24 ต.ค. 2022 เวลา 15:29 • ไลฟ์สไตล์
ความคิดเชิงวิพากษ์กับการแสวงหาความรู้
1
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นสรุปแนวคิดในการแสวงหาความรู้ของผมที่ตกผลึกจากประสบการณ์ และการครุ่นคิด ผมเคยเขียนฉบับยาวไว้เมื่อนานมากแล้ว แต่ครั้งนี้จะปรับปรุงใหม่ให้กระชับ อ่านง่ายขึ้นจากบทความเก่าที่ค่อนข้างอ่านยาก รวมทั้งตัดทอนเนื้อหาที่สำคัญน้อยและ เพิ่มเติมเนื้อหาจากบทความเก่าด้วย
เริ่มแรกเราจะเริ่มวิพากษ์คุณค่าที่ถูกปลูกฝังผ่านระบบการศึกษามาอย่างยาวนาน นั่นคือ “ระบบคิดแบบห้องเรียน” (ระบบคิด=mindset) มันเป็นกระบวนการคิดอย่างหนึ่งทำให้เราคิดว่าการแสวงหาความรู้จำเป็นต้องทำภายใต้วิธีที่ระบบกำหนด การที่เราจะมีความรู้ได้ ไม่ใช่เพราะเรายืนยันด้วยตัวเอง แต่เป็นเพราะผลการประเมินต่างหากที่ยืนยันว่า “เรามีความรู้หรือไม่” สิ่งนี้ถูกผลิตซ้ำในระบบการศึกษาที่เป็นระเบียบ มีกฎเกณฑ์ แต่ก็ครอบงำความในเวลาเดียวกัน
ผลเสียของระบบคิดแบบนี้คือ การลดทอนคุณค่าของการเรียนรู้ จากการถูกประเมินจากภายนอก ไม่ว่าจะดีหรือแย่ ถ้าดีก็ทำให้หลงตัวเอง ถ้าแย่ก็ทำให้เครียด ทั้งๆที่การประเมินเองก็ไม่ได้เป็นกลาง ขึ้นอยู่กับตัวผู้สอนจะเขียนคะแนนลงไป หรือต่อให้จะเป็นการประเมินที่มีคำตอบตายตัว ก็เป็นเป็นการยืนยันชุดข้อมูลที่จำได้ ไม่ใช่ความรู้ที่ผู้ศึกษาจะนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งอาจไม่ปรากฎในข้อสอบเลย ความไม่เป็นกลางนี้จึงไม่ใช่แค่การให้คะแนนเท่านั้น แต่เป็นการเลือกคำถามมาถามด้วย
ผลที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ผู้เรียนสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง สูญเสียความสามารถในการใช้เหตุผลของตัวเอง ต้องคอยพึ่งพิงการประเมินจากผู้อื่น เพื่อยืนยันความสามารถของตน ไม่ใช่ผลจากการประยุกต์ใช้ความรู้ด้วยความเข้าใจ และนำไปสู่การเป็นผู้แสวงหาการยอมรับผ่านเกรดเฉลี่ย แสวงหาคะแนนโดยไม่สนใจความรู้ (แต่ก็เชื่อว่าตัวเองมีความรู้)
นอกจากนั้นยังทำให้เราติดกรอบคิดเดิมๆในการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว ทำให้มองว่าการเรียนรู้ต้องทำแบบที่เราเคยเรียนในระบบการศึกษาเท่านั้น มันมีขั้นตอนมากมาย และต้องพึ่งพาบริบทภายนอกทั้งหมดในการสร้างแรงจูงใจในการเรียน ทั้งการประเมิน การให้การบ้านจากคนอื่น
ความเหนื่อยหน่าย ซัฟเฟอร์ อยากตายจึงเกิดขึ้นได้เสมอ จากการได้รับงานที่เกินตัว แต่ไม่รู้ว่าเกินตัว และอาจติดนิสัยไม่ทำงานจนกว่าจะใกล้ส่ง นำไปสู่การปลดล็อกสัญชาตญาณเอาตัวรอด สร้างกรุงโรมได้ในวันเดียว ทำงานให้เสร็จทันกำหนด แลกกับความกดดันมหาศาล และมองข้ามเป้าหมายของการสั่งงานเพื่อการฝึกฝนทักษะไป ส่งผลให้เราคิดว่าการเรียนรู้เป็นเรื่อง suffer น่ากลัว ไม่เอาแล้ว
บทความนี้จึงมุ่งที่จะแยกอำนาจ กับความรู้ ออกจากกัน เหมือนที่แยกเกรดเฉลี่ย ออกจากความรู้ ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องเข้าใจการแสวงหาความรู้ตามธรรมชาติที่มีลักษณะไร้ขอบเขต ผมอยากให้ทุกคนลองจินตนาการว่า
ถ้ามีมนุษย์คนเดียวอยู่กลางป่า เขาจะเอาชีวิตรอดอย่างไร แน่นอนว่า เขาจำเป็นต้องลองผิดลองถูก ด้นสด หรือดูว่าสัตว์อื่นทำอย่างไร ถ้าเอาตัวรอดได้ก็คือว่าโอเค นี่คือการเรียนรู้โดยธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องให้เกรดการมีชีวิตรอดของคนป่า การเรียนรู้แบบนี้ไร้ขอบเขต ทำให้เรานึกถึงความเป็นไปได้หลายรูปแบบเพื่อให้มีความรู้ และนำไปใช้ จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องไปหลงป่าเราก็สามารถเรียนรู้ได้ผ่านอะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้คิดอย่างอิสระ เช่น ปริศนา หมากกระดาน เกมกระดานต่างๆ
และที่สำคัญระบบการศึกษาก็ควรเป็นเครื่องมือของเราในการแสวงหาความรู้แบบไร้ขอบเขตนี้ด้วย ไม่ใช่เราเป็นเครื่องมือของมันเสียเอง การคิดด้วยตนเองจึงเป็นเครื่องมือที่ง่าย และบริสุทธิ์ในการแสวงหาความรู้ การพึ่งพาหนังสือ แหล่งข้อมูล ควรจะเป็นเพียงการลดต้นทุนจากการคิดของตัวเราเอง ที่อาจใช้เวลานาน แต่ไม่ควรยึดแหล่งข้อมูลเป็นคัมภีร์ศักสิทธิ์ แต่แหล่งข้อมูลควรถูกตรวจทาน ผสมผสาน ดัดแปลงให้หมาะสมด้วย
คำถามต่อมา แล้วถ้าไม่พึ่งพิงการประเมินแล้ว สิ่งใดจะเป็นเป้าหมายของการเรียนรู้ สิ่งนั้นก็คือ เป้าหมายของตัวผู้เรียนเอง (หรือที่ผู้เขียนนิยามว่า “เจตจำนงเสรี”) ที่จะเป็นหัวใจของการแสวงหาความรู้ กล่าวคือ การคิดหาสารพัดวิธียังไงก็ได้ให้บรรลุเป้าหมายนี้ หลายคนอาจเถียงว่า อ้าวยังงี้ การมุ่งไปสู่เกรด ก็เป็นเป้าหมายของการเรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ยึดถือระบบคิดแบบห้องเรียนก็กำลังบรรลุเป้าหมายอันเป็นหัวใจของแนวคิดนี้โดยไม่รู้ตัว
คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะแม้ผลลัพธ์อาจจะเหมือนกัน แต่ทำอยู่บนฐานความเชื่อที่แตกต่างกัน คนที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายจะเป็นผู้ที่ชัดเจนในตัวเอง รู้ว่าตนเองต้องการอะไร ไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่เป้าหมาย แต่คนที่ยึดถือระบบคิดแบบห้องเรียนก็อาจจะไม่ชัดเจนเรื่องการแบ่งแยกเกรดกับความรู้ หรืออาจจะทำตามๆแบบแผนไปโดยไม่ได้คิดอะไรมากก็ได้ และเป้าหมายที่ชัดเจนจะนำพามาซึ่งแรงบันดาลใจ(passion) ที่ผลักดันการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด
ในประเด็นต่อมา เมื่อทราบแล้วว่าการมีเป้าหมายที่ชัดเจน และวิธีการที่หลากหลาย คือแนวทางของการแสวงหาความรู้ที่ดี(สำหรับบทความนี้) แล้วจะมีอะไรบ้างที่เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ของเราได้? มีแนวทางไหนบ้างในการบริหารจัดการความรู้? แน่นอนว่าผมคงไม่ได้วิพากษ์การศึกษาเพราะว่าตัวเองขี้เกียจเรียน เลยหาเหตุผลนู่นนี่เพื่อที่จะโดดเรียนหรอก วิธีการที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ต้องถามต่อไป
1
ผมคิดว่าคำถามนี้น่าจะขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ในการจะไปสรรหาวิธีการมาใช้ แต่ผมก็อยากเสนอแนวทางกว้างๆที่คิดว่าต้องมีแน่ๆในการแสวงหาความรู้ที่ดี สิ่งนั้นก็คือ ความคิดเชิงวิพากษ์
หัวใจของมันคือการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เชื่อ รับรู้ พยายามหาข้อผิดพลาดของสิ่งที่เราคิดว่าแม่งเจ๋ง ภายใต้กระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วนความคิดเชิงวิพากษ์เป็นสิ่งที่รัฐศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์ หรือคณะที่ผมเรียนพร่ำสอนเสมอ มันถูกใช้ในการออกข้อสอบให้นักศึกษาทำ เพื่อรีดเร้นทักษะการตั้งคำถามต่ออำนาจ รัฐ การเมือง ความสำคัญของมันเหมือนที่ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยบอกในงานสัมมนางานหนึ่งประมาณว่า
“คำถามที่มีคุณภาพจะนำไปสู่คำตอบที่มีคุณภาพ”
แต่การที่เราจะวิพากษ์สิ่งต่างๆได้ดีนั้น ไม่ใช่รู้นิดรู้หน่อยแล้วก็วิพากษ์ไปเลย เราต้องมีวัตถุดิบที่ดี เราต้องรู้จริงในสิ่งที่เรากำลังวิพากษ์ รู้จริงคือยังไง มันเหมือนกับการรู้ใจความสำคัญของข้อมูลที่เราได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือ ข้อคิดเห็น เราต้องอย่าโกหกตัวเองว่าเรารู้ ทั้งๆที่ไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ เพราะมันส่งผลเสียต่อการตั้งคำถามของเราด้วย ไม่รู้ก็ต้องไปหา ไปถามมาให้เข้าใจเลย
และถ้ามีกรณีหนึ่งที่คิดว่าตัวเองรู้แล้ว เข้าใจแล้ว แต่พอเอาไปใช้จริงๆ เอ๊ะ มันไม่ใช่ เราเข้าใจอะไรผิดไหม และยังงี้ความคิดเชิงวิพากษ์นี่พังเลยไหม? คำตอบก็อยู่ในคำถามแล้ว ถ้าไม่วิพากษ์แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าไม่ใช่? นี่ก็คือประโยชน์นึงของความคิดเชิงวิพากษ์ นอกจากจะตรวจสอบความเชื่อของคนอื่นแล้ว มันยังตรวจสอบความเชื่อของตัวเราด้วย ถ้าคนอื่นผิดได้ เราก็ผิดได้
ผมเชื่อว่าถ้าเรามีมายเซ็ทแบบนี้ เราสามารถนำมันไปใช้ได้อย่างกว้างขวางมาก เช่น ถ้าอยากเป็นคนโปรดักทีฟ เราสามารถอ่านหนังสือพัฒนาตนเองหลายๆเล่ม แล้วนำมาประยุกต์ใช้ ถ้าเห็นว่าใช้ไม่ได้ก็เปลี่ยนวิธีไปเลย หรือเราอาจจะลองคิดเองด้วยก็ได้ ผมก็เคยอ่านหนังสือพวกนี้หลายเล่ม ก็พบว่าเออ สิ่งที่พูดอาจจะจริง แต่ในบริบทรอบข้างเรา มันทำไม่ได้ เช่น หนังสือเล่มนึงบอกให้ผมนอนห้าทุ่มแล้วจะดีต่อสุขภาพ แต่น่าเศร้างานเยอะสุดๆไปเลย ข่มตานอนไม่หลับหรอก ฮือๆ พอนอนห้าทุ่มไม่ได้ก็เครียดอีก นอนไม่หลับหนักกว่าเดิม เห้อ
คำถามต่อมาในตัวอย่างเดิม แล้วไอการเป็นคนโปรดักทีฟนี่มันดีไหมนะ? คำถามนี้กำลังสะท้อนว่านอกจากเราจะวิพากษ์วิธีการแล้ว เรายังวิพากษ์เป้าหมายได้อีกด้วย เช่น เอ๊ะ เราทำไปทำไม? ทำเพื่ออะไร? ถ้าโปรดักทีฟแล้วยังหางานมาทำเพิ่มเมื่อไรจะได้พักผ่อน? เรามีความสุขกับการทำงานได้เยอะๆจริงไหมนะ? ทำไมตอนเหนื่อยๆเราชอบตั้งคำถามแบบนี้ หรือว่าเราอารมณ์จะกระทบกับการคิดของเราด้วย? เป็นต้น
ประเด็นสุดท้ายผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า การเข้าสู่อะไรก็ตามที่เป็นระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถาบันการศึกษา ที่มีระบบการประเมินต่างๆที่แน่นอน มันจะต้องแย่แน่ๆ เราต้องเรียนเองเท่านั้น ถึงจะสร้างสรรค์วิธีคูลๆที่เข้ากับเป้าหมายคูลๆของเราได้ ไม่ใช่เลย เราสามารถใช้สถาบันการศึกษาเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายส่วนตัวเราได้ แต่ไม่ใช่การปล่อยให้สถาบันการศึกษาครอบงำเราไปทำเรื่องไร้สาระ เช่น การสั่งให้เราทำบันทึกความดี เพื่อแลกกับคะแนนจิตพิสัย
ดังนั้นสิ่งที่ผมพูดการวิพากษ์คือ “ระบบคิด” (Mindset) แบบห้องเรียน ไม่ใช่ “วิธีการ” (Solution) แบบห้องเรียน จริงๆแล้วการไปเข้าไปเรียนจากผู้มีความรู้มันก็มีประโยชน์นะ มันทำให้เรารู้ว่าเรามีข้อจำกัดอะไร ขอบเขตของวิชามีประมาณไหน ซึ่งเราไม่เคยเรียนมาก่อน เราก็อาจจะไม่รู้ และมันยังช่วยประหยัดต้นทุนของการลองผิดลองถูกด้วย ถือว่าเป็นทางลัดหนึ่งของกระบวนการวิพากษ์เพื่อแสวงหาความรู้
อย่างไรก็ตามแนวทางแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตสบายขึ้นไปกว่าการคิดแบบห้องเรียน แต่เราแค่เรียนรู้ในแบบของเรา เรามีความยากลำบากของเราเองไม่ต่างจากคนอื่นเลย เราจำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ปฏิบัติ ไม่ใช่แค่คิด เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่ามันพลาดตรงไหน และก็ไม่รู้จะวิพากษ์อย่างไรด้วย
กระบวนการนี้ควรจะค่อยๆเป็นค่อยๆไป พยายามบังคับตัวเองให้ได้ วันละนิดละหน่อย จนเคยชิน พยายามบนพื้นฐานของร่างกายของเรา ถ้าทำเยอะๆแรงๆไป ครั้งต่อไปก็ไม่อยากทำ ถ้าทำนิดหน่อย เบาๆ ก็ไม่พัฒนาไปไหนสักที นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องบริบท สถานะทางสังคมที่ทำให้ไม่ค่อยว่างเท่าไรด้วย และบทความนี้เองก็มีข้อจำกัด เพราะด้วยกรอบของภาษา ทำให้อธิบายความเข้าใจเรื่องต่างๆไม่ได้หมด การลงมือปฏิบัติจึงเป็นส่วนหนึ่งของการรู้จริงในสิ่งที่กำลังจะวิพากษ์
สิ่งที่ใครๆก็กลัวคือ ความล้มเหลว สิ่งที่เราคิดอาจจะผิดมาตลอด คนให้ข้อมูลก็อาจจะไม่รู้จริง หรือคนพูดก็พูดถูกแต่เราเข้าใจผิด การปฏิบัติตามวิธีการมีปัญหา ทำยังไงก็ทำไม่ได้ สับสนในความคิดว่าอันไหนกันแน่ที่ถูก หรือทำยังไงก็ไม่เข้าใจในเรื่องที่กำลังศึกษาสักที แน่นอนว่า ธรรมะแท้ไม่มีคำปลอบใจ อะไรที่ผิดก็ต้องยอมรับว่าเราผิด เราคิดผิด เพราะเราเห็นข้อผิดพลาดของมัน ยังดีกว่าไม่เห็น ถ้าไม่เห็นก็วิพากษ์ ปรับปรุงอะไรไม่ได้
สิ่งที่เราทำแม้ผลลัพธ์จะออกมาแย่ แต่สิ่งที่เราทำมันออกมาจากบรรทัดฐาน(norm) ของการแสวงหาความรู้ที่เป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ เหมือนผมตอนเด็กๆที่พยายามต่อแพจากขวดยาคูลท์ด้วยเทปใส แล้วเอาไปลอยน้ำ แม่งกระจายหมดเลย และเคยพยายามต่อเน็ตแม้ว่าบ้านจะไม่มีกล่องรับสัญญาณ (Router) ผมไม่บรรลุเป้าหมายเลย แต่การลองทำอะไรใหม่ๆก็เป็นนิสัยของผมไปแล้ว
นี่ก็เป็นประเด็นหลักๆของบทความที่ผมเสนอ มันไม่มีอะไรใหม่เลยนอกจากการนำความคิดเชิงวิพากษ์ของสำนักรัฐศาสตร์ไปขยายกับการแสวงหาความรู้เท่านั้น จริงๆแล้วผมคิดอะไรแปลกๆไว้มากมาย ซึ่งอธิบายไม่หมดในบทความนี้ ถ้ามีคำถามอะไรก็สามารถทิ้งคอมเม้นไว้ได้เลยนะคับ
โฆษณา