29 ก.ย. 2022 เวลา 16:26 • ถ่ายภาพ
ทำไมกล้อง 'ไลก้า' ถึงมีราคาแพง และทำไมคนถึงยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของกล้องเยอรมันแบรนด์นี้
1
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแล้ว กล้องยี่ห้อหนึ่งที่หลายๆ คนใฝ่ฝันถึงอยากจะได้มาเป็นเจ้าของก็คือ ‘ไลก้า’ (Leica) กล้องสัญชาติเยอรมันที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ มาพร้อมโลหะบุหนังสีดำ และจุดสีแดงแรงฤทธิ์ที่มองผ่านๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นกล้องยี่ห้อไหน
1
แม้จะขึ้นชื่อเรื่องราคาที่แพงกว่ากล้องทั่วไป ยิ่งรุ่นพิเศษแบบ Limited Edition ก็ยิ่งมีราคาสูงไปทะลุหลายแสนหรือหลักล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็ยังคงใฝ่ฝันหรือตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของกล้องไลก้าให้ได้สักวันหนึ่ง
เพราะสิ่งที่ทำให้ไลก้าโดดเด่นนั้นไม่ใช่แค่การเป็นกล้องถ่ายภาพ หากแต่เป็น "ตำนานที่พลิกโฉมการถ่ายภาพทั่วโลก" ในฐานะผู้บุกเบิกวงการกล้องฟิลม์ 35 มม. ทั้งยังเป็นกล้อง Handcraft ที่ถือเป็น "ผลงานศิลปะในตัวเอง" มีประวัติความเป็นมายาวนาน อัดแน่นด้วยมวลความรู้ทางวิศวกรรมการออกแบบที่เป็นต้นแบบให้กับกล้องยี่ห้อต่างๆ ในปัจจุบัน และเหนืออื่นใดก็คือ เป็นแบรนด์ที่สามารถรักษา "คุณค่า" ได้อย่างเหนียวแน่นมากว่า 100 ปี
ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนรอยความเป็นมาของ กล้องไลก้า และเปิดเหตุผลว่าทำไม ไลก้าถึงเป็นกล้อง ‘ทรงคุณค่า’ ที่หลายคนอยากเป็นเจ้าของ
กล้องที่พลิกโฉมการถ่ายภาพของโลกไปตลอดกาล
ก่อนที่จะมีกล้องขนาดเล็กที่ทำให้เราจับภาพได้ทุกที่ทุกเวลาแบบทุกวันนี้ กล้องถ่ายภาพเคยเป็นกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่พร้อมขาตั้งเทอะทะน้ำหนักมากมาก่อน ช่างถ่ายภาพในสมัยก่อนนอกจากจะต้องมีฝีมือแล้วยังต้องมีร่างกายแข็งแรงแบกอุปกรณ์ไปไหนมาไหนได้ด้วย
นี่คือปัญหาใหญ่สำหรับ "ออสการ์ บาแน็ค" (Oskar Barnack) วิศวกรและนักออกแบบวัย 35 ปี ของบริษัทผลิตกล้องจุลทรรศน์ Ernst Leitz Optische Werke เพราะเขาเป็นคนที่ชื่นชอบการปีนเขาและถ่ายภาพกลางแจ้งมาก แต่กลับป่วยเป็นโรคหอบหืดจนไม่สามารถยกกล้องหนักๆ ไปไหนมาไหนได้
และด้วยความอยากได้กล้องขนาดเล็กที่พกขึ้นเขาไปถ่ายวิวทิวทัศน์ได้นี่เอง จึงทำให้บาแน็คพยายามคิดค้นกล้องขนาดเล็กขึ้นมา โดยการออกแบบตัวกล้องและเลนส์ที่สามารถบันทึกภาพที่คมชัดลงฟิล์มเนกาทีฟขนาดเล็กได้
โดยหลังจากทดลองกับเลนส์หลายชนิดจากบริษัทและฟิล์มในหลายขนาด ในปี ค.ศ. 1914 บาแน็คก็สามารถคิดค้นกล้องฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร ตัวแรกที่ชื่อว่า ‘UR-Leica’ ขึ้นมาได้สำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน 2 คน คือ Emil Mechau ที่ช่วยให้เขาคิดค้นม้วนฟิล์มเนกาทีฟขนาดเล็ก 24 x 36 มิลลิเมตร และ Max Berek ที่ช่วยคิดเลนส์ Leica Elmar 50mm f/3.5 เลนส์ตัวแรกของ Leica ที่มีคุณภาพสูงจนสามารถอัดรายละเอียดจำนวนมากลงฟิล์มขนาดเล็กได้ ทำให้เมื่อนำฟิล์มเหล่านั้นไปล้างขยายแล้วยังได้ภาพใหญ่ที่คมชัดได้โดยคุณภาพไม่ตก
1
ชื่อ “อัว ไลก้า” (Ur-Leica) คำว่า Ur แปลว่า Original ส่วน Leica มาจาก (Lei)tz+ (ca)mera ดังนั้น Ur Leica จึงมีความหมายว่่า “กล้องถ่ายภาพกล้องแรกของบริษัท Leitz”
และเมื่อบาแน็คสร้างกล้องนี้ขึ้นและลองใช้ เขาก็รู้ทันทีว่า "อุปกรณ์ชิ้นนี้จะปฏิวัติวงการถ่ายภาพไปตลอดกาล" แต่ก่อนที่เขาและบริษัทจะได้ผลิตสินค้าชิ้นนี้ออกไปวางขาย ทุกอย่างก็ชะงักไปก่อนเพราะมีสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น
จนเมื่อสงครามจบ และทุกคนได้กลับมาทำงานเหมือนเดิม กล้องฟิล์มรุ่นแรกของ Leica คือ ‘Leica-I’ จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นและผลิตออกจัดจำหน่ายในปี 1925 โดย Leica-I เป็นกล้องฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตรตัวแรกที่มี Rangefinder หรือสิ่งที่ช่วยให้นักถ่ายภาพกะระยะโฟกัสได้โดยไม่ต้องกะเองจากสายตาจนทำให้บางทีรูปออกมาเบลอ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้กล้องตัวนี้ขายดีถล่มถลายจนชื่อ Leica เป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทผลิตกล้องและเลนส์กล้องชั้นนำ
แต่รายชื่อนวัตกรรมที่บริษัท Leitz ฝากไว้ให้วงการถ่ายภาพก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะเพียง 5 ปีถัดมา Leica ก็ผลิต Leica-II ซึ่งเป็นกล้องที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ตัวแรกของโลกได้ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติที่จะเป็น "ต้นแบบ" ให้กับกล้องรุ่นใหม่ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น SLRs, DSLRs และ Mirrorless ที่เราคุ้นเคยกันดี
1
ตำนานที่เปลี่ยน 'วิธีการมองโลกใหม่'
การพัฒนากล้องฟิล์มขนาดเล็กยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อ "การรายงานข่าวด้วยภาพถ่าย" หรือ วารสารศาสตร์ภาพถ่าย (Photojournalism) ที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น
เพราะในขณะที่สมัยก่อนช่างภาพที่เป็นนักข่าวต้องแบกกล้องใหญ่ๆ ไปเซ็ตแล้วถ่ายจนทำให้ภาพข่าวที่ออกมาในสมัยก่อนมักเป็นภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว (aftermath) เช่น ภาพบ้านเมืองที่ยับเยินหลังสงคราม แต่ช่างภาพสมัยใหม่ที่มีกล้องขนาดเล็กจะสามารถยกกล้องขึ้นมาถ่ายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นได้เลย อีกทั้งยังสามารถหลบสังเกตการณ์อยู่เบื้องหลังเงียบๆ เพื่อรอช็อตเด็ดที่ต้องการได้โดยไม่ต้องเปิดเผยให้คนที่กำลังถูกถ่ายรู้ตัว
2
ความเงียบนี่เองที่ทำให้นักถ่ายภาพสตรีทชื่อดังยุคแรกๆ ที่ต้องการเก็บภาพบรรยากาศบนท้องถนน ผู้คน และสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติแบบ ‘ไม่ปรุงแต่ง’ (candid) จึงนิยมใช้กล้อง Leica เป็นอุปกรณ์ในการบันทึกภาพ
โดยนักถ่ายภาพที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งที่ใช้กล้อง Leica เป็นเครื่องมือคู่ใจคือ ‘อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง (Henri Cartier-Bresson)’ บิดาแห่งการถ่ายภาพสตรีทที่มักจะไปไหนมาไหนกับกล้อง Leica M3 คู่ใจอยู่เสมอ จนภาพที่เขาจับหรือห้อยกล้อง Leica เป็นภาพคุ้นตา โดยเฉพาะในหมู่นักถ่ายภาพรุ่นหลังที่เมื่อเห็นไอดอลตัวเองห้อยกล้อง Leica ก็เกิดอยากได้กล้องยี่ห้อนี้ซักตัวมาไว้ในครอบครองบ้าง
นอกจากนี้กล้อง Leica ยังเป็นกล้องที่อยู่คู่กับนักถ่ายภาพมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นเครื่องมือที่นักถ่ายภาพมืออาชีพใช้บันทึกภาพที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่น ภาพทหารเรือจูบพยาบาลสาวในวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ่ายโดย Alfred Eisenstaedt ในปี 1945 หรือภาพของนักปฏิวัติ เช เกวารา (Che Guevara) ถ่ายโดย Alberto Korda ช่างภาพชาวคิวบาในปี 1960 ที่ได้กลายไปเป็นโฉมหน้าและสัญลักษณ์ของการปฏิวัติทั่วโลกในเวลาต่อมา
และด้วยความเป็นมาที่ยาวนานขนาดนี้ กล้อง Leica สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพจึงไม่ได้เป็นแค่กล้อง แต่ยังเป็นนวัตกรรมชิ้นประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นกำเนิดวิธีการถ่ายภาพสมัยใหม่ และกำหนด ‘วิธีการมองโลก’ ให้กับนักถ่ายภาพทุกรุ่นที่มีชีวิตหลังจากนั้น
กล้องที่ไม่ใช่แค่เครื่องมือสร้างงานศิลปะ แต่ยัง ‘เป็นงานศิลปะ’ ในตัวเอง
นอกจากประวัติความเป็นมายาวนานแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้กล้อง Leica ยังคงเป็นกล้องที่นักถ่ายภาพทุกคนอยากได้มาอยู่ในครอบครองก็คือ ‘ดีไซน์ที่คลาสสิก’ และ ‘ความทนทาน’ ที่ทำให้คุณค่าของกล้อง Leica ไม่มีวันตกแม้เวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน
ในยุคที่ผู้ผลิตกล้องรายอื่นหันไปใช้เครื่องจักรและวัสดุที่ราคาถูกกว่าเพื่อลดต้นทุนการผลิตมานานแล้ว ช่างฝีมือที่ Leica ยังคงผลิตกล้องทุกตัว ‘ด้วยมือ’ จากชิ้นส่วนนับพันชิ้นที่ยังคงทำมาจากวัสดุชั้นดี และยังคง 'เมด อิน เยอรมนี' จนถึงทุกวันนี้
โดยเฉพาะ 'เลนส์' ซึ่งเป็นสินค้าที่ Leica เชียวชาญด้วยต้นกำเนิดที่เป็นบริษัทผลิตกล้องจุลทรรศน์ และประกอบโดยช่างฝีมือที่เป็น ‘ผู้หญิง’ ที่มือเล็ก และมีความละเอียดละออในการประกอบสินค้ามากกว่า ทำให้ในสายตาของผู้ซื้อ กล้องและเลนส์ของ Leica ทุกตัวไม่ใช่แค่เครื่องมือบันทึกภาพธรรมดา แต่ยังเป็น ‘งานศิลปะทำมือ’(Handcraft) ที่จะยิ่งมีคุณค่าเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับนาฬิกา Patek Phillips ที่ยิ่งเก็บยิ่งราคาขึ้น
การยึดมั่นในการรักษาคุณภาพ และ craftmanship นี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ Leica ยังคงรักษา Brand Value และวาง Position ตัวเองเป็นสินค้าคุณภาพสูงในระดับของสะสม ที่ถึงแม้จะราคาสูงถึงหลักแสนหลักล้านก็ยังมีกลุ่มลูกค้ารอซื้อจนผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย โดยเฉพาะใน ‘ไทย’ ที่เป็น ‘ตลาดที่มียอดขายสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน’
โดยข้อมูลของ บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายกล้อง Leica รายเดียวของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2016 ยอดขายกล้อง Leica มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในประเทศไทยจากฐานลูกค้าที่ขยายใหญ่ขึ้น
ในปี 2017 Leica ประเทศไทยทำรายได้ไป 147 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 152 ล้านบาท ในปี 2018 และ 167 ล้านบาท ในปี 2019 ส่วนในปี 2020 นั้นแม้รายได้จะลดมาอยู่ที่ 138 ล้านบาท แต่ก็เป็นเพราะปัญหาการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไม่ใช่เพราะลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง แต่เป็นเพราะ ‘ไม่มีของขาย’ เพราะผู้ผลิตที่ประเทศเยอรมนีไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าในช่วงที่มีการล็อกดาวน์และจำกัดเวลาการทำงานภายในประเทศได้
The Leica 0-series no. 105 กล้องของ ออสการ์ บาแน็ค ที่เจ้าตัวคิดค้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือกล้องที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดในโลก โดยถูกประมูลไปในราคาถึง 15 ล้านดอลลาร์ (ราว 570 ล้านบาท) ในปี 2022 นี้
และด้วยภาพลักษณ์ที่เป็น ‘งานศิลปะทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา’ นี้เอง หน่วยงานสำคัญในหลายๆ ประเทศจึงนิยมสั่งทำกล้อง Leica รุ่นพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิ วาระครบรอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ประเทศต่างๆ และโอกาสอื่นๆ ซึ่งมักจะจัดทำในจำนวนจำกัดเพื่อให้เป็นของที่ทรงคุณค่า
เช่น Leica งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีของสุลต่านบรูไนเมื่อปี 1992 ซึ่งเป็น Leica M6 เคลือบทองประทับตราพระองค์พร้อมเลนส์ Summilux-M 1.4/50mm มูลค่า 27,114 เหรียญสหรัฐ (ราว 1 ล้านบาท) ที่ผลิตออกมาเพียง 350 ชุดในโลกเท่านั้น
โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ
Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ
ในประเทศไทย 22 มูลนิธิและองค์กรการกุศลหลักในประเทศไทยเองกำลังจะจัดโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ขึ้นภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ “SX 2022” แพลตฟอร์มงานด้านความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในระดับอาเซียน ที่ 5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทยจะร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ย. ถึง 2 ต.ค. นี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
การจัดทำกล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับบนกล้องได้
โดยได้จัดทำกล้องถ่ายภาพเป็น 2 รูปแบบคือ ชุดสีเหลือง จำนวน 10 ชุด (ชุดละ 1,500,000) และชุดสีเขียว จำนวน 20 ชุด (ชุดละ 1,000,000 บาท)
ในชุดสีเขียวประกอบด้วยกล้อง Leica รุ่น M 10-P ประดับหนังจระเข้สีเขียวชุบทองคำแท้แบบไม่มันวาวพร้อมเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH
ในชุดสีเหลืองประกอบด้วยกล้อง Leica รุ่น M 10-P ประดับหนังจระเข้สีเหลืองชุบทองคำแท้แบบไม่มันวาว ที่มาพร้อมเลนส์ถึง ‘2 ตัว’ ด้วยกันคือ เลนส์ APO Summicron- M 1:2/50 ASPH และเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH โดยตัวเลนส์ APO 50 ตัวแรก ซึ่งเป็นเลนส์ขนาด 50 มิลลิเมตรที่ดีที่สุดในโลก จะอยู่ในเปลือกเลนส์แบบวินเทจหรือที่เรียกกันว่าเวอร์ชั่น1 (v1) มะเฟือง ซึ่งไม่เคยมีการผลิตมาก่อน
นอกจากนี้ ทั้งชุด กล้อง และเลนส์ทุกตัวจะมีหมายเลขกำกับ 1/10 ถึงลำดับหมายเลข 10/10 สำหรับชุดสีเหลือง และ 1/20 ถึงลำดับหมายเลข 20/20 สำหรับชุดสีเขียว ทำให้กล้องชุดนี้มีคุณค่าในเชิงสะสมเนื่องจากมีเพียง 30 ชุดในโลกเท่านั้น อีกทั้งตัวกล้องและสายยังเป็นหนังจระเข้ ทำให้แต่ละกล้องมีลวดลายไม่เหมือนกัน มีความเฉพาะตัวสูง
รายได้ทั้งหมดจากการจัดประมูลกล้อง Leica รุ่นพิเศษ ในงาน SX 2022 จะถูกมอบให้ 22 องค์กรการกุศลเพื่อนำไปสร้างประโยชน์แก่สังคมตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรต่อไป ซึ่งมูลนิธิและองค์กรการกุศล ประกอบด้วย
มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ไตรโครงการ ประกอบด้วย 3 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)
มูลนิธิชัยพัฒนา
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
มูลนิธิจุฬาภรณ์
มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE
ศิริราชมูลนิธิ
มูลนิธิรามาธิบดี
มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)
สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์
มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
จึงเรียกได้ว่าผู้ประมูลกล้องในโครงการนี้ นอกจากจะได้กล้อง Leica ที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์และชื่อเสียงด้านวิศวกรรมยาวนานกว่า 120 ปีแล้ว ยังได้ของสะสมล้ำค่าจากความร่วมมือร่วมใจของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และทั้ง 22 องค์กร ที่มาร่วมมือกันเพื่อสร้างประโยชน์สุขเพื่อสังคม และประเทศชาติให้พัฒนาอย่าง ‘ยั่งยืน’
ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ ‘ดีเอ็นเอ’ ของ Leica บริษัทเจ้าของนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ยัง ‘ทรงอิทธิพล’ ยาวนานมาถึงปัจจุบัน และจะยัง ‘ทรงคุณค่า’ ต่อไปอีกในอนาคต
โฆษณา