือโรคประจำตัวเกี่ยวกับการทำงานของไต กระเพาะปัสสาวะ หรือระบบทางเดินปัสสาวะ
• ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น โรคเอดส์ การใช้ยารักษาโรคที่กดระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
• ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว
การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ มักรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น Trimethoprim หรือยา Nitrofurantoin ซึ่งระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยและชนิดของแบคทีเรียที่พบในปัสสาวะ
การติดเชื้อแบคทีเรียครั้งแรก อาการมักค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วันหลังการรับประทานยา โดยจำเป็นต้องรับประทานยาติดต่อกันประมาณ 3 วันไปจนถึงสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ
สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาครีมสำหรับใช้ทาช่องคลอด ซึ่งเป็นฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนที่ช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจหายขาดได้เองสำหรับผู้ป่วยที่อาการปานกลาง ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัว เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายออกได้ตามธรรมชาติ แต่อาจทำให้ผู้ป่วยยังคงมีอาการอยู่ประมาณ 2-3 วันจนถึงเป็นสัปดาห์
ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านอาจบรรเทาอาการได้โดยการรับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน ดื่มน้ำมาก ๆ วางกระเป๋าน้ำร้อนระหว่างช่วงท้องและเหนือขาหนีบ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่มีอาการ
- การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะรักษาโดยดูจากต้นเหตุของการเกิดโรคเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเลี่ยงปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคและรักษาแบบบรรเทาอาการของผู้ป่วย
แม้ว่าจะเป็นโรคไม่รุนแรง แต่เมื่อได้รับการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม เชื้ออาจแพร่กระจายจากกระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อไตไปจนถึงกรวยไต ทำให้กรวยไตอักเสบและอาจจะสร้างความเสียหายกับไตอย่างถาวร ซึ่งผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อที่ไตมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง ปวดเอว หนาวสั่น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะออกมามีเลือดปน ถ่ายปัสสาวะถี่มากขึ้น หรือรู้สึกปวดขณะถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการแฝงของการติดเชื้อบริเวณอื่นหรือโรคชนิดอื่น
การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
• หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีบริเวณอวัยวะเพศ เช่น สบู่ แป้ง หรือผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แต่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม
• ไม่ควรกลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น ถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะต้องบังคับตัวเองให้เข้าห้องน้ำทันที
• ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ
• หลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายทันที โดยอาจดื่มน้ำเยอะ ๆ จะช่วยเร่งความรู้สึกให้อยากปัสสาวะได้ เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ
• ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทุกวัน การเช็ดทำความสะอาดทวารหนัก ควรเช็ดจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายจากทวารหนักไปยังอวัยวะเพศได้ง่าย
• อาบน้ำแบบฝักบัวแทนการแช่น้ำในอ่างเป็นประจำ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
• สวมใส่ชุดชั้นในที่มีเนื้อผ้าระบายได้ดี ไม่กักเก็บความอับชื้น
• ผู้สูงอายุหลายรายเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเนื่องจากนอนหลับนานๆ โดยไม่ลุกมาปัสสาวะ จึงไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานผลไม้ที่มีน้ำมากๆ ก่อนเข้านอน
• ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน เพราะหากควบคุมไม่ได้ก็จะติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก
• ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงลดลงทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
หากมีการติดเชื้อซ้ำๆ อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับฮอร์โมนแบบเฉพาะที่ช่วย เช่น ยาเหน็บเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะ เพื่อลดการติดเชื้อ แต่เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ถ้าคุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดกดถูกใจ กดดาว หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเรา
ขอบคุณค่ะ
โฆษณา