26 ต.ค. 2022 เวลา 11:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม แชร์ลูกโซ่ถึงมักจะเกิดความเสียหายมาก ตอนที่ 2
ตอนที่แล้ว เราคุยกันถึงคุณสมบัติของแชร์ลูกโซ่กันไปแล้วว่า ถ้ามันถูกออกแบบมาดี มันจะทำให้เกิดการขยายวงของเหยื่อได้ ผ่านแรงจูงใจ และเครื่องมือต่าง ๆ
ในตอนนี้ เรามาคุยถึง เครื่องมือในการจัดการกับพวกนี้บ้าง แล้วเพื่อน ๆ จะไม่แปลกใจว่า ทำไมมันถึงยากเย็น ชักช้า จนกระทั่งเกิดความเสียหายมากมาย
ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทย เรามีประวัติของแชร์ลูกโซ่กันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น
- แชร์เสมาฟ้าคราม การลงทุนกับธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ระดมทุนนอกระบบในปี พ.ศ.​ 2529
- แชร์บลิสเชอร์ ที่เป็นแชร์ของการจัดสรรวันพักผ่อน (time sharing) ที่มีผู้เข้าร่วมเกือบ 3 พันคน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 2 พันล้านบาท
- แชร์ชาร์เตอร์ ที่อ้างว่า นำเงินไปลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ในช่วงปี พ.ศ.​ 2527
- แชร์แม่ชม้อย เป็นแชร์ธุรกิจค้าน้ำมัน ในปี พ.ศ. 2527
- แชร์ยูฟัน เป็นแชร์ธุรกิจน้ำผลไม้และสมุนไพรกับเครื่องสำอางผิวหน้าที่อ้างว่ามีการออกเหรียญของตัวเองในชื่อ ยูโทเคน
- แชร์ลูกโซ่ สโตเรจซิตี้ แพลตฟอร์ม เป็นแชร์ธุรกิจระบบเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ที่มีผู้เกี่ยวข้อง 5 พันราย และความเสียหายมากกว่า 3 พันล้านบาท
- แชร์ Forex 3D ที่มีผู้เสียหายเกือบหมื่นราย และมีความเสียหายรวมเกือบ 3 พันล้านบาท
- แชร์ซินแสโชกุน เป็นแชร์ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
แต่เรากลับไม่มีกฎหมายที่ออกมาจัดการกับแชร์ลูกโซ่โดยตรง แต่กลับต้องไปอาศัยกฎหมายข้างเคียงมาจัดการ ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเท่านั้น
กฎหมายที่เคยถูกหยิบยกมาใช้ลงโทษกับคนร้ายก็เช่น
- พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่ใชัจัดการกับแชร์แม่ชม้อย และแชร์ซินแสโชกุน
- พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ที่ใช้ลงโทษในคดีซินแสโชกุน
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน
- พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) ที่ใช้ลงโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 เกี่ยวกับซ่องโจร
- พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
- พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ 2556
- พ.ร.บ. การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
แต่เราจะเห็นได้ว่า กฎหมายเหล่านี้ มีผู้รับผิดชอบดูแล แตกต่างกันออกไป แถมยังไม่ได้มีการระบุหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฎหมายที่ชัดเจน จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว
เจ้าหน้าที่จึงมักจะไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด จนกระทั่งเรื่องดังกล่าวตกเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเป็นข่าวบนโลกโซเชียล
ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่มีผู้เข้าร่วมแชร์ลูกโซ่เป็นจำนวนมาก ยังแยกได้ยากอีกด้วยว่าใครเป็นเหยื่อ ใครเป็นผู้กระทำความผิด เพราะจริง ๆ ใคร ๆ เข้าร่วมก็ควรถือว่าผิดทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ก็มักจะเลือกฟ้องเฉพาะผู้ที่มีชื่อเสียง หรือต้นตอของกระบวนการเท่านั้น
แต่พอเลือกปฏิบัติแบบนั้น จึงทำให้ผู้เข้าร่วมไม่เกรงกลัวอำนาจของกฎหมาย เพราะอาจจะคิดว่าตัวเองไม่ใหญ่พอ
ถ้าอยากจะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ รัฐควรที่จะต้องพิจารณาตั้งหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน​ (อาจจะเหมาะสำหรับ DSI ในการดูแลเรื่องดังกล่าว) และออกกฎหมายที่ให้อำนาจที่ชัดเจนพอ เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาแชร์ลูกโซ่เหล่านี้ ก่อนที่จะกลายเป็นแชร์ขนาดใหญ่ และมีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยที่ไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน/ผู้เสียหาย และรวมไปถึงการออกประกาศให้แชร์นั้น ๆ
เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ใครที่เข้าร่วมทุกคนถือว่ามีความผิด และจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อหยุดการเติบโตของมัน โดยไม่ต้องรอให้ศาลตัดสินเป็นต้น
ติดตามอ่านตอนอื่นๆ ได้ที่ซีรีย์
โฆษณา