27 ต.ค. 2022 เวลา 17:02 • ประวัติศาสตร์
หมื่น กับ จมื่น ชื่อบรรดาศักดิ์ที่คล้ายกันแต่ฐานะขุนนางนั้นต่างกันมาก
หลาย ๆ คนที่เพิ่งจะเริ่มอ่านประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็อ่านวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ อาจเคยสับสนกับบรรดาศักดิ์ของตัวละครอย่างเช่น หมื่นสุนทรเทวา หมื่นราชเสน่หา จมื่นไวยวรนาท จมื่นศรีสรรักษ์ ตกลงแล้วยศ “ หมื่น “ กับ “ จมื่น “ นั้นเหมือนกันหรือไม่ ผู้เขียนเองก็ต้องขอยอมรับว่า เคยคิดว่าหมื่นกับจมื่นนั้นน่าจะเหมือนกัน แต่พอได้อ่านงานประวัติศาสตร์นิพนธ์มากขึ้นจึงได้รู้ว่า ฐานะของบรรดาศักดิ์ทั้งคู่นั้นแตกต่างกันอย่างมากทีเดียว
ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา เป็นช่วงที่กำลังสร้างบ้านแปงเมือง ถือว่ายังขาดความมั่นคง เพราะยังมีความสับสนวุ่นวาย อันเนื่องมาจากการช่วงชิงอำนาจกันเองระหว่างวงศ์อู่ทองและวงศ์สุพรรณภูมิ ในขณะที่ระบอบศักดินาที่ก่อตัวขึ้นมาก็ยังไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก เชื่อว่าน่าจะปรับปรุงจากประเพณีการปกครองเดิม
1
จัตุสดมภ์เป็น 4 กรมหลัก ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ขับเคลื่อนราชการแผ่นดิน ขุนนางผู้ใหญ่มีบรรดาศักดิ์ “ ขุน “ 4 ตำแหน่ง คือ ขุนเวียง ขุนวัง ขุนคลัง และ ขุนนา ถัดลงมาจะเป็นบรรดาศักดิ์ หมื่น พัน ร้อย และ สิบ ฐานะของ “ หมื่น “ จึงค่อนข้างสูงทีเดียว เพราะเป็นรองถัดลงมาจากขุนนางจัตุสดมภ์ อำนาจหน้าที่จึงไม่น่าจะต่างอะไรกับบรรดาศักดิ์ “ พระ “ ในสมัยต่อมา
อย่างไรก็ดี เมือล่วงเข้าสู่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิสามารถลงหลักปักฐานในอยุธยาได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงมีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ระบอบศักดินาเติบโตขึ้นอย่างมโหฬาร
มีการกำหนดยศถาบรรดาศักดิ์และราชทินนามให้ซับซ้อนขึ้นมากกว่าเดิม พร้อมกับแจกแจงอำนาจหน้าที่ รวมทั้งระบุศักดินาประจำตำแหน่งนั้น ๆ ออกเป็นไร่อย่างชัดเจน ด้วยการรับคติการปกครองจากอินเดียและเขมร ปรับปรุงให้เข้ากับจารีตเดิม จนนำไปสู่การตรา “ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง “ ในปีพุทธศักราช 1998
นับจากนั้นเป็นต้นมา หมื่นก็กลายเป็นบรรดาศักดิ์ของข้าราชการชั้นผู้น้อย เพราะตามความในกฎหมายฉบับดังกล่าว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อย่าง สมุหนายก สมุหพระกลาโหม เจ้าเมืองสำคัญ จัตุสดมภ์ แม่ทัพ และเจ้ากรมใหญ่ ๆ ต่างมียศเป็น พระยา ถัดลงมาคือ พระ หลวง ขุน หมื่น พัน หมื่นจึงเป็นข้าราชการชั้นประทวน ศักดินาต่ำกว่า 400 ไร่ ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากพระเจ้าแผ่นดิน หากแต่รับการแต่งตั้งโดยเสนาบดี หรือไม่ก็เจ้ากรมผู้ใหญ่
ส่วน “ จมื่น “ หรือ “ เจ้าหมื่น “ นั้น เป็นขุนนางกรมมหาดเล็ก ศักดินาประมาณ 1,000 ไร่ มีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์โดยตรง ทั้งเครื่องเสวย จัดการดูแลราชพิธี รักษาพระองค์ในที่รโหฐาน และที่สำคัญ จมื่นได้มีโอกาสได้ศึกษางานบริหารราชแผ่นดิน ได้รู้ได้เห็นกระแสพระราชดำรัส รับรู้พระราชดำริ ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลายต่อหลายครั้งที่จมื่นได้รับพระราชโองการให้ตรวจงาน พร้อมกับต้องทำรายงาน ด้วยความเรียงที่เป็นภาษาราชการและต้องรัดกุมอย่างยิ่ง เพราะผู้รับรับรายงานนั้นคือพระเจ้าแผ่นดิน
การที่เป็นมหาดเล็กระดับสูงนั้นทำให้จมื่นเป็นผู้ที่น่าเกรงขามในสายตาขุนนางน้อยใหญ่ เพราะต้องเริ่มจาการเป็นบุตรขุนนาง ถวายตัวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เติบใหญ่ขึ้นในรั้วในวัง ฝึกฝนเรียนรู้จนเป็นคนใกล้ชิดของพระราชา เราจึงมักจะเห็นขุนนางยศจมื่นได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “ พระยา “ ในขณะที่อายุยังไม่มากนัก ดังนั้นยศจมื่นจึงเทียบได้กับ “ พระ “ แต่เราจะไม่เรียกสรรพนามว่า “ คุณพระ “ ต้องเรียกตามธรรมเนียมว่า “ คุณพระนาย “ ซึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ธรรมดาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
สรุปสั้น ๆ ก็คือ “ หมื่น “ เคยมีความสำคัญเทียบเท่าคุณพระ แต่หลังจากการปฏิรูประบบราชการในปีพุทธศักราช 1998 หมื่นกลายเป็นยศของข้าราชการชั้น “ ประทวน “ ส่วน “ จมื่น “ เป็นยศของข้าราชการชั้น “ สัญญาบัตร “ เทียบเท่าคุณพระ แต่มีความพิเศษมากว่า เพราะเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์
ข้อมูลอ้างอิง
กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร . การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 . โรงพิมพ์การศาสนา . 2522
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล . ขุนนางอยุธยา . กรุงเทพมหานคร . สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ . 2536 .
ส.พลายน้อย . ขุนนางสยาม . กรุงเทพมหานคร . สำนักพิมพ์มติชน . 2548
โฆษณา