15 ต.ค. 2022 เวลา 16:52 • ประวัติศาสตร์
รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มกระบวนการเลิกทาสในสยามช้ากว่าอเมริกาเพียงไม่กี่ปี
ในช่วงเวลาที่เส้นทางการเมืองของอับบราฮัม ลินคอล์นกำลังรุ่งโรจน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ที่ทรงมีความคิดอ่านเกี่ยวกับทาสทำนองเดียวกับเขา ยังทรงพระเยาว์มาก เพราะพระองค์เพิ่งจะเสด็จพระราชสมภพในเดือนกันยายน พ.ศ. 2396
พระองค์ทรงได้รับการศึกษาทั้งแบบประเพณีนิยม และแบบยุโรป ด้วยการส่งเสริมจาก “ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเห็นคุณประโยชน์ของการเรียนรู้สรรพวิชาจากตะวันตก ทรงโปรดให้ครูชาวต่างชาติหลายท่านมาสอนภาษาอังกฤษ ให้กับพระราชโอรสของพระองค์
หนึ่งในนั้นคือ “ แอนนา เลียวโนเวนส์ “ หญิงหม้ายชาวอังกฤษ ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยทาสของ อับราฮัม ลินคอล์น ให้แด่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ช่วงประมาณ พ.ศ.2408 จนถึงกับทรงตั้งปณิธานไว้ว่า จะทรงดำเนินการเลิกทาสให้สำเร็จ เมื่อพระองค์ได้ปกครองประเทศสยาม
แน่นอนว่าการจะยกเลิกขนบธรรมเนียมที่ยึดมั่นมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำกันได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทาส ที่ผูกพันกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของมูลนายอย่างเหนียวแน่น
ในขณะที่องค์ความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเรื่องการปลดปล่อยทาสนั้น ยังคงกระจุกตัวในคนส่วนน้อยของชนชั้นปกครองเท่านั้น หาได้แพร่กระจายไปในหมู่ชนชั้นปกครองส่วนใหญ่และประชนพลเมืองไม่
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพิ่งจะมีพระชนมายุ 15 พรรษา จะทรงดำเนินการยกเลิกระบบทาสได้ ในทันทีที่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2411
เพราะไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ขุนนาง และนายทุน หรือแม้กระทั่งตัวของทาสเอง ก็ล้วนแต่ใช้ชีวิตตามจารีตประเพณีที่ใช้แรงงานทาสมานาน นับเนื่องมาแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างช้า จนผู้คนเกือบทั้งหมดไม่รู้สึกว่าทาสเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคมสยามแต่อย่างใด
การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากกระแสสังคมเฉกเช่นสหรัฐอเมริกา หากเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระประสงค์จะพัฒนาประเทศสยามให้มีความทันสมัย โดยมีนานาประเทศในยุโรปและอเมริกาเป็นต้นแบบ
แน่นอนว่าในแนวทางตะวันตกแล้ว ทาสเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีหรือต้องไม่มีในสังคมของผู้เจริญ ยิ่งต้องมีการเปิดประเทศเพื่อค้าขาย และสร้างความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ที่กำลังแผ่อิทธิพลทางทหารและขยายจักรวรรดิของตนจนประชิดชายแดนฝั่งตะวันตกและตะวันออกของราชอาณาจักรสยาม การเลิกทาสจึงยิ่งมีความชอบธรรม เพื่อเปลี่ยนประเทศให้พ้นจากความเป็นรัฐโบราณที่กำลังจะพ้นสมัย สู่ประเทศที่ประชาชนพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพและได้รับการศึกษา
หลังจากขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาประมาณ 6 ปี กว่าที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ในเวลานั้นทรงตระหนักดีว่าแรงงานทาสเป็นผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและนายเงิน และแม้แต่ตัวทาสเอง ก็ยังทรงเข้าพระทัยได้ว่า ทาสจำนวนมากไม่เต็มใจที่จะสละสถานะความเป็นทาสของตน ด้วยเกรงว่าจะไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ อยู่กับนายทาสแม้จะลำบากกายแต่ก็รับประกันได้อนาคตได้ว่า จะมีปัจจัยการดำรงชีพอย่าง ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรค
ดังนั้นการที่จะหักหาญบังคับให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ดำเนินการปลดปล่อยทาสตามพระราชประสงค์ จึงน่าจะไม่เป็นผลดีต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ เชื่อว่าพระองค์ย่อมทรงมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษาประวัติศาสตร์การเลิกทาสของอเมริกามาอย่างละเอียด
เพราะขนาดสังคมอเมริกันที่คุ้นเคยกับสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน มีระบบการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ก็ยังมิอาจแก้ปัญหาทาสด้วยสันติวิธี ด้วยประการฉะนี้ รัชกาลที่ 5 จึงทรงขับเคลื่อนนโยบายเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป
การตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย พ.ศ. 2417 นั้นชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประนีประนอม ให้นายทาสและทาสได้มีโอกาสปรับตัว
โดยมีการแก้ไขอัตราค่าตัวลูกทาสที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ. 2411 ให้ขึ้นสู่จุดสูงสุดและลงมาสู่จุดต่ำสุดให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ลูกทาสหญิงและชายจะมีค่าตัวสูงสุดที่อายุประมาณ 21 – 40 ปี ค่าตัวประมาณ 12 – 14 ตำลึง แล้วจะค่อย ๆ ลดราคาลงต่ำสุดที่อายุ 100 ปี ที่ราคา 3 – 4 บาท แต่อัตราค่าตัวลูกทาสและลูกไทยตามกฎหมายใหม่ ค่าตัวสูงสุดจะไปอยู่ที่อายุประมาณ 8 ปี มูลค่าเต็ม 8 ตำลึง แล้วลดลงสู่ราคา 1 ตำลึง ที่อายุ 20 ปี และหมดค่าตัวเมื่ออายุ 21 ปี ซึ่งแตกต่างอย่างมากมายกับพิกัดเกษียณทาสในกฎหมายเก่า
แม้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะเพิ่มความยุติธรรมให้แก่มนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสังคม ที่จะนำสยามสู่ความเจริญก้าวหน้าสักเพียงใดก็ตาม แต่ในเมื่อผู้คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นว่าทาสนั้นคือปัญหา จึงไม่น่าประหลาดใจแต่ประการใดที่จะพบว่า มีการเล่นแร่แปรธาตุของผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในระบบทาส
กระทำการหลีกเลี่ยงพระราชอาญาภายใต้โครงสร้างของกฎหมายใหม่ เพื่อให้ระบบทาสและการเข้าสู่ระบบทาสยังคงดำเนินการต่อไปได้ เช่นการแก้ไขปีเกิดของลูกทาสหรือลูกไทยให้อยู่เหนือปีมะโรง พ.ศ. 2411 การทำสัญญากู้เงินที่สูงกว่าความเป็นจริง จนลูกไทยต้องกลายเป็นลูกทาสที่ยากจะทำการไถ่ถอน มิหนำซ้ำลูกทาสที่พ้นค่าตัวเกษียณกลายเป็นไทยจำนวนไม่น้อย ยังสมรู้ร่วมคิดกับนายทาสเพื่อหาทางกลับไปเป็นทาสต่อ นายทาสหลายต่อหลายรายไม่ยอมนำทาสที่เกษียณไปสักเลขที่ข้อมือ ทำให้ทาสซึ่งกลายเป็นไทยไหลเวียนย้อนกลับเข้าสู่ระบบทาสได้อีก
เพื่อเป็นการอุดช่องว่างทางกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงตรากฎหมายและออกประกาศอีกหลายครั้ง
และเพื่อให้การเลิกทาสมีผลสัมฤทธิ์ พระองค์จึงทรงพยามที่จะยกเลิก “ โรงบ่อนเบี้ยพนัน “ ซึ่งถือเป็นปฐมเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ต้องขายลูก ผัวต้องขายเมีย ปู่ย่าตายายต้องขายหลาน หรือแม้กระทั้งขายตัวเอง ทั้ง ๆ ที่บ่อนการพนันเหล่านี้ส่งส่วยเข้ารัฐได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 11,000 ชั่ง แต่พระองค์ก็ทรงทยอยให้เลิกไป
ที่สำคัญพระองค์ยังทรงเล็งเห็นว่า “ การศึกษา “ นั้นเป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้มนุษย์พ้นจากความยากลำบาก ถ้าลูกไทยหรือลูกทาสมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะมีความรู้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับราชการ ที่พระองค์กำลังจะทรงดำเนินการให้ปฏิรูปครั้งใหญ่ ทาสจึงค่อย ๆ ปลาสนาการไปจากแผ่นดินสยามด้วยประการฉะนี้
ข้อมูลอ้างอิง
กรมศิลปากร . เลิกทาสในรัชกาลที่ 5 . โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ . พ.ศ. 2507
มาร์กาเร็ต แลนดอน . แอนนา กับ พระเจ้ากรุงสยาม . สำนักพิมพ์แก้วกานต์ . พ.ศ. 2542
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ . พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 . เฉลิมชัยการพิมพ์ . พ.ศ. 2514
โฆษณา