Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น
[เรื่องเกือบส่วนตัว ตอน 16]
หาดใหญ่ใต้บาดาล
หาดใหญ่เป็นเมืองสายฝน
ใช่ ในช่วงวัยเด็กของผม มันยังเป็นเมืองสายฝน
หาดใหญ่ พ.ศ. นั้นท้องฟ้าสะอาด ไร้มลพิษ รถยนต์มีนับคันได้ มอเตอร์ไซค์ก็ยังมีน้อย พาหนะส่วนใหญ่ของชาวเมืองคือจักรยาน แม้แต่รถรับจ้างก็เป็นสามล้อถีบ
หลายเช้าเราตื่นขึ้นมาในสภาวะฟ้ารั่ว น้ำเทลงมาจากฟ้าอย่างหนัก จนแม่ต้องเรียกรถสามล้อถีบพาเด็กหลายคนไปส่งโรงเรียน คลุมตัวเด็กด้วยร่มกระดาษ
สมัยนั้นยังไม่มีร่มผ้า ร่มทุกชนิดเป็นร่มกระดาษหนาเตอะเทอะทะ
ต่อมาก็มีเสื้อกันฝนพลาสติกจำหน่าย แต่มันห่างไกลจากเสื้อกันฝนบางๆ ในสมัยนี้ประมาณห้าร้อยปีแสง เสื้อกันฝนสมัยนั้นทำด้วยพลาสติกหนาเตอะ หนักอึ้งเหมือนเสื้อเกราะ ไม่มีใครอยากสวมใส่
อย่างไรก็ตาม ในสภาพฝนเทหนักอย่างนั้น ร่มหรือเสื้อกันฝนอะไรก็ช่วยไม่ค่อยได้ ไปถึงโรงเรียนในสภาพมะล่อกมะแล่กเหมือนลูกหมาตกน้ำ
ก็ปล่อยให้แห้งไปเอง ไม่มีเสื้อผ้าให้เปลี่ยนหรอก
ตอนกลับบ้านถ้าเจอฝนหนักอีกรอบ ก็เปียกอีกรอบ
ก็โตมาอย่างนี้แหละ
และผมก็น้ำมูกไหลทั้งปีอย่างนี้แหละ
ผมชอบมองเม็ดฝนหล่นลงมาจากฟ้า
นี่อาจเป็นคุณลักษณ์ของชาว introvert ก็ได้ ทว่ามองกลับกัน บางทีการมองเม็ดฝนหล่นจากฟ้าเงียบๆ ก็อาจทำให้ใครคนหนึ่งกลายเป็นชาว introvert
นิสัยดูความงามของสายฝนนี่ติดตัวมาจนแก่ เวลาฝนตกพรำ จะรู้สึกใจสงบนิ่งกว่าเดิม
ในหนังเรื่อง W. C. Fields and Me (1976) หนังประวัติชีวิตของดาวตลก W. C. Fields ในฉากหนึ่งเขานอนไม่หลับ จนเมื่อได้ยินเสียงฝนตกกระทบหลังคา ก็สามารถหลับได้ ปรากฏว่าฝนไม่ได้ตก แต่ผู้หญิงข้างตัวเขาฉีดน้ำรดหลังคาเพื่อให้เขาคิดว่าฝนตก
ผมรักเสียงเม็ดฝนกระทบหลังคาเสมอ เคยบอกหลายคนว่า เมื่อผมใกล้ตาย ถ้าฝนไม่ตก ก็ช่วยสร้างอย่างฉากฝนตกในหนังเรื่องนี้ด้วย จะได้ตายอย่างสงบ
ทุกครั้งที่ฝนเทหนัก กิจกรรมหนึ่งที่เราต้องทำคือนำกระป๋องโลหะไปรองน้ำฝนที่รั่วลงมาจากหลังคาสังกะสี (สมัยนั้นบ้านที่ปูหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาถือว่ามีฐานะ)
บ่อยครั้งฝนตกข้ามวันข้ามคืน ไม่ยอมหยุดเลย วันใดที่ฝนหล่นตอนท้องฟ้าเป็นสีขาวหม่น รู้เลยว่าเป็นฝนมาราธอน
1
ฝนตกชุกมาก ตกได้ข้ามวันข้ามคืน ผลที่ตามมาคือน้ำท่วมบ่อยๆ
น้ำท่วมส่วนใหญ่จะเป็นแบบมาเร็วไปเร็ว ท่วมสูงราวตาตุ่ม หลังจากนั้นราว 1-2 ชั่วโมง น้ำก็ลด
ถือเป็นการล้างบ้านภาคบังคับก็แล้วกัน
แต่นานๆ ครั้ง ก็มีแบบ ‘จัดใหญ่’
กลางดึกคืนหนึ่งผมถูกปลุกตื่นด้วยเสียงคนคุยกันโหวกเหวก ลงไปชั้นล่างก็พบว่าน้ำกำลังท่วมบ้านสูงถึงเอวคน แลเห็นท่านพ่อกับแม่ และคนงานช่วยกำลังขนข้าวของรองเท้าที่จมน้ำขึ้นที่สูงอย่างแข่งกับเวลา สินค้าหลายส่วนเสียหาย
1
หาดใหญ่ถูกกองทัพน้ำจู่โจมกลางดึกสงัด
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็พบภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต นั่นคือทั้งเมืองจมใต้น้ำ หาดใหญ่กลายเป็นอัมพาต ทุกกิจการยุติ
ชาวเมืองทำอะไรไม่ได้นอกจากรอให้น้ำลดลงเอง
กินเวลาราว 3-4 วันกว่าน้ำจะลง และราวหนึ่งสัปดาห์ที่ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ
ช่วงที่น้ำท่วม แม่ขนเตาอั้งโล่ขึ้นไปที่ชั้นสอง และทำอาหารตามมีตามเกิด
ในวิกฤตก็มีโอกาส เราเห็นเรือพายหลายลำมาขายของถึงบ้าน เช่น ผัก ผลไม้ เวลาซื้อก็ต้องหย่อนตะกร้าผูกเชือกจากชั้นบนลงไป
นี่เป็นน้ำท่วมใหญ่ครั้งแรกที่ผมจำได้
ตามมาด้วยครั้งที่สอง
มีอยู่ปีหนึ่งฝนตกพรำหลายวันต่อเนื่องกัน ได้ยินคนพูดว่าน้ำอาจจะท่วม ผมขี่จักรยานไปที่คลองอู่ตะเภา เห็นน้ำเอ่อสูงจนเริ่มท่วมตลิ่ง
ผมดูน้ำในบ่อบาดาลที่บ้าน เป็นภาพแปลกตา เพราะระดับน้ำใต้ดินขึ้นสูงจนแทบจ้วงตักน้ำเอาได้
วันหนึ่งผมไปเรียนหนังสือตามปกติ เมื่อไปถึงโรงเรียนพบว่าน้ำเริ่มท่วมระดับตาตุ่ม ครูใหญ่สั่งปิดโรงเรียน ผมก็เดินกลับบ้าน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา หาดใหญ่ก็ถูกมวลน้ำโจมตีอีกครั้ง คราวนี้น้ำป่าบุกเมืองตอนกลางวันแสกๆ
เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นน้ำท่วมเมืองอย่างรวดเร็ว ได้ยินว่าเป็นน้ำป่า ผมไม่เคยเห็นความเร็วและความแรงของน้ำระดับนี้มาก่อน น้ำไต่ระดับจากตาตุ่มถึงเอวคนทั่วทั้งเมืองในเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง
เที่ยวนี้เกิดขึ้นตอนกลางวันแสกๆ จึงขนข้าวของขึ้นชั้นบนทัน อีกครั้งทุกกิจกรรมในเมืองแน่นิ่ง ธุรกิจการค้าหยุดหมด
น้ำท่วมในสายตาผู้ใหญ่คือหายนะ ไม่มีรายได้ แต่สำหรับเด็ก มันคือความสนุก เป็นสีสันของชีวิตเด็กที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวง
เด็กแทบทุกบ้านเล่นน้ำกัน บางคนใช้ยางในล้อรถยนต์เป่าลม กลายเป็นเรือยาง พายไปทั่ว
ผมถือโอกาสนี้หัดว่ายน้ำ แต่ไม่สำเร็จ เผลอกลืนน้ำไปอึกหนึ่ง แต่ไม่เป็นไรเลย น้ำสะอาดกว่าที่คิด
