15 ต.ค. 2022 เวลา 03:03 • ประวัติศาสตร์
• แฟชั่นคลั่งสักของคนยุควิกตอเรีย
ในวัฒนธรรมยุควิกตอเรียอังกฤษ การสักไม่ใช่สิ่งต้องห้ามหรือดูไม่ดี ในทางตรงกันข้าม การสักเป็นกระแสนิยมอย่างมาก
บนเรือนร่างของนักโทษ ทหาร และกะลาสีในยุควิกตอเรียเป็นสิ่งปกติที่จะมี ‘รอยสัก’ ซึ่งผู้อ่านอาจจะไม่แปลกใจอะไรกับเรื่องนี้ แต่ผู้อ่านอาจจะแปลกใจหากทราบว่า การสักนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะคนกลุ่มนี้ แม้แต่คนงานไร้ทักษะ วิศวกร หรือแม้กระทั่งสมาชิกราชวงศ์ ก็นิยมการสักไม่ต่างกัน
ภาพชายที่ถูกสักที่ลอนดอน ปี 1897 (ภาพ: Historia/CNN)
• จากนักโทษสู่ราชวงศ์
นักโทษคือผู้ที่นำเทรนด์การสักมาเผยแพร่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในยุควิกตอเรีย ความนิยมนี้แพร่ขยายจากจุดต่ำสุดไปถึงชั้นบนสุดของพีระมิดทางสังคม
ในยุคนั้น รอยสักบนร่างกายของนักโทษไม่ได้แสดงถึงความเกี่ยวข้องอันใดกับการทำความผิดหรือการก่ออาชญากรรมตามความเข้าใจทั่วไป แต่รอยสักคือสิ่งที่แสดงถึงด้านบวกและความรู้สึกในเชิงแฟชั่น รอยสักคือสิ่งบ่งชี้ถึงอัตลักษณ์และอารมณ์ความรู้สึกของคนทั่วไปในอดีต เช่น สักเพื่อจารึกถึงครอบครัว คนรัก หรือประสบการณ์ที่ผ่านมา เป็นต้น
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการสักกลายเป็นที่นิยมไปสู่คนหมู่มากได้อย่างไร แต่ความตื่นตัวของสาธารณชนยุควิกตอเรียต่อการสักเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1870 เมื่อเกิดคดีขึ้นโรงขึ้นศาลว่ามีชายผู้หนึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่หายตัวไปของขุนนางยศบารอนตระกูลหนึ่ง แต่การแอบอ้างนี้ก็เอวังไปเมื่อมีข้อมูลเปิดเผยว่าทายาทที่หายตัวไปผู้นั้นมีรอยสักชัดเจนในขณะที่ชายผู้แอบอ้างนั้นไม่มีรอยสักเลยแม้แต่น้อย
ต่อมาในทศวรรษที่ 1870-1880 ความคลั่งรอยสักก็เผยแพร่ไปสู่สังคมชนชั้นสูงหลังจากกลายเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าขุนนางผู้สูงศักดิ์และสมาชิกราชวงศ์จำนวนมากไม่ว่าจะชายหรือหญิงต่างก็สักกัน ผู้คนเลยแห่เลียนแบบตามไปด้วย นิตยสาร Harmsworth Magazine เขียนไว้ในปี 1898 ว่าในบรรดาพวกผู้ดีจำนวนห้าคนจะมีคนสักอยู่หนึ่งคน
ขอยกตัวอย่างกรณีบุคคลที่มีชื่อเสียงสักสองสามคนที่มีรอยสักและนำแฟชั่นนี้มาสู่ยุควิกตอเรีย
คนแรกเป็นว่าที่กษัตริย์อังกฤษ คือ เอ็ดเวิร์ดเจ้าชายแห่งเวลส์ โอรสของควีนวิกตอเรีย หรือต่อไปคือคิงเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII) ทรงได้รอยสักมาระหว่างการเดินทางไปทั่วจักรวรรดิอังกฤษเมื่อปี 1862 ในระหว่างที่พระองค์ทรงหยุดพักที่กรุงเยรูซาเล็ม ทรงสั่งการให้ร้านสักที่นั่นสักรูป ‘Jerusalem Cross’ ไว้บนร่างกายของพระองค์ อาจจะเพื่อเป็นที่ระลึกของการเดินทางที่เปรียบเสมือนการไปจาริกแสวงบุญครั้งนี้
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด หรือ เบอร์ตี้ (Bertie) เป็นเจ้าชายที่อื้อฉาวโดยเฉพาะเรื่องคาวสวาท และการเดินทางในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นมาภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตพระบิดา โดยควีนวิกตอเรียกล่าวโทษว่าเบอร์ตี้เป็นสาเหตุที่ทำให้สวามีอันเป็นที่รักของพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะเบอร์ตี้ไปก่อเรื่องอื้อฉาวทางเพศที่อเมริกามา แล้วพระบิดามากล่าวตักเตือนและเดินตากฝนเป็นระยะทางไกล หลังจากนั้นก็ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ และในปี 1882 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ได้รอยสักมาเพิ่มในคราวที่เสด็จไปเยือนญี่ปุ่น เป็นรูปมังกรหนึ่งตัว
ต่อมาเป็นนัดดาของควีนวิกตอเรีย โอรสสององค์ของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด คือเจ้าชายอัลเบิร์ต วิคเตอร์ (Albert Victor, Duke of Clarence) ดยุกแห่งแคลแรนซ์ อีกคนคือเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งยอร์ก ที่ต่อมาคือคิงจอร์จที่ 5 (George V) เจ้าชายอัลเบิร์ต วิคเตอร์ ได้รอยสักเป็นรูปนกกระสา ส่วนเจ้าชายจอร์จทรงได้รอยสักเป็นรูปมังกรสีแดงและสีน้ำเงินบนแขนโดยช่างสักที่มีชื่อเสียงระหว่างการเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อปี 1881
มิหนำซ้ำในระหว่างเดินทางจากญี่ปุ่นกลับอังกฤษ เจ้าชายทั้งสองก็เพิ่มรอยสักในระหว่างที่หยุดพักที่กรุงเยรูซาเล็มด้วย โดยเป็นรอยสักแบบเดียวกับพระบิดาของเจ้าชายทั้งสอง
คิงจอร์จที่ 5 กับภาพที่จำลองรอยสักที่ญี่ปุ่นเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชาย (ภาพ: Wikipedia, Ranker)
• ความนิยมที่แพร่หลายต่อมา
1
เมื่อสมาชิกชั้นสูงของราชวงศ์อังกฤษมีรอยสัก การสักเลยกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนร่ำรวยและขุนนางทั่วยุโรป ชนชั้นสูงเหล่านี้อยากมีรอยสักเป็นของตัวเอง บรรดาคนที่แห่แหนพากันไปสักในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1800 มีทั้งกษัตริย์และจักรพรรดิ เช่น
- คิงออสการ์แห่งสวีเดน
- ควีนโอลกาแห่งกรีซ
- ไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่ 2
- แกรนด์ ดยุก อเล็กซิส แห่งรัสเซีย
นอกจากนี้ สาวสังคมชั้นสูงชื่อดังของอังกฤษ คือ เจนนี เจโรม ผู้มีฉายา ‘เจ้าหญิงดอลลาร์’ มารดาชาวอเมริกันของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ แห่งอังกฤษ ที่มีข่าวลือว่าเจนนีนั้นเป็นชู้รักของเบอร์ตี้ กล่าวกันว่าในขณะที่ลอร์ดเชอร์ชิลล์ผู้เป็นสามีป่วยเป็นซิฟิลิสระยะสุดท้าย เจนนีกับเบอร์ตีพากันล่องเรือครูซเที่ยวทั่วโลก และมีเรื่องเล่าว่าเธอพบกับลูกเรือ โดยเขาสักรูปงูรอบข้อมือให้แก่เธอ และกล่าวกันว่าแม้กระทั่งวินสตัน เชอร์ชิลล์ก็มีรอยสักเช่นกัน
(เคยเขียนเรื่องมารดาของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้นี้ไว้ในซีรีย์ “ผู้หญิงรอบโลก” ชื่อเรื่องว่า “เจนนี เจโรม “เจ้าหญิงดอลลาร์” มารดาของวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ”)
ช่วงปี 1902 เป็นห้วงเวลาแห่งความนิยมสูงสุดที่สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีชั้นสูงต่างเรียงแถวต่อคิวเพื่อรอสักกันอย่างล้นหลาม นิตยสารอังกฤษที่ชื่อว่า Pearson's Magazine ยังกล่าวในทำนองชักจูงใจว่า เข็มสักนั้นทิ่มเพียงเบา ๆ ไม่ทำให้เจ็บปวดเลย จนแม้กระทั่ง “เหล่าสุภาพตรีที่เปราะบางที่สุดยังไม่เอื้อนเอ่ยเสียงบ่นออกมาสักแอะ”
สาวสังคมชั้นสูงไปจนถึงราชวงศ์อังกฤษนิยมการสักไม่น้อยกว่าเหล่าอาชญากร โดยเฉพาะเมื่อเข้าศตวรรษที่ 20 ใคร ๆ ก็สักกันเป็นเรื่องปกติ สาวสังคมผู้นิยมแฟชั่นมักเลือกสักลายผีเสื้อและนก หรือมิฉะนั้นก็เลือกที่จะทำให้ผิวละเอียดอ่อนเป็นสีชมพูตลอดทั้งปีโดยมีรอยสักบาง ๆ บนหน้าซ่อนอยู่ ซึ่งมองกันว่าเป็นความสวยงามละเอียดอ่อน
คิงเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเจ้าชายแห่งเวลส์ ทรงสักเป็นรูปสัญลักษณ์ ‘Jerusalem Cross’ (ภาพ: Wikipedia)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา