26 ต.ค. 2022 เวลา 17:18 • ศิลปะ & ออกแบบ
Title : จิด.ตระ.ธานี #จตุรธงกฐิน (จะ-ตุ-ระ-ธง-กะ-ฐิน) ตะขาบ เต่า จระเข้ เงือก | Jitdrathanee 4 Kathina Flags (Centipede, Turtle, Crocodile, Mermaid)
Size : 65 x 25 cm
Technique : Acrylic on paper
Created : 10, 11, 12, 13 October 2022 [2565]
ท่านใดสนใจผลงาน Original ทัก Inbox เข้ามาได้เลยนะครับ สนนราคาเพียง 6 หลักเต้าอั้น....^_^ เพราะผมตั้งใจบริจาคผลงานทั้ง 4 ชิ้นนี้ 100% โดยเงินทั้งหมดจะนำไปสมทบทำบุญร่วมสร้าง #ฌาปานสถานบ้านบ่อหลุบ ในงาน #จุลกฐิน วัดจันทน์ประดิษฐ์ #สะพานไม้เชียงคำ ต.โนนราษี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ระหว่างวันที่ 4 - 5 พฤศจิกายน 2565
โดย #ปฐมจุลกฐิน ครั้งแรกของ วัดจันทน์ประดิษฐ์ สะพานไม้เชียงคำ ประจำปี 2565 นี้ ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อ พระมงคลกิจโกศล (เทพหิรัณย์ ชวโร) เจ้าอาวาสวัดเทพหิรัณย์ อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นประธานในพิธี
#คำอธิบายภาพ | องก์ 1 : #ตำนานกฐิน
หลายท่านคงคุ้นเคยกับสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำงานกฐิน โดยคำว่า #กฐิน นั้นหมายถึง #ไม้สดึง (ไม่ใช่ #กระถิน ที่เป็นไม้พุ่ม ที่ยอดอ่อนหรือเมล็ดอ่อน สามารถนำมากินได้นะครับ ตามประวัติกระถินเป็นพืชพื้นเมืองในแถบอเมริกาใต้ แต่ถูกนำเข้ามาปลูกในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาโน่น)
ย้อนกลับไปในสมัยโบราณหลายร้อยปีก่อน การเย็บผ้าต้องนำไม้สดึง (หรือกฐิน) มาช่วยขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน (ต่างจากปัจจุบันที่ใช้จักรเย็บผ้ากันหมดแล้ว) ผ้าจีวรที่เย็บถวายพระสงฆ์ จึงถูกเรียกว่า #ผ้ากฐิน การ #ทอดกฐิน ในสมัยโบราณจัดเป็นงานเอิกเกริก เพราะชาวบ้าน (รวมถึงพระ เณร) ต้องลงมาร่วมแรงช่วยกันคนละไม้ละมือ (เพราะไม่มีผ้าจีวรสำเร็จรูปเหมือนในสมัยปัจจุบัน) ต้องเริ่มกันตั้งแต่การปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ทอ ย้อม จนถึงตัดเย็บกันเลยทีเดียว
ส่วนสัตว์สัญลักษณ์ทั้ง 4 ชนิด ที่ใช้ประดับธงกฐินนั้น (ไม่พบที่มาในพระไตรปิฎก) นัยว่าคงเป็นปริศนาธรรมที่เล่าขานสืบต่อกันมานานในวิถีชาวอุษาคเนย์
1. #จระเข้ หมายถึง #ความโลภ ธงรูปจระเข้มีที่มาหลายตำนาน แต่มีนิทานเก่าแก่เล่าว่า เศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ชอบทำบุญให้ทาน ได้เงินทองมาเท่าไหร่ ก็จะยัดใส่โอ่งใส่ไหฝังดินใกล้กับท่าน้ำ ครั้นเมื่อตายลง จึงไปเกิดเป็นจระเข้คอยเฝ้าหวงแหนสมบัติอยู่อย่างนั้น ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก จึงไปเข้าฝันภรรยา ให้มาขุดสมบัติไปทำบุญ เพื่อให้เกิดบุญกุศล
ภรรยา (บางตำนานเล่าว่าเป็นบุตรชาย) จึงจัดงานทอดกฐิน จระเข้เศรษฐีเกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงว่ายน้ำตามขบวนเรือแห่องค์กฐินไป แต่..ยังไม่ทันถึงวัด ก็หมดแรงเสียก่อน ไปต่อไม่ไหว (บางตำนานเล่าว่าขาดใจตายก่อนจะถึงวัด) ภรรยาจึงวาดรูปจระเข้ใส่ในธงนำขบวนแห่ เพื่อเป็นสักขีพยานแทนอดีตสามีในการร่วมบุญกุศล
ประโยชน์ของธงจระเข้ ที่ปักไว้หน้าวัดในสมัยโบราณ ใช้เป็นเครื่องหมายแสดงว่า วัดนี้ได้รับกฐินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วัดไหนยังไม่ได้รับก็จะไม่มีธงจระเข้ปักไว้
2. #เงือก หรือ #นางมัจฉา หมายถึงโมหะ หรือความลุ่มหลง เสน่ห์แห่งความงาม ที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล (ไม่มีนิทานเล่าประกอบ) แต่มีความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้ากฐิน จะทำให้เป็นผู้มีรูปงาม
3. #เต่า หมายถึง #สติ เพราะเต่า (บางชนิด) สามารถหดอวัยวะซ่อนไว้ภายในกระดองได้ หมายถึงการมีสติระลึกรู้ อายตนะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) มิให้กิเลสเข้าครอบงำได้
มีความเชื่อว่า เต่าเป็นสัตว์ที่มีกระดองแข็ง ให้อานิสงส์เป็นเกราะคุ้มครองป้องกันภัยได้
4. #ตะขาบ หมายถึง #โทสะ ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษ แทนความโกรธคั่งแค้นที่แผดเผาอยู่ภายในจิตใจ
เสริมคติธรรม : โมหะ เปรียบได้กับพ่อแม่ (ผู้ให้กำเนิด) โลภะ กับ โทสะ
สติ เปรียบดั่ง #ผู้รู้ หากเราหมั่นฝึกเจริญสติอยู่เนืองๆ จนชำนาญ สติจะทำหน้าที่ #รู้เท่าทันกิเลส ทั้ง 3 ชนิดโดยอัตโนมัติ เปรียบได้กับการมีเกราะป้องกัน มิให้กิเลสครอบงำจิตใจเราโดยง่าย
ปัจจุบันส่วนใหญ่ เรามักพบเห็นภาพสัตว์สัญลักษณ์ในงานกฐินอยู่เพียง 2 ชนิด คือ จระเข้ และนางมัจฉา แต่มีบางวัดที่ยังสืบทอดประเพณีโบราณ จะมีภาพสัตว์ในธงกฐินครบทั้ง 4 ชนิด
คำอธิบายภาพ | องก์ 2 : #นักวาดขอเล่า
ช่วงเริ่มต้นหาข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางก่อนตัดสินใจลงมือวาดภาพ ประกอบกับเงื่อนไขที่มีคือ เวลาจำกัดราวเดือนเศษ ที่ต้องวาดให้เสร็จทันก่อนวันงาน ผมเสิร์ชหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนพบภาพพิมพ์รูปจระเข้ของ อ.ประหยัด พงษ์ดำ (พ.ศ. 2477 - 2557 ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2541) แล้วรู้สึก...โดน! จึงนำมาดัดแปลงและใช้เป็นแนวทางในการวาดภาพชุดนี้ทั้งหมด
ผมได้ปรับภาพวาดสัตว์ประจำธงกฐินทั้ง 4 นี้ ให้เป็นกราฟิกเกือบทั้งหมด และเลือกใช้กลุ่มสีโทนพาสเทล (Pastel) ที่กลมกลืนกัน (ไม่ตัดกันมาก) ระบายไล่น้ำหนักสีอ่อน - แก่สลับกันไป (จะแตกต่างจากศิลปะไทยแบบประเพณี) ออกกึ่งๆ Pop Art หน่อยๆ ซึ่งเป็นแนวทางศิลปะที่ผมสนใจอยู่แล้ว
รูปวาดทั้ง 4 ชิ้นนี้ แทบไม่ใช้การตัดเส้นเลย (ยกเว้นรูปนางเงือกบางส่วน) แต่ผมใช้การไล่น้ำหนักสี คัดเงา เพื่อแยกรูปทรงแต่ละส่วนๆ ออกจากกัน และใช้การแรเส้นซ้อนๆ กันในสไตล์ที่ผมถนัด เพื่อคัดภาพให้ลอยเด่นขึ้นจากพื้นหลัง (ภาพชุดรวมนี้ อาจเห็นเส้นแรได้ไม่ชัด ต้องขยายดูใกล้ๆ ครับ) ผมตั้งใจถมพื้นแต่ละภาพๆ ด้วยสีอ่อนๆ สดใส (ดูคล้ายสีขนมหวาน Macaron) ซึ่งเป็นเฉดสีที่อยู่ในหัว ตั้งแต่เริ่มวาด งานจึงออกมาดูกึ่งๆ ร่วมสมัยผสมโบราณ
ผมเลือกที่จะไม่ใส่รายละเอียดในลวดลายมากนัก (เหตุเพราะเวลามีจำกัดนั่นเองครับ เดี๋ยวจะเสร็จไม่ทัน (ฮา) ทำให้งานชุดนี้กลายเป็นชิ้นงานที่ผมยังไม่เคยทำมาก่อน (เคยคิดอยู่ในหัว แต่เพิ่งลงมือทำครั้งนี้) สนุกดีครับ คิดว่าต่อไปน่าจะมีงานแนวๆ นี้ ตามออกมาอีก....ครับ
จิด.ตระ.ธานี : #ให้ภาพเล่าเรื่อง
#Jitdrathanee
#PaintingStories #เรื่องเล่าจากภาพ
#ลายเส้นไทยจตุรงคธาตุ #ThaiPatternsOf4Elements
#ลายกระหนก #ลายไทย #จิตรกรรมไทยร่วมสมัย
#ศิลปะไทย #ThaiArtist #ThaiArt
#ThaiPainter #ThaiContemporaryArt

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา