24 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
ชาวแคนาดาคัดค้านการไม่ระบุวันที่ “ Best Before” บนฉลากอาหาร
1
เมื่อองค์การอาหารโลกประเมินว่า ปัจจุบันทั่วโลกผลิตขยะอาหารอย่างน้อย 30% จากอาหารทั้งหมด โดยปัญหานี้ นำมาสู่ผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตอาหาร
ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่หลายฝ่ายมองถึงความรับผิดชอบต่อขยะอาหารที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นผู้ควบคุม ระบบห่วงโซ่การผลิตอาหาร ในแง่การผลิตควบคุมการสูญเสียอาหาร และขยะอาหาร
ดังนั้น หลายชาติจึงมองหาวิธีแก้ไขการจัดการขยะอาหารอย่างจริงจัง โดยหนึ่งในแนวความคิดเพื่อลดขยะอาหารที่เกิดขึ้นใน ประเทศแคนาดา คือ การไม่ระบุวันที่ควรบริโภคก่อน หรือ “Best Before” บนฉลากอาหาร เพราะเห็นว่าเป็นวันที่บ่งบอกว่าอาหารนั้นยังคงมีคุณภาพ และมีรสชาติที่ดีเหมือนเดิมจนถึงวันที่ระบุไว้
ซึ่งหลังจากวันที่กำหนดรสชาติและคุณภาพของอาหารจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งชาวแคนาดาจำนวนมากยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
ในการนี้ ศูนย์วิจัยอาหาร Argi-Food มหาวิทยาลัย Dalhousie แคนาดา ได้สำรวจความคิดเห็นชาวแคนาดาต่อการกับการไม่แสดงวันที่ “Best Before” บนฉลากอาหาร พบว่า ชาวแคนาดา 32% ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และ 30% ค่อนข้างไม่เห็นด้วย ขณะที่ 27% สนับสนุนแนวความคิดฉลากบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพื่อต้องการช่วยลดขยะอาหารในแคนาดา
นอกจากนั้น รายงานยังระบุว่า ผู้บริโภคชาวแคนาดายังคงเชื่อมั่นกับวันที่ “Best Before” ที่ระบุบนฉลากอาหารอย่างมาก เพราะเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นของบริษัท Value Chain Management International (VCMI) จำกัด ผู้ดำเนินกิจการจัดการขยะอาหาร เผยว่า ปัจจุบันชาวแคนาดาผลิตขยะอาหาร (ที่ยังรับประทานได้) คิดเป็นปริมาณราวปีละ 8.79 ล้านตัน
ซึ่งนาย Martin Gooch ซีอีโอบริษัท VCMI เห็นว่า ผู้บริโภคแคนาดายังมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องระบุวันควรบริโภคก่อน โดยก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าอาหาร ผู้ซื้อจะต้องดูข้อมูลวัน “Best Before” เกือบทุกครั้ง
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ผู้บริโภคชาวแคนาดา รวมไปถึงร้านค้าปลีกและผู้ผลิตอาหารหลายรายจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ไม่ระบุวันที่ “Best Before” บนผลิตภัณฑ์อาหารนั้น
อย่างไรก็ดี แม้ระเบียบด้านอาหารจะกำหนดให้อาหารบางประเภท อาทิ นมผงเด็กทารก อาหารเหลว เป็นต้น ต้องมีการระบุวันหมดอายุ (Expiry Date) เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่พบโดยส่วนมาก มักจะระบุวันที่ “Best Before”, “Sell by” หรือ “Package on” เพื่อแสดงความสด ใหม่ของอาหารเท่านั้น
ด้าน Maria Corradini ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัย Guelph กล่าวว่า การที่ฉลากบรรจุภัณฑ์มีวันที่ “Best Before” ระบุไว้นั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในแง่ความปลอดภัย และคุณภาพของอาหาร
เพราะความปลอดภัยเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของคุณภาพอาหารที่ดี แต่ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารที่ปลอดภัย โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพของอาหารได้ ซึ่งการจะไม่ให้มีการระบุวันที่ใดๆ เลยนั้น เท่ากับเป็นการปิดสิทธิ์ของผู้บริโภคในการรับข้อมูลสินค้า
แม้ว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหภาพยุโรป อาทิ ห้าง Tesco ห้าง Waitrose ห้าง Mark & Spencer ห้าง Morrisons และล่าสุดห้าง Asda ได้ริเริ่มโครงการนำร่องไม่มีการระบุวันที่ “Best Before”, “Sell by” บนผลิตภัณฑ์อาหารที่พบการทิ้งเป็นประจำ เช่น นม แอปเปิ้ล มันฝรั่ง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม เรื่องการลดปริมาณขยะอาหาร แต่ Ms. Corradini ยังไม่เชื่อว่าโครงการดังกล่าว จะประสบความสำเร็จหรือได้ผลตอบรับที่ดี
สำหรับขณะนี้ ผู้บริโภคแคนาดาพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการลดขยะอาหาร แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ผลิต ร้านค้าและภาคเอกชนร่วมมือในการทำความเข้าใจกับผู้บริโภคของคำว่า “ควรบริโภคก่อน (Best Before)” ที่ถูกต้อง
โดยอาจเพิ่มเติมข้อมูลที่บ่งบอกลักษณะ สี กลิ่นของอาหารที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการรับประทานให้ผู้บริโภครับทราบ แทนที่ดูเฉพาะวันที่บนฉลากผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว หรืออาจมีการปรับเปลี่ยน ระบุวันที่ผลิตและบรรจุอาหารแทนวันที่ควรบริโภคก่อน
นอกจากนั้น ผู้ประกอบการต้องบริหารสินค้าคงคลังแบบ First In First Out (FIFO) ด้วย เพื่อลดปัญหาสินค้าเสื่อมสภาพที่อาจนำไปสู่ปัญหาขยะอาหารต่อไป
เมื่อแคนาดาหันมาให้ความสำคัญ กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงประเทศไทยที่มีความพยายามผลักดันประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการที่รัฐบาลได้ออกมาประกาศให้ BCG Economy – Bio-Circular-Green Economy เป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ หลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเป็นวาระชาติ
ดังนั้นแล้ว ผู้ส่งออกไทยที่ทำธุรกิจด้านอาหารและที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะศึกษาข้อมูลสินค้าและระเบียบการค้าอย่างสม่ำเสมอ พร้อมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นสำคัญ โดยต้องพยายามเปลี่ยนแปลงกับความท้าทายใหม่นี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
โฆษณา