น้ำท่วมใหญ่สองครั้งนี้สร้างความเสียหายมาก แต่ยังไม่หนักหนาเท่าน้ำท่วมใหญ่หลายสิบปีต่อมา คือ พ.ศ. 2543
เวลานั้นผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามข่าวน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
1
น้ำท่วมคราวนี้หนักหนาสาหัสมาก ท่วมสูงกว่าเอวคนมาก มันท่วมบ้านชั้นล่างทั้งชั้น บ้านชั้นเดียวส่วนมากจมหมดทั้งหลัง หากแปลงเพลง น้ำท่วม ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ก็คงจะเป็น “บ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ที่หาดใหญ่ที่รักของฉัน เหมือนกันไปทุกครอบครัว ผืนนาก็ล่ม ไร่แตงก็จม เสียหายไปทั่ว...”
และ “พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลคลอสายชล”
น้องชายผมเล่าว่า เช้านั้นเขาบินจากภูเก็ตไปหาดใหญ่ เมื่อเครื่องบินลงจอด ก็พบว่าเมืองหาดใหญ่เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหาดบาดาลเรียบร้อยแล้ว ต้องนั่งรถ GMC ของทหารเข้าเมือง รอบตัวเป็นน้ำสีเหลืองข้นคลั่ก ไหลเชี่ยวน่ากลัว ฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกตลอดทั้งวันข้ามไปถึงกลางคืน
หาดใหญ่กลายเป็นเมืองมืดสนิท ไม่มีไฟฟ้าใช้ สถานีวิทยุปิดหมด โชคดีที่ยังเหลือสถานีวิทยุ ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) คลื่น 88 เป็นตัวกลางประสานความช่วยเหลือ
ราวตีสอง เขาติดเรือท้องแบนของทหารกลับบ้าน ระหว่างทางรอบตัวมืดสนิท อาคารบ้านเรือนชั้นหนึ่งจมน้ำหมด ฝนยังโปรยปราย หาดใหญ่ทั้งเมืองเงียบกริบจนน่ากลัว
เมื่อกลับถึงบ้านก็พบว่าบ้านผมที่หาดใหญ่น้ำท่วมสูงถึงชั้น 2 สามารถพายเรือไปเทียบชั้นบนได้เลย
ทหารถามเขาว่า จะเข้าบ้านไหม เขาลังเลแล้วบอกว่า ขอกลับไปที่สะพานลอยดีกว่า
เขากับคนจำนวนหนึ่งค้างคืนบนสะพานลอยข้ามทางรถไฟ โดยหลบฝนอยู่ในท้ายรถกระบะของคนแปลกหน้า ผ่านราตรีฝนปรอยที่ไม่ลืม
เมื่อผมกลับไปเยือนหาดใหญ่อีกครั้ง ยังเห็นรอยน้ำสูงกว่าศีรษะคน
น้ำท่วมก็คือน้ำท่วม ไม่ว่าเกิดที่ประจวบคีรีขันธ์ หาดใหญ่ หรือมุมอื่นๆ ของแผ่นดิน ก็สร้างความเสียหายไปทั่ว
อดีตที่เล่ามานี้ผ่านไปแล้ว แต่มองภาพปัจจุบัน น้ำท่วมดูจะหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ และไม่จบสิ้น
เป็นเพราะธรรมชาติ? หรือเป็นเพราะมนุษย์?
(ยังมีต่อ)
หนังสือ
ปรัชญา
ไลฟ์สไตล์
1 บันทึก
27
2
1
27
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย