30 ก.ย. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
ถ้าพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจสังคมทั่วโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้คือภาวะเงินเฟ้อ แล้วเงินเฟ้อคืออะไรล่ะ
ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) คือ การที่มูลค่าของเงินในประเทศลดลง ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทบกับรายได้ของผู้บริโภคที่ยังคงเท่าเดิม จึงทำให้อำนาจในการซื้อของผู้บริโภคลดลง หรือแปลง่ายๆ คือ เงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลงนั้นเอง ส่งผลให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยราว 2% จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะมีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก
ทั้งนี้ เงินเฟ้อสามารถเกิดขึ้นได้เองตามกลไกทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทาน เช่น การปรับราคาสินค้าที่สูงขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคหรือต้นทุนการผลิต เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วยุโรปพุ่งสูงขึ้นจนทำให้ราคาอาหาร การขนส่ง การก่อสร้าง และอื่น ๆ แพงตามไปด้วย
นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อยังอาจเกิดขึ้นได้จากนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ เช่น การที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมักเป็นวิธีหลักที่สหรัฐอเมริกาและอีก 80 กว่าประเทศทั่วโลกนิยมใช้กัน หรือการที่รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น
แต่ในกรณีของประเทศซิมบับเวและเวเนซุเอลา การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากจนเกินไป จะทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงจนเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและแทบทำให้ระบบเงินสดของประเทศล่มสลาย จนคนในประเทศหันไปใช้อย่างอื่น ในการแลกเปลี่ยนแทนเงินคนของรัฐบาล เช่น วัว หรือคริปโทเคอร์เรนซี เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การเงินทั่วโลกจะพบว่า 80% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศทั่วโลกกำลังชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อรอบโลกในปี พ.ศ 2565 ก็มีสัดส่วนเป็น 7.4% ของปีก่อนหน้าและจะทรงตัวอยู่ราว 3.24 - 4.85% ภายในปี พ.ศ. 2570
สำหรับประเทศไทยซึ่งได้ผ่อนคลายมาตรการโควิดจนส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นและกำลังขยายตัวจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ และการฟื้นตัวของธุรกิจภาคการบริการนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นถึงแนวโน้มดังกล่าวจึงได้ดำเนินการกำหนดนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว การประกาศนอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องได้ถึง 3.3% ในปี พ.ศ 2565 และ 3.8% ในปี พ.ศ 2566
1
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้น (จนถึงสิ้นปี พ.ศ 2565) สำหรับบุคคลและครัวเรือนต้องคอยควบคุมและประคองค่าครองชีพให้ดี ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะหลายองค์กรและสถาบันการศึกษาตัดสินใจให้บุคลากรกลับมาทำงานหรือใช้เวลาที่สถานที่ทำการมากขึ้น
ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายเมื่อต้องออกจากบ้านในแต่ละวัน ในขณะที่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมตัดสินใจขึ้นราคา มีการแลกเปลี่ยนเพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างกลุ่มธุรกิจด้วยกันและระหว่างกลุ่มนายทุนกับกลุ่มการเมือง ทำให้สินค้ามีราคาแพงมากยิ่งขึ้น สำหรับมิติด้านความยั่งยืน จะเห็นผู้บริโภคหันมามีพฤติกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้ภาชนะซ้ำ ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยไม่ได้พุ่งสูงหรือไปในทิศทางที่เกินความคาดหมาย ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุนทำให้ยังประคองตัวและเติบโตต่อไปได้ ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่อาจต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมไปถึงอุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นต้น
สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ช้าอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน ทั้งต้นทุนการผลิตและการเรียกร้องจากแรงงานให้ขึ้นค่าแรง เช่น ธุรกิจผลิตเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ธุรกิจผลิตเครื่องสำอาง ผลิตยา และสมุนไพร เป็นต้น
เมื่อพิจารณาไปจนถึงช่วงกลางปีหน้าหรือกรกฎาคม พ.ศ 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกจิจะยังคงเติบโต อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ค่อนข้างผันผวนและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำคัญต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดและต้องมีการปรับตัวทั้งเชิงนโยบายชาติและแนวทางการดำเนินชีวิตในอนาคต
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินควรเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาตรการเฉพาะจุดเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในกลุ่มเปราะบางมากกว่ามาตรการช่วยเหลือทางการเงินและมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจระยะสั้น
- ภาครัฐควรเข้ามายกระดับและเพิ่มทักษะแรงงาน จัดหางานตามความสามารถ และออกนโยบายเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้แคบลง
- ทักษะการบริหารจัดการการเงินทั้งในระบบการเงินแบบดั้งเดิมและแบบดิจิทัลควรเป็นหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาแกนกลางขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อการดำเนินชีวิต
- การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์และการเมืองควรได้รับการเน้นย้ำอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคการเงิน กฎหมาย การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- คนในเจเนอเรชัน Z และ Alpha จะมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แบบดั้งเดิม เช่น อสังหาริมทัพย์ ทองคำ หรือที่ดินน้อย แต่จะหันไปคาดหวังโอกาสการเติบโตและความร่ำรวยจากในสินทรัพย์และตลาดใหม่ ๆ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลและรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนเมตาเวิร์สแพลตฟอร์มแทน
อ้างอิงจาก:
- ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 50/2565 เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 5/2565 https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2022/Pages/n5065.aspx
- BOT Press Release No. 50/2022 Monetary Policy Committee’s Decision 5/2022 https://www.bot.or.th/English/PressandSpeeches/Press/2022/Pages/n5065.aspx
- BACK TO NORMAL ก้าวต่อไปนโยบายการเงินไทยภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256503108highlight.aspx
- กนง.ย้ำ การดำเนินนโยบายการเงิน ไม่เปลี่ยนเป้าหมายหลัก ไปคุม ‘ค่าเงินบาท’ https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1029547
- “ซิมบับเว” ครองแชมป์ สุดยอดเงินเฟ้อ 231 ล้าน % https://www.moneyandbanking.co.th/magazine_detail/online_magazine/zimbabwe-inflation-champian-mb483-july2022-200765
- ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับเราอย่างไร https://thaipublica.org/2018/05/kkp-financial-literacy-16/
- ผลการสำรวจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20210427095331.pdf
- Global inflation rate from 2017 to 2027(compared to previous year) https://www.statista.com/statistics/256598/global-inflation-rate-compared-to-previous-year/
- The state of the world's economies and markets in 2022 - in charts https://www.weforum.org/agenda/2022/09/world-economy-charts-2022
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #Inflation #MQDC
โฆษณา